xs
xsm
sm
md
lg

“กินข้าวหรือยัง” “ไปไหนมา” ต้องตอบอย่างไร.. เมื่อคนญี่ปุ่นพูดชวน "แล้วมาบ้านฉันนะ" ต้องระวัง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ผมได้อ่านเรื่องที่แชร์กันในสังคมออนไลน์ครับว่า มีเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าไปทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง เขาถูกรุ่นพี่รุ่นลุงในที่ทำงาน พูดชวนประมาณว่า “แล้วไปเที่ยวบ้านเค้า(ลุง) นะ” แล้วหนุ่มน้อยที่เพิ่งเข้างานใหม่ก็ตอบว่า “วันเสาร์ว่างครับ วันเสาร์ว่างไหมครับ? “ ซึ่งการตอบแบบนี้ทำให้คนรอบข้างมองหนุ่มน้อยว่าไม่รู้จักกาลเทศะ?! แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เขาผิดอะไร? ทำไมจึงมีคำทักทายประเภทนี้ แล้วคำตอบที่ถูกต้องที่ควรจะตอบคืออะไรกันแน่

ผมได้ยินเพื่อนคนไทยหลายคนคุยกันว่า ปกติเมื่อคนไทยเจอกันมักจะทักทายว่า ไปไหนมา? , กินข้าวหรือยัง? และอาจจะมีประโยคทักทายอื่นๆ อีกที่เหมือนจะเป็นประโยคคำถามแต่มีคนบอกว่าจริงๆ แล้วเป็นประโยคบอกเล่า! ซึ่งบางทีคนญี่ปุ่นฟังแล้วก็งงครับว่าก็เป็นคำถามไม่ใช่หรือ ไปไหนมา? คำถามว่ากินข้าวหรือยัง? ทำไมถึงไม่ตอบไป ที่ญี่ปุ่นเองก็มีประโยคทักทายแนวนี้เช่นกันคือ "แล้วมา(เที่ยว)บ้านฉันนะ" คนญี่ปุ่นเองก็งง บางคนไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะไม่แน่ใจว่าชวนจริงๆ หรือเปล่า


ตอนที่ผมไปเที่ยวเกียวโตครั้งล่าสุด วันหนึ่งผมมีแผนไปวัดที่ค่อนข้างอยู่ไกลจากตัวเมือง จึงคิดจะหาร้านรับประทานอาหารไปก่อนให้เรียบร้อย แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีร้านไหนเปิด ร้านที่เปิดก็มีลูกค้าเยอะมากเกินไป เที่ยวก็อยากเที่ยว โควิดก็ต้องกลัวประมาณนั้น ร้านแนวอาหารจานด่วน ก็เปิดอยู่แต่ยังไม่อยากกินแฮมเบอร์เกอร์นะครับวันนั้น จีงเดินไปห้างสรรพสินค้าหรูที่อยู่ย่านสถานีรถไฟ พอดีมีร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่งเปิดแล้ว จึงเข้าไปแล้วสั่งเมนูอาหารชุดกลางวัน แม้จะเป็นมื้อกลางวันแต่ราคาค่อนข้างแพงกว่าร้านปกติ พนักงานเสิร์ฟในร้านทุกคนอายุรุ่นคุณลุงคุณป้า และจะใส่ชุดกิโมโนกันทั้งร้าน และเมื่อคุณป้าชุดกิโมโนเนี้ยบหรูเดินถือถาดอาหารมาให้ผมที่โต๊ะ คุณป้าก็โค้งคำนับและบอกว่าคุณลูกค้าสามารถเติมข้าวได้นะคะ !!

