xs
xsm
sm
md
lg

ใส่หน้ากากหรือปลดหน้ากาก : มุมมองของญี่ปุ่น VS อเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากสำนักข่าว AFP
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน การดำเนินชีวิตในญี่ปุ่นและอเมริกาท่ามกลางโควิดค่อนข้างปกติเกือบหมดแล้ว ที่ต่างกันคงเป็นเรื่องการสวมหน้ากาก ซึ่งที่ญี่ปุ่นยังค่อนข้างรัดกุม ในขณะที่อเมริกาผ่อนคลาย ยกเว้นเวลาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ก็เพิ่งเกิดดราม่าไปเมื่อต้นสัปดาห์หลังผู้พิพากษาคนหนึ่งตัดสินว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐไม่มีสิทธิ์บังคับสวมหน้ากาก ทำให้ต้องยกเลิกการสวมหน้ากากทั่วประเทศจนเป็นที่โจษจันกันไปทั่ว ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

ญี่ปุ่น: ยังไม่อยากถอดหน้ากาก

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าขณะนี้การระบาดได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้ว จึงไม่ได้ขอร้องประชาชนว่าให้งดเดินทาง ผู้คนเองก็คงอัดอั้นมานานจากมาตรการป้องกันโควิดตลอดเวลาที่ผ่านมา ตามสถานที่ท่องเที่ยวจึงมีคนเนืองแน่นมาตั้งแต่ช่วงชมซากุระจนถึงบัดนี้ นอกจากนี้รัฐยังส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยให้เงินอุดหนุน หากท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันด้วย ยกเว้นช่วงโกลเด้นวีคซึ่งคนเดินทางเยอะอยู่แล้ว

ที่น่าเป็นห่วงอาจจะเป็นอัตราผู้ติดเชื้อในจังหวัดโอกินาวา ซึ่งสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ เมื่อเทียบกับประชากรต่อแสนคน และโอกินาวายังเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในญี่ปุ่นด้วย


คนญี่ปุ่นยังคงใส่หน้ากากเวลาออกไปไหนมาไหน แม้จะไม่ได้มีมาตรการบังคับ (เพียงแค่ติดป้ายขอความร่วมมือ) แต่ถ้าไม่ใส่ก็จะโดนคนมองแรง อย่างไรก็ตามสถานที่บางแห่งอย่างห้างสรรพสินค้า แม้จะไม่มีป้ายห้ามเข้าถ้าไม่สวมหน้ากาก แต่พนักงานก็อาจห้ามไม่ให้ลูกค้าเข้า หรือไม่ก็เอาหน้ากากมาให้สวม ฉันเคยเห็นในข่าวว่าพนักงานห้างไปเรียกผู้ใหญ่ลงมาคุยกับลูกค้าเอง โดยพูดอย่างละมุนละม่อมให้ลูกค้าออกไปถ้าไม่สวมหน้ากาก ลูกค้าก็ยอมออกไปโดยดี

มีการสำรวจพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่อยากถอดหน้ากาก เพราะกลัวการติดเชื้อและกลัวสายตาคนรอบข้าง ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ยังอยากใส่หน้ากากไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่รู้สึกสบายกับการไม่ต้องแต่งหน้าทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก แต่ก็มีหลายคนที่อยากจะเลิกสวมหน้ากากเสียที เพราะเห็นว่าแม้จะสวมหน้ากากกันทั่วประเทศแต่ยอดผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ได้ลดลดอย่างมาก จึงคิดว่าไม่มีประโยชน์ บางคนก็คิดว่าควรให้อิสระที่จะสวมหรือไม่สวมหน้ากากก็ได้แล้วแต่สมัครใจ

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอาจจะให้เลิกใส่หน้ากากได้เมื่อผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงเหลือวันละไม่เกิน 1 หมื่นคน (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 5 หมื่นคน) และประชากรร้อยละ 60 ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว


สหรัฐ: ศาลพิพากษาคว่ำมาตรการบังคับสวมหน้ากาก

ตอนนี้ที่อเมริกาไม่ได้บังคับให้สวมหน้ากากเวลาอยู่ข้างนอก แต่แนะนำให้สวมหากอยู่ท่ามกลางผู้คนจอแจ สำหรับนิวยอร์กไม่ได้บังคับสวมหน้ากากเมื่อเข้าอาคารสถานที่หรือร้านอาหาร แต่ให้อิสระเจ้าของสถานที่เลือกเอาว่าจะมีข้อบังคับอย่างไร จึงมีบางแห่งที่ยังต้องสวมหน้ากากและบางแห่งไม่ต้อง

สำหรับการสวมหน้ากากเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้น ทีแรกทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ประกาศไว้ว่าจะยกเลิกในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา แต่ขอเลื่อนออกไปอีกสองสัปดาห์เพื่อประเมินเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ให้ดีเสียก่อน เพราะผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนมากมีเชื้อตัวนี้ แต่ปรากฏว่าผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางประกาศคว่ำมาตรการบังคับสวมหน้ากาก โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกินขอบเขตหน้าที่ของหน่วยงานสาธารณสุข


