คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้ฉันได้ดูอนิเมชัน “ดาบพิฆาตอสูร” (鬼滅の刃) ซีซั่นใหม่ที่อสูรร้ายเป็นนางคณิกาชั้นสูงเรียกว่า “โอ็ยรัน” (花魁) ก็เลยนึกไปถึง “ไมโกะ” (舞妓) ในเกียวโตที่แต่งตัวคล้ายกัน พลางสงสัยขึ้นมาว่า เอ…ทำไมยุคนี้ยังมีคนที่อยากเป็น “เกอิชา” (芸者) อยู่นะ
เกอิชาคืออะไร
คำว่า “เกอิชา” (芸者) โดยความหมายแล้วแปลว่า ‘ผู้แสดงศิลปะ’ คือผู้ที่มาสร้างสีสันให้งานเลี้ยงด้วยการขับร้อง เล่นดนตรี และฟ้อนรำแบบญี่ปุ่นสมัยเก่า ในเกียวโตจะเรียกเกอิชาว่า “เกอิโกะ” (芸妓) และเรียกเด็กฝึกหัดก่อนมาเป็นเกอิชาว่า “ไมโกะ” (舞妓) ในขณะที่โตเกียวจะเรียกเกอิโกะว่า “เกอิชา” (芸者) และเรียกไมโกะว่า “ฮังงิโยะขุ” (半玉) แต่ในบทความนี้ฉันขอเรียกว่า “เกอิชา” และ “ไมโกะ” ซึ่งเป็นคำที่คนน่าจะรู้จักกันมากกว่าก็แล้วกันนะคะ จะได้ไม่สับสน
ที่จริงแล้วเกอิชาในยุคแรกเริ่มคือผู้ชายที่มาแสดงการจัดดอกไม้ ชงชา เล่นชามิเซ็น(เครื่องสายคล้ายซอของไทย) เพื่อสร้างสีสันความบันเทิงแก่งานเลี้ยง และต่อมากลายเป็นว่าคนมาทำหน้าที่นี้คือผู้หญิง และกลายเป็นความนิยมอย่างนั้นสืบมา ได้ยินว่าปัจจุบันเกอิชาที่เป็นผู้ชายก็ยังมีเหมือนกัน แต่น้อยมาก
การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็นเกอิชาได้นั้น โดยปกติแล้วต้องเป็น “ไมโกะ” มาก่อนประมาณ 5 ปี สมัยก่อนไมโกะจะอยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น เพราะถ้าอายุมากกว่านั้นก็จะดูเป็นผู้ใหญ่ ขาดภาพลักษณ์ความน่ารักแบบเด็ก ๆ ซึ่งเป็นจุดขายของไมโกะไป แต่ยุคนี้เด็กต้องเรียนหนังสือกัน คนที่มาสมัครเป็นไมโกะก็เลยมีตั้งแต่วัยเพิ่งจบมัธยมต้นไปจนถึงวัยยี่สิบต้น ๆ เดี๋ยวนี้เขาเลยผ่อนผันให้ไมโกะอยู่ไปถึงวัยยี่สิบต้น ๆ พอได้ถ้าหน้าให้ แต่ถ้าบางคนอายุเกินหรือดูไม่เด็กแล้ว หากฝึกหัดผ่านก็เป็นเกอิชาเลยโดยไม่ต้องเป็นไมโกะก่อน
เกอิชากับภาพลักษณ์ขายบริการ
หลายคนรวมทั้งคนญี่ปุ่นเองด้วยจะนึกภาพว่าเกอิชาคือนางคณิกา แต่ที่จริงแล้วว่ากันว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด ที่ถูกต้องคือเกอิชาเป็นผู้ให้ความบันเทิงด้านศิลปะโดยไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นนางคณิกาจะเรียกว่า “ยูโจะ” (遊女) และหากเป็นนางคณิกาชั้นสูงจึงจะเรียกว่าเป็น “โอ็ยรัน” (花魁)
