คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน บางคนอาจเคยสังเกตเห็นว่าผักผลไม้ที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นมักดูสวยงาม ทั้งยังมีสีสัน ขนาด และรูปร่างที่ใกล้เคียงกันมากจนน่าแปลกใจ และบางคราวเห็นราคาผลไม้บางเจ้าแล้วก็อาจจะตกใจว่านี่ผลไม้วิเศษหรือ ทำไมแพงหูฉี่ขนาดนี้ สัปดาห์นี้เรามาดูกันว่าผักผลไม้ในญี่ปุ่นมีที่มาที่ไปอย่างไรจึงเป็นเช่นนั้น
สาเหตุความเหมือนกันของผักผลไม้ญี่ปุ่น
หลายคนคงทราบใช่ไหมคะว่าคนญี่ปุ่นชอบอะไรที่มีมาตรฐานและความกลมกลืน นึกว่าเรื่องนี้จะเป็นเพียงบริบทของการปฏิบัติตัวในสังคมเท่านั้น ที่ไหนได้ยังแพร่ไปถึงเรื่องของผักผลไม้ด้วย
เหตุผลหลักที่ทำให้ผักผลไม้ในญี่ปุ่นแต่ละชนิดดูแทบไม่ต่างกัน ราวกับผลิตด้วยแบบพิมพ์เดียวกันจากโรงงาน เป็นเพราะญี่ปุ่นมีกฎเกณฑ์คัดเลือกผักผลไม้ก่อนการขนส่งว่าต้องได้มาตรฐานอย่างไรบ้าง ทั้งสีสัน รูปร่าง ขนาด และความยาว เป็นต้น
อย่างมะเขือเทศต้องกะว่าเมื่อขนส่งถึงร้านขายแล้ว สีของมะเขือเทศต้องพอเหมาะพอดีขายได้เลย ซึ่งหมายความว่าลูกมะเขือเทศต้องเพิ่งเริ่มมีสีแดงหน่อย ๆ ตอนขนส่ง แปลว่าการเก็บเกี่ยวก็ต้องเร็วกว่านั้นอีก คือตอนที่ลูกยังเขียวอยู่นั่นเอง
หรือผักกวางตุ้งญี่ปุ่นต้องได้ขนาด 25-30 ซม. ใส่ถุงแพ็คผักโดยเฉพาะแล้วใบต้องไม่ยื่นออกมา ไม่มีใบเหลืองหรือถูกแมลงกัดกิน ส่วนหัวไชเท้าลูกหนึ่งต้องหนักราว 1.2-1.5 กก. ไม่เล็กหรือใหญ่กว่านี้ ต้องเป็นแท่งตรง ไม่งอ ไม่มีแขนขางอก ตัดใบออกและล้างสะอาดแล้ว
ที่ต้องมีมาตรฐานดังกล่าวก็เพราะสาเหตุดังต่อไปนี้ค่ะ
1. เพื่อความสะดวกในการขนส่งและวางขาย
เวลาขนส่งผักผลไม้เขาจะมีกล่องที่กะขนาดมาพอดีแล้ว ว่ากล่องหนึ่งใส่ผักผลไม้แต่ละอย่างได้จำนวนเท่าใด ถ้ารูปร่างและขนาดของผักผลไม้ไม่ได้มาตรฐานก็จะใส่ไม่พอดี สำหรับใบของหัวไชเท้านั้น แม้ว่าจะมีคุณค่าทางอาหารสูงและบางคนอาจชอบ แต่ถ้ามันใส่ไม่พอดีกล่องก็อาจเปลืองค่าขนส่ง จึงต้องตัดใบซึ่งกินพื้นที่ออกไป ส่วนสาเหตุที่ต้องเก็บมะเขือเทศจากต้นเร็ว ก็เพื่อไม่ให้สุกเร็วไปแล้วจะวางขายได้ไม่นาน
2. เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภค
ตามร้านอาหารจะต้องการผักผลไม้ที่มีขนาดพอดีและรูปร่างสวยงาม เพื่อให้หั่นหรือจัดใส่จานแล้วดูสวยงาม ส่วนที่มีการล้างผักมาให้ก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยเฉพาะพวกผักกินรากอย่างหัวไชเท้า แครอท ต้นหอมยักษ์ ก็เพื่อไม่ให้มีดินโคลนเลอะเทอะครัว ซึ่งอาจเป็นที่ไม่ชอบใจของแม่บ้าน
