คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ท่านใดที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนภาษาญี่ปุ่น คงเคยรู้สึกกันมาบ้างว่ายากจัง และกว่าจะเป็นก็ต้องใช้เวลาพอสมควร อันที่จริงหนทางที่ช่วยให้การเรียนภาษาญี่ปุ่นง่ายขึ้นมีอยู่หลายอย่าง สัปดาห์นี้ขออนุญาตแนะนำและเล่าประสบการณ์ในฐานะที่เคยเป็นทั้งนักเรียนและอาจารย์ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ
มีเป้าหมายชัดเจน
ฉันคิดว่าการมีเป้าหมายช่วยให้เราเห็นความหมายของสิ่งที่กำลังทำอยู่ อย่างถ้าเราเรียนภาษาญี่ปุ่นก็อาจมีเป้าหมาย เช่น เพื่อเล่นเกมภาษาญี่ปุ่น อ่านการ์ตูนจากต้นฉบับ เข้าใจความหมายของเพลงญี่ปุ่น หรือเพื่อทำงานแปล เป็นล่าม เรียนต่อญี่ปุ่น ทำงานกับคนญี่ปุ่น ซึ่งไม่ว่าอย่างไหนก็ดีทั้งนั้น เพราะพอเรารู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไรก็จะเห็นคุณค่า ไม่รู้สึกว่าต้องเรียนอย่างซังกะตาย แต่จะมีแรงบันดาลใจให้สนใจเรียนเอง
แถมพอรู้เป้าหมายชัดเจน ก็วัดผลได้ด้วยว่าตัวเองมาถึงจุดไหนแล้ว ต้องพยายามต่ออีกแค่ไหน แล้วถ้าเราเดินมาไกลถึงจุดหนึ่งแล้ว มันก็จะภูมิใจด้วยนะคะว่าตัวเองพากเพียรมาได้ถึงขนาดนี้แล้ว ก็จะมีกำลังใจให้พยายามต่อไปอีก เดี๋ยววันหนึ่งก็ถึงฝั่งจนได้
แต่ถ้าหลวมตัวเรียนไปแล้วโดยไม่มีเป้าหมาย และสายเกินจะกลับลำ ก็ลองมองหาประโยชน์ที่จะได้รับจากการเก่งภาษาญี่ปุ่นดูสิคะ เช่น มีโอกาสขอทุนไปเรียนต่อญี่ปุ่นหรือทำวิจัยในญี่ปุ่น มีโอกาสในหน้าที่การงานมากขึ้น หรือเวลาไปญี่ปุ่นจะได้เที่ยวสะดวกขึ้น หรือช่วยให้เราเข้าถึงสื่อที่เป็นภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น มีแต่ได้กับได้เยอะแยะเลย
ทบทวนบทเรียนที่เพิ่งเรียนไป
ฉันเห็นนักเรียนบางคนเรียนภาษาญี่ปุ่นมาเป็นปีแล้ว แต่กลับอ่านตัวอักษรฮิรางานะไม่ออก ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ในขณะที่นักเรียนบางคนก็เรียนรุดหน้าไปเรื่อย ๆ ทั้งที่พวกเขาก็เรียนมาพร้อมกัน ฉันเข้าใจว่าพวกเราทุกคนมีวิชาที่ถนัดและไม่ถนัดต่างกัน แต่ไหน ๆ ถ้าต้องเรียนแล้ว หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้การเรียนเป็นเรื่องง่ายขึ้น ก็คือการทบทวนบทเรียนที่เพิ่งเรียนไปให้เข้าใจทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นพอครูสอนไปเรื่อย ๆ แล้วสิ่งที่ต้องเรียนรู้ต้องท่องจำก็ยิ่งเยอะขึ้น ถ้าพื้นฐานเรายังไม่แม่น พอไปเจอเนื้อหาที่สูงขึ้นและเยอะขึ้น มันก็จะรู้สึกยากและไม่แปลกเลยที่จะเรียนไม่รู้เรื่อง แล้วการเรียนวิชานั้นก็จะกลายเป็นความทุกข์ทรมานสำหรับเราโดยไม่จำเป็น
