xs
xsm
sm
md
lg

“ฮนเหนะ-ทาเตมาเอะ” หน้าสองแบบของคนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก nexs.co.id
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันเชื่อว่าหลายคนที่ได้พบเจอคนญี่ปุ่นแรก ๆ คงคิดคล้ายกันว่าคนญี่ปุ่นช่างสุภาพ แสนดี และเป็นมิตร ครั้นพอได้มาพบภายหลังว่าบางอย่างเขาไม่ได้ทำเช่นนั้นจากความรู้สึกที่แท้จริง ก็อาจจะรู้สึกตกใจ เสียใจ และผิดหวังได้ แท้จริงแล้วคนญี่ปุ่นไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงหรือทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่ายแต่อย่างใด เพียงแต่มันเป็นมารยาทสังคมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

วัฒนธรรมแบบ “ฮนเหนะ-ทาเตมาเอะ”

น้องคนไทยคนหนึ่งเคยรู้สึกช็อคมากที่เพื่อนญี่ปุ่นบอกว่า “ไว้เร็ว ๆ นี้นัดเจอกันนะ”  แต่ผ่านไปสิบปีก็ยังไม่เคยได้นัดเจอ ซึ่งถ้าเป็นคนไทยหากไม่ว่างก็จะบอกตรง ๆ ว่าไม่ว่าง จะไม่พูดแนวให้ความหวังทำนอง “ขอคิดดูก่อนนะ” แล้วก็หายจ้อยแบบนี้ เธอนึกว่าที่เพื่อนบอกว่าไว้นัดเจอกันคือหมายความอย่างนั้นจริง ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนไม่เคยนัดจริงเสียที เธอบอกว่าตอนนั้นเธอทำตัวไม่ถูกเลย จนกระทั่งภายหลังเข้าใจเรื่องของ “ฮน-เหนะ” (本音) และ “ทาเตมาเอะ” (建前) ขึ้นมา

ในชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่นจะแยกแยะการแสดงออกเป็นสองลักษณะที่ตรงข้ามกัน อย่างแรกเป็นความรู้สึกที่แท้จริง เรียกว่า “ฮน-เหนะ” ส่วนอีกแบบคือการเก็บงำอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงไว้ แล้วปฏิบัติตัวไปตามกฎและมารยาทสังคม เรียกว่า “ทาเตมาเอะ” สำหรับสำนวนไทยที่ว่า “ใส่หน้ากากเข้าหากัน” ก็อาจจะสื่อความหมายของทาเตมาเอะได้ส่วนหนึ่ง เพียงแต่ทาเตมาเอะไม่ได้มีความหมายในแง่ลบสำหรับคนญี่ปุ่น

ฉันมีตัวตนในสังคมกับตัวตนจริงคนละแบบ” ภาพจาก blog.gaijinpot.com
วัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบฮนเหนะ-ทาเตมาเอะ อาจสร้างความไม่เข้าใจให้คนต่างชาติได้มากพอควร และพลอยทำให้มองว่าคนญี่ปุ่นไม่จริงใจ มีสองหน้า หรือพูดอย่างใจอย่าง ทำไมเวลาหนึ่งแสดงท่าทีอย่างหนึ่ง แต่ในอีกเวลาหนึ่งกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วโดยทั่วไปก็จะรู้กันว่าอย่างไหนคือทาเตมาเอะ โดยมองว่ามันเป็นหน้าตาและมารยาทสังคมที่ต้องมีเพื่อให้อยู่กันได้อย่างสันติ

อันที่จริง ฮนเหนะ-ทาเตมาเอะ ก็มีในวัฒนธรรมประเทศอื่น ๆ ด้วยมากน้อยต่างกัน เช่น เวลาสัมภาษณ์งานเราก็คงแสดงออกเฉพาะด้านดีและรักษามารยาทเต็มที่ ในขณะที่ยามปกติอาจจะเป็นอีกแบบ แต่ที่ญี่ปุ่นอาจจะมีความเข้มข้นของวัฒนธรรมทาเตมาเอะมากเป็นพิเศษ และคนต่างชาติมักนึกไม่ถึงว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้หมายความจริงตามที่พูดหรือแสดงออก

ทาเตมาเอะในสังคมทำงาน

เวลาติดต่องานกับบริษัทคู่ค้าในญี่ปุ่น เราอาจพบว่าอีกฝ่ายอาจคุยด้วยรื่นหู ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ความร่วมมือดีเต็มที่ และเข้าใจว่านั่นคือ “มิตรภาพ” ที่เขามีให้จากใจ ต่อเมื่อเราย้ายไปอยู่บริษัทอื่น ไม่ได้เกี่ยวข้องด้านการงานกันแล้ว หากติดต่อไปหาเป็นการส่วนตัวก็อาจจะไม่ได้รับการติดต่อกลับเลย ที่เป็นอย่างนั้นเพราะการปฏิบัติตัวของเขาที่ผ่านมาเป็นเพียงทาเตมาเอะที่ทำไปตามมารยาทสังคมเท่านั้นเอง

