xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ญี่ปุ่นแนะข้อบ่งชี้ติดเชื้อโควิด “โอมิครอน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นชี้ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการคล้ายไข้หวัด คัดจมูก เจ็บคอ แต่โอกาสเชื้อลงปอดน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา

คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ศึกษารายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มตัวอย่าง 50 คนจากจังหวัดโอกินาวา ซึ่งเป็นผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน พบว่ามีอาการสำคัญคือ
ร้อยละ 72  ของผู้ป่วยมีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า
ร้อยละ 58  มีอาการไอ
ร้อยละ 50  รู้สึกอ่อนแรง
ร้อยละ 44  เจ็บคอ
ร้อยละ 36  คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
ร้อยละ 32  ปวดศีรษะ
ร้อยละ 24  ปวดตามข้อ
ร้อยละ 8  คลื่นไส้หรืออาเจียน
ร้อยละ 6  หายใจลำบาก
ร้อยละ 2  ผิดปกติในการรับรสหรือกลิ่น
และมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ไม่แสดงอาการ

การศึกษาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในกรุงโตเกียว ก็มีผลคล้ายกันคือ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีไข้ เจ็บคอ และไอ

ผู้ติดเชื้อ โอมิครอน 76% มีไข้ 12% เจ็บคอ 8%ไอ
คณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น ระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้านี้มีข้อบ่งชี้สำคัญ คือ ผู้ติดเชื้อมักมีอาการเกี่ยวกับการย่อยอาหาร หรือสูญเสียการรับรสหรือรับกลิ่น แต่ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่มีอาการลักษณะนี้ อาการที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนั้นคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดธรรมดา

การศึกษาขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนติดเชื้อ ต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง การอักเสบที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนส่วนมากจะอยู่ในจมูกและคอ อาการที่ปรากฏต่างไปจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ

อาการที่คล้ายกับไข้หวัดทำให้ยากที่จะแยกแยะผู้ติดเชื้อโควิด คณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ผู้ที่มีอาการ เช่น เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้ ปวดศีรษะ หรืออ่อนเพลีย ควรไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อ


ATK ตรวจไม่พบ ถ้ายังไม่มีอาการ

ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้ใช้ชุดตรวจแอนติเจน (ATK) เมื่อไม่มีอาการใด ๆ เนื่องจากในช่วงนี้จะมีความแม่นยำน้อยกว่า ชุดตรวจแอนติเจนให้ผลที่น่าเชื่อถือหากใช้ภายใน 9 วันหลังผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการป่วย แต่ก็ต้องมั่นใจว่าใช้ชุดตรวจที่มีข้อความระบุว่า “in vitro diagnostics” หรือ IVD

นอกจากนี้ ชุดตรวจแอนติเจนอาจให้ผลเป็นลบปลอมเมื่อเชื้อไวรัสมีไม่มากพอ โดยหากยังมีอาการคล้ายติดเชื้ออยู่ก็ควรไปพบแพทย์ แม้ว่าผลตรวจเป็นลบก็ตาม .


กำลังโหลดความคิดเห็น