xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นเลือกขนมเพื่อบอกว่า “ไปไหนมา” มากกว่าความอร่อย?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ไม่แน่ใจว่าเมื่อเพื่อนๆ มีวันหยุดยาวหรือได้ไปเที่ยวที่ไหน จะต้องซื้อขนมของฝากเพื่อนที่ทำงาน ญาติพี่น้องไหมครับ สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ถ้าเป็นเด็กๆ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากไม่มีของฝากเพื่อนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานเมื่อต้องเดินทางเพื่อบิสสิเนสทริปไปทำงานต่างจังหวัดหรือแม้แต่ลางานไปเที่ยวก็ค่อนข้างจะมีเรื่องที่ต้องครุ่นคิดอยู่อย่างหนึ่งคือ จะต้องซื้อของฝากหรือขนมมาให้เพื่อนที่ทำงาน และจะซื้ออะไรดี

มีหัวข้อพูดคุยกันในโลกโซเชียลมีเดียว่ายังมีคนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่จำเป็นจะต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อการทำงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีความยุ่งยากต้องมีการตรวจเช็ค PCR หรือต้องทำตามเงื่อนไขต่างๆในการเดินทางมากมาย ถือว่าน่าให้กำลังใจจริงๆ เพราะนอกจากต้องทำตามเงื่อนไขของจังหวัดหรือสถานที่ที่ไปแล้ว ยังต้องคิดว่าจะซื้อของฝากอะไรมาให้เพื่อนที่ทำงานดี


แต่ปกติแล้วตามจังหวัดต่างๆ จะมีขนมหรือของฝากขึ้นชื่อของตัวเอง บางจังหวัดเป็นขนมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับท้องถิ่นเลย และอาจจะเป็นขนมคุกกี้ง่ายๆ แต่ที่ซองพิมพ์ชื่อจังหวัดไว้ เรียกว่าเป็นสินค้ามาตรฐาน (定番) หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นเสมือนตัวแทนของจังหวัดหรือท้องถิ่นนั้นๆ ให้เลือกซื้อเป็นของฝากสากลที่ใครเห็นก็รู้ได้ว่าขนมนั้นมาจากจังหวัดอะไร มีขนมหลายอย่างที่เพื่อนๆ อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว เช่น


◇เกียวโตก็จะมี Yatsu hashi เป็นขนมตำรับท้องถิ่นดั้งเดิมของฝากยอดนิยมของเกียวโต ทำมาจากแผ่นแป้งบางนุ่มห่อไส้ถั่วแดงกวน , ชาเขียว , ช็อกโกแลต เป็นต้น
◇ฮิโรชิม่าก็มีขนมโมมิจิมันจู
◇ฮอกไกโดมีขนมชิโรอิ โคอิบิโตะ
◇ จังหวัดนางาซากิมีขนมนางาซากิ คาสเตลล่า
◇จังหวัดชิสึโอกะมีขนมพายปลาไหล Unagi pie
◇จังหวัดโอกินาว่ามีขนม Chinsuko
◇จังหวัดฟุกุโอกะมีขนมฮาคาตะโทริมง
◇หรือขนมง่ายๆ ทั่วไป แต่พิมพ์ระบุที่ซองว่าได้เคยไป(ชื่อจังหวัด) มาแล้ว เป็นต้น



การซื้อขนมของฝากสากลของจังหวัดต่างๆ เพียงเพราะเป็นค่านิยมเรื่องความร่วมมือ มีคำศัพท์ที่ว่า アリバイ作り คือเปรียบเปรยถึงการทำสิ่งต่างๆ ตามแบบแผนเพียงเพราะบุคคลไม่สามารถละเลยความร่วมมือในหมู่สังคมได้ เช่นถ้าได้ไปจังหวัดไหนต้องมีของฝากติดไม้ติดมือ จีงมีไอเดียขนมของฝากมาตรฐานสากลของจังหวัดต่างๆ เกิดขึ้นเป็นการแสดงให้รู้ว่าเป็นขนมที่มาจากจังหวัดใด ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะอร่อยถูกปากหรือไม่อร่อยก็ได้แล้วแต่คน บางคนก็บอกว่าไม่อร่อยเลยแต่ถ้ามาถึงจังหวัดนี้แล้วก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือไปสักหน่อย เราเรียกว่า 名物にうまいものなし "ของขึ้นชื่อ ไม่มีรสชาติ" เป็นคำอุปมาที่ว่าไม่มีอาหารอร่อยเป็นพิเศษ บางคนไม่ได้รู้สึกว่าขนมตัวแทนของจังหวัดจะ "อร่อยมาก"

