xs
xsm
sm
md
lg

จาก 3 อันดับเหตุการณ์โลก .. ญี่ปุ่นจะขาดแคลนอาหารไหม!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว เพื่อนๆ สบายดีไหมครับ นี่ก็เดือนสิงหาคมแล้ว เวลาผ่านไปเร็วมาก เผลออีกแป๊บเดียวเดี๋ยวก็สิ้นปี แต่ช่วงครึ่งปีแรกนี่มันหนักจริงๆ นะครับ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจนบางคนแทบจะรับไม่ไหว ผมเองก็ติดตามข่าวทั้งจากญี่ปุ่นและข่าวสารทั่วโลก ปกติผมจะสรุปข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงปลายปี แต่วันนี้อยากคุยเกี่ยวกับข่าวหนัก 3 อันดับในความคิดผมที่เกิดขึ้นในรอบครึ่งปีแรก สรุปเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกและมีผลกระทบกับญี่ปุ่นด้วย สำหรับผมแล้วครึ่งปีนี้ขอยกให้


●อันดับที่ 3 ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ตอนแรกคนญี่ปุ่นใครๆ ก็คิดว่าสงครามคงใช้เวลาไม่นาน ไม่น่าจะยืดเยื้อ แรกๆ ยังมีการแบ่งฝ่ายเชียร์กันอยู่เลย คนที่อยู่ข้างรัสเซียก็บอกว่ารัสเซียเก่งกว่าและมีเครื่องไม้เครื่องมืออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่า ไม่ถึงอาทิตย์ก็สามารถยึดและจบสงครามได้ ส่วนคนที่อยู่ข้างยูเครนก็คิดว่าฝั่งรัสเซียแค่ขู่เล่นๆ เดี๋ยวก็ไป แต่มาจนถึงวันนี้เกินครึ่งปีแล้ว ยังรบกันไม่เลิกจนเกิดผลกระทบไปทั่วโลก ไหนจะผลจากโควิดโลกต้องมาเจอผลกระทบจากสงครามอีก ผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ส่งผลต่อเรื่องวิกฤตอาหารโลกด้วย เพราะวัตถุดิบทางการเกษตรที่ต้องนำมาใช้ประกอบอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวสาลี , เมล็ดดอกทานตะวัน (วัตถุดิบทำน้ำมันพืช, ธัญพืชประกอบอาหาร, อาหารสัตว์ เป็นต้น) เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่ของโลกนั่นเอง


สงครามและการสู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ ได้ แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 20-30% ของยูเครนจะไม่ได้ใช้ทำการเพาะปลูกหรือไม่ได้ทำการเก็บเกี่ยวในฤดูกาลของปีนี้ นอกจากนี้ส่วนที่รอส่งออกไปขายต่างแดนที่ต้องผ่านท่าเรือในทะเลดำก็ต้องหยุดชะงักลง ทำให้หลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและวัตถุดิบการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครนได้รับผลกระทบอย่างมาก

ยังมีเรื่องราคาปุ๋ยแพง เพราะรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ของโลก นอกจากสินค้าเกษตรแพงแล้ว ราคาปุ๋ยซึ่งเป็นวัตุดิบในการเพาะปลูกก็มีราคาสูงขึ้นด้วย และหลายประเทศเกิดการขาดแคลนก๊าซที่ต้องใช้ในการผลิตแอมโมเนียในปุ๋ย ส่งผลต่อเนื่องถึงประเทศต่างๆ ที่ทำการเกษตร เพราะส่วนใหญ่ต้องมีการนำเข้าปุ๋ยจากทั้งสองประเทศนี้ เช่น ประเทศแถบอเมริกาใต้ต้องนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียและยูเครน ถ้าไม่มีปุ๋ยก็อาจจะมีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ผลิตได้น้อยลงเค้าก็ต้องเก็บไว้สำรองในประเทศตัวเองไม่มีการส่งออก ก็เป็นอีกปัจจัยแน่ๆ ที่ส่งผลต่อวิกฤตอาหารโลกในอนาคต


●อันดับที่ 2 การล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกา
จากข่าวประเทศศรีลังกาต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนสถานการณ์ดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการลุกฮือของประชาชนที่ออกมาประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ภาพแบบนี้บางทีผมก็ไม่คิดว่าจะเห็นในชีวิตจริงนะครับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในจินตนาการหรือเห็นในเกมเสียมากกว่า

