คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เคยไหมคะที่บางทีการสื่อสารพูดคุยตามปกติของเราทำให้คนฟังเคืองโดยไม่ได้ตั้งใจ และในขณะเดียวกันเราก็อาจเคืองกับคำพูดของบางคนทั้งที่เขาไม่ได้คิดร้าย ยิ่งถ้าเป็นคนต่างชาติต่างภาษากันแล้ว ความไม่รู้ธรรมเนียมระหว่างกันอาจสร้างได้ทั้งความอึดอัด ความบาดหมาง รวมไปถึงความฮา(และหน้าแตก)ได้ด้วย
อย่าเรียกอีกฝ่ายว่า “อานาตะ” (あなた)
คำที่แปลว่า “คุณ” หรือ “เธอ” ในภาษาญี่ปุ่นมีหลายคำ “อานาตะ” ก็เป็นหนึ่งในนั้น ใครที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาคงงงว่าทำไมถึงไม่ควรใช้คำนี้ ทั้งที่มันอยู่ในแบบเรียนและอาจารย์ก็สอนอย่างนี้
ในชีวิตจริงคนญี่ปุ่นไม่ค่อยใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 แต่มักเรียกกันด้วยชื่อของอีกฝ่าย โดยอาจจะใส่คำตามหลังชื่อ เช่น “ยามาดะ-ซัง” “โยโกะ-จัง” “ทาโร่-คุง” เพื่อให้ฟังดูไม่ห้วนไป หรือไม่ก็ใส่ชื่อตำแหน่งหน้าที่การงานตามหลังชื่อสกุล เช่น “ซูซูกิ-ฉะโจ” (ประธานบริษัทซูชูกิ) “โคบายาชิ-ขะโจ” (หัวหน้าแผนกโคบายาชิ) เป็นต้น
คนญี่ปุ่นบางคนเล่าว่าเกิดมายังไม่เคยใช้คำว่า “อานาตะ” เลยสักครั้ง เพราะฟังเหมือนคนพูดประกาศศักดา และคนฟังอยู่ต่ำกว่าตน ดังนั้นแม้คำนี้จะเป็นคำสุภาพแต่ก็ฟังดูไม่สุภาพ อย่างคุณป้าชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่อยู่ในอะพาร์ตเมนต์เดียวกับฉันก็มีความสุภาพอย่างคนญี่ปุ่นทั่วไป เสียแต่ว่าเธอชอบเรียกฉันหรือสามีด้วยคำว่า “อานาตะ” ฉันเลยเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับเธอเท่าใดนัก คล้ายกลายเป็นลูกสะใภ้ที่โดนแม่สามีข่มเหงอย่างไรชอบกล
คำว่า “อานาตะ” อาจใช้ได้ในแบบที่ไม่เจาะจงว่าอีกฝ่ายเป็นใคร เช่น ในแบบสอบถาม ในบทความ หรือในบทเพลง เช่น “คุณ (อานาตะ) คิดว่าทำไมข้าวกะเพรามักโปะไข่ดาว?” “แค่ยิ้ม คุณ (อานาตะ) ก็สามารถทำให้คนมีความสุขได้” เป็นต้น
“ไอ-ชิ-เต-หรุ” (愛してる) ฟังแล้วเครียด
ไม่ทราบว่าเป็นคนญี่ปุ่นไม่ค่อยแสดงออกตรง ๆ หรือเปล่า คำว่า “รัก” หรือ “ไอ-ชิ-เต-หรุ” (愛してる) จึงฟังดูโอเว่อร์และซีเรียสเกินไป และมักใช้คำว่า “สุ-คิ” (好き) ซึ่งมีความหมายอ่อนกว่า แปลว่า ‘ชอบ’ หรือ ‘รัก’ ก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ และเวลาบอกรักกันก็นิยมใช้คำนี้มากกว่า ส่วนคนในครอบครัวจะไม่ค่อยพูดบอกรักกันตรง ๆ ไม่ว่าจะด้วยคำไหน แต่จะใช้วิธีแสดงความรักความห่วงใยในแบบอ้อม ๆ แทน
คำว่า “ไอ-ชิ-เต-หรุ” อาจเหมาะกับคนรักที่คบกันมานาน จริงจังแบบจะแต่งงานกัน หรือไม่ก็แต่งงานกันแล้ว แต่ถ้าเพิ่งคบหรือเพิ่งบอกรักกันแล้วใช้คำนี้ คนฟังอาจตกใจจนอยากถอยกรูดแทน
ระวังเรื่องคำติชม
