xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตเร่งรีบของพ่อแม่ญี่ปุ่นกับอาหารทำลายสุขภาพเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก mamahiroba.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เดี๋ยวนี้พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยให้ลูกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะเอาความง่ายและสะดวกเป็นหลัก จนทำให้เด็กเติบโตมาพร้อมโรคอ้วนและเบาหวานกันเยอะขึ้น ทั้งยังมีนิสัยในการกินที่ไม่ดีไปจนโต แต่ญี่ปุ่นก็พยายามแก้ปัญหานี้เรื่อยมา หนึ่งในวิธีการได้แก่การฝึกให้เด็กทำอาหารปิ่นโตมาโรงเรียนเองเสียเลย

คุณอาเบะ สึคาสะ ซึ่งโด่งดังจากการเขียนหนังสือเรื่องภัยของสารปรุงแต่งในอาหาร เล่าว่าได้รับเชิญให้ไปบรรยายหรือจัดเสวนาความรู้เรื่องอาหารในหลายจังหวัด จึงได้ทราบว่าเด็ก ๆ กินอาหารที่บ้านอย่างไรกันบ้าง ที่่น่าตกใจคือเด็กบางคนไม่เคยกินข้าวปั้นที่ทำเสร็จใหม่ ๆ มาก่อน บ้างก็ไม่เคยกินซุปเต้าเจี้ยวเลย ทั้งที่สองอย่างนี้ต่างก็เป็นอาหารพื้น ๆ ของญี่ปุ่นที่ไม่ว่าบ้านไหนก็น่าจะทำบ่อยและทำเป็นกันทั้งนั้น อย่างข้าวปั้นนี้เห็นหลายบ้านทำให้ลูกกินบ่อย ส่วนซุปเต้าเจี้ยวก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในมื้ออาหารของญี่ปุ่น คือเรียกว่าถ้ามีข้าวสวย ก็ต้องมีซุปเต้าเจี้ยวประกอบเสมอ

เวลาคุณอาเบะไปจัดเวิร์คช้อปให้ความรู้เรื่องอาหารที่เนอสเซอรี่ ก็มีการทำข้าวปั้นบ้าง ทำซุปเต้าเจี้ยวบ้าง เด็กห้าขวบที่ไม่เคยกินข้าวปั้นคนหนึ่งพูดอย่างประทับใจว่า “ข้าวปั้นอร่อยขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย”  คุณครูเลยเดินเข้าไปกอดทั้งน้ำตา อาจเพราะสงสารเด็กที่ไม่เคยกินข้าวปั้นเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ส่วนเด็กที่ไม่เคยกินซุปเต้าเจี้ยวจะบอกว่าซุปเต้าเจี้ยวเหม็น หรือไม่ก็ว่าของแบบนี้ไม่รู้จักมาก่อน เลยไม่ยอมกิน ซึ่งคุณอาเบะเล่าว่าทุกปีที่ไปจัดเวิร์คชอปจะพบเจอเด็กที่ไม่รู้จักซุปเต้าเจี้ยวอยู่เสมอ เขาเลยชักสงสัยเรื่องอาหารการกินของเด็กขึ้นมา พอมีโอกาสก็จะถามเด็ก ๆ ว่าเช้านี้กินอะไรกันมาบ้าง

ภาพจาก dime.jp
แน่นอนว่ามีเด็กที่รับประทานข้าวเช้าทั่วไป เช่น “ข้าวสวย+ซุปเต้าเจี้ยว+ปลาย่าง” หรือ “ขนมปังปิ้ง+แฮม+ไข่+สลัด” แต่ก็ยังนับว่าเป็นจำนวนน้อย ที่รับประทานกันเยอะคือพวกขนมปังรสหวานกับซุปสำเร็จรูป โดยของโปรดสำหรับเด็ก ๆ ได้แก่ ซุปข้าวโพด ทาโกะยากิแช่แข็ง ครีมโรล เกี๊ยวซ่าแช่แข็ง ซึ่งต่างก็ไม่ใช่อาหารที่ดีสุขภาพทั้งสิ้น ทำเอาคุณอาเบะอึ้งไปเมื่อได้ยิน