คำสั่งศาลนี้ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศยกเลิกการสวมหน้ากากทันที บางเที่ยวบินถึงกับรีบประกาศกฎใหม่นี้ในระหว่างบินอยู่บนน่านฟ้า ท่ามกลางความยินดีของกัปตันและลูกเรือบางส่วน รวมถึงผู้โดยสารจำนวนมากที่รีบถอดหน้ากากออก และพนักงานต้อนรับเดินร้องเพลงถือถุงขยะรอรับหน้ากากจากผู้โดยสารอย่างเริงร่า

แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้โดยสารส่วนหนึ่งที่ไม่ยินดีด้วย เพราะบางคนก็ขึ้นเครื่องบินเพราะคิดว่าทุกคนใส่หน้ากาก จึงมีความปลอดภัยและอุ่นใจในระดับหนึ่ง แต่การเปลี่ยนนโยบายความปลอดภัยทางสาธารณสุขกันกลางอากาศแบบนี้ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะหากรู้ล่วงหน้าก็อาจจะเลือกไม่ขึ้นเครื่องบินแต่แรก

เบื้องหลังคำตัดสินของศาลรัฐบาลกลางครั้งนี้ เกิดจากการที่องค์กร Health Freedom Defense Fund ชนะคดีฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่บังคับสวมหน้ากากยามเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ประธานองค์กรนี้กล่าวว่า “กฎหมายจำกัดขอบเขตอำนาจของหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคล และศาลก็เห็นชัดว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคทำเกินขอบเขต เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่มีสิทธิ์ละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลด้วยการอ้างว่าทำโดยเจตนาดีและหวังผลลัพธ์ที่ดี” องค์กรนี้ยังบอกว่าการชนะคดีครั้งนี้เป็นชัยชนะของเสรีภาพขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรมของอเมริกา

ที่ผ่านมาบรรดาสายการบินเองก็พยายามล็อบบี้ให้รัฐยกเลิกการสวมหน้ากาก โดยให้เหตุผลว่าระบบกรองอากาศบนเครื่องบินมีประสิทธิภาพ ทำให้ยากจะติดเชื้อระหว่างเดินทาง อีกเหตุผลหนึ่งน่าจะเป็นเพราะมีผู้โดยสารก่อเหตุวิวาทหรือต่อยตีกันมาหลายครั้งบนเครื่องบินเพราะเรื่องสวม/ไม่สวมหน้ากากนี้เอง

ชาวอเมริกันชุมนุมคัดค้านการบังคับสวมหน้ากากและฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย
ผู้คนบางส่วนที่ไม่ยินดีต่อการยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากาก บอกว่าจะไม่ยอมขึ้นเครื่องบินถ้าไม่มีมาตรการบังคับสวมหน้ากาก หรือจนกว่าอัตราการติดเชื้อจะน้อยลงมาก บางคนก็บอกว่าต่อให้คนส่วนมากไม่ยอมสวมหน้ากาก แต่ตัวเองก็จะสวมต่อไปเพราะไม่อยากมีผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวจากการติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า "ลองโควิด" (Long Covid) และหลายคนก็เป็นห่วงผู้สูงอายุหรือคนสุขภาพอ่อนแอที่อาจติดเชื้อโควิดง่ายและมีอาการรุนแรง ซึ่งจะได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากจากการที่คนเลิกสวมหน้ากาก

หลายฝ่ายโดยเฉพาะวงการแพทย์และสาธารณสุขบอกว่า การยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากครั้งนี้เป็นการตัดสินทางด้านกฎหมายแต่ไม่ใช่ทางด้านสาธารณสุข และปัญหาก็คือการตัดสินทางกฎหมายมามีอำนาจโค่นการตัดสินใจของหน่วยงานสาธารณสุขท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด แล้วอย่างนี้อีกหน่อยเวลามีโรคระบาดรุนแรงอีกในอนาคตจะควบคุมโรคกันอย่างไร ที่ผ่านมาก็มีหลายมลรัฐที่พยายามจะจำกัดมาตรการสาธารณสุขแล้ว คราวนี้กลับใช้ผู้พิพากษาเพียงคนเดียวล้มมาตรการสาธารณสุขของคนทั้งประเทศ

