xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดแบบญี่ปุ่น ไม่ถอนวัชพืชเพื่อช่วยสร้างศัตรูตามธรรมชาติของศัตรูพืช!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ช่วงนี้ยังคงเกาะติดสถานการณ์ข่าวมากมาย เพื่อนๆ สบายดีนะครับ ตอนนี้ผมมาทำงานเกษตรกรรมที่จังหวัดสุโขทัย เหนื่อยครับแต่ก็สนุกดี ผมก็เพิ่งรู้จักสุภาษิตไทยที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ที่มาจากข้อความในศิลาจารึกที่ว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส" ที่ว่ากันว่าเมืองไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากมาย


แม้จะพูดได้ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่เราก็ยังต้องงดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ไปด้วย อย่างเช่นเรื่องการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกผัก ถ้าเราปลูกโดยไม่บำรุงดินสารอาหารในดินก็จะค่อยๆ หมดไป ผักของเราก็ไม่สมบูรณ์นัก ผมคิดว่าการเกษตรที่ทำเพื่อให้เราได้ผลผลิตดีและเป็นเกษตรกรรมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทและเรียนรู้อีกหลายๆ เรื่องมากเลยครับ คิดว่าก็คงจะเหน็ดเหนื่อยอยู่ไม่น้อยเลย

ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเพาะปลูกและการเกษตรกรรมของญี่ปุ่นแล้ว ก็เห็นว่ามียุคที่เริ่มมีการนำปุ๋ยเข้ามาใช้ซึ่งทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตมากขึ้น และเริ่มใช้แนวทางต่างๆ มาปรับใช้เทียบแบบตารางเมทริกซ์เพื่อแสดงข้อมูลไว้ตรวจสอบกันเลย เช่น
・ คุณใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืชหรือไม่?
・ คุณใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลไก่และมูลวัวหรือไม่?
・ คุณใช้ปุ๋ยหมักหรือไม่?
・ คุณใช้รถไถพรวนดินเพื่อช่วยให้ดินร่วนซุย ถ่ายเทอากาศดี ให้รากพืชดูดใช้ธาตุอาหารและน้ำในดินได้ดีหรือไม่?
มีเกษตรกรญี่ปุ่นบางกลุ่มเห็นว่าควรใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดจึงจะเป็นสิ่งที่ดีต่อการปลูกพืช แต่บางกลุ่มอ้างว่าบางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด จึงทำให้คนที่มีมุมมองแนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติและคนที่มีความคิดว่าการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อที่จะทำให้พืชผลเจริญเติบโตนั้นมีความเห็นขัดแย้งกันขึ้น ด้วยความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนี้ก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายไหนผิด และตัดสินไม่ได้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร แต่การใช้แนวคิดแบบธรรมชาตินั้นย่อมเป็นผลดีทั้งกับตัวเราเองและสิ่งแวดล้อมแน่นอน


ในวันนี้ผมจึงนำแนวคิดแบบญี่ปุ่น ตัวอย่างการใช้วัชพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Common Vetch มาใช้บำรุงดินง่ายๆ ครับ

カラスノエンドウ Common Vetch หรือที่รู้จักในชื่อสามัญ vec, garden vetch, tare หรือ vetch เป็นพืชตระกูลถั่วที่ตรึงไนโตรเจนในตระกูล Fabaceae แม้จะถือว่าเป็นวัชพืชและพบว่าเติบโตในทุ่งนาพื้นที่เพาะปลูก และริมถนนในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ หลายคนคิดว่าถ้าวัชพืชนี้เติบโตขยายวงกว้างในสวนทำไมไม่ถอนรากแล้วทิ้งมันเสีย?! แต่ถ้าหากรู้จักบทบาทของวัชพืชตัวนี้ในโลกแห่งธรรมชาติ จะรู้ว่าเป็นมันวัชพืชที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงดินอย่างมากครับ


◇ カラスノエンドウ Common Vetch เป็นวัชพืชชนิดใด?

เป็นวัชพืชสกุลถ้่ว Vetches ในตระกูล Leguminosae ซึ่งสามารถเติบโตได้สูงถึง 60-90 ซม. ชื่อภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานคือ Vetch มักพบเห็นได้ทางตอนใต้ของเกาะฮอนชู และมักพบเห็นได้ตามทุ่งนา ริมถนน และพื้นที่ว่างเปล่า โดยทั่วไป มันจะแตกหน่อในฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาวในสภาพต้นเล็กๆ แล้วเติบโตใหญ่ในฤดูใบไม้ผลิ ออกดอกสีม่วงแดงสวยงามมาก จะมีฝักเล็กๆ และเมื่อฝักแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ที่จริงเป็นวัชพืชที่ค่อนข้างอ่อนแอและมีรากอ่อน จึงเป็นวัชพืชที่กำจัดง่าย วัชพืชนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเหมือนว่าจะได้รับการเพาะปลูกไว้เพื่อเป็นอาหารด้วย เมื่อฝักยังอ่อนสามารถรับประทานฝักได้ด้วย มันเป็นวัชพืชที่มี "บทบาท" ในการช่วยทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ คือ


●บทบาทในการจัดหาไนโตรเจนให้กับดินและเสริมสร้างระบบนิเวศของแมลง
จุลินทรีย์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า "ไรโซเบีย" มีอยู่ในรากของพืชตระกูลถั่ว โดยปกติพืชทั่วไปสามารถใช้ไนโตรเจนในดินเท่านั้น แต่ในกรณีของพืชตระกูลถั่วมีไรโซเบียที่สามารถรับและจ่ายไนโตรเจนในอากาศได้ด้วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมกัน

ไนโตรเจนเป็นสารอาหารที่สำคัญมากสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมทั้งมนุษย์อย่างเรา แต่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ไนโตรเจนได้โดยตรง เนื่องจากไนโตรเจนในอากาศมีความเสถียรมาก ดังนั้นสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ได้รับไนโตรเจนจากการกินสิ่งมีชีวิตอื่นและนำไนโตรเจนที่มีอยู่ในซากของสิ่งมีชีวิตกลับมาใช้ใหม่ เมื่อพิจารณาถึงสิ่งนี้ จะเห็นได้ว่ากระบวนการของจุลินทรีย์เช่นไรโซเบียที่นำไนโตรเจนเข้าสู่ดินจากอากาศนั้น มีบทบาทสำคัญมากในแง่วัฏจักรไนโตรเจน

พืชตระกูลถั่วจำนวนมากเติบโตค่อนข้างง่าย วัชพืชตระกูลถั่วชนิดนี้แม้จะเหี่ยวเฉาและตายลงที่หน้าดิน ก็ทำให้ปริมาณไนโตรเจนในดินเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และมีไนโตรเจนมากขึ้นและช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ไปในตัว


●ทำหน้าที่ปกป้องดิน
เช่นเดียวกับวัชพืชเกือบทุกชนิด ที่ทั่วไปจะเติบโตบนบก ซึ่งช่วยปกป้องดิน ดินจะบางลงและบางลงเนื่องจากสภาพอากาศถ้าไม่มีพืชคลุมดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูใบไม้ผลิ(กรณีภูมิอากาศของญี่ปุ่น) อากาศหนาวเย็นรุนแรง และคิดว่าเถาวัชพืชทั่วไปจะปกคลุมพื้นผิวดินเพื่อป้องกันไม่ให้ดินเย็นจัด ลดอุณหภูมิของดิน.. หญ้าฤดูหนาวทั่วไปช่วยปกป้องพื้นผิวดิน รักษาสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายสำหรับจุลินทรีย์และพืชอื่นๆ ในดิน

ซึ่งแนวคิดในการใช้วัชพืชเพื่อบำรุงดินนั้น หลายคนคิดว่าวัชพืชมีภาพลักษณ์ขัดขวางการเจริญเติบโตของผัก แน่นอนว่าวัชพืชเติบโตเร็วกว่าและอุดมสมบูรณ์กว่าผัก แต่หากเข้าใจบทบาทของวัชพืชแต่ละชนิดและจุดประสงค์ในการ "เสริมสร้างระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์" ตามธรรมชาติก็จะสามารถใช้วัชพืชต่างๆ เพื่อการพัฒนาได้


สรุปคือวัชพืชตระกูลถั่วชนิดนี้ช่วยทำให้ไนโตรเจนซึ่งเป็นสารอาหารสำหรับพืชผักเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มศัตรูธรรมชาติเพื่อต่อสู้กับศัตรูของพืชผัก เพราะเมื่อวัชพืชทั่วไปเติบโตในระดับปานกลางแมลงศัตรูพืชเช่น เพลี้ย จะเกิดขึ้นแน่นอน แต่จำนวนแมลงที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ยก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากเราทำสวนผัก การใช้มาตรการพื้นฐานโดยการเพิ่มจำนวนศัตรูตามธรรมชาติจะช่วยให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเป็นพืชที่ให้ความชุ่มชื้นและกักเก็บความร้อนทำให้ดินปลูกผักได้ง่าย

แนวคิดการใช้วัชพืชตะกูลถั่วนี้ในสวนผัก

1: ปล่อยทิ้งไว้แบบนั้นหากไม่รบกวนการเจริญเติบโตของผัก
2: ตัดและปล่อยให้รากอยู่ในดินแบบนั้นโดยไม่ต้องดึงรากออก
3: ปล่อยทิ้งไว้แบบนั้นแม้ในฤดูหนาว


โลกธรรมชาติมีจุดประสงค์เพื่อ "ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์" และเรามีวัตถุประสงค์คือ "การเก็บเกี่ยวผัก" โดยมักจะเพิกเฉยต่อจุดประสงค์ตามธรรมชาติของ "การทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์" และพยายามที่จะบรรลุเพียงจุดประสงค์ของเราในการ "เก็บเกี่ยวผัก" ธรรมชาติจึงคัดค้านและนำไปสู่การระบาดของแมลงศัตรูพืชและโรคต่างๆ ตามมา ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเคารพจุดประสงค์ของโลกธรรมชาติ เราจะสร้างทุ่งนาเพื่อให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ที่สุด เช่น ปล่อยให้มีวัชพืชในปริมาณที่เหมาะสม ปลูกผักหลายชนิด และสร้างดินที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ แม้ว่าจะมีแมลงและเชื้อโรคที่เป็นอันตราย แต่จำนวนแมลงและเชื้อโรคที่เป็นประโยชน์ก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำนวนศัตรูพืชและโรคเฉพาะจะลดลง นอกจากนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก วันนี้เล่าแนวคิดการเกษตรแบบหนึ่งของเกษตรกรญี่ปุ่นให้ฟังครับ สวัสดีครับ

*ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ ตอนนี้ผมกับภรรยาทำฟาร์มเล็กๆ ของตัวเอง มีผัก ผลไม้ออร์แกนิคปลอดสารพิษ ถ้าใครสนใจสามารถติดตามได้ทางเพจของเรา ชื่อว่า เพจสวนตุ๊กตุ๊ก Tuk Tuk Fruit Farm (о´∀`о) よろしくおねがいします!ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น