xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนไทยตั้งโถปัสสาวะสูงมาก! คนญี่ปุ่นเผยสูตรหาความสูงที่เหมาะสมของโต๊ะเก้าอี้เพื่อแก้อาการปวดกล้ามเนื้อ !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ช่วงนี้หลายคนยังรู้สึกกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังต้องคอยเฝ้าระวังกันต่อไป และสถานการณ์ข่าวต่างๆ หลากหลาย ทั้งเรื่องสงครามหรือเรื่องเศรษฐกิจ ที่ญี่ปุ่นเองก็มีข่าวที่พูดถึงกันหลายเรื่องในช่วงนี้ หรือเรื่องดราม่าแห่งวงการเกม เมื่อมีเกมเมอร์สาวที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งพูดระหว่างที่เธอกำลังไลฟ์สตรีมท่อนหนึ่งว่า ” ..ผู้ชายที่สูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร บอกตรงๆ ว่าไม่มีสิทธิ์ในเรื่องมนุษยชนหรอก” ซึ่งคำพูดนี้ก่อให้เกิดดราม่าอย่างรวดเร็ว และเธอก็ถูกถอดสปอนเซอร์ออกทันที แต่ก็มีพีอาร์สปอนเซอร์ออกมาให้ข่าวว่าอยากให้ทุกคนใจเย็นๆ เพราะบางทีเรื่องของตัวเลขความสูงต่างๆ ก็เป็นแค่ตัวเลขเท่านั้น!?


พูดถึงเรื่องตัวเลขและความสูงแล้ว พบว่าความสูงเฉลี่ยของผู้ชายญี่ปุ่นคือ 170 เซนติเมตร คนที่สูงกว่า 170 เซนติเมตร หรือบางคนสูงถึง 180 เซนติเมตร ก็ถือว่าสูงมาก แต่ถ้าไปเทียบกับผู้ชายเนเธอร์แลนด์ที่มีความสูงเฉลี่ยที่ 190 เซนติเมตรแล้วคนญี่ปุ่นที่สูง 180 เซนติเมตรก็คือเตี้ยไปเลย

ผมเคยไปเที่ยวประเทศเนเธอร์แลนด์เหมือนกันครับ ผู้ชายที่นั่นสูงมากจริงๆ ตอนที่ผมจะใช้ห้องน้ำสาธารณะผมยังรู้สึกกังวลว่าคนประเทศเขาสูงๆ กันทั้งนั้น ผมจะมีปัญหาเรื่องการใช้โถปัสสาวะหรือเปล่า! ตอนแรกกลัวจะไม่ถึงแต่ประเทศเขาออกแบบโถปัสสาวะชายให้เป็นความสูงแบบสากล (Universal) จึงใช้การได้ไม่มีปัญหาอะไร กลับกันวันก่อนผมไปธุระที่ศูนย์ราชการแห่งหนึ่งในประเทศไทย เมื่อผมไปห้องน้ำก็พบว่าโถปัสสาวะตั้งอยู่สูงมาก ผมมีความลำบากในการใช้งานนิดหน่อย ( ´・ω・`)” ทั้งๆ ที่ ผมก็คิดว่าจริงๆ แล้วความสูงเฉลี่ยของผู้ชายญี่ปุ่นและผู้ชายไทยน่าจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ว่าโถปัสสาวะที่นี่สูงมากจริงๆ ทำให้ผมมองในประเด็นที่ว่าที่ส่วนใหญ่เมืองไทยจะทำแบบไซส์ฝรั่งชาติตะวันตกหรือเปล่า ซึ่งบางทีไม่ค่อยรับกับสรีระและความสูงที่แท้จริงของคนท้องถิ่นนัก


เช่น สังเกตเวลาไปคาเฟ่หรือร้านบางร้าน จะเห็นว่าโต๊ะเก้าอี้มีความสูงที่ไม่ค่อยรับกับสรีระความสูงของร่างกายเท่าไหร่นัก ซึ่งที่ญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ในออฟฟิศทำงานไม่ว่าจะเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ของญี่ปุ่น ใช้ความสูงเท่ากันทั้งพนักงานผู้ชายและผู้หญิงจึงต้องปรับขนาดกันให้เหมาะสมตามที่ทำได้ หรือบางคนก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความสำคัญของความสูงของโต๊ะเก้าอี้ที่เหมาะกับร่างกายมาก่อน แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านหรือ WFH ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีบางคนกลับไปทำงาน WFH ที่บ้านต่างจังหวัดซึ่งไม่มีอุปกรณ์สำนักงานที่เหมาะสมกับสภาพสรีระ บางคนใช้โต๊ะแบบญี่ปุ่นเตี้ยๆ บางคนใช้กล่อง ใช้กระเป๋าเดินทาง แทนโต๊ะเพื่อวางคอมพิวเตอร์ในการทำงาน จนมีหลายคนโพสต์ใน Social Network Service (SNS) ว่า คิดถึงโต๊ะเก้าอี้ดีๆ ที่ทำงานจริงๆ วันนี้ผมอยากจะมาคุยเรื่องเทคนิคการเลือกใช้โต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระของเราอย่างง่ายครับ


ถ้าเราใช้โต๊ะเก้าอี้ทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์จะสามารถลดภาระโหลดของร่างกายได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโต๊ะหรือเก้าอี้จะดีแค่ไหน หากความสูงของโต๊ะหรือเก้าอี้ไม่เหมาะกับรูปร่างของผู้ใช้ ก็จะมีประสิทธิภาพน้อยลง และทำให้ร่างกายตึงเครียด จึงมีแนวทางคำนวณหาความสูงที่ดีที่สุดสำหรับโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมดังนี้ครับ

1. โต๊ะและเก้าอี้ควรสูงเท่าไหร่?
การปรับโต๊ะและเก้าอี้ให้มีความสูงที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง ขาบวม ล้ารอบคอ และกระดูกร่ายกายผิดรูป การปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้โดย

1-1. ความสูงของเก้าอี้ ควรวัดตั้งแต่พื้นรองเท้าหรือไม่?