การที่ผักผลไม้มีมาตรฐานแบบนี้ ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตสามารถขายราคาตามหน่วยได้เลยโดยไม่ต้องชั่งน้ำหนัก ดังนั้นผักผลไม้ที่เป็นหัวหรือลูก เช่น แตงกวา หัวไชเท้า แอปเปิล สาลี่ จึงขายในราคาต่อลูกได้เพราะขนาดเท่ากันหมด บางอย่างก็จะใส่ถุงหรือแพ็คไว้ เช่น ผักใบ มะเขือเทศจิ๋ว ส้ม แต่ละแพ็คราคาเท่ากันหมดถ้าเป็นชนิดเดียวกัน
ข้อเสียของการมีผักผลไม้ที่ได้มาตรฐาน
การคำนึงถึงมาตรฐานภายนอกเป็นหลักทำให้รสชาติกลายเป็นเรื่องรอง อย่างมะเขือเทศตามซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเก็บเกี่ยวตอนลูกยังเขียวอยู่นั้น จะมีความหวานไม่มากเท่าไหร่ แต่หากปล่อยให้แก่อีกหน่อยแล้วค่อยเด็ดจากต้น จะมีรสหวานกว่ามะเขือเทศที่เก็บเร็ว แต่เรื่องนี้คงช่วยไม่ได้ในยุคที่เราซื้ออาหารสดจากซูเปอร์มาร์เก็ตกันมากขึ้น ซึ่งต้องมีขั้นตอนเยอะแยะกว่าของสดจากไร่จะมาถึงมือผู้บริโภค จึงต้องยืดอายุสินค้าไม่ให้สุกงอมเร็ว
ราคาที่ต้องจ่ายอีกอย่างเพื่อให้ได้ผักผลไม้สวยงาม คือสารเคมีตกค้างที่ใช้ในการเกษตรซึ่งมากเกินพอดี ทราบไหมคะว่าสตรอเบอรีเป็นผลไม้ในญี่ปุ่นอันดับหนึ่งที่มีสารตกค้างมากที่สุด โดยในญี่ปุ่นนั้นมีการพ่นสารเคมีมากถึง 50-65 ครั้ง ส่วนผลไม้ที่สารเคมีตกค้างรองมาคือแอปเปิล ซึ่งพ่นสารเคมีเฉลี่ย 36 ครั้ง ทีนี้ลองคิดดูว่าสตรอเบอรี่ที่ขนาดเล็กกว่าแอปเปิลมากแต่พ่นสารเคมีเกือบเท่าหนึ่งจะมีสารเคมีสูงเพียงใด นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังใช้สารเคมีบางชนิดที่ทางสหภาพยุโรปห้ามใช้ด้วย
คราวนี้เรามาดูผักผลไม้ที่ตกมาตรฐานกันบ้างดีกว่า เพื่อนผู้อ่านลองดูรูปหัวไชเท้าด้านบน จะเห็นว่าแต่ละลูกดูสวย ๆ ทั้งนั้นเลยใช่ไหมคะ แต่แบบนี้คือตกมาตรฐานของตลาดญี่ปุ่น แล้วชะตากรรมของพวกมันเป็นเช่นไร ? ส่วนใหญ่พวกมันก็ถูกกำจัดไปอย่างน่าเสียดาย เห็นแล้วอดคิดไม่ได้นะคะว่าเอาไปตั้งโรงทานทำแกงจืดไชเท้าแจกคนให้อิ่มท้องได้อีกตั้งเยอะ
ผักผลไม้ไม่ได้มาตรฐานที่ถูกทิ้งในญี่ปุ่นแบบนี้มีปริมาณมากถึง 30-40% เลยละค่ะ ทั้งที่รสชาติก็ไม่ได้ด้อยกว่าผักผลไม้ที่ได้มาตรฐาน แค่ไม่สวยพอเท่านั้นเอง ปีหนึ่ง ๆ ญี่ปุ่นมี food waste (อาหารพร้อมรับประทานที่ยังไม่เสียแต่ถูกทิ้งเป็นขยะ) ถึง 6 กว่าล้านตัน แต่ในจำนวนนี้ยังไม่ได้รวมผักผลไม้ไม่ได้มาตรฐานที่ถูกทิ้งซึ่งเรียกว่า “food loss” (อาหารที่ถูกทิ้ง ณ จุดที่ผลิต หลังเก็บเกี่ยว หรือระหว่างกระบวนการแปรรูป) ด้วย ซึ่งหากรวมกันแล้วญี่ปุ่นจะมีปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งกว่านี้อีกมาก