คุณแม่ที่ซื้อเกี๊ยวซ่าแช่แข็งมาทอดให้ลูกกินยังบอกอย่างภาคภูมิใจเสียอีกว่า “เกี๊ยวซ่าทำมาจากเนื้อสัตว์ ผัก และแป้งสาลี มีสารอาหารครบสุดแล้ว” ที่น่าตกใจกว่านั้นคือมีบ้านหนึ่งให้ลูกกินบะหมี่ถ้วยเป็นอาหารเช้า แต่ใส่นมแทนน้ำร้อนเพราะ “มีสารอาหาร ดีกว่าน้ำเปล่า” คุณอาเบะเดาว่าพ่อแม่คงรู้ว่าบะหมี่ถ้วยกินแล้วไม่ดี เลยใส่นมที่มีคุณค่าทางอาหารแทนน้ำเพื่อกลบความรู้สึกผิด

ที่เขาเป็นห่วงเป็นพิเศษคือการที่พ่อแม่ให้เด็กวัยห้าขวบรับประทานขนมปังหวาน ๆ เป็นอาหารเช้า เช่น ขนมปังไส้ถั่ว ไส้ช็อกโกแลต ไส้ครีม พายแยมผลไม้ อะไรพวกนี้ ขนมปังแบบนี้อาจเหมาะรับประทานเป็นอาหารว่างหรือรองท้อง แต่คนญี่ปุ่นที่ซื้อมาเป็นอาหารเช้าเพราะสะดวกรวดเร็วก็มีเยอะ เพราะแกะห่อก็รับประทานได้เลย

ขนมปังหวาน ภาพจาก km2.tsite.jp
ฉันนึกไปถึงรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่เคยดู ตอนนั้นมีดาราชายคนหนึ่งทำหน้าเศร้าเล่าว่า ภรรยาให้รับประทานขนมปังหวานเป็นอาหารเช้า สำหรับพ่อบ้านชาวญี่ปุ่นแล้ว แต่งงานทั้งทีก็หวังว่าแม่บ้านจะทำอาหารเช้าให้ และจะมีซุปเต้าเจี้ยวอยู่ในทุกมื้อ อย่างคนสมัยก่อนถ้าพูดว่าอยากให้สาวทำซุปเต้าเจี้ยวให้ทุกเช้า ก็อาจเป็นคำพูดอ้อม ๆ ขอแต่งงานได้ด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าซุปเต้าเจี้ยวเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้สำหรับคนญี่ปุ่นจริง ๆ แต่น่าเสียดายว่าเดี๋ยวนี้คนทำอาหารเช้าเป็นเรื่องเป็นราวมีน้อยลง ซึ่งก็อาจเป็นเพราะผู้หญิงยุคใหม่เหนื่อยสองต่อทั้งจากการทำงานนอกบ้านและในบ้าน บางทีหากสามีภรรยาช่วยกันแบ่งเบาภาระในบ้านและดูแลซึ่งกันและกันดี ทั้งคู่ก็อาจมีโอกาสรับประทานซุปเต้าเจี้ยวมื้อเช้าด้วยกันมากขึ้นก็ได้

นอกจากขนมปังหวานแล้ว เด็กที่บอกว่ารับประทานขนมปังแผ่นก็มี แต่ก็ทาหน้าขนมปังด้วยมาการีนผสมน้ำตาล หรือช็อกโกแล็ตกันมาก ยิ่งเดี๋ยวนี้คนหันมานิยมขนมปังหนานุ่มซึ่งรับประทานเปล่า ๆ ก็อร่อย คุณอาเบะบอกว่าสาเหตุที่นุ่มและอร่อยก็เพราะมีการใส่น้ำตาลกับไขมันในปริมาณสูง ต่อให้เรียกว่าเป็นขนมปังแผ่น ไม่ได้เรียกว่าขนมปังหวาน น้ำตาลและไขมันก็สูงมากอยู่ดี

