คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน โลกเราดูเหมือนจะก้าวเข้าสู่สังคมเดี่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ ขนาดของครอบครัวที่เล็กลงกว่าสมัยก่อนมาก บวกกับจังหวะของชีวิตแต่ละคนที่ไม่ตรงกัน ต่างก็มีส่วนทำให้คนที่กินข้าวคนเดียวบ่อย ๆ มีมากขึ้นโดยลำดับ สำหรับญี่ปุ่นแล้วนี่เป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่งที่กำลังถูกจับตามอง
เบื้องหลังสภาพการณ์ “กินข้าวคนเดียว” ที่เพิ่มขึ้น
“กินข้าวคนเดียว” ในความหมายที่ญี่ปุ่นเป็นห่วงก็คือ การที่สมาชิกในครอบครัวไม่ได้กินข้าวพร้อมกันแต่ต่างคนต่างกิน หรือไม่ก็อยู่คนเดียวเลยไม่ได้กินร่วมกับคนอื่น ส่งผลในเชิงลบทั้งต่อเด็ก คนหนุ่มสาว ไปจนกระทั่งถึงผู้สูงอายุ โดยคนที่กินข้าวคนเดียวทั้งวันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสัปดาห์มีมากถึง 15% เลยทีเดียว
ปรากฏการณ์เช่นนี้เริ่มขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป และจังหวะชีวิตของพ่อแม่กับลูกไม่ตรงกัน เช่น เด็กต้องไปเรียนพิเศษเลยกลับบ้านช้า ผู้หญิงไปทำงานนอกบ้านมากกว่าแต่ก่อน พ่อแม่เริ่มงานหรือเลิกงานคนละเวลา ทำให้ตื่นนอนและเข้านอนกันคนละเวลา อีกทั้งบางครอบครัวก็ชอบกินไม่เหมือนกัน เช่น มื้อเช้าสามีอยากกินขนมปัง ภรรยาอยากกินข้าว เลยทำให้ต่างคนต่างกินเพื่อความสะดวก
นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนที่อาศัยอยู่ตามลำพัง และครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนที่มีแค่สามีภรรยา หรือครัวเรือนที่มีเพียงผู้สูงอายุเพียงคนเดียว ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการกินข้าวร่วมกับใครสักคนน้อยลง
จากการสำรวจโดยรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่าผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปที่กินข้าวคนเดียวทุกวันเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็นเพศชาย 15.3% และเพศหญิง 23.4% และอัตราส่วนนี้ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2583 หรือในอีก 18 ปีข้างหน้า ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุชาย และ 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุหญิงจะอาศัยอยู่ตัวคนเดียว
ผลเสียของการ “กินข้าวคนเดียว”
การกินข้าวคนเดียวดูเผิน ๆ แล้วออกจะสะดวกและเหมาะกับสังคมยุคนี้ แต่การกินข้าวคนเดียวส่งผลลบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวได้ เช่น พอกินคนเดียวก็จะเลือกกินแต่ของที่ชอบ หรือกินอย่างเดิมอยู่เรื่อย บางคนขี้เกียจทำอาหารบ่อย ก็เลยทำทีเดียวครั้งละมาก ๆ แล้วกินแต่อย่างนั้นทุกมื้อจนหมด บางคนก็ชอบซื้ออาหารแช่แข็งมาอุ่น หรือกินบะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น
พอไม่มีคนมาคอยเตือนเรื่องอาหารการกิน ก็อาจเป็นโรคอ้วนหรือเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ ดังเช่นหนุ่มคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวและกินอาหารแบบเดียวกันซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง พอเจอเพื่อน เพื่อนก็ทักว่าทำไมผอมลงขนาดนี้ เขาถึงเพิ่งรู้ตัวว่าขาดสารอาหาร
