xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตแบบฆราวาสของ "อาชีพพระ" ในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก zexy.net
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สำหรับคนพุทธแล้วสิ่งที่น่าตกอกตกใจเกี่ยวกับญี่ปุ่น ก็คงเป็นเรื่องที่พระญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงฆราวาส (ผู้ที่ไม่ใช่นักบวช) เป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการครองเรือน การดื่มเหล้า และการประกอบอาชีพอื่น ๆ และแม้คนญี่ปุ่นอาจไหว้พระพุทธรูป แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเคารพบูชาพระพุทธเจ้าโดยถือเป็นของสูงเสมอไป

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นพุทธแบบมหายาน แต่ก็อาจเป็นประเทศพุทธแห่งเดียวในโลกที่พระไม่จำเป็นต้องรักษาพระวินัย จึงมีบางท่านกล่าวไว้ว่าพระสงฆ์ญี่ปุ่นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “พระ” จริง เพราะไม่ได้ถือพระวินัยอยู่แต่แรก ไม่รักษาศีลของพระ และยังใช้ชีวิตที่ค่อนไปทางโลกมากด้วย

พระญี่ปุ่นแต่งงานได้

สมัยก่อนพระของญี่ปุ่นฉันอาหารมังสวิรัติและไม่ครองเรือน (แต่งงาน) แต่ต่อมามีการแตกเป็นหลายนิกายหลักและนิกายย่อยอีกมากมาย ซึ่งแต่ละนิกายก็มีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติไม่เหมือนกัน นิกายโจโดชินชูซึ่งก่อตั้งโดยพระชินรันเป็นนิกายแรกที่ละทิ้งพระวินัย และหันมาแต่งงานสืบสกุล นอกจากนี้ในสมัยที่บ้านเมืองไม่สงบก็มีพระนักรบด้วย

ต่อมาในสมัยเมจิ รัฐบาลให้พระสงฆ์ทุกนิกายสามารถมีครอบครัวและฉันเนื้อสัตว์ได้ ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะต้องการลดทอนอำนาจของพุทธศาสนาลง เมื่อไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ พระจึงหันมาปรับตัวเพื่อรักษาตนและวัดให้อยู่รอด พร้อมกับหารายได้มาเลี้ยงชีพ ทำให้พระสงฆ์ญี่ปุ่นหันมาดำรงชีวิตในแนวทางที่คล้ายคลึงกับฆราวาส มีเพียงบางนิกายเท่านั้นที่ยังคงรักษาพระวินัยไว้และถือพรหมจรรย์

งานหาคู่สำหรับพระ ภาพจาก prtimes.jp
ตำแหน่งเจ้าอาวาสยังสืบทอดกันรุ่นสู่รุ่นผ่านการสืบสายเลือดในครอบครัว บางแห่งคัดเลือกคนที่จะมาเป็นสะใภ้อย่างเข้มงวด หากในตระกูลพระนั้นมีแต่ลูกสาวก็อาจให้เขยแต่งเข้าตระกูลแทน นอกจากนี้ยังมีการจัดงานหาคู่สำหรับพระ ซึ่งได้รับความนิยมมากจนบางแห่งมีผู้สมัครเข้าร่วมเกินจำนวนที่รับได้

ด้วยความที่พระญี่ปุ่นแต่งงานได้นี้เอง ทำให้ไม่ถือพระวินัยที่ห้ามแตะเนื้อต้องตัวสตรีไปด้วย ผู้ใหญ่ชาวไทยท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่ารู้สึกไม่สบายใจเมื่อพระญี่ปุ่นยื่นมือมาเชคแฮนด์เพื่อทักทาย ขนาดท่านเป็นผู้ชายยังอึดอัด แต่ผู้หญิงไทยที่ได้รับเชคแฮนด์จากพระคงรู้สึกลำบากใจยิ่งกว่ามาก

พระญี่ปุ่นดื่มสุราได้

คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับธรรมชาติและเทพที่อยู่ในธรรมชาติ ข้าวเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ เหล้าซึ่งได้จากการหมักข้าวจึงถูกมองว่าเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติไปด้วย จึงเป็นเรื่องมงคลที่จะเอาเหล้าสาเกไปถวายวัดเป็นถัง ๆ และพระเองก็ดื่มเหล้าด้วย

