สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ถ้าเพื่อนๆ เคยอ่านการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นสมัยก่อนจะเห็นว่ามักจะมีตัวหลักเพียงไม่กี่ตัว ตัวละครมีคาแรคเตอร์ไม่ซับซ้อนมาก จดจำได้ง่ายยกตัวอย่างเช่น เรื่องโดราเอมอนที่หลายคนรู้จัก แม้จะย้อนกลับไปอ่านอีกที เราก็พอจำตัวละครได้ คนเขียนเรื่องโดราเอมอนคือ ”ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ” ซึ่งเป็นนามปากกาของนักเขียนสองคนที่เดิมทีทั้งคู่ผลิตผลงานร่วมกันครับ คือ อาจารย์ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ ผู้เขียนหลักของเรื่องโดราเอมอน และอาจารย์โมโต อาบิโกะ
อาจารย์ทั้งสองคนใช้นามปากการ่วมกันมานานและในเวลาต่อมาได้ตัดสินใจแยกกันใช้นามปากกาเพื่อความสะดวกในการจดลิขสิทธิ์ผลงานของตัวเอง อาจารย์ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ ใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (Fujiko F Fujio ) และอาจารย์โมโต อาบิโกะ ใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะเอ (Fujiko Fujio A) ( อาจารย์โมโต อาบิโกะ เป็นรุ่นพี่โรงเรียนผมด้วย เป็นผู้เขียนเรื่องนินจาฮาโตริ และเรื่อง Warau Salesman『笑ゥせぇるすまん』) ซึ่งอาจารย์ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะนั้นท่านเสียชีวิตไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน แต่เมื่อเดือนที่แล้วนี้เพิ่งมีข่าวอาจารย์โมโต อาบิโกะ เสียชีวิตด้วยโรคชรา นักอ่านการ์ตูนบอกว่าเป็นการปิดตำนานเหล่าผู้สร้างโดราเอมอนอย่างสมบูรณ์
เมื่อย้อนรำลึกถึงเรื่องโดราเอมอนคิดว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับเนื้อเรื่องดีเพราะมักจะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของโนบิตะ เด็กชายชั้น ป.4 ที่มักจะถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งอยู่เสมอ แต่บ่อยครั้งก็เป็นฝ่ายหาเรื่องใส่ตัวเอง โนบิตะจะมีโดราเอมอนเพื่อนหุ่นยนต์ที่มาจากโลกอนาคตคอยดูแลช่วยเหลือโดยใช้ของวิเศษต่างๆ จากกระเป๋าสี่มิติของโดราเอมอน อ่านไปก็จินตนาการไปด้วยว่าถ้าเรามีของวิเศษบ้างคงดี ตัวละครหลักจริงๆ มีไม่กี่คน และมีคาแรคเตอร์โดดเด่นจดจำง่าย คือโดราเอมอน , โนบิตะ, ชิซูกะ เด็กสาวน้ำใจดี ที่เป็นที่รักของทุกคน และชอบการอาบน้ำเป็นชีวิตจิตใจ, ซึเนโอะ เด็กขี้อวดประจำโรงเรียน มีฐานะดีและเป็นเพื่อนซี้กับไจแอนท์เด็กอ้วนหัวโจกประจำกลุ่มที่ชอบแกล้งโนบิตะเป็นประจำ , นอกจากนั้นก็จะมีตัวประกอบเช่น พ่อแม่ และบางตอนก็มีโดรามี, ไจโกะ และเพื่อนคนอื่นๆ เข้ามาแต่ก็จำง่าย เข้าใจง่าย สนุกเพลิดเพลินดีต่อใจใช่ไหมครับ
อาทิตย์ที่แล้วผมพูดถึงการ์ตูนมังงะในยุคปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยทั้งเรื่องราวและรูปแบบ มีตัวละครและคาแรคเตอร์เยอะมาก คนรุ่นก่อนอ่านแล้วอาจจะจำไม่ค่อยได้ ถ้าไม่สนใจจริงๆ มังงะบางเรื่องผู้ชายเขียนการ์ตูนคาแรคเตอร์ผู้หญิง แต่บางอารมณ์อาจเข้าไม่ถึงรายละเอียดของต่างเพศอย่างแท้จริง เช่น เรื่องผ่าพิภพไททันที่คนเขียนเป็นผู้ชาย เมื่อเขียนคาแรคเตอร์ตัวละครผู้หญิงในเรื่อง ก็มีหลายๆ อย่างที่แปลกๆ และค้านกับความจริงในสังคมญี่ปุ่น ส่วนวันนี้จะยกตัวอย่างนักเขียนผู้หญิงที่เขียนบุคลิกผู้ชายและมุมมองที่คาดเคลื่อนกับค่านิยมในสังคมญี่ปุ่นครับ
