ผลงานของ “ไชคอฟสกี” คีตกรเอกชาวรัสเซียกลายเป็นเพลงต้องห้ามในญี่ปุ่น เพื่อแสดงการประท้วงที่รัสเซียรุกรานยูเครน
วงออร์เคสตราหลายวงของญี่ปุ่นงดบรรเลงเพลง "1812 Overture" ผลงานของ “ไชคอฟสกี” คีตกรเอกชาวรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่า เพลงนี้ประพันธ์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของกองทัพรัสเซีย ที่ปกป้องประเทศจากการรุกรานของฝรั่งเศสเมื่อปี 2355
เพลงดังกล่าวเรียบเรียงขึ้นจากบทสวดและเพลงพื้นเมืองของรัสเซีย ผสมผสานกับท่วงทำนองของเพลงชาติฝรั่งเศส “La Marseillaise” และ เพลงชาติของจักรวรรดิรัสเซีย เพื่อแสดงถึงชัยชนะของรัสเซียต่อกองกำลังนโปเลียนแห่งฝรั่งเศส มีการใช้เครื่องเคาะเพื่อแทนเสียงปืนใหญ่ และเสียงทรัมป์เปตแทนเสียงระฆังแห่งชัยชนะในช่วงท้ายเพลง การแสดงในบางครั้งมีการยิงปืนใหญ่จริงๆ เพื่อประกอบการบรรเลง
วงอากาชิ ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา ในจังหวัดเฮียวโงะ เดิมจะมีแผนบรรเลงเพลงนี้ในการแสดงวันที่ 21 มี.ค. แต่ได้ถอดเพลงดังกล่าวออกโดยระบุว่า “เราคิดว่าไม่เหมาะสมที่จะบรรเลงเพลงที่เฉลิมฉลองชัยชนะของรัสเซียต่อชาติอื่น”
ส่วนวงดนตรีโรงเรียนมัธยมฮะกุโอ กรุงโตเกียว ก็ตัดสินใจงดบรรเลงเพลงดังกล่าวในคอนเสิร์ตวันที่ 4 เม.ย. เพราะเกรงจะถูกเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในยูเครน ครูใหญ่ของทางโรงเรียนบอกว่า บรรดานักเรียนสมาชิกของวงได้หารือกันและตัดสินใจเช่นนั้น
วงชูบุ ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา ในจังหวัดไอจิ ก็ยกเลิกการบรรเลงเพลงนี้ในการแสดงวันที่ 26 มี.ค. โดยจะบรรเลงเพลง “Finlandia” ผลงานของ สิเบลุส คีตกรชาวฟินแลนด์ ที่ประพันธ์ขึ้นในปี 2442 เพื่อยกย่องประชาชนที่ต่อต้านการปกครองอันกดขี่ของจักรวรรดิ์รัสเซีย เพลงนี้ถูกขับข้องโดยบรรดาผู้ประท้วงต้านสงครามที่ด้านหน้าสถานทูตรัสเซียในกรุงเฮลซิงกิ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. เพื่อแสดงถึงการยืนหยัดร่วมกับชาวยูเครน
วงชูบุ ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา ระบุว่า “เราเลือกเพลงเพื่อสนับสนุนชาวยูเครน แต่ไม่ได้ต่อต้านผลงานของไชคอฟกี้ โดยในการแสดงได้มีเพลง “The Nutcracker” ซึ่งเป็นผลงานของคีตกรเอกชาวรัสเซียผู้นี้ด้วย
ผู้คนในวงการดนตรีของญี่ปุ่นระบุว่า การถอดเพลงที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของกองทัพรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงสัญลักษณ์ต่อการรุกรานยูเครน แต่ก็มีผู้ที่แย้งว่าศิลปะไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมทั้งบอกว่า ช่วงที่ “ไชคอฟสกี” ประพันธ์เพลงขึ้นนั้นยังไม่มีประเทศยูเครนด้วยซ้ำ.