ประชาชนญี่ปุ่นโต้แย้งเรื่องการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธีให้กับนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกฯ โดยใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน และไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากนายอาเบะมีทั้งคุณงามความดีและข้อครหา มีทั้งคนรักและคนชัง
รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจจัดรัฐพิธีศพให้กับนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 กันยายน ที่นิปปง บูโดกัง ในกรุงโตเกียว
คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจเรื่องดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการงานศพ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด คาดว่าใช้งบประมาณมากกว่า 100 ล้านเยน
นี่จะเป็นงานศพในแบบรัฐพิธีครั้งที่ 2 สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรีในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้ง 2 ของญี่ปุ่น ต่อจากงานศพของนายโยชิดะ ชิเงรุ ที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2510
นายอาเบะถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างการปราศรัยหาเสียงที่เมืองนารา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ?
นายกฯ คิชิดะ แถลงเหตุผลว่า นายอาเบะต้องรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดของประเทศ 8 ปี 8เดือน ประสบความสำเร็จที่สำคัญในนโยบายทั้งในและต่างประเทศ การจัดรัฐพิธีศพยังจะแสดงถึงการไม่ยอมจำนนต่อความรุนแรง และพิทักษ์ประชาธิปไตย
ด้านพรรคฝ่ายค้านของญี่ปุ่นได้คัดค้านการรัฐพิธีศพให้นายอาเบะ โดยระบุว่า การจัดงานรัฐพิธีคือการยกย่องรัฐบุรุษที่มีคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์ แต่นายอาเบะยังมีข้อโต้แย้งหลายกรณี รวมทั้งการทุจริตคอร์รับชัน การยกย่องเช่นนี้จะยิ่งทำให้เกิดความร้าวฉานในหมู่ประชาชน
แม้แต่พรรคโคเมโต ซึ่งพรรคเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ก็ยังไม่แสดงท่าที เนื่องจากองค์กรแม่ของพรรคฯ คือ สมาคมสร้างคุณค่า หรือ โซกะ กักไก องค์กรพุทธศาสนา ที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับสันติภาพ” ของนายอาเบะ
ผู้แทนพรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดกล่าวว่า การตัดสินใจโดยคณะรัฐมนตรี โดยไม่ผ่านการอภิปรายในรัฐสภาคือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ระบุว่า การจัดรัฐพิธีศพเท่ากับว่าทั่วประเทศยอมรับในความสำเร็จของนายอาเบะ แต่ประชาชนยังมีทัศนะที่หลากหลายต่อนายอาเบะ การจัดรัฐพิธีศพให้นายอาเบะจึงเป็นการสร้างแรงกดดันต่อสาธารณมติของประชาชน
กลุ่มพรรคฝ่ายค้านของญี่ปุ่นชี้ว่า รัฐบาลมีเหตุผลไม่เพียงพอในการจัดรัฐพิธีศพ เพราะจะทำให้เสียงวิจารณ์นายอาเบะถูกละเลย พูดถึงได้เฉพาะคุณงามความดี
“การสังหารนักการเมืองเป็นเรื่องที่สมควรถูกประณาม แต่ต้องแยกแยะออกจากผลงานทางการเมือง การจัดงานเช่นนี้จะทำให้ผู้คนไม่กล้าพูดถึงข้อครหาต่อนายอาเบะ ยกย่องดั่งรัฐบุรุษ”
รัฐพิธีศพครั้งที่ 2 หลังสงครามโลก
รัฐบาลยุคจักรวรรดิญี่ปุ่นเคยออกรัฐบัญญัติเรื่อง “การจัดงานศพแบบรัฐพิธี” ในปี 1926 แต่หลังสงครามโลกได้ถูกกองบัญชาการชาติสัมพันธมิตรยกเลิกไป ขณะนี้ญี่ปุ่นจึงไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานศพแบบรัฐพิธี
ในยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น รัฐพิธีศพจะจัดเฉพาะกับสมาชิกราชวงศ์ และโชกุนผู้ครองแคว้นต่าง ๆ มีสามัญชนเพียง 2 คนเท่านั้น ที่เคยได้รับเกียรติจัดรัฐพิธีศพ คือ โทโง เฮฮาจิโร ผู้บัญชาการกองเรือที่ได้รับชัยชนะในการรบระหว่างสงครามรัสเซีย - ญี่ปุ่น และอีกคนหนึ่ง คือ อิโซโรกุ ยามาโมโตะ จอมพลเรือในกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น และผู้บัญชาการทัพเรือผสมระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังสงครามโลก รัฐบาลญี่ปุ่นเคยจัดรัฐพิธีศพให้กับ นายกรัฐมนตรีโยชิดะ ชิเงรุ ที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2510 เขาคือ ผู้ที่ลงนามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกเพื่อฟื้นฟูญี่ปุ่นในฐานะชาติอธิปไตย
ผู้ที่เสนอจัดงานรัฐพิธีศพให้กับ นายกรัฐมนตรีโยชิดะ ชิเงรุ คือ นายกฯ เอซากุ ซาโต ซึ่งในครั้งนั้นไม่ได้มีเสียงคัดค้านจากประชาชน เพราะต่างยอมรับในคุณงามความดีของนายโยชิดะ ชิเงรุ
การเมืองในพรรค เบื้องหลัง “คิชิดะ”
สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานว่า เดิมทีนายกฯ คิชิดะไม่ได้มีความคิดจัดรัฐพิธีศพให้กับนายอาเบะ โดยจะจัดงานแบบ “งานศพมหาชน” ไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่กลุ่มขั้วของนายอาเบะในพรรคได้กดดัน โดยเฉพาะอดีตนายกฯ ทาโร อาโซ ได้โทรศัพท์ถึงนายคิชิดะ ทำให้นายคิชิดะจำต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดรัฐพิธีศพให้กับนายอาเบะ
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่อาจบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายอาเบะกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” หรือ “มูนนี่” ที่มือสังหารนายอาเบะอ้างว่า เคียดแค้นลัทธินี้ที่ทำให้แม่ของเขาต้องบริจาคเงินจนครอบครัวล้มละลาย หลักฐานเหล่านี้ทำให้เสียงคัดค้านรัฐพิธีศพของนายอาเบะดังยิ่งขึ้น
การสิ้นชีพของนายอาเบะทำให้นายกฯ คิชิดะได้ประโยชน์ พรรค LDP ของเขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสภา และเมื่อรวมคะแนนกับพรรคการเมืองอื่น ๆ แล้ว มีมากกว่า 2 ใน 3 ของวุฒิสภา เปิดทางให้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และจะไม่มีการเลือกตั้งใหญ่อีกใน 3 ปีข้างหน้า นี่คือ “ช่วงเวลาทองทางการเมือง” ของนายคิชิดะที่ได้มาจากความตายของนายอาเบะ แต่เสียงโต้แย้งต่องานศพของนายอาเบะ ก็อาจล้มกระดานการเมืองของนายคิชิดะได้เช่นกัน.