xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องเขียนญี่ปุ่นที่เป็นมากกว่าของใช้ธรรมดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก career.joi.media
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ชอบเครื่องเขียนกันไหมคะ ตัวฉันเองชอบเข้าร้านเครื่องเขียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว พอมาอยู่ญี่ปุ่นก็ยิ่งรู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นเครื่องเขียนสารพัดแบบ แถมแต่ละอย่างยังออกแบบอย่างสวยงามและมีความหมาย ทำให้ความน่าสนใจและความน่าใช้ของเครื่องเขียนนั้น ๆ ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก อดทึ่งไม่ได้กับความคิดสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่นที่สามารถเนรมิตเครื่องเขียนทั่วไปให้มีความแปลกใหม่ไม่น่าเบื่อได้อยู่เสมอ

หากลองไปเดินตามร้านเครื่องเขียนใหญ่ ๆ สักร้านในญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่าลำพังปากกาก็มีนับร้อยชนิดแล้ว ทั้งปากกาที่มีให้เลือกสีหมึกหลายสีหลายเฉด ปากกาที่เขียนแล้วลบได้ ปากกาลูกลื่นที่ขายปลอกปากกาและไส้แยกกัน โดยให้เลือกปลอกสวย ๆ กับไส้ปากกาแบบที่ชอบมาประกอบกันเอง แถมปากกาหลายยี่ห้อยังมีหัวเบอร์ใหญ่-เบอร์เล็กให้เลือกอีกไม่ต่ำกว่าสามขนาดด้วย

ภาพจาก xn--gmqa018oe7n.tokyo
เดี๋ยวนี้ยังมีปากกาที่ทำจากแก้วเป่าด้วยนะคะ เขาออกแบบมาคล้าย ๆ พู่กันเขียนหนังสือแบบโบราณ แต่เป็นแก้วทั้งแท่ง หรือไม่ก็ด้ามเป็นไม้แล้วหัวเป็นแก้ว หัวนี่ยังมีหลายขนาดให้เลือกด้วย ตัวหนังสือที่เขียนออกมาก็จะตัวหนาตัวบางไม่เท่ากัน เวลาจะเขียนต้องเอาปลายปากกานี้จุ่มหมึกก่อนค่อยเขียน พอเขียนไม่ติดก็จุ่มใหม่แบบเดียวกับปากกาคอแร้งที่หลายคนเคยใช้เขียนสมัยเรียน ความสนุกของมันก็คือทำให้เราได้ใส่ใจกับการเขียนอักษรทีละตัว ๆ ถ้าใครชอบอะไรที่เป็นแบบ slow life ก็อาจจะพบความสุนทรีย์ของการเขียนแบบนี้ ว่าแต่ในยุคดิจิตอลอย่างสมัยนี้อย่าว่าแต่เขียนปากกาจุ่มหมึกเลย แม้ปากกาลูกลื่นก็คงหาคนใช้บ่อย ๆ ได้น้อยลงมากแล้ว ก็น่าแปลกใจเหมือนกันที่ญี่ปุ่นเขายังขายของแบบนี้ได้อยู่

ปากกาทำจากแก้ว ภาพจาก 1101.com
อีกอย่างที่ประหลาดใจคือ เวลาไปร้านเครื่องเขียนทีไรจะเห็นกระดาษจดหมายและซองจดหมายสวย ๆ อยู่เสมอ ทั้งที่ยุคนี้น่าจะหาคนเขียนจดหมายได้ยากเต็มที ตัวฉันเองเคยซื้อไว้หลายเซ็ท เพราะเมื่อก่อนเขียนจดหมายบ่อย แต่เดี๋ยวนี้ตั้งแต่มีสมาร์ทโฟนก็แทบไม่ได้แตะอีกเลย แล้วก็ไม่เจอเพื่อนญี่ปุ่นที่เขียนจดหมายหากันในยุคนี้ด้วย เลยอยากทราบเหมือนกันค่ะว่าทำไมญี่ปุ่นยังขายกระดาษจดหมายกับซองจดหมายได้

สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่าน่าสนใจมากคือ สินค้าเครื่องเขียนของญี่ปุ่นหลายอย่างเขาเน้นไอเดียแบบ D.I.Y. และความไม่ซ้ำใคร คือให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่แยกขายเป็นอย่าง ๆ มาประกอบเป็นของใช้ขึ้นมาเอง อย่างเช่น ลูกค้าสามารถผสมสีหมึกปากกาด้วยตัวเองได้ สมมติถ้าอยากได้หมึกสีเขียวมะนาว ก็ให้ผสมสีนั้นสีนี้เข้าด้วยกันในปริมาณที่กำหนดเพื่อทำเป็นไส้ปากกา พอประกอบเข้ากับปลอกปากกาแล้วเขียนดูก็จะได้สีตามที่ต้องการ แค่นี้ก็ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ต่อปากกาธรรมดาด้ามหนึ่งได้แล้ว