ส่วน “ไมโกะ” ซึ่งมีภาพลักษณ์ของความเป็นเด็กและความสดใส จะมีลักษณะการแต่งตัว แต่งหน้า และทำผม ต่างไปจากเกอิชาที่ดูเป็นผู้ใหญ่ กิโมโนของไมโกะจะมีสีสันสดใสฉูดฉาด และปลายสายโอบิที่คาดเอวก็จะปล่อยห้อยยาวด้านหลัง ใส่เกี๊ยะสูง มีปิ่นประดับผมมากมาย ถ้าดูเผิน ๆ อาจสับสนกับการแต่งตัวของโอ็ยรันซึ่งเป็นนางคณิกาชั้นสูง แต่ดูดี ๆ จะพบว่าไม่เหมือนกัน
ที่เกอิชามีภาพลักษณ์ว่าขายบริการ อาจเป็นเพราะในสมัยก่อนที่จะมีกฎหมายห้ามค้าประเวณีใน พ.ศ. 2499 นั้น ทั้งนางคณิกา
(ยูโจะ) และนักแสดงศิลปะอย่างไมโกะและเกอิชาต่างก็ผ่านพิธีเปิดบริสุทธิ์โดยสปอนเซอร์ผู้มั่งคั่ง จากนั้นพวกเธอจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว อย่างนางคณิกาก็จะได้ออกรับแขกเต็มตัว ส่วนไมโกะก็จะได้ไต่เต้าไปอีกขั้นหนึ่ง (ลำดับขั้นของไมโกะดูได้จากทรงผมที่ต่างกัน) ส่วนเกอิชาก็จะมีสปอนเซอร์หนุนหลัง
แม้ยุคนี้จะว่าไมโกะและเกอิชาไม่มีเรื่องทางเพศมาเกี่ยวข้องเลย แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่พวกเธอต้องทำงานกลางคืนซึ่งมักเป็นงานเลี้ยงรับรอง นอกจากจะแสดงศิลปะให้ชมแล้ว ก็ต้องต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นแก่ลูกค้าด้วย เช่น คอยรินเหล้าให้ พูดจารื่นหู สร้างความสบายใจให้ลูกค้า เกอิชาจะคอยอ่านสถานการณ์ว่าแต่ละเวลาควรทำอะไรเพื่อไม่ให้งานกร่อย เช่น เหล้าหมดแล้วก็จะสั่งเพิ่มให้ลูกค้า หรือชวนร่วมการละเล่นแบบญี่ปุ่นสมัยก่อน บางทีอาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของลูกค้ามักเป็นลุง ๆ มาดื่มเหล้าเคล้านารีด้วยกระมัง จึงทำให้ภาพลักษณ์ของไมโกะและเกอิชาออกจะดูเป็นสีเทาในใจหลายต่อหลายคน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วลูกค้ามีทั้งหญิงชายและทั้งวัยหนุ่มสาวด้วยเช่นกัน
การละเล่นแบบเก่าอย่างหนึ่งของไมโกะร่วมกับลูกค้า
ทำไมจึงมีคนอยากเป็นไมโกะ /เกอิชาในยุคนี้
มีบางบ้านที่ลูกสาวบอกว่าอยากเป็นไมโกะ ทำเอาพ่อแม่เครียด ดุว่าไม่ได้เลี้ยงลูกเพื่อให้โตมารินเหล้าให้ผู้ชาย และหาว่าลูกสาวคงแค่อยากแต่งกิโมโนสวย ๆ เดินเฉิดฉายมากกว่าอะไรอื่น หรือบางคนก็สงสัยว่าถ้าชอบพวกศิลปะญี่ปุ่นก็น่าจะเอาดีโดยเป็นนักดนตรี นักขับร้อง หรือนักฟ้อนรำอาชีพไปเลย ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเลือกเป็นไมโกะ/เกอิชาที่ต้องทำงานกลางคืนรับแขก