ภาพจาก oterasan.tv
พระญี่ปุ่นบางนิกายฉันอาหารมังสวิรัติ แต่เวลาไปประกอบพิธีกรรมตามบ้านโยม เช่น ไปทำพิธีครบรอบวันตายของคนในครอบครัว เจ้าบ้านก็อาจจะจัดเลี้ยงกลางวันให้ด้วย เวลาอย่างนี้พระก็จะฉันเนื้อสัตว์และดื่มเหล้าด้วยตามแต่ที่เจ้าบ้านจะเตรียมไว้ให้ เพราะกลัวจะเสียมารยาทถ้าปฏิเสธ

ผู้ใหญ่คนไทยท่านเดิมเล่าว่าเคยติดตามผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งไปร่วมพิธีฉลองวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง ซึ่งหลังเสร็จพิธีมีการจัดเลี้ยงและดื่มฉลองด้วยเบียร์ ครั้งนั้นผู้ใหญ่ของท่านรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมาก เพราะท่านเคร่งครัดในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ต้องผิดศีลห้า ท่านยังลำบากใจเป็นพิเศษกับการดื่มเหล้าภายในวัด แถมยังต้องดื่มร่วมกับพระอีกด้วย

ที่อาจจะน่าตกใจกว่าเรื่องพระดื่มเหล้า อาจจะเป็นเรื่องที่ทั้งพระทั้งแม่ชีเปิดบาร์เหล้า ภายในร้านตกแต่งด้วยพระพุทธรูปและธูปเทียน นอกจากพระและแม่ชีจะให้บริการเองแล้ว ลูกค้ายังสามารถปรึกษาปัญหาชีวิตกับพระหรือแม่ชีได้ด้วย และบางวัดแม้ภายนอกจะแลดูสงบร่มรื่นจนนึกอยากนั่งลงทำสมาธิ ก็อาจมีบาร์เหล้าที่พระให้บริการอยู่ข้างโบสถ์นี่เอง

ภาพจาก business.nikkei.com
พระของญี่ปุ่นคืออาชีพ

พระญี่ปุ่นในหลายนิกายอาจเรียกได้ว่าเป็น “อาชีพ” อย่างหนึ่ง มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมให้แก่ชาวบ้าน สอนเรื่องทางพุทธศาสนา ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต และดูแลวัด นอกนั้นก็อาจใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป

พระญี่ปุ่นไม่ได้แต่งกายในชุดพระตลอดเวลาเหมือนพระสงฆ์ของเถรวาทที่ครองจีวรชุดเดียวเสมอ แต่พระญี่ปุ่นจะสวมชุดพระเฉพาะเมื่ออยู่ในวัดหรือทำพิธีเท่านั้น นอกนั้นสามารถแต่งชุดลำลองทั่วไปได้ ดังนั้นจึงมีพระที่ผูกไทใส่สูทยามออกงานสังคมกลางคืน หรือบางทีไปทำพิธีที่บ้านโยมก็แต่งตัวด้วยชุดสากลขี่มอเตอร์ไซค์ไป เมื่อถึงบ้านโยมค่อยเปลี่ยนมาสวมชุดพระ แล้วจากนั้นจึงทำพิธี เมื่อเสร็จพิธีจึงเปลี่ยนชุดกลับไปเป็นชุดสากล ขี่มอเตอร์ไซค์กลับวัดไป จึงมีผู้ให้ความเห็นว่าชุดพระญี่ปุ่นนั้นเปรียบเสมือน "เครื่องแบบ" อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

ครั้งหนึ่งฉันเคยไปไหว้สุสานของครอบครัวสามี คุณแม่ไปถึงก็เข้าไปทักทาย "พระ" ที่ดูแลพื้นที่สุสาน แม้ฉันจะทราบอยู่ก่อนว่าพระญี่ปุ่นไม่เหมือนพระไทย แต่ก็รู้สึกแปลกอยู่ดีที่เห็นพระแต่งชุดลำลองเหมือนคนทั่วไป และมีภรรยาด้วย