สมัยนี้เด็กญี่ปุ่นบางกลุ่มนอกจากจะได้สารอาหารไม่สมดุลแล้ว ยังมีเด็กที่ไม่ได้กินข้าวเช้าด้วย จึงมีทั้งคนที่เป็นเบาหวานแต่เด็กหรือแคระแกร็นตอนวัยรุ่นเยอะขึ้น เมื่อก่อนคนคิดว่าโรคที่เป็นผลมาจากการใช้ชีวิตที่ไม่ดี อย่างเช่น ภาวะเผาผลาญอาหารผิดปกติ (Metabolic Syndrome) เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นโรคที่พบเฉพาะในผู้ใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้กลับพบมากขึ้นในกลุ่มเด็ก ซึ่งโรคเหล่านี้อาจเป็นโดยไม่แสดงอาการใด ๆ เป็นเวลาหลายปี และพอเกิดอาการขึ้นมาก็รักษาให้หายยากหรือรักษาให้หายไม่ได้อีกแล้ว

ภาพจาก girlschannel.net
ที่น่าเป็นห่วงคือพ่อแม่เองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเตรียมอาการดีนัก บางคนคิดว่าเป็นเรื่องดีเสียอีกที่ปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าอยากกินอะไร แล้วก็ให้ลูกกินตามใจชอบ เพื่อนฉันคนหนึ่งมักเติมผงชูรสลงในอาหารที่ทำเพราะ “ไม่งั้นลูกไม่ยอมกิน” เธอยังซื้อพวกซอสปรุงสำเร็จเป็นขวด ๆ มาใช้เพราะ “อร่อยและสะดวกดี” เลยกลายเป็นว่าลูกติดนิสัยกินอาหารที่มีแต่ผงชูรสและรสจัด

คุณอาเบะบอกว่าลูกติดรสชาติแบบไหนอยู่ที่พ่อแม่เป็นคนสอนลูกให้ชินแบบนั้น จึงควรสอนเด็กว่าทำไมถึงควรกินสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง เช่น กินผักแล้วจะได้ไม่ป่วย กินปลาแล้วจะได้หัวดี ไม่เอาตามความชอบของเด็กเป็นหลัก

ภาพจาก fqmagazine.jp
มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่วิจัยเรื่องพฤติกรรมการกินของเด็กใน 11 ประเทศ พบว่าคนมีพฤติกรรมการกินอย่างไรในวัยเด็กก็จะเป็นอย่างนั้นด้วยในตอนโต ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการกินให้ดีตั้งแต่เด็กยังเล็ก จะทำให้เด็กสุขภาพดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ต่อไปได้

พฤติกรรมการกินของพ่อแม่ยังมีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมการกินของลูกด้วย เช่น ถ้าพ่อแม่ไม่กินข้าวเช้า ลูกก็จะไม่กินข้าวเช้าไปด้วย ทั้งยังมีแนวโน้มจะไปกินอาหารที่แคลอรี่สูงแต่สารอาหารต่ำ และเสี่ยงเป็นเบาหวานมากขึ้น ในทางกลับกันการกินอาหารเช้าเป็นประจำจะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและวัยรุ่น เด็กได้รับสารอาหารดีขึ้น และลดโอกาสเป็นโรคที่เกี่ยวกับไขมันด้วย

การศึกษาเดียวกันนี้ยังระบุไว้ว่า การกินข้าวร่วมกันในครอบครัวส่งผลดีต่อภาวะทางอารมณ์ของเด็ก ทำให้เด็กมีความนับถือตัวเองมากขึ้น ลดนิสัยก้าวร้าว ลดความเครียด และลดการเป็นโรคกินอย่างผิดปกติ (eating disorder) ด้วย แต่เดี๋ยวนี้โอกาสที่พ่อแม่ลูกชาวญี่ปุ่นจะมานั่งกินข้าวด้วยกันที่โต๊ะอาหารและคุยกันฉันครอบครัวก็ลดลงจากเมื่อก่อน ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพและอารมณ์ของเด็กต่อไปในระยะยาว

