รถไฟใช้แล้วจากญี่ปุ่นเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของหลายประเทศอาเซียน เนื่องจากสภาพที่เก่าจนถูกวิจารณ์ว่าเป็น “เศษเหล็ก” และประเทศต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนผ่านระบบรถไฟที่ขับเคลื่อนโดยใช้ไฟฟ้า
ประเทศไทยได้รับขบวนรถไฟเก่าจากบริษัทเจอาร์ ฮอกไกโด เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว รูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของรถไฟรุ่นนี้สร้างกระแสตื่นเต้นจากบรรดา “เจแปนแฟนคลับ” แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า ไทยต้องเสียเงินถึง 42.5 ล้านบาทเป็นค่าขนส่ง และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงขบวนรถไฟเก่าให้วิ่งบนรางของไทยได้ ตลอดจนการปรับโฉมภายในขบวนรถให้เป็นรถไฟท่องเที่ยว
หนังสือพิมพ์ “โยมิอุริ ชิมบุน” รายงานว่า ในไทยมีทั้งผู้ที่เห็นว่าขบวนรถไฟเก่าของญี่ปุ่นยังมีคุณภาพดี คุ้มค่าที่จะใช้งานต่อ ขณะที่ก็มีผู้ที่เห็นว่า รถไฟดังกล่าวมีอายุมากกว่า 40 ปีแล้ว เมื่อเทียบกับค่าขนส่ง ค่าปรับสภาพ และค่าบำรุงรักษา ก็ไม่ต่างกับเอา “เศษเหล็ก”มาปรับโฉมใหม่
สื่อมวลชนญี่ปุ่นระบุว่า ประเทศอาเซียนที่รับรถไฟใช้แล้วจากญี่ปุ่น ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และพม่า แต่ในระยะหลัง รถไฟเก่าของญี่ปุ่นเริ่มไม่เป็นที่ต้องการอีกแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว รัฐบาลเวียดนามปฏิเสธที่จะนำเข้ารถไฟเก่าจากญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลว่า “สภาพเก่าเกินมาตรฐาน”
เศรษฐกิจพัฒนา ไม่อยากได้ของเก่า
รถไฟเก่าในญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดซากสูงถึง 2-3 ล้านเยนต่อขบวน บริษัทรถไฟต่าง ๆ จึงหาทางออกด้วยการมอบรถไฟเก่าให้กับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ในช่วงปี 1997 เป็นต้นมา ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนรับรถไฟเก่าจากญี่ปุ่นกว่า 1,000 ขบวน
ผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟของญี่ปุ่นระบุว่า รถไฟเป็นสิ่งที่ต้อง “สั่งทำ” พิเศษ เพื่อให้เข้ากับสภาพของแต่ละประเทศ รถไฟเก่าถึงแม้จะได้มาฟรี ๆ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงในการปรับสภาพและบำรุงรักษา หลายประเทศรับไปแล้วก็วางทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้นำไปใช้งาน
นอกจากนี้ ประเทศอาเซียนกำลังเร่งพัฒนาระบบรถไฟเป็นรถไฟความเร็วสูง และขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ทำให้ไม่ต้องการขบวนรถไฟเก่าอีกต่อไป
ญี่ปุ่น-จีน แข่งกันขายเทคโนโลยีรถไฟ
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัทรถไฟจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ด้วยการเสนอขายเทคโนโลยีการขนส่งทางราง และรถไฟแบบใหม่ให้กับชาติอาเซียน ที่กำลังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างขนานใหญ่
บริษัทคาวาซากิ เฮฟวีอินดัสทรีย์ และ บริษัทมิตซูบิชิ ร่วมกันเสนอขายขบวนรถไฟความเร็วสูง 144 ขบวนให้กับบังกลาเทศเมื่อปี 2560 เมื่อปีที่แล้ว รถไฟใหม่ที่สร้างโดยบริษัทในเครือเจอาร์ อีสต์ ได้ใช้งานในฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก ส่วนบริษัทฮิตาชิ ก็ได้ผลิตรถไฟเทคโนโลยีใหม่ให้กับหลายประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การส่งออกขบวนรถไฟเก่าของญี่ปุ่นใกล้จะถึงอวสานแล้ว ขณะนี้ บรรดาประเทศอาเซียนต้องการรถไฟใหม่ มากกว่ารถไฟเก่าใช้แล้ว โดยญี่ปุ่นและจีนเป็นคู่แข่งรายใหญ่ในโครงการรถไฟในภูมิภาคนี้.