มีหลายเหตุผลทีเดียวที่ว่าทำไมสาว ๆ เหล่านี้จึงอยากเป็นไมโกะ/เกอิชา อย่างบางคนมีความหลงใหลในเกียวโตเอามาก ๆ อยากเกิดมาเป็นคนเกียวโตแท้ ๆ คิดว่าถ้าเป็นไมโกะ/เกอิชาก็จะได้ใช้ชีวิตแบบคนเกียวโต หรือบางคนก็หลงใหลในขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ยึดในสังคมแบ่งชนชั้น เคร่งครัดมารยาท และไมโกะ/เกอิชาก็ถือเป็นอาชีพที่ได้อยู่ใกล้ชิดประวัติศาสตร์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ อีกทั้งยังได้เห็นโลกอีกแบบที่คนภายนอกไม่รู้จัก จึงอยากอยู่ในสังคมนั้นบ้าง
บางคนก็เคยได้พบและคุยกับไมโกะหรือเกอิชามาก่อน พอเห็นพวกเธอแล้วเกิดความชอบใจ เลยนึกอยากทำอาชีพเดียวกันขึ้นมาบ้าง ในขณะที่บางคนก็โตมาในครอบครัวที่ยายและแม่ต่างก็เคยเป็นเกอิชาจึงยึดอาชีพนี้ต่อมา หรือบางคนก็รู้สึกว่าอยู่บ้านหรือโรงเรียนไม่มีความสุข เลยอยากมาหาที่ที่ตัวเองจะได้อยู่อย่างสบายใจ
กว่าจะได้เป็นไมโกะ
กว่าจะได้เป็นไมโกะหรือเกอิชานั้นไม่ง่าย ก่อนอื่นก็ต้องไปสมัครกับสังกัด ถ้าเขารับแล้วก็จะได้อยู่กินที่นั่นไปเลย ช่วงแรกนี้พวกเธอจะยังไม่ได้เป็นไมโกะ แต่เป็นเด็กฝึกหัดเพื่อเป็นไมโกะอีกทีเรียกว่า “ชิโคหมิ” (仕込み) ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 1 ปี ต้องช่วยทำงานบ้าน รับใช้เจ้าของร้านและรุ่นพี่โดยไม่มีเงินเดือน แต่จะได้รับค่าขนมบ้างเล็กน้อย
หากไม่ได้เป็นคนเกียวโต เด็กฝึกหัดเหล่านี้จะต้องฝึกพูดสำเนียงท้องถิ่นของเกียวโตให้ได้คล่องก่อน นอกนั้นก็ต้องฝึกฝนพื้นฐานของการเป็นเกอิชา ซึ่งได้แก่ การวางตัว กิริยาท่าทาง มารยาท การฟ้อนรำ และเรียนดนตรีญี่ปุ่นซึ่งประกอบไปด้วย ชามิเซ็น ขลุ่ย กลองเล็ก กลองใหญ่ ทั้งยังต้องหัดชงชาและจัดดอกไม้อีกด้วย
พอสิ้นสุดระยะเวลาการเป็นชิโคหมิ ก็จะได้เป็น “หมินาไร” (見習い) อีกประมาณ 1 เดือน ช่วงนี้ก็ต้องฝึกจริงโดยติดตามเกอิชารุ่นพี่ไปทำงานข้างนอก เมื่อไหร่ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้วว่าผ่าน ถึงค่อยได้เป็นไมโกะ
วันหนึ่ง ๆ ของไมโกะนั้นจะทั้งยุ่งทั้งเหนื่อย เพราะต้องหมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตกเย็นแต่งหน้าทำผมและสวมกิโมโนซึ่งกินเวลาราว 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงติดตามเกอิชารุ่นพี่ไปยังร้านอาหารตามที่ลูกค้าจ้างวาน บางคืนต้องไป 2-3 ร้านก็มี กว่าจะเลิกก็หลังเที่ยงคืนไปแล้ว จากนั้นจึงกลับมายังที่สังกัดของตน กว่าจะถอดกิโมโน ล้างเครื่องแต่งหน้าออก และได้เข้านอนก็หมดเวลาไปมาก ชีวิตของไมโกะจะวนอยู่อย่างนี้ทุกวัน จึงเป็นงานที่เหนื่อยล้าทีเดียว
