คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ตั้งแต่มีโควิดฉันเลยได้อยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำทั้งงานราษฎร์งานหลวงตลอดวันไม่ได้หยุด เลยพานนึกไปถึงสมัยย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นใหม่ ๆ ตอนที่ยังเป็นแม่บ้าน ว่าช่วงนั้นใช้ชีวิตอย่างไร ทำอะไรบ้าง และเก็บมาเล่าให้เพื่อนผู้อ่านฟังวันนี้ค่ะ
ครอบครัวสามีฉันอยู่ต่างจังหวัด ส่วนสามีทำงานในกรุงโตเกียว ฉันกับสามีเลยอาศัยอยู่กันสองคนในอะพาร์ตเมนต์แบบ 1DK หมายถึงว่ามีหนึ่งห้องนอน และหนึ่งพื้นที่ทำครัวร่วมกับห้องอาหาร แม้พื้นที่จะแคบ แต่ถ้าไม่ได้มีเฟอร์นิเจอร์ใหญ่และข้าวของมากมาย ก็พออยู่ได้ไม่อึดอัด
ใกล้บ้านฉันมีซูเปอร์มาร์เก็ตเล็ก ๆ ขายของค่อนข้างดีแต่ราคาแพง ฉันเลยยอมเดินไปไกลเป็นกิโลเพื่อไปถึงตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ขายของถูกกว่า มีขายผลไม้ที่ต้องซื้อทีละถาด อาหารทะเลสดและตากแห้งที่ขายทีละเป็นกระจาดหรือเป็นกล่อง และของแห้งอย่างสาหร่ายหรือถั่วชนิดต่าง ๆ
ฉันเคยโดนคุณป้าที่ขายผลไม้ดุเอาด้วยค่ะ ตอนนั้นฉันหยิบลูกท้อที่วางอยู่ในกล่องขึ้นมาดูด้านใต้ว่ามันช้ำหรือเป็นรอยอะไรไหม เธอเลยโวยวายเอา ฉันทำหน้าเหลอ ไม่รู้ว่าทำไมเช็คสภาพสินค้าแล้วต้องโดนดุด้วย ไม่ได้หยิบขึ้นมาบีบหรือทำให้ผลไม้เขาช้ำเลยนี่นา หลังจากนั้นฉันก็เลยไปซื้อที่อื่นแทนเพื่อความสบายใจ แต่เอาเข้าจริงผลไม้ที่เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยมีที่ช้ำหรือดูไม่สวยงาม เข้าใจว่าเขาคงคัดสรรมาเรียบร้อยแล้วน่ะค่ะ เคยเจอกีวีเน่าอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นตัวเองไม่ทันดู ดีที่ว่าพนักงานแคชเชียร์ใจดีบอกให้ เลยไปเลือกมาใหม่
ใกล้ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่มีเพิงขายปลาย่างแบบซื้อกลับบ้าน กลิ่นหอมฟุ้งจนต้องกลืนน้ำลาย และไม่วายต้องแวะซื้อทุกที คนขายเป็นผู้ชายร่างบึกบึนที่ร่าเริงและยิ้มแย้ม เขาจะเอาเนื้อปลาหลายชิ้นเสียบรวมกันกับแท่งเหล็กประมาณ 3 แท่ง แล้วย่างบนเตาถ่าน คอยพลิกกลับไปมา โดยมีผู้หญิงอีกคนช่วยขาย เธอคอยเอาปลาที่ย่างแล้วใส่กล่องและคิดเงินลูกค้า ส่วนใหญ่ฉันจะสั่งเป็นปลาซาบะหรือปลาซัมมะ ย่างเกลือบ้าง ย่างโชยุบ้าง ช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ปลาย่างอร่อยมากเพราะมีมันเยอะ เวลาย่างเองที่บ้านรู้สึกไม่อร่อยเท่า อาจเพราะไม่ได้ใช้เตาถ่าน หรือไม่ก็อาจเพราะทางร้านมีเคล็ดลับในการเลือกปลา และมีกรรมวิธีปรุงที่ไม่เหมือนกันกระมัง
คนญี่ปุ่นคงจะกินปลากันเป็นประจำจริง ๆ บ้านญี่ปุ่นจึงมักมีเตาสำหรับย่างปลาซึ่งมาพร้อมกับเตาแก๊สและอ่างล้างจานแบบเป็นเซ็ต built-in เป็นเหมือนลิ้นชักเล็ก ๆ ยาว ๆ มีตะแกรงลอย เอาไว้ย่างปลาสะดวกมาก ฉันเคยเจอร้านร้อยเยนขายหินสำหรับย่างปลา เขาโฆษณาว่าถ้าเอาไปวางโรยไว้ใต้ตะแกรงย่าง จะทำให้ปลาที่ย่างแล้วหอมอร่อยขึ้น เคยลองซื้อมาใช้ดูเหมือนกัน แต่ไม่ยักรู้สึกถึงความแตกต่างเท่าไหร่