ไม่เพียงเท่านั้นการกินข้าวคนเดียวยังกระทบถึงสภาพจิตใจในระยะยาวได้ด้วย เช่น เด็กที่กินข้าวคนเดียวจะมีความเหงา ก้าวร้าว เอาแต่ใจ มีอารมณ์แปรปรวน ทั้งยังขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไม่มีการสื่อสารระหว่างกินข้าว ก็ทำให้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่พลอยขาดทักษะในการเข้าสังคมและการให้ความร่วมมือกับผู้อื่น ส่งผลลบไปถึงความสัมพันธ์กับผู้คนทั้งในหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัวได้ด้วย
การกินข้าวคนเดียวบ่อย ๆ เป็นเวลานาน จึงมีส่วนทำลายสภาพความเป็นครอบครัว ส่งผลต่อการเลี้ยงดูและพัฒนาการของเด็ก รวมไปถึงสุขภาพกายและใจทั้งของเด็กและผู้ใหญ่เอง
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าผู้สูงอายุที่กินข้าวคนเดียวมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่มีคนกินข้าวด้วย โดยผู้ชายมีโอกาสสูงกว่า 2.7 เท่า และผู้หญิงมีโอกาสสูงกว่า 1.4 เท่า และการที่ผู้สูงอายุไม่ได้พูดคุยและเคี้ยวอาหารมากพอ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อคางอ่อนแอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อทั้งร่างกายอ่อนแอตาม ยิ่งเสี่ยงต่อการที่ผู้สูงอายุจะป่วยติดเตียง
เมื่ออายุมากขึ้นการทำงานภายในช่องปากและอวัยวะภายในจะเสื่อมถอยลง การรับรู้รสและการบดเคี้ยวจะแย่ลง อีกทั้งการกลืนและย่อยอาหารก็ลำบากขึ้น เมื่อการกินอาหารไม่ใช่เรื่องน่าเพลิดเพลินสำหรับผู้สูงอายุ ก็อาจเป็นสาเหตุให้รู้สึกว่าจะกินอาหารทีเป็นเรื่องลำบาก เลยพลอยไม่อยากอาหาร หรือลดปริมาณอาหารที่กินลง นำไปสู่การขาดสารอาหารได้
ผลดีของการ “กินข้าวร่วมกับคนอื่น”
อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งขนานนามการกินข้าวร่วมกับคนอื่นว่า “เป็นการกระทำที่เสริมสร้างความสมดุลให้ร่างกายและจิตใจ” ว่ากันว่าถ้าเป็นคนที่กินข้าวคนเดียวอย่างเพลิดเพลินได้ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้ากินอาหารแบบเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ ก็อาจมีส่วนทำให้อาหารไม่ย่อย ส่วนการกินข้าวไปดูโทรทัศน์ไปหรือดูมือถือไปก็ทำให้ความพึงพอใจในการกินอาหารต่ำลง ในทางตรงกันข้ามมีการศึกษาหลายแห่งพบว่า การกินอาหารอย่างเพลิดเพลินจะทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีกว่า
การกินข้าวร่วมกันในครอบครัวสร้างความอบอุ่น เพราะเปิดโอกาสให้สมาชิกในบ้านได้พูดคุยกัน ได้เพลิดเพลินกับบทสนทนาและการกินอาหาร และทำให้การกินอาหารเป็นเรื่องน่าพึงพอใจ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อร่างกาย เพราะคนที่กินอาหารร่วมกับคนอื่นมีแนวโน้มจะกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า กินผักผลไม้มากกว่า และกินอาหารขยะน้อยลง โดยพบว่า 62.3% ของคนที่กินอาหารร่วมกับผู้อื่นเป็นประจำจะกินอาหารครบทุกหมู่แทบทุกวัน
การกินอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัวยังทำให้เด็กรู้จักความสำคัญและความเพลิดเพลินในการกินอาหาร ได้เรียนรู้มารยาท วัฒนธรรมในการกินอาหาร และกฎสังคมอีกด้วย
ทำอย่างไรจึงจะไม่ต้อง “กินข้าวคนเดียว”
มีผู้แนะนำว่าสำหรับคนในครอบครัวเดียวกันที่ต่างคนต่างกินข้าวแยกจากกันนั้น ให้กำหนดวันหรือมื้ออาหารที่จะกินด้วยกันพร้อมหน้า เช่น มื้อเช้าของทุกวัน หรือทุกเสาร์อาทิตย์ แม้อาจจะไม่บ่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย และควรใช้เวลาที่ได้กินข้าวด้วยกันนี้พูดคุยถามไถ่ชีวิตกันและกัน ถ้ามีลูก ลูกก็จะได้ร่าเริงขึ้นด้วย
