xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ 30 ปีแห่งห้วงเวลา “ราคาถูกทุกวัน” ของญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


  “อุไม่โบ” ขนมเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ประกาศจะขึ้นราคาจากแท่งละ 10 เยนเป็น 12 เยนหลังตรึงราคามา 43 ปี ภาพจาก gourmet-note.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ตอนนี้ข้าวของราคาแพงขึ้นทั่วโลกเลยนะคะ จากพิษโควิดก็รอบหนึ่งแล้ว ยังโดนกระหน่ำด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก กระทั่งญี่ปุ่นที่ตรึงราคาสินค้าและบริการมาหลายทศวรรษก็ยังไม่อาจต้านทานคลื่นความเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่เหล่านี้ได้ สัปดาห์นี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ราคาข้าวของในญี่ปุ่นถึงแทบไม่เปลี่ยนเลยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

เวลาฉันกลับไทยทีไรจะรู้สึกว่าข้าวของแพงขึ้นมาก เนื่องจากตอนที่ฉันย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นใหม่ ๆ นั้น อาหารจานเดียวที่ไทยยังอยู่ที่ราคา 25 บาทอยู่เลย พอกลับมาอีกทีก็ขึ้นเป็น 30 บาท แล้วก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนบัดนี้อยู่ที่ราว 50-60 บาทแล้ว รู้สึกว่าแพงเหลือหลาย เวลากลับไทยเห็นราคาอาหารแล้วตกใจทุกที เพราะรู้สึกว่าค่าครองชีพเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดมาก

แต่ตอนอยู่ญี่ปุ่นฉันแทบไม่เคยรู้สึกเลยว่า “ข้าวของแพงขึ้น” ยิ่งในช่วงที่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงเดิมมาหลายปีนั้น ราคาอาหารจะอยู่เท่าเดิมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้าวหน้าเนื้อราคาชามละประมาณ 300 เยน ข้าวกล่องราคาเริ่มต้นประมาณ 300 เยน อุด้ง/โซบะชามละประมาณ 400 เยน น้ำดื่มขวดละประมาณ 100 เยน ขนมปังในร้านสะดวกซื้อประมาณ 100 เยน และอาหารชุดช่วงเที่ยงของวันธรรมดาราคาประมาณ 800-1000 เยนโดยเฉลี่ย

ถ้าจะรู้สึกว่าค่าครองชีพในญี่ปุ่นสูงขึ้น ก็คงเป็นตอนที่พบว่าร้านราเม็งเจ้าโปรดขึ้นราคา 100 เยนแทบทุกเมนู ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเพิ่งขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 8% ราคาราเม็งซึ่งมักคิดภาษีรวมไว้อยู่แล้ว ก็เลยต้องปรับราคาขึ้น แต่ที่จริงก็รู้สึกว่าปรับราคาทีเดียว 10% ก็ออกจะสูงเกินอัตราภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นไปหน่อย เดาว่าเขาอาจถือโอกาสปรับราคาตามค่าต้นทุนที่สูงขึ้นไปด้วยเลยก็เป็นได้

30 ปีที่ญี่ปุ่นหล่อหลอมวัฒนธรรม “ไม่ขึ้นราคา”

ณ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่พิษโควิดทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก ราคาสินค้าผู้บริโภคในญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยเปลี่ยน โดยอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ณ เดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 0.2% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 4.1% และสหรัฐฯ อยู่ที่ 6.2%

ใช่ว่าญี่ปุ่นจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และไมโครชิพที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก แต่การขึ้นราคาสินค้าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากสำหรับธุรกิจในญี่ปุ่น เพราะติดภาพว่าถ้าของขึ้นราคา ผู้บริโภคก็จะไม่ซื้อและหันไปหาสินค้าที่ถูกกว่าทันที ทำให้เกิดสงครามตัดราคากันเพื่อเพิ่มยอดขาย ดังนั้นต่อให้ต้นทุนมีราคาสูงขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงไม่ค่อยยอมขึ้นราคาสินค้าผู้บริโภค แต่ยอมแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและกำไรที่ลดลงไว้เอง

ราคาสินค้าผู้บริโภคของญี่ปุ่นที่แทบไม่เปลี่ยนตลอด 30 ปี ภาพจาก wsj.com
เมื่อก่อนญี่ปุ่นก็เคยมีช่วงที่ของขึ้นราคาเป็นเรื่องปกติ แต่ในช่วงสามทศวรรษมานี้ญี่ปุ่นอยู่ในสภาพเศรษฐกิจซบเซาเป็นส่วนใหญ่ ค่าครองชีพเท่าเดิม ค่าแรงเท่าเดิม จนคนญี่ปุ่นรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ข้าวของจะไม่ขึ้นราคา

เมื่อหกปีก่อนบริษัทผลิตไอติมแท่ง “การิการิคุง” ยี่ห้อเก่าแก่ ซึ่งไม่เคยขึ้นราคาเลยมาตลอด 25 ปี มีความจำเป็นต้องปรับราคาไอติมจากแท่งละ 60 เยนเป็น 70 เยน ถึงกับต้องออกโฆษณาโดยมีประธานบริษัทและพนักงานยืนเข้าแถวเรียงรายหน้ากระดาน มีเพลงประกอบซึ่งมีเนื้อหาว่าไม่ได้คิดอยากขึ้นราคาเลย ถ้าทำได้ก็อยากเลื่อนการขึ้นราคาออกไป แต่ตอนนี้จะไม่ขึ้นราคาก็ไม่ไหวแล้ว เลยขอขึ้นราคา พร้อมกับทุกคนที่ยืนเข้าแถวอยู่โค้งศีรษะกันโดยพร้อมเพรียง

ภาพจาก withnews.jp
ทางบริษัททำใจเอาไว้แล้วว่าขึ้นราคาอย่างนี้ ยอดขายน่าจะลดลงสัก 7% แต่มิคาดโฆษณาชิ้นนี้ได้ใจผู้บริโภคไปเต็ม ๆ เพราะมีแต่คนชื่นชมในความจริงใจ ทำให้ยิ่งอยากอุดหนุนกว่าเดิม บางคนก็ว่าไม่ทราบเลยว่าไม่ได้ขึ้นราคามานานขนาดนี้ และก็มองว่าราคา 70 เยนก็ยังนับว่าถูกมาก ผลสุดท้ายแล้วยอดขายกลับเพิ่มสูงกว่าปีก่อนหน้าไปถึง 11%

แม้จะเป็นกรณีตัวอย่างของการขึ้นราคาที่ไม่โดนผู้บริโภคต่อต้าน แต่ก็บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าการขึ้นราคาสินค้าในญี่ปุ่นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับธุรกิจเพียงใด หากเป็นประเทศอื่นที่เศรษฐกิจดีกว่า ธุรกิจต่าง ๆ อาจผลักราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปอยู่ในราคาสินค้าผู้บริโภคโดยไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่สำหรับญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจซบเซา และอัตราค่าแรงก็เท่าเดิมตลอดศกนั้น การขึ้นราคาก็หมายถึงการเสียลูกค้าไปนั่นเอง

ค่าแรงในญี่ปุ่นคงที่มาตลอด 30 ปี

นักเศรษฐศาสตร์เรียกเศรษฐกิจแบบ “ราคาถูกทุกวัน” เช่นนี้ว่าเป็นเศรษฐกิจ “สไตล์ญี่ปุ่น” โดยมีลักษณะของอัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ เศรษฐกิจเติบโตช้า และค่าแรงไม่เพิ่ม เมื่อธุรกิจญี่ปุ่นไม่ได้ปล่อยให้สินค้าขึ้นราคา ก็จะไม่รู้ว่าสาขาใดมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นและควรลงทุน จึงไม่เกิดการกระจายแรงงานไปอยู่ในสาขาเหล่านั้น ทำให้ค่าแรงในสาขาเหล่านั้นไม่เพิ่มไปด้วย

ในทางกลับกันธุรกิจของสหรัฐฯ จะผลักต้นทุนที่สูงขึ้นไปอยู่ในราคาสินค้าและบริการ และขึ้นค่าแรงไปพร้อมกัน ทำให้คนมีกำลังซื้อของที่แพงขึ้น แต่ในญี่ปุ่นต่อให้ขาดคนงานก็ไม่ได้เพิ่มค่าแรงเพื่อสร้างแรงจูงใจ และบางแห่งคนงานยังต้องทำงานมากขึ้นโดยที่ไม่ได้รับค่าแรงเพิ่มด้วย