อีกอย่างคือคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับกลุ่มมากกว่าปัจเจกบุคคล อย่างตอนทำงานด้วยกันเขามองเราในฐานะตัวแทนของบริษัทคู่ค้า(สังกัดกลุ่ม) แต่ไม่ได้มองตัวเราในฐานะบุคคลคนหนึ่ง พอเราไม่ได้ทำงานที่เดิมอีก ภาพของเราในฐานะบริษัทคู่ค้าก็สิ้นสุดลงด้วย เขาจึงรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องติดต่อเรา เพราะไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวอยู่แล้วแต่แรก

สองคนหน้าคือ “ทาเตมาเอะ” สองคนหลังคือ “ฮน-เหนะ” ภาพจาก japonesenlanube.com
ถ้าไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมดังกล่าวอยู่ก่อน หากเจอเข้าแบบนี้และได้รู้ว่าที่ผ่านมาอีกฝ่ายทำไปเพราะมารยาทสังคมเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำจากใจจริง ก็อาจจะรู้สึกเจ็บปวดและผิดหวังได้

ลักษณะแบบนี้ค่อนข้างจะต่างจากสังคมไทยอยู่มาก จากที่เคยเห็นในไทย แม้คนต่างบริษัทจะวางตัวให้สุภาพเหมาะสมเมื่อติดต่องานกับบริษัทอื่น แต่ก็ไม่ถึงกับมี ฮนเหนะ-ทาเตมาเอะ ที่แบ่งขาดจากกันชัดเจนเท่าญี่ปุ่น ทำให้ต่างฝ่ายต่างมองเห็นตัวจริงกันได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งคนไทยยังมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่ติดต่อ(ปัจเจก)ด้วย ไม่ได้มองว่าเป็นตัวแทนของบริษัท(สังกัดกลุ่ม)อย่างเดียว ดังนั้นหากคุ้นเคยและชอบพอนิสัยกันก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้จริง และต่อให้ไม่ได้ติดต่อกันเรื่องงานแล้ว ก็ยังสามารถผูกมิตรคบหากันต่อไปได้ด้วย

ไม่ออกความเห็นต่างเพื่อรักษาความสัมพันธ์

คนญี่ปุ่นไม่ค่อยแสดงความเห็นตรง ๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับกลุ่มคนที่ไม่สนิทชิดเชื้อ เช่น ในที่ทำงาน ต่อให้มีไอเดียบรรเจิดที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือมองเห็นปัญหาที่อาจแก้ไขได้ ก็ไม่ค่อยจะกล้าพูดออกมา จะเออออห่อหมกตามกัน ไม่ทัดทานหรือเสนอความเห็นต่าง ภายนอกอาจดูแล้วเหมือนเพื่อให้เกียรติคนอื่นและไม่สร้างบรรยากาศขัดแย้ง แต่เอาเข้าจริงอาจเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง แล้วก็มีบางคนที่ไปเกาะกลุ่มพูดกันลับหลังอีกอย่าง

บางครั้งคนเป็นเจ้านายก็อยากเค้นความจริงจากปากลูกน้องว่าแท้จริงแล้วคิดอย่างไรบ้าง แต่ใครเลยจะกล้าพูด เพราะขืนไม่รู้จักการวางตัวแบบฮนเหนะ-ทาเตมาเอะ โดยเฉพาะในสถานที่คาบเกี่ยวกับความเป็นความตายอย่างในที่ทำงานของญี่ปุ่นแล้ว มีแต่จะอยู่ไม่รอดเท่านั้นเอง

ภาพจาก news.1242.com
มีคนต่างชาติให้ความเห็นว่าบางทีการไม่พูดตรง ๆ ของคนญี่ปุ่นก็สร้างปัญหาใหญ่โต ซึ่งที่จริงอาจหลีกเลี่ยงได้ด้วยการที่แต่ละคนตรงไปตรงมากว่านี้ เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกไปถึงชมรมเทนนิสคนญี่ปุ่นที่เคยอยู่ ตอนนั้นมีแต่คนบ่นว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางของหัวหน้าชมรม พอเสนอว่าพวกเราไปคุยกับหัวหน้าชมรมด้วยกันหมดดีไหม ก็ไม่มีใครเอาด้วย สุดท้ายพอคนไหนหมดความอดทนก็พากันออกจากชมรมไปเอง

อย่างไหน “ฮนเหนะ” อย่างไหน “ทาเตมาเอะ”

