คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”
ปีนี้เป็นวาระครบ 77 ปี ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพยายามเปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นบทเรียนแห่งสันติภาพ แต่ก็ยังมี “ข้อจำกัด” อีกหลายประการที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่อาจปลอดนิวเคลียร์ได้อย่างแท้จริง
สวัสดีค่ะ สัปดาห์นี้ "มิกิจัง" จะมาเล่าเรี่องแทน "ซาระซัง" ที่ติดภารกิจค่ะ เดือนสิงหาคมเป็นช่วงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นไม่อาจลืมเลือนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 เมืองฮิโรชิมาได้ถูกระเบิดปรมาณูทำลาย และต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม เมืองนางาซากิก็เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายเช่นเดียวกัน ระเบิดปรมาณูและสารกัมมันตรังสีที่ตามมาทำให้ผู้คนนับแสนคนเสียชีวิต และมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ได้รับสารกัมมันตรังสีที่เป็นอันตราย ต้องเผชิญความทุกข์จากมะเร็งและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสี
โศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้ชาวญี่ปุ่นจึงรู้ถึงคุณค่าของสันติภาพ และพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของสันติภาพผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้ง อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงหนังสือนิทาน และการศึกษาเรื่องสันติภาพตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อเตือนใจว่า สันติภาพเป็นคุณค่าที่ผู้คนทั่วโลกต้องทนุถนอม และช่วยกันรักษาไว้
การศึกษาเรื่องสันติภาพของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นจากวิชาจริยธรรม ซึ่งถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรชั้นประถมตั้งแต่ปี 2501 ใช้เวลาเรียน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วิชาจริยธรรมนี้ไม่ได้สอนเรื่องของศาสนา แต่ผสมผสานเรื่องหน้าที่พลเมือง การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และคุณค่าของชีวิต เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนรู้ผิดชอบชั่วดี ตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม และมีความคิดเป็นของตัวเองต่อประเด็นต่างๆ ในชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายเรื่องสันติภาพโดยเฉพาะ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ก่อนช่วงปิดภาคเรียนทุกปี
หลังกฎหมายปฏิรูปการศึกษาบังคับใช้ในปี 2544 โรงเรียนในญี่ปุ่นแต่ละแห่งมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับตัวเอง การศึกษาเรื่องสันติภาพได้ถูกสอดแทรกไว้ในวิชาต่าง ๆ เช่น ในวิชาภาษาญี่ปุ่นที่ใช้นิทาน เพลง บทความที่เกี่ยวกับสันติภาพมาเป็นสื่อการเรียน โรงเรียนยังนิยมนำนักเรียนไปทัศนศึกษาในสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เมืองฮิโรชิมา นางาซากิ และ โอกินาวา เป็นต้น
นอกจากการศึกษาในโรงเรียนแล้ว ญี่ปุ่นยังมิพิพิธภัณฑ์สันติภาพมากที่สุดในโลก หนังสือและเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ได้รับการแปลและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง มีเนื้อหาที่หลากหลาย เข้าใจได้ง่ายตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่
แต่ถึงแม้ภาคประชาสังคมของญี่ปุ่นจะต้องการให้โลกปลอดสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่เผชิญโศกนาฏกรรมจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์
รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่า สนธิสัญญานี้ไม่เกิดประโยชน์ถ้าชาติมหาอำนาจที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ อย่างสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ไม่เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาสหรัฐในการป้องกันประเทศ การเข้าร่วมในสนธิสัญญาจึงขัดแย้งกับผลประโยชน์ของญี่ปุ่น
ยิ่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการขยายแสนยานุภาพของจีนและเกาหลีเหนือ ทำให้ญี่ปุ่นจะตระหนักถึงสถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป และหวาดหวั่นถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น จนมีผู้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้กองกำลังป้องกันตนเองมีบทบาทมากกว่า “ป้องกันตนเอง” รวมถึงการขยายแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ด้วย
ทุกปีเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิจะจัดพิธีรำลึกโศกนาฏกรรม ผู้รอดชีวิตจากเหตุดังกล่าวต่างเรียกร้องให้โลกปลอดสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ หากแต่นายกฯ ญี่ปุ่นทุกคนเข้าร่วมพิธีเป็นประจำต่างทำได้เพียงยืนยันในปฏิบัติตามหลักการ 3 ข้อ คือ ไม่ครอบครอง ไม่ผลิต และไม่อนุญาตให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในประเทศ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะ ที่เป็นผู้แทนราษฎรจากจังหวัดฮิโรชิมาด้วย
เหล่า “ฮิบะคุฉะ” หรือผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู นับวันจะชราลงและทยอยเสียชีวิตไป ซึ่งเท่ากับว่าความฝันของพวกเขาที่จะได้เห็นโลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์นั้นกำลังเลือนลางลงทุกที ทางการเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิได้พยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของคนเล่านี้ไปสู่คนรุ่นต่อไป เพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา แต่บทเรียนในอดีตยังไม่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในปัจจุบัน
สำนึกเรื่อง “สันติภาพ” ได้ฝังรากในความคิดของชาวญี่ปุ่น แต่สถานการณ์โลกในขณะนี้กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม หลายประเทศเริ่มตระหนักว่า จำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามต่อการโจมตีต่าง ๆ
นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ของรัสเซียและความขัดแย้งต่าง ๆ ในทั่วโลก กำลังสวนทางกับเป้าหมายของการลดอาวุธนิวเคลียร์
นายกูแตร์เรสกล่าวหลังเข้าร่วมพิธีรำลึกวาระ 77 ปีของการทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิมาว่า “เราได้เห็นกันมาว่า การลดอาวุธนิวเคลียร์นั้นมีความคืบหน้าในช่วงศตวรรษที่แล้ว แต่แล้วสถานการณ์กลับพลิกผัน ขณะนี้เรากำลังมีการแข่งขันด้านอาวุธรอบใหม่ และกำลังเห็นการลงทุนในการทำให้อาวุธนิวเคลียร์มีความทันสมัยขึ้น”
ในญี่ปุ่นมีทั้งกลุ่มที่ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ และกลุ่มที่สนับสนุนให้ญี่ปุ่นเพิ่มแสนยานุภาพการป้องกันประเทศทั้งด้วยตัวเอง และ “ร่วมใช้” อาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้เสนอแนวคิด “แบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์” โดยให้ญี่ปุ่นสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและขั้วอำนาจต่าง ๆ ทำให้การได้ฉันทามติจากประชาชนชาวญี่ปุ่นในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
รายชื่อผู้เสียชีวิตจากสงครามโลก ทั้งที่ฮิโรชิมา นางาซากิ รวมทั้งสมรภูมิโอกินาวา ถูกอัพเดททุกปี และยังมีผู้คนจำนวนมากที่ทนทุกข์จากโศกนาฏกรรมในอดีตนานเกือบ 80 ปีแล้ว เรื่องราวของสันติภาพได้ถูกถ่ายทอดเป็นนิทาน สารคดี รายงานข่าว และอนุสรณ์สถานมากมาย แต่ข้อจำกัดที่ “ผูกตรวน” ให้ญี่ปุ่นไม่สามารถเดินหน้าสู่เส้นทางแห่งสันติภาพได้ คือ สถานะ “คนแพ้ที่ไม่มีน้ำตา” ที่ก็เป็นบาดแผลที่ยังไม่สมานมานานเกือบ 80 ปีเช่นกัน.