ภาพจาก yoriso.com
นอกจากพระญี่ปุ่นจะเป็น “พระ” เฉพาะตอนทำพิธีเท่านั้นแล้ว เวลาอื่นยังสามารถประกอบอาชีพอื่นได้ด้วย โดยอาชีพอื่นอาจเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมก็ได้ บางคนก็เป็นจิตแพทย์ อาจารย์ ช่างแต่งหน้า นักธุรกิจ เป็นต้น อีกทั้งเวลาพระญี่ปุ่นประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ก็สามารถรับเงินค่าทำพิธีได้ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่ต่างจากพุทธเถรวาทมาก เพราะพระสงฆ์จะต้องอาบัติหากจับเงิน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: พระภิกษุกับเงิน ความเข้าใจผิดของสังคมและที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย)

เอาพระพุทธรูปมาทำขนมและสินค้า

เรื่องที่รู้สึกแปลกอีกอย่างคือ แม้คนญี่ปุ่นจะไหว้พระพุทธรูป แต่ก็เอาพระพุทธรูปมาทำสินค้าขายด้วย ตอนฉันไปไหว้พระพุทธรูปไดบุทสึ (หลวงพ่อโต)ที่คามาคุระ พอเดินดูสินค้าของฝากแล้ว ก็รู้สึกตกใจมากที่ส่วนใหญ่เป็นรูปร่างหรือลวดลายพระพุทธรูป ถ้าเป็นที่ห้อยพวงกุญแจหรือเครื่องเขียนยังไม่เท่าไหร่ แต่ที่ทำเป็นขนมเห็นแล้วไม่ค่อยสบายใจ มีทั้งขนมเปี๊ยะรูปพระพุทธรูป ขนมอบกรอบรูปพระพุทธรูป อมยิ้มรูปพระพุทธรูป ลูกอมรูปพระพุทธรูป และช็อคโกแลตรูปเศียรพระพุทธรูป เป็นต้น

ภาพจาก rurubu.jp
ฉันเดาว่าชาวพุทธไทยอาจจะไม่กล้ากินหรือคิดซื้อไปฝากใคร ทำนองว่ารู้สึกเป็นเรื่องอัปมงคลถ้าจะกินขนมพระพุทธรูป เพราะเหมือนไม่เคารพพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพบูชาสูงสุด ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่าเคยเจอเบียร์ของเมืองคามาคุระเป็นตราพระพุทธรูปไดบุทสึนี้อีกเช่นกัน น่าจะเป็นอะไรที่ชาวพุทธในที่อื่น ๆ เห็นแล้วคงรู้สึกประหลาดใจมากทีเดียว

ญี่ปุ่นยังมีการ์ตูนที่วาดโดยให้พระพุทธเจ้ากับพระเยซูเป็นตัวละครเอก ทั้งสองหนุ่มมักสวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ แค่ฉากแรกที่ทั้งคู่นั่งลงดื่มเบียร์กันก็ผิดพระวินัยของพระสงฆ์และผิดศีลของฆราวาสแล้ว แม้การ์ตูนเรื่องนี้จะได้รับการตอบรับดีจนถึงกับเอามาทำเป็นละคร แต่สำหรับชาวพุทธและชาวคริสต์ที่มีใจเคารพนับถือในพระศาสดาของตนจะรู้สึกอย่างไรก็ไม่ทราบ สงสัยว่าที่คนญี่ปุ่นดูจะไม่ค่อยถือสากับเรื่องแบบนี้ อาจเป็นเพราะพุทธส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นไม่ได้ถือพระวินัยกันเป็นเรื่องปกติ เลยทำให้ความคิดและมุมมองคนญี่ปุ่นที่มีต่อศาสนาออกไปในทางโลก ๆ ด้วยหรือเปล่า

ละครเรื่อง Saint Young Men ภาพจาก prtimes.jp/
เมื่อพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้แล้ว พุทธนิกายส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นดูราวกับเป็นคนละสิ่งกับพระพุทธศาสนาในไทยและในอีกหลายประเทศเลยนะคะ พุทธญี่ปุ่นถูกหล่อหลอมทั้งโดยการเมืองและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังมีการดัดแปลงอยู่เรื่อย ๆ ตามยุคสมัยเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สามารถปรึกษาปัญหาทางใจกับพระได้ในหลายโอกาสขึ้น ไปจนกระทั่งถึงนำพระพุทธมาเป็นส่วนประกอบในสินค้า แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางนิกายที่เคร่งครัดในพระวินัยและถือพรหมจรรย์ตลอดการบวชด้วยอีกเช่นกัน พุทธของญี่ปุ่นจึงมีความหลากหลายมากอย่างคิดไม่ถึงทีเดียว

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น