แม้ว่าบางทีคนญี่ปุ่นจะติชมเรื่องรูปร่างหน้าตากันอยู่บ้าง แต่ก็มีบางอย่างที่พูดได้พูดไม่ได้ อย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือคนญี่ปุ่นดูเหมือนจะชอบความ “หน้าเล็ก” เอามาก ๆ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความงามมักจะพูดเสมอว่า ทำอย่างไรหน้าจึงจะเล็กลงหรือดูเล็ก ส่วน “หน้าใหญ่” เป็นอะไรที่ไม่ดีงามเอาเลย เพราะฉะนั้นหากพูดอะไรไปในทางที่ทำให้คนญี่ปุ่นเข้าใจว่าเขามีใบหน้าใหญ่ ก็อาจสร้างความไม่พอใจได้
ฉันไม่เคยมีความรับรู้เรื่อง “หน้าเล็ก-หน้าใหญ่” มาก่อนจนกระทั่งเห็นคนญี่ปุ่นหลายคนชมบางคนว่า “หน้าเล็ก” ให้ได้ยินอยู่เรื่อย ๆ และเพื่อนบอกว่าหนุ่มที่ฉันคิดว่าหล่อนั้น “หน้าใหญ่เกินไป” ฉันดูแล้วก็แยกไม่ออกว่าหน้าแบบไหนเรียกว่าเล็กแบบไหนเรียกว่าใหญ่ บางคนถึงกับบอกว่าความสนใจของคนญี่ปุ่นเรื่องขนาดของใบหน้านี้แทบจะฝังอยู่ในสายเลือดไปแล้ว และรู้สึกแปลกใจว่ามันเห็นทนโท่อยู่ขนาดนี้ ทำไมคนต่างชาติไม่ยักสังเกตเห็น
เคยได้ยินเพื่อนชาวยุโรปคุยกันเรื่องติชมหุ่น บอกว่าเป็นเรื่องปกติที่คนยุโรปจะพูดชมหรือแซวสาวว่าขาสวยดีอะไรอย่างนี้ แต่ห้ามไปพูดแบบนี้กับคนอเมริกันเด็ดขาด ฉันสงสัยว่าทำไม เพื่อนตอบว่าเขาจะด่าเอาน่ะซิว่ากล้าดีอย่างไรถึงไปยุ่งกับขาของเขา ฉันก็เลยได้ทราบว่าคำชมนี่บางทีก็กลายเป็นคำไม่ควรพูดในต่างวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน
คนอเมริกันยังมักชมคนแปลกหน้ากันเป็นเรื่องปกติ เช่น “ชุดคุณสวยจัง” “กระเป๋าสวยจังเลย” “ฉันชอบทรงผมคุณจัง” แต่คนญี่ปุ่นบางคนบอกว่าเรื่องนี้กลับไม่เหมาะพูดกับคนญี่ปุ่น เพราะจะฟังดูเหมือนคนพูดอยู่ในสถานะสูงกว่า เว้นแต่ว่าเป็นเพื่อนกัน คุ้นเคยกันดีแล้ว ก็ว่าไปอีกอย่าง
“คุณเป็นคนเกาหลี/จีน/เอเชียชาติอื่น ๆ ใช่ไหม?”
คนญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่าเบื่อมากเวลาได้ยินคนถามอย่างนี้ ไม่มีใครชอบการถูกเหมาว่าเป็นในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น และมันก็ให้ความรู้สึกเหมือนโดนดูถูกด้วย
ฉันก็เคยเจอเรื่องทำนองนี้อยู่บ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่งไปโรงพยาบาลในนิวยอร์ก เขาให้เช็คอินผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งมีหลายภาษาให้เลือก พนักงานเห็นหน้าฉันก็เลือกภาษาจีนให้เลย ฉันต้องเปลี่ยนกลับไปเป็นภาษาอังกฤษเพราะอ่านไม่ออก และไม่รู้สึกดีเลยที่เธอตัดสินลูกค้าจากลักษณะภายนอก มานึกได้ทีหลังว่าพนักงานคงเจตนาดีในการให้บริการ เพราะเธอดูเป็นมิตรมาก ถ้าฉันนึกออกเร็วกว่านั้นคงมีโอกาสได้อธิบายให้เธอฟังว่าทำไมถึงไม่แนะนำให้เธอบริการลูกค้าด้วยวิธีนี้
ชาวโปแลนด์เล่าว่าพวกเขาจะรู้สึกอึดอัดหากมีคนเดาว่าพวกเขาเป็นคนรัสเซีย เพราะสองประเทศนี้เคยมีประวัติศาสตร์รบพุ่งกันมาหลายครั้งหลายหน แม้นั่นจะเป็นอดีตนานแล้ว แต่คนฟังก็รู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่อถูกเข้าใจผิด ส่วนชาวแคนาดานั้นจะรู้สึกว่าตัวเองโดนดูถูก หากมีคนเข้าใจผิดว่าพวกเขามาจากฝั่งตะวันออกของแคนาดาทั้งที่เขามาจากฝั่งตะวันตก หรือเข้าใจผิดว่าพวกเขามาจากฝั่งตะวันตกทั้งที่เขามาจากฝั่งตะวันออก เป็นต้น