มีเหมือนกันที่บางทีคนญี่ปุ่นเองก็แยกไม่ออกว่าสิ่งที่อีกฝ่ายแสดงคือ ฮนเหนะ หรือ ทาเตมาเอะ กันแน่ เพราะบางคนอาจสุภาพหรือดีไปตามบทบาทที่แสดงในสังคม แต่บางคนก็สุภาพจริงและดีจากใจจริงเช่นกัน

คนญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่าสมัยเด็กพวกเพื่อน ๆ จะมาเล่นกันที่บ้านเธอเสมอ แม่เพื่อนคนหนึ่งพูดว่า “คราวหน้ามาเล่นกันที่บ้านฉันบ้างนะ” แต่พอจะนัดไปบ้านนั้นกันจริง เจ้าบ้านก็ “เผอิญติดธุระ” ขึ้นมาเสียอย่างนั้นจนไม่เคยได้ไปบ้านนั้นเลย แม่ของเธออธิบายว่าการที่แม่เพื่อนชวนนั้นเป็นเพียงทาเตมาเอะ คือพูดตามมารยาทไปอย่างนั้นเอง

หรือเวลาลูกชายลูกสะใภ้จะไปเยี่ยมบ้านเกิด แม่สามีอาจบอกว่า “ไม่ต้องเอาอะไรมาฝากนะ”  แต่คนเป็นสะใภ้ก็จะไม่สบายใจว่า ถ้าไม่เอาอะไรไปฝากตามที่แม่สามีบอกก็อาจโดนมองในแง่ลบ อย่างน้อยมีของไปฝากก็ยังดูดีกว่าไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปเลย

ภาพจาก select.mamastar.jp
มีสามีญี่ปุ่นคนหนึ่งกังวลว่าสิ่งที่ภรรยาพูดกับเขาเป็นเพียงทาเตมาเอะ แต่ใจจริงคิดอีกอย่างหรือไม่ เขาเล่าว่าภรรยามีเงื่อนไข 3 ข้อในการอยู่ร่วมกัน ได้แก่ “1. ให้คุณรักษาสุขภาพให้ดี 2. อยากทำอะไรก็ทำ 3. ให้ความสำคัญกับฉัน” เขาคิดว่าใจจริงภรรยาอาจจะหมายถึง “1. หาเงินไว้เยอะ ๆ ต่อให้คุณป่วยไป ครอบครัวเราจะได้ไม่ลำบาก 2. อยากทำอะไรไม่ว่า แต่ครอบครัวต้องมาอันดับหนึ่ง 3. นอกใจฉันเมื่อไหร่ตายแน่” หรือเปล่าก็ไม่รู้ อันนี้ฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ ตัวใครตัวมัน 😅

ยากจะสร้างความสัมพันธ์ที่จริงใจและไว้ใจได้

แม้ทาเตมาเอะจะมีไว้เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีของคนในสังคม แต่สิ่งที่ขัดแย้งกันเองคือมันก็มีส่วนทำให้คนญี่ปุ่นบางคนไม่อาจสร้างมิตรภาพที่จริงใจต่อกันได้ เพราะต่างคนต่างซ่อนตัวตนที่แท้จริงไว้ และสร้างภาพแบบที่คนอื่นยอมรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่ความสัมพันธ์แบบตื้นเขินเช่นนี้ก็เป็นได้เพียงคนรู้จักเท่านั้น ไม่อาจลงลึกไปเป็นความสัมพันธ์แบบที่เชื่อถือไว้ใจกันได้จริง

คนญี่ปุ่นจำนวนมากจึงรู้สึกว้าเหว่ท่ามกลางความสัมพันธ์เช่นนี้ เพราะนอกจากจะต้องฝืนทนเป็นคนอื่นแล้ว ก็ไม่มีโอกาสได้รับการยอมรับตัวตนจากคนอื่นได้จริง ในทางเดียวกันหากเพื่อนฝูงที่คบหาด้วยมีความจริงใจ เขาก็อาจจะเจ็บปวดจากการที่อีกฝ่ายไม่ยอมเปิดเผยตัวจริงออกมา เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองไม่น่าไว้ใจพอที่อีกฝ่ายจะแสดงตัวจริงออกมาได้

เรื่อง ฮนเหนะ-ทาเตมาเอะ แบบญี่ปุ่นอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าใจยากในหมู่คนต่างชาติ และถูกมองไปในแง่ลบได้ง่าย ซึ่งกว่าจะชินกับวัฒนธรรมนี้ก็ต้องอาศัยเวลา อย่างไรก็ตาม ถ้าเราแยกแยะสถานภาพของเรากับอีกฝ่ายได้ถูกต้อง เลือกวิธีพูดและปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เน้นสุภาพ และเลี่ยงความขัดแย้งเป็นหลัก นาน ๆ เข้าก็น่าจะช่วยให้อยู่ร่วมกับคนญี่ปุ่นได้ดีขึ้นกว่าเดิม

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น