สมัยเด็กที่ฉันเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียนสอนภาษาก็เคยเรียนแบบขอไปที ไม่ยอมอ่านหนังสือเพราะเห็นว่าไม่มีสอบเลื่อนชั้น อาจารย์ถามอะไรก็ตอบผิดประจำ พอไปสอบวัดระดับก็สอบไม่ผ่าน ส่วนพี่ฉันซึ่งคอยทบทวนบทเรียนเสมอสอบผ่าน พ่อเลยดุว่าถ้าไม่ตั้งใจเรียนอย่างนี้ก็จะไม่ให้เรียนแล้ว ฉันเลยต้องไปทบทวนบทเรียนใหม่แต่แรกเริ่ม (ซึ่งมากมายก่ายกอง) และเลิกขี้เกียจนับแต่นั้นมา
เราสามารถทำให้การเรียนเป็นเรื่องง่ายเสียตั้งแต่วันนี้ได้ ด้วยการทบทวนสิ่งที่เรียนมาไปทีละเล็กละน้อย ไม่รอจนกลายเป็นดินพอกหางหมู ไม่เข้าใจตรงไหนก็รีบถามครู/อาจารย์ พอเรียนรู้เรื่อง ตามคนอื่นทัน ก็จะรู้สึกพอไปไหว ไม่ยากเกินกำลังเอง
เท่าที่สังเกตมาฉันพบว่าคนที่ผลการเรียนดีไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนฉลาด แต่เป็นเพราะขยันและอดทนก็เลยเอาดีในการเรียนได้ ในทางตรงกันข้ามคนเก่งแต่ประมาทก็พลาดพลั้ง ฉันรู้จักคนหนึ่งที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เขาคิดว่าตัวเองรู้อยู่แล้วเลยไม่ทบทวนบทเรียน ถึงเวลาเขากลับสอบเข้าเอกญี่ปุ่นไม่ผ่านอย่างที่คาดไว้ เลยต้องไปเรียนเอกอื่นที่ไม่ชอบแทน เพราะฉะนั้นอย่าได้ดูเบาเรื่องความขยันและความขี้เกียจนะคะ ชีวิตเราจะรุ่งหรือจะร่วงก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง ฝึกตัวเองให้ขยันเสียแต่บัดนี้ แล้ววันหนึ่งตัวเราในอนาคตข้างหน้าจะขอบคุณตัวเราในวันนี้
อย่าเรียนจากตำราอย่างเดียว ศึกษาด้วยวิธีอื่น ๆ (ที่สนุกกว่า) ให้เยอะไว้
ยุคนี้โอกาสที่เราจะได้สัมผัสภาษาญี่ปุ่นโดยที่ไม่ต้องไปญี่ปุ่นมีเยอะมาก ไม่ว่าจะการ์ตูน แอนิเมชัน เกม เพลง คาราโอเกะ ละคร ภาพยนตร์ และยูทูป สนใจสื่อแบบไหนก็ลองดูค่ะ พวกนี้ช่วยฝึกทักษะการอ่าน การฟัง และการออกเสียงได้มากทีเดียว แถมยังสนุกด้วยนะ
อย่างฉันเองเมื่อก่อนก็ไม่รู้ว่าตัวอักษร “ち”(Chi) ออกเสียงอย่างไร ต่างกับ “じ”(Ji) ตรงไหน พยายามหัดออกเสียงอย่างไรก็ไม่ถูกเสียที มีอยู่วันหนึ่งดูแอนิเมชันซึ่งมักเริ่มต้นแต่ละตอนด้วยคำว่า “ちきゅう”(地球) ฉันลองออกเสียงเลียนแบบตาม ถึงได้รู้ว่าที่แท้ออกเสียงอย่างไร เลยออกเสียงเป็นตั้งแต่นั้นมา
