รอยเตอร์รายงาน (15 ส.ค.) - เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวแล้ว แม้ต่ำกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 2 จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด ขณะที่การส่งออกลดลง แต่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัว
การฟื้นตัวในญี่ปุ่นก็เหมือนกับเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น แม้ว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนการเติบโตในเดือนเมษายน-มิถุนายน
อาสุชิ ทาเคดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ อิโตชู อิโคโนมิก รีเสิร์ช กล่าวว่า "การบริโภคจะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตในไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน แต่โมเมนตัมอาจไม่แข็งแกร่งนัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้กระทบการใช้จ่ายภาคครัวเรือน"
“ในขณะที่การส่งออกลดลง แต่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัว ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวได้” เขากล่าว
ข้อมูลของรัฐบาลเปิดเผยว่า ญี่ปุ่น ชาติเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกขยายตัว 2.2% ต่อปีในเดือนเมษายน-มิถุนายน นับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน แต่ยังไม่ถึงที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.5%
ทั้งนี้ การขยายตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่องนับแต่การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เพิ่ม 0.1% ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งเผชิญการระบาดโควิดที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย
การเติบโตส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 1.1% เนื่องจากร้านอาหารและโรงแรม อุปสงค์เริ่มฟื้นตัวจากการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาด
ข้อมูลรายจ่ายฝ่ายทุน ซึ่งหมายถึง รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ของกิจการ อันแตกต่างจากรายจ่ายในการดำเนินงานโดยปกติของกิจการ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอีกประการหนึ่งของการเติบโตในเดือนเมษายน-มิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสก่อน เกินที่ตลาดคาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ยสำหรับการขยายตัว 0.9%
แต่การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 นั้นยังน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3% ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัวนั้นจะยั่งยืน หรือถึงจุดขาขึ้นหรือไม่
ความเสี่ยงภายนอก
นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า การฟื้นตัวของการติดเชื้อโควิด-19 และการขึ้นราคาสินค้าประจำวันในช่วงที่ผ่านมา อาจกีดกันครัวเรือนไม่ให้ใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและรับประทานอาหารนอกบ้าน
ค่าตอบแทนผู้มีรายได้ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ปรับเทียบอัตราเงินเฟ้อ ลดลง 0.9% จากไตรมาสก่อน ที่ลดลง 0.1% ในเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนแล้ว
ความกลัวที่เพิ่มขึ้นของสถานการณ์ชะลอตัวทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียดทางการเงินของธนาคารกลาง ได้ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมืดลง
ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น 0.5% แต่อุปสงค์ภายนอกไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการเติบโต
"เมื่อมองไปข้างหน้า อุปสงค์ภายในประเทศมีความเสี่ยงด้านลบ เนื่องจากโควิด-19 ระบาดหนักอีกระลอก ความเสี่ยงจากภายนอกยังนำไปสู่ข้อเสียจากความกลัวภาวะถดถอยที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป" โทรุ สุเอะฮิโระ นักเศรษฐศาสตร์จาก "ไดวา ซีเคียวริตีส์" บริษัทหลักทรัพย์สัญชาติญี่ปุ่นกล่าว
เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ได้สั่งให้รัฐมนตรีร่างขั้นตอนเพิ่มเติมเพื่อชะลอการขึ้นราคาน้ำมันและอาหาร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ญี่ปุ่นล้าหลังประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ในการฟื้นตัวเต็มที่จากการระบาดใหญ่เนื่องจากการบริโภคที่อ่อนแอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการควบคุมกิจกรรมที่ดำเนินไปจนถึงเดือนมีนาคม ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
รัฐบาลหวังให้ความต้องการที่ถูกกักไว้เหล่านี้ ช่วยหนุนการบริโภคจนกว่าค่าแรงจะสูงขึ้นเพียงพอที่จะชดเชยค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แต่มีความไม่แน่นอนว่าบริษัทต่างๆ จะขึ้นเงินเดือนท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัวหรือไม่
เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนโดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคที่แข็งแกร่งและการเติบโตของค่าจ้าง ธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้เน้นย้ำให้คงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนจะเกินเป้าหมาย 2% เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน