สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ตอนแรกว่าจะเขียนเรื่องที่กำลังเป็นที่พูดถึงในประเทศญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่มีแต่เรื่องหนักๆ มาคุยเรื่องเบาๆ กันน่าจะดีกว่า อาทิตย์ที่แล้วผมไปธุระที่กรุงเทพฯ 2-3 วัน ขากลับจองที่พักด้วยเหตุผลเพราะคิดว่าอยู่ใกล้สนามบิน และเมื่อใช้ส่วนลดก็ได้ราคาหลักร้อย เป็นโรงแรมในสนามกอล์ฟตอนแรกคิดว่าอยากจะไปออกกำลังกายชิลๆ บ้าง จะไปว่ายน้ำ จะไปเล่นฟิตเนสซะหน่อย แต่เอาเข้าจริงไม่ได้ออกกำลังกายเลย ผมออกจากสยามก็เย็นแล้วแถมเป็นช่วงคนเลิกงาน และกรุงเทพฯ ยังมีน้ำท่วมขังหลังจากที่ฝนตกกระหน่ำก่อนหน้าหนึ่งวัน ทำให้กว่าจะไปถีงที่พักก็ค่ำมืด โรงแรมอยู่ในสนามกอล์ฟจึงไม่มีร้านอาหารอื่นนอกจากร้านของโรงแรม ในร้านอาหารมีนักเล่นกอล์ฟมารับประทานอาหารกันหลายกลุ่ม ผมคิดว่าคงเจอคนญี่ปุ่นบ้างแน่ๆ เพราะเดิมทีคนญี่ปุ่นชอบเล่นกอล์ฟมาก แต่วันนั้นมีลูกค้าชาวจีนเยอะมาก มีกลุ่มคนไทย ฝรั่งวัยรุ่นก็มี แต่ไม่มีคนญี่ปุ่นเลยครับน่าแปลก และจากข้อมูลปัจจุบันจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ หรือคนที่ยังอายุน้อยไปเล่นกอล์ฟลดลง
ยี่สิบกว่าปีก่อนที่ผมเริ่มเรียนภาษาไทยใหม่ๆ ผมคิดว่าภาษาไทยยากมากโดยเฉพาะเรื่องการเทียบปี พ.ศ. คนญี่ปุ่นหลายคนที่เรียนภาษาไทยก็ติดเรื่องการอ่านปีพ.ศ. และการคิดเทียบปีพ.ศ. เช่นกัน ในหนังสือเล่มที่ผมเรียนเขียนไว้ว่าคนไทยที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2500 และคนที่เกิดหลังจากพ.ศ. 2500 เป็นต้นไปจะมีความแตกต่างกันนิดหน่อย ก็คงจะเหมือนกับญี่ปุ่นคนที่เกิดยุคโชวะหรือยุคเฮเซจะมีเรื่องของความต่างกันเนื่องจากเจเนอเรชั่นบ้าง มีความแตกต่างกันในเรื่องของยุคสมัยที่ส่งผลต่อมุมมอง คติความเชื่อ ยิ่งคนที่ทำงานในองค์กรญี่ปุ่นนี่จะเห็นได้ชัด เช่น คนที่เกิดในยุคสมัยโชวะ ปัจจุบันน่าจะมีอายุราวๆ 50- 60 ปีแล้ว พวกเขาคิดว่าจะต้องทำงานที่บริษัทเดิมนี้ไปเรื่อยๆ จนเกษียณอายุ แต่ถ้าเป็นคนยุคเฮเซ ตอนนี้อายุมากสุดก็น่าจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 30 กว่าๆ ซึ่งเป็นคนในยุคที่เค้าก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำงานบริษัทเดิมเรื่อยไปตลอดชีวิต และยังมีมุมมองความคิดอีกหลายอย่างที่ต่างกัน
ชาวมนุษย์เงินเดือน หรือนักธุรกิจรุ่นโชวะนั้นมักจะหากิจกรรมที่เป็นการพักผ่อนซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเล่นกอล์ฟ คนรุ่นนี้บอกว่าเพราะกีฬากอล์ฟเหมาะกับคนญี่ปุ่นที่รักงานและมักจะทุ่มเททำงานหนัก และยังเป็นกีฬาที่มีไว้เพื่อคนที่ชอบการสังสรรค์เสียจริงๆ จะว่าไปก็เหมือนได้ไปทำงานนั่นเอง เพราะเจอแต่คนในแวดวงเดิมได้ไปสานความสัมพันธ์กัน แต่บางคนก็ไม่ได้ชอบเล่นกอล์ฟจริงๆ จังๆ อะไรที่ไปเล่นเพราะจำใจไป เพราะมันเป็นงานนั่นเอง หรือคนญี่ปุ่นที่ถูกส่งตัวมาประจำการและทำงานที่เมืองไทยส่วนใหญ่บริษัทจะจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้และมีคนขับรถให้ด้วย เวลาว่างวันหยุดจึงมักจะไปเล่นกอล์ฟ ดื่มสังสรรค์และมีคนขับรถยนต์ให้สบาย
จึงเป็นที่รู้กันดีว่าคนญี่ปุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไปชอบไปเล่นกอล์ฟกันมาก เพื่อนๆ ที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นในไทยน่าจะเคยเห็นคนญี่ปุ่นชอบไปออกรอบตีกอล์ฟทุกวันหยุด เขาให้เหตุผลว่าเป็นทั้งการผ่อนคลายและการกระชับความสัมพันธ์ในการทำงานในบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ แต่ผมคิดว่าคนรุ่นผมจนถึงเด็กจบใหม่ หรือคนที่เข้าทำงานใหม่อายุ 20-30 ปี ไปเล่นกอล์ฟลดลง อาจจะมีคนที่ชื่นชอบจริงๆ เค้าก็เล่นเพราะเป็นความชอบ แต่บางคนถ้าต้องไปเล่นเพื่อนสานสัมพันธ์ในองค์กร มีเบื้องหลังแอบแฝง อยากเป็นที่ยอมรับของหัวหน้า อยากได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งต้องการเอาใจเจ้านาย คนญี่ปุ่นบอกว่าคนอื่นจะมองออก จนมีคำพูดว่า “งานอดิเรกที่ชอบเป็นเรื่องที่โกหกกันไม่ได้ “ ความชอบส่วนบุคคลคือ สิ่งที่สะท้อนตัวตนออกมา ถ้าชอบจริงๆ จะเผยออกมาให้เห็นได้เลยว่าเป็นสิ่งที่เรารู้จักดี เข้าใจและเป็นสิ่งที่ใจรัก ใครเห็นก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่คนๆ นั้นถนัดแต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ชอบจริงๆ แสร้งทำหรือโกหกตัวเองใครเห็นก็จะรู้เหมือนกันว่า ปลอม นั่นเอง
คนรุ่นใหม่ๆ หลายคนบอกว่าไม่ได้ชอบไปเล่นกอล์ฟเหมือนคนรุ่นลุงที่คิดว่ากีฬากอล์ฟถือเป็นการเข้าสังคมอย่างหนึ่งของคนที่ทำงาน
เพราะปกติแล้วชาวออฟฟิศหรือพนักงานเงินเดือนที่ญี่ปุ่นนั้น จะทุ่มเททำงานกันอย่างหนักและเคร่งเครียด เมื่อถึงวันหยุดคนรุ่นใหม่ๆ หลายคนก็อยากนอนพักผ่อนแบบไม่ทำอะไรเลยก็มีนะครับ แถมการอยู่บ้านเฉยๆ ยังประหยัดเงินค่าใช้จ่ายด้วย
และปกติมนุษย์เงินเดือนที่ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ไม่มีรถประจำตำแหน่ง ไม่ได้มีคนขับรถให้เหมือนคนที่ไปประจำการต่างประเทศ ดังนั้นเวลาที่หัวหน้าจะไปเล่นกอล์ฟก็อาจจะให้ลูกน้องในบังคับบัญชาหรือพนักงานที่ยังเป็นหนุ่มๆ ช่วยทำหน้าที่ขับรถมารับหัวหน้าตั้งแต่ตีสี่ตีห้า บางครั้งก็เช้ากว่านี้ เพราะสนามกอล์ฟมักจะอยู่ไกลออกไปนอกเมืองต้องไปเช้าๆ แล้วพวกหนุ่มๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบนะครับแต่เลี่ยงไม่ได้ มันเหนื่อยบางทีวันเสาร์ทำงานลากยาวถึงกลางคืน ทำ OT ดึกดื่น แล้วรุ่งขึ้นต้องไปรับหัวหน้าไปเล่นกอล์ฟตั้งแต่เช้าตรู่ หัวหน้าเองมีคนมาบริการรับส่งแบบนี้ก็ชอบเป็นธรรมดา และเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่เล่นกอล์ฟน้อยลงก็ อาทิเช่น
●ไปเล่นกอล์ฟต้องมีรถและต้องออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด / ใช้เวลาหมดทั้งวัน
บางสนามไกลมากต้องออกตั้งแต่ตีสามตีสี่ ไม่มีรถก็ไปไม่ได้ คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ไม่ชอบรถนะครับ ชอบอยู่แล้วแต่ว่าค่าครองชีพและรายได้น่ะแทบไม่พอเลี้ยงชีพต่างหาก ถ้าซื้อรถก็ต้องผ่อนรถ ต้องมีที่จอดรถ บางแห่งเสียค่าบริการจอดแม้เป็นอพาร์ทเมนต์ที่ตัวเองเช่าอยู่ ขับไปเที่ยวไหนก็จอดข้างทางไม่ได้ต้องเสียค่าที่จอดรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าซ่อมบำรุงตามระยะ เป็นต้น บางคนแค่เช่าห้องเล็กๆ อยู่พอตัวก็ดีแล้ว ปั่นจักรยานไปทำงานหรือขึ้นรถบัส/รถไฟครอบคลุมทั่วถึงทุกย่าน สะดวกสบายมากกว่าเป็นไหนๆ ก็เลยคิดว่าก็ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์
นอกจากนี้เนื่องจากสนามกอล์ฟมักตั้งอยู่ในเขตชานเมือง นอกจากต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตอนเช้าตรู่และกว่าจะกลับบ้านในตอนเย็นๆ
หรือแม้ว่าจะกลับมาในช่วงบ่ายแก่ๆ แต่ก็จะรู้สึกเหนื่อยจากการเล่นกอล์ฟ และมักจะเป็นเรื่องยากที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ หรือนัดเพื่อนๆ ในวันเดียวกันนั้นได้ จึงรู้สึกว่าเป็นการเสียเปล่า หมดวันหยุดของตัวเองไปทั้งวันนั่นเอง
●เพื่อนรุ่นเดียวกันที่ร่วมเล่นกอล์ฟมีน้อย
แม้ว่าพนักงานรุ่นใหม่อายุน้อย จะต้องการเล่นกอล์ฟเป็นงานอดิเรก แต่ก็ยากที่จะเริ่มต้นโดยไม่มีเพื่อนๆ แต่ด้วยหลากหลายเหตุผลดังกล่าวทำให้คนอายุน้อยไม่เล่นกอล์ฟ และกลุ่มอายุที่นิยมเล่นกอล์ฟคือรุ่นลุง คนหนุ่มสาวจึงหาเพื่อนไปเล่นด้วยยากนอกจากไปกับกลุ่มผู้อาวุโสแต่ก็จะคุยกันไม่สนุกเลย และอาจต้องคอยตามบริการเจ้านายไปเสีย
●ค่าใช้จ่ายสูง
ต้องใช้เงิน! เงินเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าจะสนุกกับการเล่นกอล์ฟ อุปกรณ์การเล่นกอล์ฟแต่ละอย่างก็ค่อนข้างจะแพงด้วย คนสมัยใหม่น่าจะไม่มีปัจจัยพอที่จะไปซื้อและสังสรรค์ในสนาม
และไม่เพียงแต่ค่าเล่นกอล์ฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าฝึกซ้อม ค่าไม้กอล์ฟ วัสดุสิ้นเปลือง เช่น ลูกบอลและถุงมือ ค่าเช่าสนาม รถกอล์ฟ แคดดี้ การสังสรรค์หลังเล่นเสร็จ หรืออาจมีการพนันระหว่างเกม เป็นต้น ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย นอกจากนี้ยังมีของเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมาย เช่น ชุดกอล์ฟ รองเท้า หมวก เสื้อยืด ฯลฯ และแม้แต่การเริ่มเล่นกอล์ฟก็ค่อนข้างแพง
อีกอย่างที่คนรุ่นก่อนยอมจ่ายเงินทั้งค่าอุปกรณ์เครื่องไม่เครื่องมือราคาแพง และค่าสมาชิกกอล์ฟคลับซึ่งแต่ละสถานที่ก็ราคาแตกต่างกันไป บางที่ราคาแพงกว่ารถยนต์หรูเสียอีก คนสมัยนั้นเขาก็คิดว่ามันเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความสนิทสนมกับหัวหน้าและเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และทำงานที่นั่นตลอดไปอยู่แล้วก็ต้องลงทุน แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้คิดว่าต้องทำงานที่เดิมตลอดจนเกษียณ ก็คิดว่าไม่คุ้มที่จะลงทุน ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนกับค่าใช้จ่ายเรื่องกอล์ฟ
ถ้าคนที่ชอบจริงๆ ก็อาจจะคิดว่าไม่เป็นไรที่จะใช้จ่ายเงิน ถ้ากอล์ฟคืองานอดิเรกที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วการใช้จ่ายเงินเป็นเรื่องที่เจ็บปวดตั้งแต่แรกเริ่มสำหรับมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่อายุน้อย ไม่อยากเริ่มเล่นกอล์ฟนั่นเอง
อย่างไรก็ตามแต่ละคนก็มีงานอดิเรกและความชอบส่วนบุคคล เพราะแต่ละคนมีเวลาเป็นของตัวเอง แค่ทำแล้วมีความสุขและไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่นก็ดีแล้ว วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ สวัสดีครับ