เรื่องที่จะพูดถึงคือ พรุ่งนี้ฉันจะเป็นเเฟนของใครสักคน (明日、私は誰かのカノジョ Ashita, Watashi wa Dareka no Kanojo ) เป็นการ์ตูนทางเว็บที่เขียนโดย Hinao Wono ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารออนไลน์ มีการรวบรวมบทและตีพิมพ์ใน Shogakukan และเดือนเมษายน 2022 นี้มีการนำมาดัดแปลงออกอากาศทางละครโทรทัศน์ด้วย เรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวความรักของตัวเอกหญิงสาวที่ทำงานพาร์ทไทม์รับจ้างเป็นแฟนสาวให้เช่า ตัวละครหญิงสาว 5 คนที่ต่างก็มีความคิดแตกต่างกันไปด้วยปมด้อยและความเจ็บปวดต่างๆ กัน
ซีนแรกเป็นฉากที่สาวมหาวิทยาลัยสองคนที่เป็นเพื่อนกัน กำลังนั่งอยู่ด้วยกัน นางเอกของเราทำงานพาร์ทไทม์รับจ้างเป็นแฟนสาวให้เช่าชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขของงานคือ รับจ้างไปกินข้าวพูดคุยเป็นเพื่อน ไปช้อปปิ้งซื้อของเหมือนคนเป็นแฟนกัน อาจจะมีจับมือกันได้แต่แค่นั้นไม่มีการล่วงเกินทางเพศ เพื่อนสาวที่นั่งอยู่ด้วยกันไม่รู้ว่านางเอกทำงานนี้ แต่เพื่อนสาวของนางเอกก็รับงานเป็นเด็กเสี่ยได้ค่าเลี้ยงดูรายเดือน ซึ่งเรื่องนี้นางเอกก็รู้อยู่ว่าเพื่อนทำงานนี้ ในฉากนี้จะเห็นว่าทั้งคู่ต่างก็กำลังอ่านข้อความที่เด้งเข้ามาในไลน์ของตน นางเอกอ่านข้อความจากลูกค้าที่ติดต่อนัดหมายเข้ามา ส่วนเพื่อนสาวก็มีข้อความจากชายหนุ่มที่ส่งข้อความมาแสดงความเป็นห่วงในตัวเธอด้วยอาจจะหวังผลอะไรบางอย่างในตัวเธอก็ได้ สาวทั้งสองคนต่างคนก็จดจ่ออยู่กับการพิมพ์ส่งข้อความในโทรศัพท์ ซึ่งฉากนี้คนอ่านจะเห็นพฤติกรรมที่ทำให้รู้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคม และจริงๆ แล้วไลน์ของบรรดาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่เข้ามานั้นต้องมีคนที่มีเจตนาและความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ใจ บ้างก็อาจหวังที่จะชวนสาวๆ ไปมีอะไรกัน เหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ทั่วไป ด้วยกิเลสตัณหาต่างๆ
เรื่องนี้เราอาจต้องรู้จักคาแรคเตอร์ของตัวละครผู้หญิงว่าเธอมีบุคลิกลักษณะอย่างไร ทำอะไร อย่างไร และในฉากต่อๆ ไปจะมีบรรดาหนุ่มแก่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่เข้ามาเป็นตัวละครในแต่ละตอน ซึ่งแต่ละคนก็จะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นได้ และมีอยู่ในสังคมทั่วไป เห็นถึงความน่าเกลียดน่ากลัวของกิเลสตัณหาและความคิดฝ่ายต่ำ แต่เราอาจไม่จำเป็นต้องจำชื่อของตัวละครลุงแก่ที่เข้ามาก็ได้เพราะแต่ละตัวเป็นแค่ตัวแทนของสัญลักษณ์บางอย่างในสังคม Sign (記号) นั่นเอง วันนี้จะยกตัวอย่างบางซีนครับ
●ซีนที่จะยกตัวอย่างคือ ในการนัดเดทของนางเอกที่เธอจะมารับประทานอาหารเป็นเพื่อนฝ่ายชาย นางเอกนั่งฟังลุงผู้บริหารคนหนึ่ง โดยในการทำงานครั้งนั้นเธอไปรับประทานอาหารเป็นเพื่อนลุงที่มีอายุแล้ว ลุงพูดถึงแต่เรื่องของตัวเองว่าทำอะไรมาบ้าง ลุงเก่งอย่างไร เป็นคนที่มีความสามารถอย่างไร บลาๆ ในฉากนั้นปรากฏว่าผู้เขียนเขียนให้นางเอกรู้สึกเบื่อและรำคาญอิลุงคนนี้ เธอก็คิดว่า ช่างน่าเบื่อจริงๆ ลุงผิวเหี่ยวน่าขยะแขยง!! กลับกันเมื่อเธอต้องไปเป็นแฟนเช่าให้กับหนุ่มน้อยอายุ 23-24 ปีที่เพิ่งเริ่มทำงานในบริษัท