สื่อต่างประเทศ รายงานการเกิดขึ้นของชุมชนชาวจีน ที่ทยอยผุดขึ้นในย่านชานเมืองต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุดในเมืองคาวากูจิ จังหวัดไซตามะ ตอนเหนือมหานครโตเกียว จัดเป็นพื้นที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีชาวจีนกว่า 2,000 คนเข้ามาอยู่อาศัย และเปิดกิจการร้านค้า ร้านอาหารจีนแท้ๆ มากมาย
ศูนย์กลางของชุมชนชาวจีนในคาวากูจิ ชานเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นนี้ อยู่ที่คอมเพล็กซ์กึ่งสาธารณะ ชิบะโซโนะ ดันจิ ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 4,500 คน และมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวจีน จัดเป็นพื้นที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ตลอดช่วงเดินผ่านคอมเพล็กซ์นี้มีแต่ภาษาจีนและป้ายประกาศต่างๆ เช่น "อย่าดื่มแอลกอฮอล์หรือตะโกนในบริเวณนี้" ยังมี "ปัสสาวะกลางแจ้งเป็นสิ่งต้องห้าม"
เจียง ฉีกวน ชาวจีนได้อาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 โดยเช่าแฟลตเก่าแต่กว้างขวาง ด้วยค่าเช่า 80,000 เยน (ประมาณ 23,955.25 บาท) ต่อเดือน การเข้าอยู่อาศัยนั้นง่ายดาย ยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่ขั้นตอน ก่อนที่จะย้ายเข้ามา นับเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนน้อยกว่าแฟลตอื่นๆ ที่ต้องมีผู้ค้ำประกันและมีค่าบริการสูง
ความสะดวกง่ายดายในการเข้าพักอาศัยนี้ เป็นเหตุผลหลักที่คอมเพล็กซ์กึ่งสาธารณะ ชิบะโซโนะ ดันจิ ดึงดูดผู้อพยพชาวจีนย้ายมาอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษาดี ทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มาทำงานในญี่ปุ่น พร้อมพาครอบครัวมาอยู่ด้วย
เจียง ฉีกวน เป็นวิศวกรระบบ อายุ 36 ปี ซึ่งพูดภาษาญี่ปุ่นได้เพียงระดับประถมศึกษา ดังนั้นเมื่อต้องมาใช้ชีวิตโดดเดี่ยวห่างบ้านในซันตง ชุมชนจีนในญี่ปุ่นนี้เหมาะสำหรับเขา ด้วยความรู้สึกถึงความอบอุ่นอยู่ในที่ที่มีเสียงดังในภาษาจีนอยู่ทั่วไป เดินไปไหนก็ได้กินเกี๊ยวและซอสเต้าเจี้ยว ซึ่งเป็นของโปรดของเขา และมีวางจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เกตชั้นล่างของที่พักอาศัยด้วย ช่วยคลายความคิดถึงบ้านได้
คอมเพล็กซ์ ชิบะโซโนะ ดันจิ อยู่ในทำเลที่ดีมาก ใกล้กับสถานีรถไฟ เพียงเดิน 7 นาที สามารถเดินทางเข้าเมืองโตเกียวภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เป็นคอมเพล็กซ์ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 นับเป็นหนึ่งในแฟลตย่านชานเมืองที่รัฐบาลญี่ปุ่นสร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัย ห้องเช่าต้นทุนต่ำ รองรับเศรษฐกิจที่โตขึ้นมหาศาลหลังสงคราม
โยชิเอะ ฟุกูชิมะ หญิงวัย 71 ปี ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดิมกล่าวว่า ที่นี่เคยมีบรรยากาศที่สุดหรูหรา เธอมาอยู่ที่นี่ด้วยการจับสลากที่อยู่อาศัย ที่จัดโดย Japan Housing Corporation (ปัจจุบันคือ Urban Renaissance Agency) อาศัยอยู่ที่คอมเพล็กซ์เป็นเวลา 40 ปี สามีของเธอเสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน ทุกวันนี้จึงอยู่เพียงลำพังตัวคนเดียว
ชาวจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในคอมเพล็กซ์คนหนึ่งบอกว่า ในชุมชนนี้แทบ "ไม่มีเงาของความเป็นญี่ปุ่น" แม้ผู้คนท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่สูงวัย ก็เก็บตัวอยู่ที่ห้องราวกับอยู่ในบ้านพักคนชรา
แท้จริงแล้วชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในอาคารนี้มาก่อน ล้วนมีอายุเป็นผู้สูงวัยหมดแล้ว และบางคนก็เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในแฟลตของพวกเขา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นมักเรียกกันว่า "โคโดคุซซิ" หรือภาวะการตายอย่างโดดเดี่ยว อันเป็นปรากฏการณ์ภัยเงียบของสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่นั้นต่างย้ายออกไปหาที่พักอาศัยในย่านใจกลางเมือง ทำให้เกิดพื้นที่ว่างสำหรับผู้อพยพชาวจีน เข้ามาอาศัยห้องว่างในคอมเพล็กซ์ชุมชนแห่งนี้มากขึ้น
คิโยมิ ยามาชิตะ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยริสโช Rissho University ซึ่งตั้งฉายาชุมชนนี้ว่าเป็นคาวากูจิ ไชน่าทาวน์ "Nishi-Kawaguchi Chinatown" ยังได้กล่าวถึงความรู้สึกประหลาดใจ เมื่อได้ทำการสำรวจพื้นที่ พบแม้ร้านขายปลาและผัก ต่างดำเนินการโดยชาวจีนทั้งสิ้น