ภาพจาก kosotatu.jp
ที่ผ่านมาญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้พอสมควร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเลยพยายามให้ความรู้ และสร้างสุขนิสัยเรื่องอาหารการกินให้พ่อแม่และเด็กมากขึ้น บางโรงเรียนสอนให้เด็กหัดทำอาหารปิ่นโตเองเป็นบางวัน โดยให้ทำเองทั้งหมดตั้งแต่คิดเมนู ซื้อกับข้าว จนถึงประกอบอาหาร เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากภายในบ้าน อีกหน่อยพอเด็กชินกับการทำอาหารปิ่นโตเอง พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ดูแลตัวเองได้ ไม่มองว่ายากหรือวุ่นวาย และยังหวังว่าความเปลี่ยนแปลงของเด็กจะทำให้พ่อแม่หันมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในที่สุด …ช่างเป็นแผนซ้อนแผนที่แยบยลจริง ๆ

เรื่องให้เด็กทำปิ่นโตเองนี้เป็นความคิดริเริ่มของครูใหญ่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ครูใหญ่ทาเกชิตะ คาซุโอะได้กำหนด “วันอาหารปิ่นโต” ขึ้น แล้วให้เด็กทำปิ่นโตจากบ้านมาโรงเรียนด้วยตัวเอง ห้ามพ่อแม่และครูวิพากษ์วิจารณ์หน้าตาอาหารที่เด็กทำออกมา วิธีนี้ทำให้เด็กรู้จักคุณค่าของอาหารว่ากว่าจะได้มาไม่ใช่ง่าย และยังทำให้เด็กภูมิใจในตัวเอง แถมยังได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นประสบการณ์สำคัญในการดำรงชีวิตด้วย เด็กบางคนพอได้ลองทำอาหารแล้ว ต่อมาเลยเข้าใจความรู้สึกแม่ รู้จักช่วยแม่แบ่งเบาภาระในการเตรียมอาหารที่บ้าน ต่อมาโรงเรียนอื่นก็เห็นดีงามเลยรับเอาแนวคิดนี้ไปใช้กันทั่วประเทศ

รูปคนซ้ายล่างคืออดีตครูใหญ่ทาเกชิตะ คาซุโอะ ภาพจาก bento-day.com
ฉันชอบความคิดนี้มาก ๆ เลยค่ะ เพราะทำให้เด็กได้เรียนรู้จากของจริง และยังสานความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย พอเด็กรู้ว่าอาหารที่ทำเองดีอย่างไร อีกหน่อยพอโตขึ้นก็รู้จักเข้าครัวทำอาหาร เลือกอาหารที่ดีให้ตัวเองและคนอื่นเป็น จะทำให้ชีวิตเขาง่ายขึ้นเยอะตอนโต

การให้ความสำคัญกับเรื่องใกล้ตัวง่าย ๆ แบบนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเราได้อย่างคาดไม่ถึงเลยนะคะ ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมการกิน และยังสร้างความรักความเข้าใจในครอบครัวได้ด้วย ในระยะยาวน่าจะช่วยให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีกันทั้งบ้าน น่าขอบคุณครูใหญ่ทาเกชิตะจริง ๆ ที่มองการณ์ไกลและคิดถึงเด็กขนาดนี้

ฉันเอาวีดีโอประกอบมาฝากค่ะ เด็ก ๆ หัดทำอาหารกันตั้งแต่อนุบาลยันเข้ามหาวิทยาลัย ปลื้มกันทั้งพ่อแม่ลูกและคุณครู ดูแล้วมีความสุขไปด้วยเลย



แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น