ด้วยความที่ไมโกะมีชีวิตที่ขลุกอยู่กับการฝึกหัดตลอดวัน และแต่งตัวออกไปทำงานเฉพาะตอนกลางคืน ถ้าหากพบเจอไมโกะแต่งองค์ทรงเครื่องครบครันอยู่ข้างนอกในเวลากลางวัน นั่นอาจไม่ใช่ไมโกะตัวจริง แต่เป็นไมโกะคอสเพลย์ที่เช่าชุดมาและทางร้านแต่งให้
อาจมีคนสงสัยว่าทำไมไมโกะ/เกอิชาต้องทาหน้าขาว ๆ ด้วย เหตุผลคือสมัยโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้นั้น กลางคืนต้องอาศัยแสงเทียน การทาหน้าขาวจะช่วยขับให้เห็นใบหน้าได้ชัดในแสงไฟสลัว ๆ นั่นเอง
ไมโกะ/เกอิชาที่ลดน้อยลงในปัจจุบัน
อาชีพไมโกะ/เกอิชานี้มองในแง่หนึ่งก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่รักษาสืบทอดวัฒนธรรมของญี่ปุ่นยุคเก่าเอาไว้ และยังคงไว้ซึ่งการต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นแบบญี่ปุ่น แต่เดี๋ยวนี้เกอิชาก็ลดลงจากเมื่อก่อนมาก
เหตุผลหนึ่งก็คงมาจากการฝึกหัดที่เข้มงวดและความเหนื่อยล้า ซึ่งคนยุคนี้อาจจะอดทนได้ยากกว่าคนยุคก่อน กว่าจะเป็นเกอิชาที่ประสบความสำเร็จได้นั้น บางคนก็ว่าผ่านการร้องไห้จนน้ำตาแทบเป็นสายเลือดมาแล้ว จึงมีคนบอกว่าถ้าแค่หลงใหลใฝ่ฝันอยากเป็นไมโกะ/เกอิชา แต่ไม่มีกึ๋นจริง ไม่สู้ ไม่อดทน ก็อยู่ไม่รอด หลายคนถอดใจไปตั้งแต่ตอนเป็นฝึกหัดหรือตอนเป็นไมโกะก็มี
เกอิชานั้นเป็นอาชีพที่สามารถทำไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีเกษียณอายุ เกอิชาสูงวัยก็มีไม่น้อย แต่ก็มีเกอิชาจำนวนมากที่ลาออก เพราะอยากไปทำอย่างอื่นบ้าง หรือไม่ก็ไปมีเหย้ามีเรือน ที่จริงแต่งงานแล้วก็ยังทำอาชีพนี้ได้อยู่ แต่ก็ค่อนข้างยากเพราะต้องเป็นงานที่ต้องทำตอนกลางคืน ครอบครัวอาจจะไม่สะดวกใจเท่าไรนัก
อีกเหตุผลหนึ่งคือความต้องการไมโกะ/เกอิชาลดลง น่าจะเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจการละเล่นแบบโบราณ หรือชื่นชอบการแสดงแบบยุคก่อนน้อยลงมาก นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็ใช่ว่าลูกค้าทั่วไปจะมีโอกาสได้รับประทานอาหารในร้านที่ไมโกะ/เกอิชามาแสดง เพราะร้านอาหารเหล่านี้มักรับเฉพาะลูกค้าประจำ ส่วนลูกค้าใหม่ต้องได้รับการแนะนำจากลูกค้าประจำก่อนถึงจะมีโอกาสจองร้านและจ้างวานไมโกะ/เกอิชาได้
อย่างไรก็ตามเดี๋ยวนี้บางแห่งก็ลดความเข้มงวดลง อีกทั้งมีบางโรงแรมที่เป็นสื่อกลางติดต่อจองร้านและจ้างไมโกะ/เกอิชาให้ลูกค้าได้ด้วย ช่วยให้อาชีพของพวกเธอสามารถอยู่ได้มากขึ้น
เรื่องของไมโกะและเกอิชาก็มีด้วยประการฉะนี้ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.