ญี่ปุ่นเคยมีช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูในทศวรรษที่ 60 เวลานั้นรัฐบาลประกาศแผนขึ้นค่าแรงเท่าหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีกำลังจับจ่ายสูง ซึ่งผู้สูงอายุหลายท่านเล่าว่า “ตอนนั้นมันมีความหวังนะ คือต่อให้ของแพงขึ้น แต่ค่าแรงก็สูงขึ้นด้วย ทำให้มีเงินเก็บ” “ถ้าขยันทำงานนะ เงินเดือนขึ้นทุกปี เลยรู้สึกว่าปีหน้าก็จะดีกว่าเดิม เพราะงั้นปีหน้าก็จะขยันทำงานอีก มีความหวังว่าปีหน้าจะได้ซื้อของที่อยากซื้อ” “มีรายรับที่มั่นคงเลยไม่มีความกังวลต่ออนาคต”

ภาพจาก j-cast.com
ปัจจุบันนอกจากค่าแรงในญี่ปุ่นแทบไม่เพิ่มเพราะธุรกิจมีผลกำไรลดลงแล้ว นักเศรษฐศาสตร์บางท่านยังเสริมว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุก็มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นขึ้นค่าแรงยากเช่นกัน เพราะที่ทำงานหลายแห่งมีแต่ผู้สูงวัยกว่าซึ่งฐานเงินเดือนสูง บริษัทจึงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหนักหากขึ้นค่าแรง

ตราบใดที่ค่าแรงในญี่ปุ่นยังเท่าเดิมอยู่ แต่สินค้าแพงขึ้น คนก็จะไม่ซื้อ ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องขึ้นค่าแรงจริงจังควบคู่ไปกับการขึ้นราคาสินค้า เพราะเมื่อมีรายได้มากขึ้น คนก็จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ญี่ปุ่นถึงจะหลุดจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ แต่กระนั้นแม้ว่านายกรัฐมนตรีคิชิดะจะพยายามผลักดันให้มีการขึ้นค่าแรง เขาก็เอ่ยปากว่าตราบใดที่ซัพพลายของสินค้าและบริการทั้งระบบยังไม่ยอมปรับราคาสินค้าให้เหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็น การขึ้นค่าแรงก็จะยากตามไปด้วย

โควิดและสงครามกับการขึ้นราคาสินค้าในญี่ปุ่น


อย่างไรก็ตาม เวลานี้ธุรกิจญี่ปุ่นก็ไม่อาจแบกรับภาระพิษเศรษฐกิจโลกอันเกิดจากโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้อีกต่อไป ทั้งภาวะเงินเฟ้อในต่างประเทศ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บวกกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ต่างก็ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น และในที่สุดธุรกิจต่าง ๆ ในญี่ปุ่นก็จำต้องทยอยขึ้นราคาสินค้าและบริการมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทว่ายังไม่กล้าปรับเพิ่มรุนแรง อย่างเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาราคาสินค้าเพิ่มขึ้นราว 4.1% ทั้งที่ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งของปีก่อนหน้า ในขณะที่ผู้ผลิตบางรายก็ลดขนาดสินค้าแทนการขึ้นราคาเพราะเกรงจะเสียลูกค้า

สินค้าที่บริโภคในครัวเรือนได้รับผลกระทบ ได้แก่ เนื้อวัว กาแฟ ซอสถั่วเหลือง และแป้งสาลีซึ่งส่งผลไปถึงราคาขนมปัง เค้ก ราเม็ง อุด้ง โอโคโนมิยากิ ทาโกะยากิที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การประกาศเขตห้ามบินผ่านน่านฟ้าระหว่างรัสเซียกับยุโรป ก็ทำให้ปลาแซลมอนที่ขนส่งจากนอร์เวย์มายังญี่ปุ่นลดปริมาณลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง และไข่ปลาคอดหรือ “เมนไตโกะ” ซึ่งนำเข้าจากรัสเซียก็ขาดตลาดไปด้วย

คงได้แต่ต้องรอดูกันต่อไปว่าญี่ปุ่นจะรับมืออย่างไร และจะเปลี่ยนไปอย่างไรต่อจากนี้.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น