ได้ข่าวว่าศรีลังกาต้องเผชิญวิกฤตพลังงานขั้นรุนแรง ขนาดที่แทบจะไม่เหลือน้ำมันสำรองใช้ในประเทศ และประชาชนถูกร้องขอให้เตรียมพร้อมรับความยากลำบากที่กำลังจะเกิด ทั้งค่าขนส่งและราคาอาหารเพิ่มขึ้นมากทำให้ชาวศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนัก และประเทศอาจจะไม่สามารถใช้หนี้ประเทศเจ้าหนี้ได้ จากการขาดแคลนพลังงาน , เชื้อเพลิง, อาหารและสินค้าจำเป็นอื่นๆ เกิดวิกฤตข้าวยากหมากแพง เพาะปลูกได้น้อย ไม่พอส่งออก โดยเฉพาะชาซีลอน (Ceylon Tea) ผมนี่ขาดไม่ได้เลยจริงๆ


●อันดับที่ 1 ภูเขาไฟระเบิดที่ตองกา กระทบลูกโซ่ปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2565 คิดว่าเพื่อนๆ คงจำข่าวภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดที่ประเทศตองกาได้ ซึ่งการระเบิดในครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุดในโลกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาเลย ตอนนั้นทุกคนก็หวาดวิตกเพราะการระเบิดทำให้เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิค ความสูงของเถ้าถ่าน ไอน้ำ และแก๊สที่พุ่งขึ้นมาจากการระเบิดเทียบได้กับการระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบ ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ.1991


เหตุการณ์ผ่านไปกว่าครึ่งปีแล้ว บางคนคิดว่าเรื่องแค่นี้จะมีผลกระทบอะไร แต่ผมยังคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่งโดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นนะครับ ก่อนปี ค.ศ.1993 ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายปลูกและบริโภคข้าวในประเทศ ห้ามการนำเข้าเชิงพาณิชย์จากต่างประเทศ แต่ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ.1991 การระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟปินาตูโบ ในประเทศฟิลิปปินส์ และทำให้มีฝุ่นควันลอยฟุ้งขึ้นไปในชั้นบรรยากาศมากเป็นระยะเวลานานเป็นปีๆ ส่งผลต่อการผลิตข้าวในประเทศญี่ปุ่นในปีต่อๆ ทำให้ชาวนาไม่สามารถผลิตข้าวได้เต็ม 100% ทำได้แค่ประมาณ 70% เท่านั้นจีงไม่พอต่อการบริโภคภายในประเทศ ผมจำได้ดีเลยว่าตอนนั้นประเทศญี่ปุ่นมีความลำบากเรื่องของข้าว และอาหารการกินมาก ข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขนโยบายให้สามารถนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะข้าวจากประเทศไทย แล้วผมก็จำได้ดีว่า ผมไปซื้อโอนิงิริ (ข้าวปั้น)ในร้านสะดวกซื้อ ผมก็ตกใจมากเพราะในข้าวปั้นหนึ่งก้อนจะมีข้าวแบบอวบอ้วนของญี่ปุ่นผสมปนกับข้าวไทยแบบเม็ดผอมเพรียว (*´ω`)△ เป็นความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลยนะครับ แม้ว่ามันจะผ่านมานานแล้ว และคงจะไม่ค่อยมีใครจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ นอกจากคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปแต่ก็อาจจะหลงลืมไปบ้างเหมือนกัน


ผลกระทบฝุ่นควันที่ในบรรยากาศจากการระเบิดของภูเขาไฟนั้นมันอาจจะยังไม่เห็นผลในระยะเดือนสองเดือน ภูเขาไฟระเบิดที่ตองกาเพิ่งเกิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งกว่าจะรู้ผลว่าจะมีผลกระทบอะไรกับพืชผลทางการเกษตรที่ญี่ปุ่นบ้าง ก็น่าจะอีกเป็นปีหรือไม่แน่ปีหน้านี้ก็คงจะได้รู้แล้วว่าจะเกิดอะไรไหม จะมีวิกฤตอาหารอีกหรือเปล่า

ทั้ง 3 เหตุการณ์ต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารได้ เป็นข่าวหนักในรอบครึ่งปีแรกในความคิดเห็นของผมครับ ผมคิดว่าอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เรา ถ้าเราไม่มีอาหารเราคงจะอยู่กันอย่างแร้นแค้นและมีปัญหาต่างๆ เป็นผลพวงตามมาอีกหลายๆ อย่าง ที่จริงแล้วเมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มาก ผมหวังว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นเกาะและมีพื้นที่การเพาะปลูกน้อย นอกจากข้าวก็นำเข้ามาจากต่างประเทศ ถ้าเกิดปัญหาวิกฤตอาหาร ส่งผลกระทบใหญ่แน่นอน ก็ได้แต่หวังว่าจะหาทางออกเตรียมการและรองรับ ถ้าทุกคนได้กินอาหารอย่างอิ่มท้องและอุดมสมบูรณ์ เราทุกคนก็คงจะมีความสุขทั้งกายและใจ ผมหวังว่าเราจะไม่มีปัญหาอะไรนะครับ วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น