ที่จริงเขาก็เอาผักผลไม้ตกมาตรฐานส่วนหนึ่งไปใช้ประโยชน์อยู่บ้างเหมือนกัน โดยอาจนำไปหั่นชิ้นหรือแปรรูปไปเป็นสินค้าอื่นแล้วมาขายอีกที ไม่อย่างนั้นชาวไร่ก็รับประทานกันเอง หรือขายตามตลาดนัด แต่การนำผักผลไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานไปใช้ประโยชน์ก็ยังถือว่าน้อยมาก
เหตุผลความแพงของผักผลไม้ญี่ปุ่น
มาถึงตรงนี้เพื่อนผู้อ่านก็คงพอคาดเดาสาเหตุได้ส่วนหนึ่งแล้วใช่ไหมคะว่าทำไมผักผลไม้ญี่ปุ่นแพงจัง นั่นก็เพราะต้องลงทุนลงแรงไปมากมายกับการผลิตและคัดเลือกผักผลไม้ตามมาตรฐาน และต้องทิ้งส่วนที่ตกมาตรฐานไปมหาศาลดังที่กล่าวมาข้างต้น ผักผลไม้ที่ผ่านมาตรฐานจึงมีมูลค่าเกินจริง และมีราคาแพงตามไปด้วย
เหตุผลอื่นยังอาจรวมไปถึงการที่ญี่ปุ่นมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย คือมีแค่ประมาณ 12-15% เท่านั้น และพื้นที่ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ก็ใช้ไปในการปลูกข้าว อีกทั้งไร่ญี่ปุ่นก็มีขนาดเล็กกว่าประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว หรือ OECD มาก ซึ่งการทำไร่ขนาดเล็กจะได้ผลไม่คุ้มค่าเท่าการทำไร่ขนาดใหญ่ด้วย ทำให้ต้นทุนสูงกว่า
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีผลไม้แบบแพงหูฉี่อีก ซึ่งจะมีร้านที่ขายผลไม้ชั้นเลิศแบบนี้โดยเฉพาะ ผลไม้ของเขาจะสวยมาก ไร้ตำหนิ มีสีสันและรูปร่างสวยงาม ขนาดเหมาะเจาะ ถ้าเป็นองุ่นก็จะลูกอวบ ๆ กลมโต ถ้าเป็นเมล่อนก็จะขนาดไม่เล็กไปใหญ่ไป ลายสวย มีก้านรูปตัว T เป็นสัญลักษณ์
อาจมีคนคิดว่าผลไม้แพงเกินใครจะซื้อ คืออย่างนี้ค่ะ คนญี่ปุ่นเขาส่งของขวัญกันในหลายโอกาสมาก และยังมีธรรมเนียมส่งของขวัญประจำฤดูร้อนและต้นฤดูหนาวด้วย ซึ่งผลไม้ก็เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ใช้ส่งเป็นของขวัญให้กันได้ ร้านผลไม้ที่ว่านี้ก็เลยขายแบรนด์ผลไม้ชั้นเลิศบรรจุกล่องอย่างสวยงาม เพื่อให้เป็นของขวัญสุดหรูนั่นเอง อย่างแอปเปิลฟูจิปกติขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตลูกหนึ่ง ๆ ไม่ถึง 200 เยน แต่ร้านนี้ขายลูกละ 1,650 เยน องุ่นพันธุ์ดีพวงละหมื่นเยนต้น ๆ และเมล่อนลูกละประมาณ 16,000 เยนขึ้นไป