สมัยเรียนมัธยมต้น ฉันเคยเก็บสะสมค่าขนมอันน้อยนิดไปซื้อการ์ตูนฉบับภาษาญี่ปุ่น ถึงจะอ่านรู้เรื่องน้อยมาก แต่ก็ทำให้คุ้นเคยกับการอ่าน ทั้งยังรู้ศัพท์มากขึ้นและจำคันจิได้ง่ายขึ้น หลายปีต่อมาฉันไปนั่งรอเพื่อนที่สำนักงาน เห็นมีนิตยสารญี่ปุ่นวางอยู่ ไม่มีอะไรทำเลยหยิบมาเปิดดูไปงั้น ๆ ตอนนั้นความรู้ภาษาญี่ปุ่นฉันอยู่แค่ชั้นกลางเท่านั้นเอง แต่ระหว่างที่กวาดตาไปตามตัวอักษรได้ไม่นาน ก็ต้องตกใจที่รู้ว่าตัวเองอ่านนิตยสารญี่ปุ่นรู้เรื่องตั้งแต่เมื่อไหร่กันนี่! วันนั้นฉันดีใจเป็นล้นพ้นที่รู้ว่าทักษะในการอ่านพัฒนาขึ้น ซึ่งก็คงสั่งสมมาจากการอ่านทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่องนี่เอง
ถ้ามีโอกาสเจอคนญี่ปุ่น ลองคุยภาษาญี่ปุ่นกับเขาดูก็อาจจะดีเหมือนกัน ตอนที่ฉันเพิ่งเริ่มเรียนได้ไม่นาน นึกอยากลองวิชาขึ้นมา พอเจอคนญี่ปุ่นก็ลองพูดภาษาญี่ปุ่นกับเขาดู ทั้งตื่นเต้นจะแย่ ทั้งพูดถูกบ้างผิดบ้าง ฟังเขารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง หน้าแตกไปหลายหนจนหมอคงไม่อยากเย็บให้อีกแล้ว แต่มันก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้จากสิ่งที่ผิด พอไม่กลัวมากไปที่จะพูดผิดพูดถูกก็เลยพัฒนาได้เร็ว ทั้งยังได้เพื่อนญี่ปุ่นมาเป็นของแถมด้วย
เห็นมาหลายคนแล้วที่เก่งภาษาต่างประเทศแบบก้าวกระโดด เพราะฝึกฝนด้วยวิธีอื่นด้วยอยู่เนือง ๆ แล้วมัน
ยังทำให้การเรียนภาษาสนุกขึ้นด้วยนะคะ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวแน่ะ
ใส่ตัววรรณยุกต์กำกับเสียงอ่าน จะทำให้ออกเสียงเก่งขึ้น
วันหนึ่งขณะนั่งเรียนภาษาญี่ปุ่นกับเพื่อน ๆ ฉันเหลือบไปเห็นหนังสือเรียนของเพื่อนมีรอยดินสอเขียนวรรณยุกต์กำกับแต่ละคำในเนื้อหา เพื่อให้อ่านออกเสียงสูงต่ำได้ถูกต้อง มันเป็นวิธีที่ชาญฉลาดมาก ทั้งยังง่ายแสนง่าย อยากให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่เรียนอยู่จำไปใช้ จะได้ออกเสียงภาษาญี่ปุ่นได้ถูกต้องขึ้น
มีอยู่ครั้งหนึ่งอาจารย์ชาวญี่ปุ่นให้การบ้านไปอัดเสียงอ่านหนังสือมาหนึ่งบท ฉันก็นั่งฟังเทปก่อนว่าต้นฉบับเขาอ่านเสียงสูงต่ำของแต่ละคำอย่างไร จากนั้นก็เขียนวรรณยุกต์ไทยตามที่เพื่อนผู้ชาญฉลาดของฉันคิดวิธีขึ้นมากำกับลงไปในหนังสือ พอครบทุกคำแล้ว ฉันก็อ่านออกเสียงตามนั้นอัดเทปส่งอาจารย์ วันที่อาจารย์คืนเทปมา ท่านยิ้มกว้างชมเปาะว่าออกเสียงได้ดีมาก ๆ แสดงว่าวิธีนี้ใช้แล้วดีจริง
เรื่องออกเสียงสูงต่ำถูกผิดนี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะคะ เพราะไม่งั้นความหมายมันไปกันคนละทางเลย ลองนึกดูว่าถ้าคนต่างชาติออกเสียง “ใกล้” กับ “ไกล” ไม่ถูก พอมาคุยกับคนไทยก็อาจจะคุยไปกันคนละเรื่องเลยก็ได้ หรือเพื่อนฉันชื่อ “ต่าย” ต่างชาติบางคนเรียกผิดเป็น “ตาย” เพราะฉะนั้นเรื่องออกเสียงให้ถูกนี่สำคัญกว่าที่คิด
เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น
ภาษาอะไรก็ตาม ถ้าเรียนแต่เนื้อหาของภาษาอย่างเดียวคงน่าเบื่อ แต่ถ้าเราสนใจใฝ่รู้เรื่องราวที่เกี่ยวกับประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ ก็จะรู้สึกเหมือนเห็นโลกกว้างขึ้น และมองภาษาที่เราเรียนอยู่ต่างไปจากเดิม รู้สึกว่ามันมีมิติ มุมมอง และความเกี่ยวโยงกับเรื่องอื่นที่น่าสนใจน่าเรียนรู้อีกเยอะแยะ แล้วก็จะมีกำลังใจศึกษาภาษามากขึ้นไปเอง
เดี๋ยวนี้หนังสือ รายการโทรทัศน์ ยูทูป และเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มีเยอะมากไม่หวั่นไม่ไหว อย่าให้เสียโอกาสอันดีนี้ ใช้หาความรู้ให้คุ้มเลยค่ะ
นอกจากนี้ตามสมาคม มูลนิธิ หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับภาษาต่างประเทศ มักจะมีจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม ทั้งยังอาจมีห้องสมุดภาษานั้น ๆ ให้บริการ หรือมีฉายภาพยนตร์ด้วย บางคราวก็มีนิทรรศการ งานแสดงดนตรีประจำชาติ และอื่น ๆ อีกมาก ลองหาโอกาสไปเปิดหูเปิดตา จะได้รู้สึกว่ามีอะไรแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการเรียนเดิม ๆ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ฉันพอจะคิดออกจากประสบการณ์ ใครเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ก็ลองเอาไปใช้ดูสักระยะใหญ่ ๆ ก่อน แล้วดูว่าช่วยให้เรียนเก่งขึ้นบ้างไหม ถ้าพยายามเต็มที่แล้ว ยังรู้สึกว่ายาก หรือไม่สนุกกับการเรียนเอาเสียเลย หากเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่นได้ก็ลองดู เพราะคนเราความชอบความถนัดไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ ก็ลองหาข้อดีของการเรียนอย่างที่บอก มองหาความสนุกในสิ่งที่ทำให้เจอ แล้วขยันเรียนไว้ เดี๋ยวมันไปได้เอง
ฉันเชื่อว่าไม่มีการเรียนรู้อะไรในโลกนี้ที่ไร้ประโยชน์ วันนี้อาจจะยังไม่เห็นคุณค่า แต่วันหนึ่งมันอาจจะมีประโยชน์เกินคาดก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปด้อยค่าในสิ่งที่เราคิดว่ามันยาก และที่สำคัญคืออย่าเพิ่งล้มเลิกอะไรง่าย ๆ ก่อนได้พยายามให้เต็มที่นะคะ ไม่อย่างนั้นเราอาจพลาดโอกาสที่จะได้รู้ว่าที่จริงแล้วเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่ตัวเองคิดแค่ไหน
ขอให้เพื่อนผู้อ่านทุกท่านมองเห็นแง่มุมที่สวยงามของสิ่งที่กำลังทำอยู่ แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.