ระหว่างแวะซื้อกับข้าวหลายที่และถือของหนักมือ บางทีฉันก็แวะร้านขนมแบบที่มีม้านั่งให้นั่งกินหน้าร้าน กินเครปบ้าง ไอศกรีมบ้าง ทาโกะยากิบ้าง พอได้พักหายเมื่อยแล้ว ค่อยไปซื้อกับข้าวต่อก่อนกลับบ้าน ส่วนใหญ่กว่าจะถึงบ้านก็หิ้วถุงพะรุงพะรังเต็มสองมือ ต่อมาพอซื้อจักรยานก็เลยค่อยสบายขึ้นเยอะ แต่จักรยานเล็ก ตะกร้าก็เล็ก เลยต้องห้อยถุงบางส่วนไว้ที่คันจับจักรยานสองข้าง ดูเยอะแยะไปหมด แต่ฉันก็รู้สึกสนุกมากเวลาไปจ่ายกับข้าว เลยไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรมากมาย
เวลาจอดจักรยานในญี่ปุ่นนี่ต้องดูดี ๆ ไม่ใช่ว่าอยากจอดที่ไหนก็จอด ไม่งั้นอาจโดนเจ้าหน้าที่ลากจักรยานไป แล้วเราต้องไปเสียค่าปรับ โดยจะมีที่จอดแบบเสียเงิน หรือบางทีก็มีที่จอดของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ต้องเสียเงิน ฉันเคยเอาไปจอดในที่เสียเงิน และมีที่จอดสองชั้น คือมีจักรยานที่จอดอยู่บนพื้น กับจักรยานที่จอดลอยอยู่ในอากาศ ตอนนั้นที่จอดที่พื้นเต็ม ฉันเลยจอดไว้ชั้นบน จำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าจอดอย่างไร แต่ตอนจะไปเอาจักรยานก็ดันปลดลงมาไม่เป็นเสียอีก เดินวนดูอยู่พักหนึ่งก็ไม่รู้วิธี เลยถามคนอื่นที่มาเอาจักรยานพอดี เขาก็ใจดีเอาลงมาให้เลย อาจนึกสงสัยว่ายัยนี่จอดจักรยานอีท่าไหน เอาขึ้นไปจอดได้ ทำไมเอาลงไม่ได้
อาศัยอยู่ใจกลางเมืองค่อนข้างสนุก เพราะมีร้านโน้นร้านนี้ดึงดูดความสนใจตามรายทาง อย่างเวลาฉันเดินหรือขี่จักรยานไปซื้อกับข้าวนั้น จะต้องผ่านศาลเจ้า ร้านขนมญี่ปุ่น ร้านดองกีโฮเต้ ร้านราเม็ง ร้านอาหารเกาหลี ร้านซูชิ ร้านขายยา(ซึ่งมักขายอย่างอื่นด้วย) คาราโอเกะ ร้านขายเสื้อผ้า มีหรือฉันจะพลาดความหรรษาจากการไม่แวะตามรายทาง กว่าจะซื้อกับข้าวกลับถึงบ้านก็เลยผ่านไปหลายชั่วโมง เพราะมัวเพลิดเพลินอยู่นั่นเอง
มีอยู่ร้านหนึ่งขาย “โมนากะ” (最中) เป็นขนมที่ประกอบด้วยฝาบาง ๆ กรอบ ๆ คล้ายเวเฟอร์สองฝา มักสอดไส้ถั่วแดงหวานจ๋อย แต่ร้านนี้เอาไอศกรีมใส่แทนถั่วแดง เวลาไปซื้อก็เลือกรสไอศกรีมที่ชอบ และสามารถใส่ท้อปปิ้งได้นิดหน่อย บางทีฉันก็เลือกรสช็อกโกแลตหรือรสชาเขียวใส่โมจิ สัมผัสกรุบกรอบของฝา ความเย็นและรสชาติไอศกรีม บวกกับความหนึบหนับของโมจิออกจะเข้ากันดี ไอศกรีมแบบโมนากะนี่มีขายตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย เหมือนมีหลายยี่ห้ออยู่
พูดถึงไอศกรีมแล้ว ฉันสังเกตว่าไอศกรีมชาเขียวอร่อย ๆ นอกประเทศญี่ปุ่นหายากมาก เท่าที่เคยกินมาคือไม่มีรสหรือกลิ่นชา มีแต่ความหวานอย่างเดียวที่โดดเด่น ตามมาด้วยกลิ่นสังเคราะห์ แต่ถ้าเป็นไอศกรีมชาเขียวในญี่ปุ่นเอง แม้จะราคาถูกก็อร่อยและมีรสชาเขียวจริง ๆ ทำให้นึกสงสัยว่าไอศกรีมชาเขียวที่อร่อยต้องเป็นชาเขียวและนมสดที่ผลิตในญี่ปุ่นเท่านั้นหรืออย่างไร