หากอาศัยอยู่ตัวคนเดียว อย่างน้อยตอนกลางวันก็ให้ไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายสบายใจด้วย แต่ถ้าทำได้ยาก ก็ให้คุยกับใครสักคนผ่านวีดีโอคอลระหว่างกินอาหาร จะช่วยให้ความพึงพอใจในการกินอาหารเพิ่มขึ้น เพราะเพียงได้เห็นหน้าคนในครอบครัว แฟน หรือเพื่อน ระหว่างกินข้าวก็ทำให้รู้สึกดี ๆ ได้
เรื่องนี้คงจะจริง เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อนฉันไปทำธุระนอกบ้านแต่เช้า เสร็จแล้วก็ไปนั่งกินโจ๊ก นึกอยากให้พ่อได้เห็นโจ๊กชามนั้นพร้อมปาท่องโก๋ที่ไม่เหมือนบ้านเรา เลยโทรไลน์หาพ่อ ปรากฏว่าพ่อก็กำลังกินมื้อดึกอยู่พอดี เลยต่างคนต่างอวดว่ากินอะไรกันอยู่ แม้จะไม่ได้คุยอะไรเป็นสาระ แต่ก็รู้สึกว่าเพลิดเพลินกับการสนทนาและอาหารในวันนั้นเป็นพิเศษ
ในบางท้องถิ่นของญี่ปุ่นเขาจัดพื้นที่ให้คนในละแวกเดียวกันได้มากินข้าวร่วมกันเหมือนครอบครัวใหญ่แบบสมัยก่อน คนที่มาร่วมมีทั้งผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ทั่วไป และเด็ก ๆ ซึ่งต่างคนต่างก็ได้ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
มีกลุ่มหนึ่งตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่เก็บตัวอยู่ในบ้านเพราะปัญหาสุขภาพ หรือเพราะเสียคนในครอบครัวไป ได้ออกมาพบปะคนวัยเดียวกันสัปดาห์ละครั้ง โดยมีคำขวัญว่า “มีที่ที่อยากไป มีสิ่งที่อยากทำ มีคนที่อยากเจอ” กลุ่มนี้ยังจัดกิจกรรมกินข้าวเที่ยงด้วยกันทั้งกลุ่มเดือนละครั้ง ซึ่งผู้สูงอายุที่เข้าร่วมก็มีความสุข เพราะไม่อย่างนั้นอยู่บ้านก็มีแต่โทรทัศน์เป็นเพื่อนกินข้าว แต่มาที่กลุ่มนี้จะได้คุยกับคนอื่น กินข้าวด้วยกันแล้วสนุก
ไป ๆ มา ๆ กลุ่มนี้มีแต่คุณยาย บรรดาคุณตาเลยเข้ากลุ่มยาก แต่ก็อยากมากินข้าวกับคนอื่น ๆ บ้างเพราะกินคนเดียวเหงา ต่อมาเขาเลยจัดกลุ่มกินข้าวเย็นเดือนละครั้งสำหรับคุณตาโดยเฉพาะ เน้นคุณตาที่อาศัยอยู่ตามลำพัง พวกท่านก็ทำอาหารง่าย ๆ โดยใช้เตาปิ้งย่างตั้งกลางโต๊ะแล้วนั่งล้อมวงกัน บางทีก็ดูแข่งกีฬาและนั่งเชียร์ด้วยกัน ต่างคนต่างก็รู้สึกว่ากินข้าวด้วยกันอร่อยกว่าและสนุกด้วย แล้วก็รอวันที่จะได้เจอกันอีกในเดือนต่อไป
ฉันว่ากิจกรรมอย่างนี้ดีจังเลยค่ะ น่าจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดใสขึ้น มีอะไรให้รอคอย มีอะไรให้เพลิดเพลิน ไม่ต้องรู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยวคนเดียว ถ้าบ้านเรามีกิจกรรมอย่างนี้เพื่อผู้สูงอายุคงจะดีมากเลย เพราะสังคมไทยก็มีขนาดครอบครัวเล็กลง และก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน
การกินข้าวคนเดียวมีผลเสียกว่าที่คิดเยอะ และการกินข้าวกับคนอื่นก็มีข้อดีกว่าที่คิดมาก หากใครกินข้าวคนเดียวบ่อย ๆ ตั้งแต่นี้ไปลองหันมากินร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนให้มากขึ้น หากทำได้ยากก็ใช้วิธีโทรออนไลน์ให้เห็นหน้ากันผ่านวีดีโอก็ยังดี เผื่อจะได้รู้สึกสดใสเบิกบาน สุขภาพกายใจดีขึ้นในระยะยาว และคนที่รักเราก็จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงด้วยนะคะ
แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.