xs
xsm
sm
md
lg

วิธีรัดเข็มขัดช่วงข้าวของแพงแบบคนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก toyokeizai.net
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกคงสร้างความหนักใจให้หลายคนทีเดียวนะคะ ญี่ปุ่นซึ่งเคยชินกับข้าวของราคาเท่าเดิมตลอด 30 ปี ก็หนีไม่พ้นราคาที่แพงขึ้นกระทันหันโดยยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้สื่อหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญกับวิธีรัดเข็มขัดช่วงนี้กันอย่างมาก ฉันเลือกส่วนที่น่าจะปรับใช้กับบ้านเราได้มาฝากค่ะ

1. ตั้งเป้าชัดเจนว่าจะออมเงินเท่าไหร่ต่อเดือน/ต่อวัน

สมมติเราจะออมเงิน 20% ของรายได้ เช่น มีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือนก็ออมเดือนละ 2 พันบาท หารด้วย 30 ก็จะได้ออกมาเป็นจำนวนเงินที่ต้องออมต่อวัน ซึ่งตกอยู่ที่วันละ 66.66 บาท เราก็จะเห็นภาพชัดขึ้นว่าทุกวันต้องประหยัดเท่านี้ จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ด้วยวิธีใดบ้าง เช่น อาจจะงดซื้อของบางอย่างที่ไม่จำเป็น หรือเลือกของที่คล้ายกันแต่ถูกกว่า เป็นต้น

หากทำได้ตลอดหนึ่งสัปดาห์ก็จะรู้สึกดีกับความสำเร็จที่ตัวเองทำได้ พอผ่านไปหลายเดือนก็จะเริ่มชินกับนิสัยประหยัดอดออม ทำให้ไม่รู้สึกลำบากอย่างช่วงแรก และมีเงินเหลือในกระเป๋าด้วย

2. คิดรายการอาหารล่วงหน้า 1 สัปดาห์

บางคนได้ยินคำนี้แล้วอาจกุมขมับ แหม…แค่คิดว่าวันนี้จะทำอะไรรับประทานดีก็ปวดหมองแล้ว แต่จากประสบการณ์ของฉันพบว่ามันช่วยให้การทำอาหารในสัปดาห์นั้นง่ายขึ้นเยอะเลย แถมของในตู้เย็นก็จะไม่ค่อยเหลือทิ้งหรือลืมไป อีกทั้งการจ่ายกับข้าวเหลือแค่สัปดาห์ละครั้ง ก็ยังช่วยให้เราเผลอซื้ออะไรไม่จำเป็นกลับมาน้อยครั้งลงด้วยนะคะ

ก่อนจะคิดเมนู ลองเปิดดูในตู้เย็นก่อนว่ามีอะไรเหลือ ทำกับข้าวอะไรได้บ้าง จะได้ไม่ต้องซื้อซ้ำ แล้วเวลาคิดเมนูสำหรับ 1 สัปดาห์ให้พยายามเลือกวัตถุดิบที่สามารถทำได้หลายเมนู อย่างสมมติจะซื้อกะหล่ำปลีมาลวกรับประทานกับลาบ กะหล่ำปลีที่เหลือก็อาจรับประทานกับน้ำพริกปลาทู หรือจะผัดน้ำปลา ผัดหมู อะไรอย่างนี้ หรือถ้านึกไม่ออกลองค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก็จะเจอเองว่ากะหล่ำปลี (หรือวัตถุดิบอื่น ๆ) เอาไปทำเมนูอะไรได้บ้าง

3. เลือกของถูกเวลาไปจ่ายกับข้าว

หลังจากคิดเมนูสำหรับทั้งสัปดาห์ และจดรายการของที่ต้องซื้อเรียบร้อยแล้ว เวลาไปจ่ายกับข้าวก็ให้เลือกของที่ถูกกว่า เช่น เลือกเนื้อสัตว์ส่วนที่ถูกกว่า ซื้อแต่ผักผลไม้ตามฤดูกาลและปลูกในประเทศ เลือกสินค้าซึ่งเป็นยี่ห้อของห้างสรรพสินค้าหรือของร้านค้า (Private Label) ซึ่งราคาจะถูกกว่าพวกสินค้ายี่ห้อตามท้องตลาด เป็นต้น

ที่ญี่ปุ่นยังมีร้านขายสินค้าอาหารที่ใกล้หมดอายุแต่ยังรับประทานได้อยู่ ซึ่งบางอย่างราคาถูกกว่าปกติถึง 95% เลยทีเดียว ช่วงนี้คนนิยมสินค้าแบบนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะยังไม่อยากจ่ายแพง หรือบางคนก็ใช้วิธีซื้อของที่ยังไม่ขึ้นราคามากักตุนไว้ก่อนก็มี