เดี๋ยวครับผมบอกตัวเอง อย่าลืมว่ามันเป็นคำพูดของคนเกียวโต บางทีผมก็อาจจะคิดมากไป แต่อย่างที่เคยเล่าไปว่าบางคำที่เขาพูดออกมานั้นมันมีความหมายไปอีกแบบ มีความหมายคลุมเครือมาก แม้พนักงานในชุดกิโมโนจะบอกว่า คุณลูกค้าต้องการเติมข้าวไหมคะ เติมได้นะคะ ? ผมก็นึกถึงเรื่อง ぶぶ漬け Bubuzuke หรือข้าวราดน้ำชาทันที

Bubuzuke หรือข้าวราดน้ำชา คือการนำผักดอง Tsukemono ไปโรยที่ข้าวแล้วรินน้ำชาใส่ลงไป เรียกเมนูนี้ว่า Bubuzuke สำหรับเรื่องเล่าของคนเกียวโต คือ เมื่อมีแขกไปที่บ้านของคนเกียวโต และไม่กลับสักที เมื่อเจ้าบ้านอยากให้กลับเสียที เขาจะบอกแขกว่า “ต้องการรับ Bubuzuke ไหม?” ซึ่งมีหมายความแฝงคือ “รีบๆ กลับไปได้แล้ว!!” จึงเล่าต่อๆ กันมาว่าเมื่อคนเกียวโตพูดหรือแสดงอะไรไป อาจจะเป็นสิ่งที่มีเบื้องหลัง คือมีความหมายแฝงที่ต้องการสื่อ แต่อาจจะต้องตีความหมายแฝงของสิ่งที่คนพูดต้องการจริงๆ


สำหรับเรื่องการเติมข้าวที่คุณป้ากิโมโนบอกนั้น คิดว่าคนญี่ปุ่นคนอื่นคงไม่ค่อยมีใครขอข้าวเพิ่มในร้านแบบนี้แน่ แต่ผมขอครับ” \(*´Д(`)เมื่อผมกินข้าวถ้วยเล็กๆ ชามแรกหมดแล้ว ผมก็เรียกคุณป้าเพื่อขอข้าวอีกชาม ทำให้เห็นสีหน้าตกใจของคุณป้า ดูเธอตกใจมากที่ผมขอข้าวเพิ่มอีกหนึ่งชาม คงตกใจที่มีคนกล้าขอด้วย ผมก็เลยกลัวป้าไปเลย ผมไม่ควรขอข้าวเขาเพิ่มเลย (・ω・`) จริงๆ แล้วอยากขอเพิ่มอีกเป็นชามที่สามแต่อย่าดีกว่า !

แต่ทำพูดหรือคำทักทายที่คลุมเครือก็ไม่ใช่เฉพาะคนเกียวโตเท่านั้น คนญี่ปุ่นก็มักพูดทักทายแบบคลุมเครือ คนซื่อๆ ก็ตอบไปตามตรงที่เขาถามแต่ความเป็นจริงคำตอบที่เหมาะสมคืออะไร วันนี้มีอีกคำทักทายที่เหมือนเป็นการชักชวนแต่มันคือประโยคบอกเล่าและไม่ต้องการให้ใครไปตามคำชวนครับ

เมื่อเพื่อนที่ทำงานพูดว่า
"แล้วมา (เที่ยว) บ้านฉันนะ" (΄◉◞౪◟◉`)
→ ต้องตอบว่าอย่างไร?


คนที่ 1. ตอบว่า : แน่นอน แน่นอน ! 是非是非! Zehi Zehi!! ((*´-`)"((*´-`)" ( ปกติคำนี้แปลว่า ต้องไปแน่นอน/ ต้องทำแน่ๆ )
คนที่ 2. ตอบว่า : ถ้ามีโอกาสนะ ...(´-ω-`) .。ஞ
คนที่ 3. ตอบว่า : ขอปฏิเสธ! (`・ω・´)ノ
คนที่ 4. ตอบว่า : วันเสาร์หน้าคุณว่างไหมล่ะ ( คือจะไปเสาร์หน้า) ~? (゚∀゚*)