กว่าจะได้ผลไม้ชั้นเลิศแต่ละอย่างมาเป็นสินค้าของร้านนี้ได้ อาจเรียกได้ว่าชาวไร่แทบเลือดตาแทบกระเด็น เพราะต้องดูแลเอาใจใส่กับการเพาะปลูกมากตลอดวันคืน อย่างเมล่อนจังหวัดชิสึโอกะ พอต้นเริ่มออกผล ชาวไร่ก็จะคัดออกให้เหลือเพียงลูกเดียวบนกิ่ง เพื่อให้สารอาหาร(และความอร่อย) มารวมตัวกันอยู่ในเมล่อนลูกเดียว แต่ละลูกจะโตอยู่ในความสูงที่เท่ากัน มีเชือกผูกไว้กับก้านเพื่อช่วยรับน้ำหนักลูกเมล่อน พอโตแล้วต้องเอาพลาสติกมาคลุมเมล่อนแต่ละลูกเพื่อบังไม่ให้โดนแดดจัด
มีอยู่ไร่หนึ่งซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกภายในเรือนกระจกขนาดกลางเพียง 3 เรือน ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถึง 55 ลิตรต่อวันเพื่อรักษาอุณหภูมิให้พอเหมาะ เวลาแดดออก แดดร่ม หรือลมเปลี่ยนทิศทางก็ต้องมาปรับอยู่เรื่อย ๆ เรียกได้ว่าต้องคอยดูตลอดเวลา เจ้าของไร่ไม่เคยไปข้างนอกพร้อมกันทั้งครอบครัวเพราะต้องมีคนหนึ่งคอยเฝ้า ไม่อย่างนั้นหากอุณหภูมิในเรือนกระจกร้อนไปหรือเย็นไปเพียงไม่นาน ก็อาจทำให้ลูกเมล่อนทั้งไร่เสียหายได้
เจ้าของไร่เชื่อว่าไม่มีการปลูกเมล่อนที่ไหนในญี่ปุ่นจะเปลืองแรงเท่าวิธีการปลูกแบบชิสึโอกะแล้ว เพราะที่อื่นไม่ได้ปลูกด้วยวิธีเดียวกัน และปล่อยให้แต่ละกิ่งออกเมล่อนหลายลูก เขาบอกว่าถึงแม้ไร่เขาจะประคบประหงมเมล่อนถึงเพียงนี้ ก็ยังได้เมล่อนชิสึโอกะเกรดเอเพียงแค่ 3% ของทั้งหมดที่ตนปลูกเท่านั้นเอง
แหล่งขายผักผลไม้อร่อยและถูกกว่า
ฉันคิดว่าประเทศไหน ๆ ก็คงมีมาตรฐานผักผลไม้ที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต แต่อาจจะเข้มงวดต่างกัน อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาที่ฉันเคยไปหลายแห่งขายหัวไชเท้าขนาดไม่เท่ากันเลย บางลูกหักบ้าง แตกบ้าง ขนาดร้านดี ๆ ก็ยังเจอแอปเปิลช้ำเยอะแยะเสมอ อโวคาโดเบอร์เดียวกันก็ขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าเป็นญี่ปุ่นพวกนี้คงผิดมาตรฐานหมดเลย แต่แม้มาตรฐานอเมริกาจะไม่เข้มงวดเท่าญี่ปุ่นก็ยังทิ้งผักผลไม้ไม่สวยไปถึง 20%
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองหาผักผลไม้ที่ถูกและดีในญี่ปุ่น โดยไม่ได้ยึดว่าต้องตรงมาตรฐานตลาด ก็สามารถหาซื้อได้จากตลาดนัด จุดพักรถตามทางหลวง ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง หรืออาจถามจากร้านผักผลไม้ใกล้บ้านก็ได้ รวมทั้งสามารถสั่งออนไลน์ได้จากหลายเว็บด้วย นอกจากได้ของดีที่ถูกกว่าแล้ว ยังได้ช่วยลดขยะอาหาร และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ดีสำหรับหลายฝ่ายเลยนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.