จากคำบอกเล่าของคนแต่ละชาติและจากประสบการณ์ตัวเองก็เลยทำให้แน่ใจได้ว่า เป็นการปลอดภัยกว่าที่จะไม่เดาเอาเอง หรือถามคนอื่นว่าเป็นคนชาตินี้ชาตินั้นหรือเปล่า ถ้าอยากรู้ก็ถามเขาตรง ๆ ว่ามาจากประเทศใดหรือน่าจะเหมาะกว่า
อย่าเอาคำพูดในการ์ตูนมาใช้จริง
บางคนที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ อาจจะอ่านหรือดูการ์ตูนญี่ปุ่นจากภาษาญี่ปุ่นต้นฉบับ แล้วบางคนก็เลียนแบบคำพูดจากในการ์ตูนเหล่านั้นมาพูดบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วคำพูดของตัวการ์ตูนที่อาจจะดูเฮ้ว เท่ หรือเจ๋งดี อาจจะไม่ใช่คำพูดอย่างที่คนญี่ปุ่นใช้จริงในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างเช่น ในภาษาญี่ปุ่นมีสรรพนามเรียกทั้งตัวเองและคนที่พูดด้วยหลายแบบมาก หากไม่เข้าใจการใช้คำเหล่านี้ก็ไม่ควรเลียนแบบ เพราะบางคำก็โบร่ำโบราณ บางคำเป็นคำหยาบ บางคำก็เป็นคำที่ผู้ชายใช้ บางคำก็เป็นคำที่ผู้หญิงใช้
คนญี่ปุ่นบอกว่าคำแรกเลยที่อย่าได้ใช้คือ “คิ-ซา-หมะ” (貴様) คำนี้เป็นคำเรียกอีกฝ่ายแบบหยาบคาย เทียบกับภาษาไทยก็อาจจะเป็นภาษาสมัยพ่อขุนราม ฯ และแม้บางทีอาจเห็นพระเอกในการ์ตูนหรือเกมใช้คำนี้เรียกขานคนอื่น ๆ รวมไปถึงคนรักของตัวเอง แต่ในชีวิตจริงไม่มีใครเขาเรียกกันอย่างนั้น ขืนมีผู้ชายคนไหนเรียกแฟนตัวเองด้วยคำนี้คงโดนตบเอา
อีกคำที่ฟังดูน่ารักดีอย่าง “ขิ-มิ” (君) ซึ่งแปลว่า ‘เธอ’ และเป็นคำที่มักเห็นตัวการ์ตูนผู้ชายสุภาพอ่อนโยนเรียกคนที่สถานะเท่ากันหรือต่ำกว่านั้น กลับเป็นคำที่แทบจะไม่มีใครใช้กันจริง ฉันเองก็ไม่เคยได้ยินใครพูดคำนี้ ถามสามีเขาก็ว่าไม่เคยเหมือนกัน บางคนก็ว่าคำนี้ให้ความรู้สึกคล้าย ๆ เวลาถูกเรียกว่า “อานาตะ” คือชวนให้คนฟังรู้สึกว่าตนเองมีสถานะต่ำกว่า เคยมีคนต่างชาติที่ไม่ทราบเรื่องนี้ไปเรียกเพื่อนญี่ปุ่นว่า “ขิ-มิ” อยู่หลายครั้งหลายหน สุดท้ายเลยโดนโกรธเอา
นอกจากนี้การ์ตูนที่เหมาะกับกลุ่มผู้อ่านแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน การใช้คำพูดคำจาก็ต่างกัน เช่น การ์ตูนผู้หญิงใช้คำพูดแบบผู้หญิง ดูการ์ตูนผู้ชายก็จะพูดแบบเฮ้ว ๆ หรือใช้ถ้อยคำรุนแรง ตัวฉันเองก็เคยใช้ผิดเหมือนกัน ตอนนั้นนึกว่าภาษาแบบนี้ฟังดูเท่ดีแฮะ พอใช้จริงเพื่อน ๆ ตาโตกันใหญ่เลย เพราะฉันดันไปใช้ภาษาของผู้ชายเข้าให้ นับแต่นั้นมาเลยเลิกใช้ภาษาที่รู้มาจากการ์ตูนเลยค่ะ
แต่ถ้าเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ แล้วอ่านหรือดูการ์ตูนจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นเพื่อฝึกทักษะในการอ่านหรือการฟัง อย่างนั้นก็มีประโยชน์เยอะอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ก่อนจะเอาวิธีพูดในการ์ตูนมาใช้จริง คงต้องถามคนญี่ปุ่นให้แน่ใจก่อนว่าเหมาะหรือเปล่า
วันนี้ขอลาเพียงเท่านี้ แล้วพบกันสัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.