มาดูว่าแต่ละคนจะได้คะแนนเท่าไหร่

คนที่ 1. ถ้าตอบแบบคนที่ 1. ให้ → 100 คะแนน(●´ω`●) ถ้ามีการถามในลักษณะนี้ คนตอบที่รู้ว่าคนถามไม่ได้จริงจังอะไร ไม่ได้ชวนไปบ้านจริงๆ เค้าจะตอบว่า Zehi Zehi (พูด Zehi สองครั้ง) ย้ำ 2 ครั้งนะครับเพราะถ้าตอบครั้งเดียวจะกำกวมทำให้คิดไม่ตกว่าตกลงจะไปหรือไม่ไป?! แต่ถ้าตอบสองครั้งคนที่ชวนไปบ้านจะรู้ว่าคนที่เค้าชวน(ชวนไปอย่างนั้น) ก็รู้ความหมายที่สื่อ และไม่ได้อยากจะไปจริงๆ คือต่างคนต่างรู้กัน

คนที่ 2. ถ้าตอบแบบคนที่ 2.ให้ →40 คะแนน (´△`;)
คนที่ 3. ถ้าตอบแบบคนที่ 3. ให้ →20 คะแนน (`皿´)、

คนที่ 4. ถ้าตอบแบบคนที่ 4. ให้ → ติดลบ 200 คะแนน Σ(゚д゚) นี่เป็นคำตอบที่ติดลบและไม่ควรตอบมากที่สุด เพราะการไปถามกลับคนชวนว่าวันเสาร์หน้าว่างไหม? หรือวันนั้นวันนี้ว่างไหม?มันทำให้คนที่ชวนต้องตอบกลับอีกทีว่าว่างหรือไม่ว่าง (แต่เดิมเขาไม่ได้ชวนจริงๆ อยู่แล้ว แต่ต้องมาตอบ และรู้สึกว่าอ้าวคนนั้นจะมาบ้านจริงสิ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่าคนตอบแบบนี้ไม่ถูกกาลเทศะอย่างมาก คนไทยอาจจะงงสักนิดว่าทำไมไม่ถูกกาลเทศะ ผมเองก็งงครับ! และสงสารคนที่ตอบไปตามตรงด้วย


แต่ถึงคนชวนจะพูดชวนไปบ้านแบบนี้ ก็ไม่ได้หมายถึงคนที่ชวนจะโกหกคุณนะ มันเหมือนเป็นคำทักทายที่เป็นกับดักและระบบที่เลวร้ายที่สุดที่ทำร้ายคนคิดบวก หรือคนซื่อๆ ที่โดนชวนแบบนี้แล้วคิดตรงๆ ซื่อๆ ว่าเขาชวนให้ไปเยี่ยมบ้านจริง บางทีสังคมญี่ปุ่นก็ลืมว่ายังมีคนบางคนไม่สามารถอ่านบรรยากาศได้

นอกจากนี้ หลังจากที่ได้ตอบข้อ1. แล้วว่า แน่นอน แน่นอน Zehi Zehi ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้อีก ต่างคนต่างตอบและแยกย้ายกันไปได้เลย และรีบไปทำงานของคุณเสีย มิฉะนั้นจะโดนคนรอบข้างมองด้วยสายตาแปลกๆ หรือถูกหัวหน้าดุได้ มันน่ากลัว!


อย่างไรก็ตามแล้วแต่กรณีด้วยครับ เพราะบางเคสคนชวนเป็นเพื่อนสนิทกับเราจริงๆ และมีกิจกรรมหรือมีงานอดิเรกที่เหมือนกัน เราต้องไปร่วมกิจกรรม สังสรรค์กันน่ะ ถ้ารู้จักกันดีก็เป็นการชวนจริงๆ เพียงแต่ถ้าเป็นคนในที่ทำงานที่อาจจะเพิ่งรู้จักกันผิวเผินมาพูดชวนแบบนี้ต้องให้คิดไว้ก่อนเลยว่าเขาไม่ได้ชวนจริง และคำตอบที่คุณตอบ ต้องให้ถูกต้องด้วยนะครับเนี่ย วันนี้เล่าสู่กันฟัง สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น