ปัญหาโควิดและมาตรการป้องกันของสหรัฐกลายเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าทางสาธารณสุข มีการกล่าวหาว่ามาตรการควบคุมโรคละเมิดเสรีภาพบ้าง เผด็จการบ้าง หรือไม่ก็หาว่าคนที่ให้/ไม่ให้ความร่วมมือกับมาตรการเป็นเพราะถือหางการเมืองคนละฝ่าย มีการทะเลาะเบาะแว้ง และประท้วงมากมาย ซึ่งจากมุมมองของบุคลากรในแวดวงสาธารณสุขแล้วรู้สึกสิ้นหวังกับสถานการณ์รอบด้านมาก อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิดซับซ้อนกว่าที่หลายคนคิด และยังบานปลายไปเป็นประเด็นการเมืองที่จะสร้างบาดแผลต่อคนในสังคมต่อไปอีกยาวนาน

อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เดินหน้ายื่นเรื่องอุทธรณ์ หลังจาก CDC ประกาศว่า การสวมหน้ากากยังมีความจำเป็นหากต้องเดินทางด้วยระบบขนส่ง นอกจากนี้ยังมีหลายฝ่ายที่กล่าวว่าผู้พิพากษาตีความข้อกฎหมายผิด เพราะตามกฎหมายแล้ว CDC มีสิทธิ์ในการออกและบังคับใช้มาตรการที่เห็นว่าจำเป็นในการป้องกันการเกิด การติดต่อ และแพร่โรคที่ระบาดในชุมชนได้

แต่ว่ากันว่าต่อให้รัฐบาลชนะคดีในครั้งนี้ ประชาชนที่เป็นอิสระครั้งหนึ่งแล้วก็คงไม่ยอมกลับมาสวมหน้ากากอีกง่าย ๆ แต่ถ้าหากแพ้คดี ก็เท่ากับว่า CDCไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการบังคับใช้มาตรการสาธารณสุขจริง ซึ่งก็จะกลายมาเป็นปัญหาในการควบคุมโรคระบาดของสหรัฐเองต่อไป จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายใหม่เพื่อให้ CDC มีอำนาจมากกว่านี้ ซึ่งก็คงเผชิญการล็อบบี้จากหลายภาคส่วน และจะยังคงเป็นประเด็นทางการเมืองของสหรัฐต่อไป


มุมมองต่อการสวม/ไม่สวมหน้ากาก

พอมีประเด็นเรื่องศาลยกเลิกบังคับสวมหน้ากาก และคนจำนวนมากตอบรับด้วยความยินดี ก็มีคนแชร์กันบนโลกโซเชียลทำนองว่า รู้สึกผิดหวังกับคนในประเทศเดียวกันที่ภูมิใจในความเห็นแก่ตัว และคิดถึงคนอื่นน้อยเกินไป คล้ายกับปีแรกของโควิดที่มีคนอเมริกันแชร์ว่า “ถ้าจะมีอะไรที่เราได้เรียนรู้ในปีนี้ ก็เป็นเรื่องที่คนอเมริกันเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาย...ในแบบที่ว่าให้คนอื่นตายซะยังดีกว่าให้ตัวเองขาดความสะดวกสบาย”

สำหรับญี่ปุ่น คนที่ไม่อยากสวมหน้ากากอีกแล้วก็มีเยอะ เพียงแต่กลัวสายตาคนรอบข้างจะมองอย่างตำหนิ เพราะมองว่าการสวมหน้ากากเป็นการป้องกันตัวเองและคำนึงถึงคนอื่น คล้ายกับว่าเป็นมารยาททางสังคมอย่างหนึ่งไปแล้ว พอไม่มีใครสักคนเริ่มถอดหน้ากากยามเดินอยู่ข้างนอก คนอื่นก็เลยพลอยไม่กล้าถอดออกกันไปหมด

ในขณะที่คนอเมริกันบางคนอาจจะอยากใส่หน้ากาก แต่เห็นคนส่วนใหญ่ไม่ใส่ก็เลยต้องถอดหน้ากากออก และคนจำนวนหนึ่งก็อาจจะมองว่าการถอดหน้ากากคือ การปลดปล่อยสู่เสรีภาพ ก้าวข้ามโควิดแล้ว แม้ว่าวงการแพทย์จะบอกว่าเรายังไม่ได้ก้าวพ้นโควิดเลย และการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาตร์นี้เปลี่ยนไปเลยสักนิด

คิดแล้วก็เห็นใจคนในวงการแพทย์และสาธารณสุขที่พยายามจะป้องกันการระบาดอย่างเต็มที่ และเป็นหน้าด่านในการรักษาผู้ป่วยโควิดนะคะ ต้องสละตัวเองมาก ทั้งเหนื่อย ทั้งเสี่ยง แต่ก็เจอแรงต้านจากหลายฝ่ายเหลือเกิน เมื่อโควิดยังไม่ยอมจากเราไปและผู้คนก็เหนื่อยกับมาตรการควบคุมเช่นนี้ ประชาชนที่ยังกังวลต่อโควิดก็คงได้แต่ต้องคอยระมัดระวังตัวเองไม่ให้การ์ดตก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงอย่างแท้จริงเท่านั้นก็เป็นได้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น