แม้เธอไม่ได้พูดอะไรแต่เธอก็แอบมองหน้าหนุ่มคนนั้นและเธอก็ไม่มีอคติใดๆ กับหนุ่มหน้าจืดนั่น คือในเรื่องสื่อว่าลุงแก่ไม่เป็นที่นิยมเลยแต่ว่าคนหนุ่มจะป๊อปปูล่า นักเขียนสาวเขียนให้มองแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงในสังคมการทำงานที่ญี่ปุ่น ถ้าถามว่าสาวญี่ปุ่นอยากได้แฟนแบบไหนระหว่างลุงระดับผู้บริหารกับเด็กหนุ่มที่เพิ่งเข้าทำงาน ตอบได้ไม่ยากเลยว่าเลือกลุงแน่นอน เพราะเธอจะมองไปที่ความสามารถของผู้ชายที่จะหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว มีเรื่องฐานะทางสังคม ลุงที่มีอายุระดับผู้บริหารนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีเงินเดือนสูง มีความสามารถที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้สาวๆ ได้ (แต่ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ก็มีครอบครัวแล้ว) แต่เด็กหนุ่มอายุ 23 -24 ปีที่เพิ่งเข้าทำงานในบริษัทใหม่ๆ มักจะเป็นระดับลูกน้องที่ยังอยู่ในฐานะต่ำที่สุดในบริษัท อาจโดนรุ่นพี่ใช้งานและกดดันกลั่นแกล้งต่างๆ นานา อีกทั้งเงินเดือนก็ยังน้อย การเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวยังเป็นไปได้ยาก
●มีบางฉากที่นำเสนอแง่มุมที่ดูน่ารังเกียจ หรือสื่อให้เห็นแง่มุมลบของผู้ชาย เช่น มีหนุ่มคนหนึ่งแต่งงานและมีลูกมีครอบครัวแล้วแต่ก็ยังไปลงทะเบียนในแอปพลิเคชันหาคู่เดท โดยระบุว่าโสดและมองหาสาวเดทด้วย ก็ต้องหวังผลบางอย่างกับสาวแน่นอน แล้วก็มีสาวที่มาเดทด้วย ผู้เขียนสื่อว่ายังมีสาวชอบและหลงรักหนุ่มประเภทนี้ เขียนให้เพื่อนนางเอกคนหนึ่งยังชอบและอกหักกับผู้ชายคนนี้อยู่ แต่ในมุมของสังคมในชีวิตจริง ผู้ชายประเภทนี้เป็นผู้ชายที่น่าเกลียดน่ากลัว เลวร้ายและไม่น่าไว้วางใจที่สุด
●ซีนต่อไปที่จะยกตัวอย่างคือ มีหนุ่มเจ้าสำอาง ที่รักสวยรักงาม ไม่ใช่เกย์หรือกระเทย แต่เป็นหนุ่มที่อยากจะแต่งหน้าตัวเอง จึงชวนนางเอกไปซื้อเครื่องสำอางสำหรับตัวเอง ตัดมาอีกฉากที่นางเอกไปเป็นแฟนเช่าเดินเลือกซื้อของเป็นเพื่อนหนุ่มวัยสี่สิบกว่าปีคนหนึ่งเลือกซื้อเสื้อ แต่นางเอกกลับมองว่าหนุ่มคนที่เลือกซื้อเสื้อนั้นน่าเบื่อน่ารำคาญกว่าหนุ่มน้อยที่ไปเลือกเครื่องสำอางมาเมคอัพหน้าสวย ในสังคมญี่ปุ่นจริงๆมองผู้ชายแต่งหน้าว่าแปลกกว่าคนเลือกซื้อเสื้อผ้า
เรื่องนี้มีหลายซีนที่สื่อออกมาชัดเจนว่าเกณฑ์สำหรับการประเมินผู้ชายนั้นดูว่าเป็นที่พอใจหรือไม่เป็นที่ถูกใจ ในบรรดาผู้ชายในเรื่องนั้นคนที่น่ากลัวและคนญี่ปุ่นมองว่าไม่น่าเข้าใกล้มากที่สุดน่าจะเป็นหนุ่มที่มีครอบครัวแล้วแต่ยังเที่ยวไปหาสาวคนอื่นๆ เดทด้วย แต่ในเรื่องสื่อให้เห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับผู้ชาย แต่กับหนุ่มอีกคนที่ดูเป็นมิตรกว่า กลับสื่อให้ดูว่าเขาน่ารังเกียจเพียงเพราะสาวบอกว่าไม่ถูกใจ ในสังคมจริงอย่างหนึ่งในสื่ออีกอย่างหนึ่ง บางครั้งผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าที่สื่อจากการตัดสินว่าไม่เป็นที่พอใจนั้นๆ ตามมุมมองของผู้หญิงจริงๆ หรือไม่ (・ω・`) แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่ามันเป็นการ์ตูนมังงะ ดังนั้นเมื่อผมอ่านมังงะเรื่องนี้มันก็จะอีกเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีสำหรับผม วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ สวัสดีครับ