ภาพจาก loft.co.jp
หรือสมุดโน้ตทั่วไปอาจไม่มีคนให้ความสนใจเท่าสมุดโน้ตทำเอง บางบริษัทก็เลยทำกระดาษออกมาหลายลาย เช่น กระดาษไม่มีเส้นบรรทัด กระดาษมีบรรทัด กระดาษมีลายตาราง และมีปกหลายแบบให้เลือก ลูกค้าสามารถเลือกกระดาษแบบที่ชอบมาประกอบเข้าด้วยกัน แล้วเย็บเล่มทำเป็นสมุดเล่มบางแบบไม่ซ้ำใคร ทางร้านเขาจะวางตัวอย่างจริงที่ทำไว้ให้ดูด้วย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าพอนึกภาพออกว่าสมุดนี้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร หรือจะเอาสมุดนี่ไปใช้งานอย่างไรได้บ้าง

ถ้าตอนเด็ก ๆ ใครชอบเล่นตรายางลายน่ารัก ก็อาจจะชอบตรายางสารพัดแบบที่มีวางขายในร้านเครื่องเขียน ซึ่งไม่ได้เอาไว้สำหรับให้เด็กเล่นเฉย ๆ แต่สำหรับผู้ใหญ่เอาไว้ใช้งานในออฟฟิศ ตรวจการบ้านเด็ก ประทับลงบนซองจดหมาย บนสมุดไดอารี่ ทำโปสการ์ด ทำ ส.ค.ส. และการ์ดต่าง ๆ ได้ด้วย เป็นการเพิ่มสีสันให้กับการทำงานไปในตัว หรือไม่ก็มีงานอดิเรกเพิ่ม

ภาพจาก creators.yahoo.co.jp
ลวดลายบนตรายางจะออกแบบไว้เก๋ไก๋และมักมีข้อความประกอบ สมมติเป็นตรายางที่ใช้ในออฟฟิศก็จะมีคำว่า “สำคัญ” “เวียน” “ดูแล้ว” “กรุณาประทับตรา” ถ้าแบบที่ครูใช้ตรวจการบ้านเด็กก็จะมีคำว่า “ทำได้ดีมาก” “พยายามอีกนิด” นอกจากนี้ก็มีแบบทั่วไป เช่น “ขอบคุณ” “แล้วพบกันใหม่” “สวัสดีปีใหม่” “สุขสันต์วันเกิด” และยังมีแป้นหมึกอีกหลายยี่ห้อวางขายคู่กัน มีทั้งสีโทนพาสเทล สีสดใส สีมีเงางาม หรือหลากสีในแป้นเดียว อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้ตรายางที่ประทับแล้วกลายเป็นตัวนูน ๆ ขึ้นมาได้อีกด้วย ร้านเครื่องเขียนใหญ่ ๆ มักจะแปะตัวอย่างจริงที่ได้จากการทำตรายางไว้ให้ดู เคยเห็นมีพนักงานจากบริษัทมาสาธิตวิธีทำอยู่ในร้านด้วย พอเห็นว่าตรายางเอามาทำอะไรได้บ้าง ลูกค้าก็จะสนใจอยากลองทำดูบ้าง

ภาพจาก kobe-nagasawa.co.jp
ร้านเครื่องเขียนยังมักวางขาย scrapbook ด้วย scrapbook คือสมุดที่เอาไว้แปะรูปถ่าย ภาพ บัตรต่าง ๆ โดยอาจวาดรูป เขียนข้อความลงไป อย่างบางคนไปเที่ยวมา ก็อาจจะเก็บตั๋วรถไฟหรือภาพถ่ายอะไรน่าสนใจมาแปะ แล้วเขียนข้อความกำกับไว้ เรียกว่าเป็นสมุดบันทึกที่เน้นภาพประกอบก็คงได้ แต่อย่างญี่ปุ่นเขาไม่ยอมขายแค่สมุดเท่านั้น จะขายทั้งทีก็ต้องสร้างสินค้าอื่นประกอบให้ขายพร้อมกันได้ด้วย เช่น สติกเกอร์ที่เหมาะกับ scrapbook หรือมาสกิ้งเทปสีสันและลวดลายสดใส กระดาษโน้ตแผ่นเล็กสวย ๆ อะไรอย่างนี้ และการใช้ปากกาหลากสีก็ช่วยสร้างสีสันให้การเขียนสนุกขึ้น สินค้าประกอบเหล่านี้ทำให้การทำ scrapbook มีความเพลิดเพลินกว่าเดิม เพราะได้ใช้สินค้าน่ารัก ๆ ที่ชอบหลายอย่าง