ตามปกติแล้วควรให้มีความสูงจากเบาะที่นั่งถึงพื้นประมาณ 36 ถึง 45 ซม. แต่ความสูงนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ดังนั้นมาตรฐานในการกำหนดความสูงของเก้าอี้คือ เมื่อฝ่าเท้าสัมผัสราบกับพื้นในขณะที่นั่งชิดที่ด้านหลังของที่นั่ง


〇 สภาพความสูงของเก้าอี้ที่เหมาะสม
・ ความสูงของเก้าอี้ 36-45 ซม.
・ พื้นรองเท้าทั้งหมดวางราบกับพื้น
・ น้ำหนักเหนือเข่าอยู่ที่ส้นเท้า
・ เข่าขนานหรือสูงกว่าพื้นผิวที่นั่งเล็กน้อย

1-2. สามารถวางข้อศอกที่มุม 90 องศากับโต๊ะได้หรือไม่?

ว่ากันว่าความสูงที่เหมาะสมของโต๊ะควรอยู่ในช่วงความสูงจากพื้นผิวด้านบนของโต๊ะถึงพื้นประมาณ 60 ถึง 72 ซม. เมื่อวางมือบนโต๊ะ ให้ข้อศอกทำมุมประมาณ 90 องศาในแนวตั้ง


〇 สภาพความสูงของโต๊ะที่เหมาะสม
・ ความสูงของโต๊ะ 60-72 ซม.
・ เมื่อวางต้นแขนในแนวตั้ง สามารถวางข้อศอกที่มุม 90 องศากับโต๊ะ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการความสูงที่เหมาะสมนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และความสูงของโต๊ะที่ต้องการนั้นขึ้นอยู่กับความสูงของเก้าอี้
ในการค้นหาความสูงที่เหมาะสมของโต๊ะและเก้าอี้ดังกล่าว มีสูตรการคำนวณโดยใช้ ความแตกต่างของความสูง (สเกลส่วนต่างที่เหมาะสม) จาก "พื้นผิวที่นั่งของเก้าอี้" ถึง "โต๊ะที่วางมือ" จะอยู่ที่ประมาณ 28 ถึง 30 ซม. จึงจะถือว่ามีความเหมาะสมตามมาตราส่วนนี้

สมาคมเฟอร์นิเจอร์สำนักงานแห่งประเทศญี่ปุ่นมีการออกสูตรคำนวณความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมตามหลักสรีรศาสตร์คือ

◇ ความสูงเบาะนั่งที่เหมาะสม (เซนติเมตร) = ความสูงของร่างกาย x 0.25
◇สเกลส่วนต่างที่เหมาะสมที่สุด (เซนติเมตร) = ความสูงของร่างกาย x 1/6


ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณสูง 170 เซนติเมตร สูตรจะเป็นดังนี้

ความสูงเบาะนั่งที่เหมาะสม = 42.5 ซม. (170 x 0.25)
สเกลส่วนต่างที่เหมาะสม = ประมาณ 28.3 ซม. (170 x 1/6)
ความสูงโต๊ะ = ประมาณ 70.8 ซม. (ความสูงที่นั่ง + สเกลส่วนต่าง)

*ถ้าทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นหลัก ให้ลบความสูงของโต๊ะออกไปประมาณ 2 เซนติเมตร จะช่วยให้ใช้แป้นพิมพ์ได้ง่ายขึ้นครับ


อย่าลืมว่าเมื่อเราต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานโดยใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วย หลายคนอาจมีอาการของออฟฟิศซินโดรม เช่น ปวดไหล่ ปวดหลัง และเอ็นอักเสบ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ คือความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง เพื่อแก้ไขอาการออฟฟิศซินโดรม จึงควรแก้ไขทั้งท่าทางการมองหน้าจอ การปรับความสูงของโต๊ะหรือเก้าอี้ให้เหมาะสมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมนั่นเองครับ อย่าลืมว่า ให้เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลายไหล่บ่อยๆ , วางข้อศอกได้ 90 องศากับโต๊ะ และเลือกความสูงของโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะสม ให้เป็นเก้าอี้แบบที่เอนหลังได้ ไม่เอนไปข้างหน้า หากเรารู้สึกไม่สบายให้ลองสำรวจที่สภาพแวดล้อมโต๊ะทำงานของเราดูครับ

การเลือกใช้โต๊ะเก้าอี้ที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์สามารถช่วยให้จัดท่าทางร่างกายให้ถูกต้อง เพื่อช่วยลดภาระโหลดบนกระดูกเชิงกรานและหลัง ยิ่งไปกว่านั้นอย่าลืมปรับระดับความสูงของโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะกับความสูงของร่างกายด้วยเพื่อให้เรานั่งได้อย่างเหมาะสมและไม่เมื่อยล้านะครับ วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น