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ซื้อมาเป็นของฝากของที่ระลึกสำหรับการเดินทางเพื่อธุรกิจ บางคนบอกว่า ขนมบางอย่างนั้นต้องขอโทษจริงๆ จำไม่ค่อยได้ว่ามันอร่อยหรือเปล่า แค่กินได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าถามว่าอร่อยพอจะสั่งกินอีกไหม ก็เป็นคำถามใหญ่ ที่ต้องครุ่นคิดก่อน


ประเด็นก็คืออาจจะมีของที่ระลึกพิเศษหรือขนมที่อร่อยมากกว่าและมีของดีๆ มากมาย เหตุใดจึงมีขนมที่เขียนเป็นชื่อจังหวัดเกิดขึ้น

●เพราะการรับรู้ของลูกค้า

(1)เพื่อแสดงให้รู้ว่า “ไปไหนมา” มันสำคัญกว่าความอร่อย

จากการสำรวจสิ่งที่สำคัญ เมื่อเลือกเดินทาง "ท่องเที่ยว" โดยมีเงื่อนไขคือ "สถานที่" "โรงแรม / เรียวกัง" "ราคา" "อาหาร" คะแนนอันดับหนึ่งสำหรับผู้เดินทางคือ "สถานที่" และจิตสำนึกในรสชาติอาหารถูกคาดหวังลดลง การเลือกขนมเป็นของฝากจึงกลายเป็นว่า เพื่ออ้างอิงว่า "ไปไหนมา"


●ความสะดวกด้านอุปทาน

(2) การตลาดเป็นระดับชาติ = อุตสาหกรรม + ลำดับความสำคัญในการจัดจำหน่าย

พอกลายเป็นผลิตภัณฑ์สากลของฝากตัวแทนจังหวัด มีการเริ่มต้นขายหมายความว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นลำดับความสำคัญ การปฏิบัติตามข้อกำหนดมีความสำคัญ อาจไม่สนใจรสชาติเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีเสถียรภาพ

เมื่อสายการผลิตของโรงงานอยู่ในแหล่งเดียวกัน จำเป็นต้องรักษาช่องทางการจัดจำหน่ายให้คงอยู่ด้วย ดังนั้นจึงต้องมีต้นทุนการส่งเสริมการขายและอัตรากำไรจากการจัดจำหน่าย ด้วยวิธีนี้ตลาดจึงกระจายไปทั่วประเทศ
ตลาดขนมของฝากตัวแทนจังหวัดนี้จึงถูกสร้างขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าขนมใน package นั้นก็จะมีชื่อของจังหวัดอยู่ด้วยซึ่งเป็นการนำเสนอว่าเคยไปที่ไหนมาเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าขนมข้างในนั้นอร่อยหรือเปล่า


สิ่งสำคัญของขนมของฝากตัวแทนจังหวัดเหล่านี้ก็คือส่วนใหญ่จะทำออกมาเป็น package แยกชิ้นซึ่งจะสามารถแบ่งแจกได้หลายๆ คนคือเหมาะสมสำหรับการนำไปฝากเพื่อนที่ทำงานหรือเพื่อนๆ ที่อยู่กันหลายคน ซึ่งเป็นการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของขนมญี่ปุ่น สมมติซื้อมาหนึ่งกล่องแต่ข้างในก็จะมีขนมที่แยกเป็นชิ้นๆ 20 หรือ 30 ชิ้นแล้วแต่แพ็คเกจและปริมาณซึ่งสามารถที่จะส่งไปให้เพื่อนที่ทำงานหนึ่งกล่องได้ แต่ควรตรวจสอบจำนวนชิ้นก่อนว่าครบคนไหม ถ้าไม่ครบทุกคนจริงๆ ก็อาจให้เฉพาะกลุ่มเพื่อนที่มีความสนิทสนมกันก็ได้ คิดว่าเพื่อนๆ น่าจะเคยซื้อขนมของฝากจากญี่ปุ่นครับ คิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น