ว่าแต่ถ้าชาเขียวเข้มเกินไปก็อาจหมดอร่อยได้เหมือนกัน ฉันเคยลองไอศกรีมชาเขียวแบบเข้มข้นที่ว่าซึ่งมีขายเป็นบางแห่งในเกียวโต ดีอกดีใจนึกว่าจะได้กินของอร่อยกว่าปกติ ปรากฏว่ารสชาติขมปี๋แบบเดียวกับชาเขียวข้น ๆ เข้ม ๆ ในพิธีชงชาเลยค่ะ เพียงแต่อยู่ในสภาพครีมเย็น ๆ แทน กินทีเดียวเข็ด ไม่เอาอีกเลย
หลังจากทริปซื้อกับข้าว ซึ่งประกอบไปด้วยการแวะกินข้าวเที่ยงและเดินเล่นแล้ว พอถึงบ้านฉันก็ทำโน่นทำนี่ และเตรียมอาหารเย็น ปกติฉันพยายามจะกะเวลาให้ทำอาหารเสร็จตรงกับตอนที่สามีถึงบ้านพอดี เขาจะได้รับประทานอาหารที่ทำเสร็จใหม่ ๆ ร้อน ๆ ที่กะเวลาได้ถูกก็เพราะเขาจะโทรมาบอกก่อนทุกครั้งว่ากำลังจะกลับแล้ว
ช่วงที่มาอยู่ญี่ปุ่นใหม่ ๆ ฉันก็พอทราบอยู่ก่อนแล้วว่าคนญี่ปุ่นทำงานกันมืดค่ำ ไม่ใช่ว่าเลิกงานห้าโมงแล้วได้กลับเลย บางวันเขากลับบ้านช้ามาก ฉันก็กังวลว่าที่กลับช้านี่เพราะเรื่องงานจริงหรือไปติดผู้หญิงกันนะ สาเหตุที่ฉันกังวลนั้นอาจจะมาจากความเคยชินกับชีวิตเมืองไทย ที่ว่าพอห้าโมงปุ๊บทุกคนก็เตรียมตัวกลับบ้าน ดังนั้นการกลับบ้านมืดค่ำอย่างเลยสามทุ่มไปแล้ว จึงกลายเป็นเรื่องน่าประหวั่นพรั่นพรึงสำหรับผู้หญิงที่คิดอะไรไปได้ร้อยแปดพันเก้า
สงสัยว่าสามีฉันคงไม่อยากเจอนางยักษ์กลายร่างที่บ้าน เลยพยายามไม่อยู่ดึกในที่ทำงานโดยไม่จำเป็น ส่วนมากประมาณทุ่มนึงก็จะกลับบ้านแล้ว เคยถามเขาว่าแล้วตอนออกมาจากบริษัทคนอื่นไม่ว่าอะไรหรือ เขาก็บอกว่ามีคนมองหน้าเหมือนกัน แต่เขาทำเป็นไม่รู้เรื่อง โชคดีว่าต่อมาการกลับบ้านไม่ดึกเป็นประจำของเขากลายเป็นเรื่องธรรมดา เลยไม่ได้มีใครว่าอะไร
ชีวิตฉันช่วงที่เป็นแม่บ้านเต็มตัวนั้น นอกจากจะทำงานบ้านแล้ว ก็มีอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น N1 ไปด้วยเพราะต้องใช้ในการสมัครงาน บวกกับไปทำงานพิเศษที่ร้านอาหารเป็นบางวันให้หายเบื่อ โดยส่วนตัวแล้วฉันชอบการพูดคุยกับผู้คนด้วยไมตรี เลยพลอยชอบงานเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้า แล้วเวลาที่เหลือฉันก็หางานประจำไปด้วย ระหว่างนั้นเผอิญได้รู้ว่ามีกลุ่มอาสาสมัครต่างชาติในองค์กรที่สนใจอยู่พอดี ก็เลยไปร่วมวง ได้ช่วยกันจัดกิจกรรมบ้าง กินข้าวด้วยกันบ้าง เลยมีเพื่อนดี ๆ หลายคนที่ยังคบหากันมาจนบัดนี้
การมีกิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้ไม่เหงาและไม่คิดมาก ฉะนั้นถ้าเพื่อนผู้อ่านท่านไหนไปอยู่ไกลบ้านใหม่ ๆ ฉันแนะนำมาก ๆ เลยค่ะว่าให้ก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนไปให้ได้ หากิจกรรมทำ ลุยเข้าสังคมเขาไปเลย จะทำให้ปรับตัวได้เร็ว นอกจากจะได้เพื่อนคุยให้ไม่ต้องเหงาแล้ว เรายังได้รู้ข้อมูลข่าวสารเพิ่ม ได้ทำตนให้เป็นประโยชน์ ก็จะรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ไม่ต้องซึมกะทือ รู้สึกแย่กับตัวเองนะคะ
วันนี้ลากันไปก่อน พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.