นี่เป็นอีกชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับชุมชนชาวจีนในนางาซากิ โกเบ โยโกฮามา อิเคบุรุโระ
สำหรับชุมชนชาวจีนในอิเคบุรุโระ อีกแห่งนั้น ยามาชิตะ กล่าวว่า เกิดขึ้นจากคลื่นผู้อพยพชาวจีนที่เข้ามาอยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่มาจากเซี่ยงไฮ้และฝูชิง ที่เดินทางมาในช่วงทศวรรษที่ 1980 ภายหลังการเปิดประเทศจีนและการรณรงค์ของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดนักเรียนต่างชาติ 100,000 คน
"ผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ๆ ได้มาตั้งรกรากอยู่ในสถานที่ต่างๆ เช่น อิเคะบุคุโระ เนื่องจากมีโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น ที่พักราคาถูก หรือใกล้ที่ทำงาน"
"คนเหล่านี้ค่อยๆ ลงหลักปักฐานที่ญี่ปุ่น แต่งงานและมีบุตร ทำให้ต้องการบ้านที่ใหญ่กว่า แต่ก็ไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ในโตเกียว ดังนั้นจึงค่อยๆ ย้ายออกไปที่ชานเมืองต่างๆ" ยามาชิตะ กล่าว
การไหลบ่าเข้ามาของชาวจีนในคอมเพล็กซ์กึ่งสาธารณะของชาวจีน จึงไม่ได้มีที่ คาวากุจิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ คอมเพล็กซ์กึ่งสาธารณะ ชิบะโซโนะ ดันจิ เพียงแห่งเดียว แต่ยังมีในจังหวัดชานเมืองอื่นๆ เช่น ชิบะ และคานากาว่า ซึ่งโดยรวมแล้ว จนถึงปลายปี 2017 มีชาวจีนเข้าอยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นรวมกว่า 730,000 คนแล้ว
ความไม่พอใจกันของคนท้องถิ่นกับเพื่อนบ้านต่างถิ่นย่อมมีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อพูดถึงการมีปฏิสัมพันธ์ของชาวญี่ปุ่นท้องถิ่นกับเพื่อนบ้านใหม่ๆ
ฟุกุชิมะ ผู้อยู่อาศัยเดิม บ่นว่าเด็กจีนเล่นโหวกเหวกหนวกหู ในขณะที่บรรดาแม่ๆ ก็ไม่สนใจ นั่งเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ
"ชาวญี่ปุ่นไม่ทำแบบนี้" เธอกล่าว และว่าไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อนบ้านชาวจีนเหล่านี้ได้ เนื่องจากต่างพูดภาษาอีกฝ่ายไม่ได้ ชาวญี่ปุ่นจึงร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่ง มิชิฮิโระ คาวาโนะ เจ้าหน้าที่ของเมืองคาวากุจิ ก็ยอมรับว่าได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเก็บขยะมูลฝอยและมลพิษทางเสียงอยู่เสมอ
ชาวจีนที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ ดูจะผสานรวมเข้ากับชุมชน สื่อสารกับคนท้องถิ่นได้ง่ายและเข้าใจตรงกันมากกว่า ซึ่งแม่บ้านชาวจีนบางคนก็มีความพยายามเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น ขณะที่สามีของพวกเขากำลังทำงานอยู่ที่โตเกียว และเด็กๆ ก็ไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม กลายเป็นว่า ปู่ย่าตายายชาวจีนบางคน ก็กังวลเกี่ยวกับลูกหลานของตนว่า "เปลี่ยนเป็นคนญี่ปุ่น"
รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถกำหนดนโยบายการรวมกลุ่มทางสังคมที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้สูงอายุของ ชิบะโซโนะ ตันจิ ก็กำลังริเริ่มอยู่ เพื่อประสานความสัมพันธ์ชุมชน
ฮิโรกิ โอกาซากิ วัย 36 กล่าวว่า สมาคมผู้สูงอายุกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการบรรเทาความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวจีน โดยขอให้ตามบริษัท ห้างร้านที่จ้างพนักงานชาวจีน ได้แจกจ่ายหนังสือคู่มือชุมชนที่เขียนเป็นภาษาจีน ซึ่งช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ
โอกาซากิ เชื่อว่าการสื่อสารให้คนญี่ปุ่นและชาวจีนเข้าถึงจิตใจกันและกันนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แม้จะจัดกิจกรรมร่วมมือกับอาสาสมัครนักศึกษาญี่ปุ่น และสมาคมฯ ยังเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ เช่น การฝึกไท่จี๋ ตลาดนัด และจัดกลุ่มพบปะแลกเปลี่ยน แต่ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในคอมเพล็กซ์ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจร่วมด้วยมากนัก
โอกาซากิ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยริสโช่ คาดการณ์การแพร่ขยายของไชน่าทาวน์ในเขตชานเมืองญี่ปุ่น ว่าในอนาคตชาวจีนโพ้นทะเล สถานะทางสังคมสูงขึ้นจะย้ายมารวมกันอยู่ที่ห้องพักคอนโดมิเนียมราคาแพง ชานเมืองกรุงโตเกียวมากขึ้นเรื่อยๆ