ตัวอย่าง Scrapbook ภาพจาก kinarino.jp
สินค้าเครื่องเขียนญี่ปุ่นอย่างหนึ่งที่ฉันชอบคือ ป้ายกาวที่ออกแบบเหมือนป้ายลบคำผิด ฉันมักใช้เวลาปิดซองจดหมายน่ะค่ะ บางทีกาวบนซองมันไม่เหนียวพอ ฉันก็ใช้กาวแบบนี้แตะทีละนิดที่ปากซอง สะดวกและง่ายดี โดยส่วนตัวฉันก็คิดว่าสินค้าตัวนี้ก็สมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ผู้ผลิตเขายังพยายามต่อยอดเพิ่มอีกให้ขายได้เรื่อย ๆ เช่น ทำแถบกาวให้มีหลายขนาด ออกแบบให้จับกระชับมือ ใช้ลายตัวการ์ตูนที่นิยม โดยที่ตัวสินค้าเองจริง ๆ ก็เป็นป้ายกาวทั่วไปเหมือนเดิม ฉันเดาว่าถ้าผู้ผลิตขายสินค้าหน้าตาเดิม ๆ อยู่ตลอกศก โดยไม่เปลี่ยนแพ็คเกจ สีสัน รูปร่าง ลวดลายอะไรให้มีความเตะตา ดึงดูดใจลูกค้าอยู่เรื่อย ๆ ลูกค้าก็คงเบื่อ ผู้ผลิตก็จะเพิ่มยอดขายยาก เขาก็เลยไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่คอยหาไอเดียใหม่ ๆ มาเพิ่มมูลค่าให้สินค้าอยู่เสมอ

ป้ายกาว ภาพจาก shinpuku.jp
การออกไอเดียให้สินค้าแต่ละอย่างมีความหมายอย่างนี้ทำให้ผู้ผลิตขายของง่ายขึ้น ส่วนคนซื้อก็ถูกใจ เอาแค่ตอนไปเดินดูสินค้าก็สนุกแล้วค่ะ ฉันว่าญี่ปุ่นเก่งตรงที่ทำให้สินค้าทั่วไปดูพิเศษและมีราคา และยังทำให้คนหลงซื้อของที่ไม่มีความจำเป็นได้อย่างง่ายดายเสียด้วย บางทีไปเดินเล่นฆ่าเวลาเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดว่ามีของอะไรจำเป็นต้องซื้อ แต่พอได้เดินดูแล้ว ก็เผลอซื้ออะไรติดไม้ติดมือเข้าจนได้ แต่เอาเข้าจริงอาจจะไม่ค่อยได้ใช้ด้วยซ้ำ

ฉันเคยไปเดินดูร้านเครื่องเขียนตอนรู้สึกเบื่อ ๆ มองหาว่าจะมีอะไรน่าสนใจไหม แล้วก็ไปหยุดอยู่ตรงมุมทำสมุดโน้ตแบบเลือกกระดาษมาประกอบกันเองอย่างที่เล่าไว้ข้างต้น ฉันเผลอเลือกกระดาษเสียเพลินอยู่นานเลย พอเลือกได้แล้วก็ชักเอะใจว่า เอ๊ะ…ฉันจะเอาสมุดโน้ตนี่ไปทำอะไรกันนะ ตัวเองก็ไม่ได้เป็นนักเรียนนักศึกษาแล้ว ไม่รู้จะเอาไปจดอะไรดี สุดท้ายเลยวางกระดาษแต่ละแผ่นคืนเข้าที่ แหม…เห็นอะไรน่ารัก ๆ แล้วเผลอตัว เกือบเสียสตางค์เข้าให้แล้วซิ บางคนเขาว่าตอนเบื่อ ๆ นี่ห้ามช้อปปิ้งนะคะ ไม่งั้นจะเผลอซื้ออะไรก็ไม่รู้มาเต็มไปหมด กระเป๋าสตางค์จะแฟบเอาไม่รู้ตัว

พอหันมาดูสินค้าเครื่องเขียนของอเมริกาแล้ว ฉันก็แอบถอนหายใจหลาย ๆ เฮือก เพราะหาของน่ารักยากมากค่ะ ที่นี่เหมือนเขาจะนิยมพวกสีฉูดฉาด อย่างเขียวก็เขียวปี๋ แดงก็แดงแจ๋ สินค้าแบบเดียวกันจะไม่ค่อยมีความหลากหลายหรือความแปลกใหม่ให้เลือกมากนัก นาน ๆ ถึงจะเจอสักที คาดว่าคงผลิตมาให้คนทุกกลุ่มใช้งานได้โดยไม่จำแนกกลุ่มเป้าหมายเจาะจง หรือไม่ก็เวลาออกแบบผลิตภัณฑ์อาจไม่ได้มีมุมมองที่คิดแทนว่าลูกค้ามองหาอะไรในสินค้า หรือคิดว่าจะต่อยอดสินค้าอย่างไรให้ลูกค้าชอบสินค้านั้นขึ้นมา มองในมุมนี้แล้วก็รู้สึกว่านิสัยคนญี่ปุ่นที่มักคิดแทนคนอื่น บวกกับมุมมองที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม คงจะมีส่วนอยู่มากทีเดียวในการสร้างสรรค์สินค้าญี่ปุ่นให้น่าใช้

ถ้าพ้นช่วงโควิดแล้วเพื่อนผู้อ่านมีโอกาสไปญี่ปุ่น ก็ลองไปเดินร้านเครื่องเขียนดูนะคะ แต่ต้องระวังใจตัวเองให้ดีเชียว ไม่งั้นอาจหน้ามืดและทรัพย์จางกระทันหันได้ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น