ภาพจาก delishkitchen.tv
ช่วงนี้คนญี่ปุ่นยังหันมารับประทานข้าวกันมากขึ้น แทนการรับประทานขนมปังหรืออาหารประเภทเส้นซึ่งทำจากแป้งสาลีที่ราคาพุ่งสูง เพราะข้าวไม่ได้ขึ้นราคา แถมบางแห่งยังลดราคาลงด้วย ว่ากันว่าบางอำเภอที่ปลูกข้าวเป็นหลักมีความต้องการข้าวสูงขึ้น 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า บางคนก็ว่าข้าวสวย 1 ชามกับไข่ 1 ฟองมีต้นทุนเพียง 50 เยนเท่านั้น เทียบกับขนมปัง 1 ชิ้นซึ่งราคา 100 กว่าเยน

4. ลดการซื้อลง

นอกจากเลือกของที่ถูกลงแล้ว นักวางแผนการเงินบางคนยังแนะว่าให้ลองฝึกไม่ซื้อของบางอย่างด้วย โดยก่อนจะหยิบอะไรไปจ่ายเงิน ให้ถามตัวเองก่อนว่า “ไม่ซื้อจะเป็นอะไรมั้ย?” เพราะบางคนก็ติดนิสัยว่าพอตกบ่ายต้องไปซื้อกาแฟซื้อขนม หรือแวะร้านสะดวกซื้อ ไม่ก็ชอบซื้อของไม่จำเป็นเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต ฮั่นแน่…ต้องโดนใจใครบ้างแน่เลยทีเดียว

ดังนั้นก่อนจ่ายเงิน ก็ถามตัวเองก่อนว่าจะเอาสินค้าไหนไปเก็บที่เดิมได้บ้าง หากสามารถประหยัดได้สัก 20-50 บาทต่อครั้ง พอครบ 10 ครั้งก็มีเงินในกระเป๋าเหลืออีก 200-500 บาท แล้วลองคำนวณดูเป็นเดือนเป็นปี เราจะมีเงินเหลือจากส่วนนี้เท่าไหร่ ก็ไม่น้อยเหมือนกันนะคะ

ภาพจาก oggi.jp
อีกวิธีที่ดีก็คือเลี่ยงไม่ไปซื้อเลยแต่แรก ยิ่งถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นนี่ร้านสะดวกซื้อกับร้านขายยาจะอันตรายมากค่ะ เพราะเขาจะมีสินค้าใหม่ ๆ ทั้งของกินของใช้มาล่อตาอยู่เสมอ แม้บางทีคิดว่าจะเข้าไปเดินดูของเพลิน ๆ แต่ตอนออกมาก็คงยากจะออกมามือเปล่า ส่วนร้านขายยานั้นจะตั้งแผงสินค้าล้นออกมานอกร้านเลย ยิ่งบางอย่างลดราคาก็ยิ่งกระตุ้นให้อยากเข้า เพราะงั้นต้องตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการไม่มอง ไม่เข้า แล้วจะรอด

5. ทำกาแฟพกพาเอง


คนญี่ปุ่นแนะว่าเวลาออกนอกบ้าน ให้ทำกาแฟพกติดตัวไปด้วย จะได้ไม่ต้องเข้าร้านกาแฟแล้วซื้อกลับ เพราะแพงกว่ากันเยอะ หากคนไหนติดต้องซื้อกาแฟเป็นประจำ เดือนหนึ่ง ๆ จะหมดเงินไปกับส่วนนี้มาก แล้วถ้าหากไม่ต้องเสียเงินกับกาแฟที่ซื้อจากร้านเลย จะมีเงินเก็บเพิ่มอีกมากแค่ไหน

ฉันเคยซื้อกาแฟเย็นจากร้านกาแฟไทยแห่งหนึ่งที่มีสาขาทั่วประเทศ มีอยู่สาขาหนึ่งนอกจากเขาจะใส่น้ำแข็งเต็มแก้วแล้ว กาแฟที่เขารินลงแก้วก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำแข็งประมาณหนึ่งนิ้ว จากนั้นเขาก็เอาฟองนมโปะทับน้ำแข็งเพื่อกลบให้ดูเหมือนมีกาแฟเต็มแก้ว ดื่ม 3 คำก็หมดแล้ว แต่ขายแก้วละ 65 บาทแน่ะ

ลองซื้อเมล็ดกาแฟคั่วมาชงเองดูไหมคะ เมืองไทยเราปลูกกาแฟคุณภาพดี ราคาไม่แพง เดี๋ยวนี้สั่งจากแหล่งโดยตรงออนไลน์ได้ด้วย ได้ยินว่าบางที่จะคั่วใหม่ ๆ ให้เมื่อเราออเดอร์ เวลาเปิดห่อหรือระหว่างชงกาแฟก็จะได้กลิ่นหอมกรุ่นจรุงใจ สามารถให้เขาบดมาให้เลยหรือจะบดเองก็ได้ ซึ่งทั้งเครื่องบดทั้งอุปกรณ์ชงกาแฟอย่าง french press หรือหม้อต้มกาแฟ moka pot ก็ราคาหลักร้อยต้น ๆ เท่านั้นเอง ใช้งานง่าย ทำความสะอาดง่ายด้วย

“French press” และ “moka pot” ภาพจาก coffeeaffection.com
นอกจากจะได้ดื่มกาแฟในปริมาณที่ต้องการ ในราคาย่อมเยาแล้ว การได้เลือกเมล็ดกาแฟเอง ชงเอง และปรับรสชาติเองตามชอบได้ ก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง แถมยังได้ส่งเสริมเกษตรกรบ้านเราเองด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยนะคะ

6. ประหยัดค่าไฟ

เมื่อก่อนคนจะคิดว่าเครื่องไฟฟ้าสามารถใช้ได้จนกว่าจะพัง แต่เดี๋ยวนี้เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ถูกพัฒนาออกมาให้กินไฟน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก อย่างที่ญี่ปุ่นนั้น ตู้เย็นรุ่นใหม่จะประหยัดไฟกว่ารุ่น 10 ปีก่อนถึง 43% โทรทัศน์รุ่นใหม่ประหยัดไฟกว่ารุ่น 8 ปีก่อนถึง 32% (จากข้อมูลกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น) เป็นต้น

ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงแนะนำว่าหากใช้เครื่องไฟฟ้ามานานเกิน 10 ปีแล้ว ก็ควรเปลี่ยนเครื่องใหม่เพื่อลดค่าไฟลง โดยเฉพาะที่กินไฟมากอย่างเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น แต่หากกลัวว่าซื้อรุ่นใหม่ล่าสุดแล้วจะแพง ก็ให้เลือกที่ตกรุ่นลงมารุ่นหนึ่ง ประสิทธิภาพจะไม่ต่างกันมาก แต่ถูกลงเยอะ

นอกจากนี้ การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าจากหลอดทั่วไปไปเป็นหลอดแอลอีดี(LED)ก็จะช่วยประหยัดไฟลงได้มากถึง 86% อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าด้วย (จากข้อมูลกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น) ราคาค่าหลอดอาจจะแพงกว่าแต่ระยะยาวคุ้มกว่ากันมาก

ที่มา facebook.com/ministryofenergy
เรายังสามารถประหยัดไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศได้ด้วยนะคะ คนญี่ปุ่นจะแนะนำให้ตั้งอุณหภูมิให้สูงขึ้นหน่อย แม้เพียงองศาเดียวก็ประหยัดค่าไฟลงได้ และให้เปิดพัดลมควบคู่ไปกับการเปิดเครื่องปรับอากาศ โดยหันหน้าพัดลมไปยังทิศทางลมของเครื่องปรับอากาศ แล้วจะเย็นทั่วห้องเอง นอกจากนี้การทำความสะอาดฟิลเตอร์เป็นประจำ และการปิดม่านหน้าต่างเพื่อกันความร้อนจากภายนอก ก็จะช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้ดีขึ้นด้วย

การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟได้ (และป้องกันเครื่องไฟฟ้าพังหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรด้วย) อย่างคอมพิวเตอร์ที่เสียบปลั๊กไว้ตลอดนั้น หากค่าไฟอยู่ที่ยูนิตละ 5 บาท ก็กินไฟประมาณ 33 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 400 บาทต่อปี (ข้อมูลจากฝ่ายพัฒนาและอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) ลองนึกดูว่าในบ้านเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้ากี่เครื่องที่เสียบปลั๊กแล้วกินไฟไปฟรี ๆ โดยไม่รู้ตัว ลองหันมาถอดออกทุกครั้งที่เลิกใช้ แล้วเทียบค่าไฟดูนะคะว่าเดือนหนึ่ง ๆ ปีหนึ่ง ๆ ประหยัดไปได้ขนาดไหน

ผลพลอยได้จากการประหยัดไฟก็คือเราได้ช่วยกันลดโลกร้อนด้วย แม้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ให้ผลทันตา แต่ก็เป็นเรื่องง่ายใกล้ตัวที่คนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งอย่างเราสามารถมีส่วนทำเพื่อโลกของเราได้ คิดอย่างนี้ก็จะมีเรื่องดีใจเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

7. ประหยัดค่าบริการมือถือ

หากไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก หรือที่บ้านหรือที่ทำงานมี wi-fi และไม่ค่อยได้ใช้เน็ตที่ให้บริการโดยบริษัทมือถือ ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้ซิมที่จำกัดเงื่อนไขแต่ราคาถูกกว่า เช่น อาจจะใช้เน็ตได้ไม่เกิน 1-4 GB ต่อเดือนแล้วแต่แพคเกจ อาจช่วยประหยัดไปได้เยอะเหมือนกัน

ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ดูสักระยะ น่าจะประหยัดสตางค์ในกระเป๋าไปได้ไม่มากก็น้อย ในระยะยาวเรายังอาจได้ฝึกตนเองให้รู้จักประหยัดอดออม ไม่ใช้จ่ายเกินตัวแล้วลำบากภายหลังด้วยนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น