xs
xsm
sm
md
lg

น่าอร่อยจัง! "น้ำแกงปีใหม่" หลากชนิดของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลองทายเล่น ๆ ดูว่า “โอะโซนิ” แต่ละชนิดมาจากท้องถิ่นใด ภาพจาก 6128080.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีปีใหม่ค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ปีใหม่แล้วรู้สึกสดชื่นกันไหมคะ พวกฉันไม่มีโอกาสกลับญี่ปุ่นกันมาสองปีแล้ว เลยอดรับประทาน “โอะเซจิ” ที่เป็นอาหารปีใหม่สารพัดเมนู ครั้นจะทำรับประทานกันเองอยู่สองคนก็ดูจะเป็นงานช้างไม่คุ้มกัน เลยคิดว่าจะลองทำ “น้ำแกงปีใหม่” ของญี่ปุ่นรับประทานแทน น้ำแกงชนิดนี้อาจมีหน้าตาต่างกันไปคนละเรื่องตามแต่ละภูมิภาค บางอย่างเห็นแล้วชวนน้ำลายหกเลยละค่ะ

น้ำแกงปีใหม่ของญี่ปุ่นที่ว่านี้เรียกว่า “โอะโซนิ” (お雑煮) เป็นอาหารเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยมุโรมาจิแล้ว (ตรงกับไทยช่วงกลางสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าในสมัยอยุธยาตอนกลาง) โดยเป็นหนึ่งในอาหารที่ชนชั้นสูงและพวกซามูไรรับประทานแกล้มเหล้ากันในงานเลี้ยง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องรับประทานตั้งแต่งานเลี้ยงเริ่ม จึงถือกันว่าโอะโซนิเป็นอาหารมงคล และต่อมาโอะโซนิก็แพร่หลายไปในหมู่ประชาชนด้วย

ทำไมจึงต้องรับประทานโอะโซนิกันในวันขึ้นปีใหม่? คือคนญี่ปุ่นมีการไหว้เทพเจ้าปีใหม่ในวันขึ้นปีใหม่ ของที่ไหว้ก็ได้แก่ โมจิ พืชผัก ผลไม้ และอาหารทะเล เป็นต้น เชื่อกันว่าของที่ไหว้เจ้าแล้วจะมีพลัง เมื่อรับประทานก็จะได้รับพลังจากเทพปีใหม่ไปด้วย ไหว้เสร็จจึงเอาของไหว้บางอย่างมาทำโอะโซนิด้วยน้ำแรกและไฟแรกของปี ถือว่าเป็นอาหารมงคล

ของไหว้ ภาพจาก ameblo.jp
โอะโซนิเป็นน้ำแกงใสบ้างข้นบ้าง แล้วแต่ว่าจะเป็นโอะโซนิของจังหวัดใด เครื่องที่ใส่ก็แล้วแต่ความนิยมหรือแล้วแต่ชนิดอาหารที่มีเยอะในแต่ละท้องถิ่น เช่น ผักใบเขียว แครอท ไชเท้า เห็ด สาหร่าย เนื้อไก่ เนื้อหมู ปลา กุ้ง หอย ไข่ปลา หัวบุก เต้าหู้ วิธีการปรุงรสก็แตกต่างกันไปอีกเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหน สิ่งที่โอะโซนิทุกประเภทต้องมีเหมือน ๆ กันก็คือโมจิ (ก้อนข้าวเหนียว)

เนื่องจากเทพเจ้าปีใหม่เป็นเทพแห่งข้าวด้วย โมจิที่ทำจากข้าวก็เลยเป็นอะไรที่เหมือนมีพลังศักดิ์สิทธิสถิตอยู่ รับประทานแล้วก็จะได้รับพลังในการดำรงชีวิตไปด้วย คงเพราะอย่างนี้เองช่วงปีใหม่ที่ญี่ปุ่นจึงนิยมรับประทานโมจิกัน ไม่ว่าจะเป็นโมจิย่างแล้วเอาสาหร่ายห่อก่อนรับประทาน หรือจะใส่ในน้ำแกงปีใหม่ หรือโมจิตำ (餅つき โมจิสึกิ) ที่มาจากการตำข้าวเหนียวสุกจนเนียนเป็นก้อนหนานุ่ม รับประทานกับถั่วแดงหวานบด หรือผงคินาโกะ (ผงถั่วเหลือง) เป็นของหวาน

โดยส่วนตัวแล้วฉันชอบโมจิตำเอามาก ๆ แต่หารับประทานยาก เพิ่งทราบว่าโมจิชนิดนี้สามารถทำเองได้อยู่เหมือนกันค่ะ คือเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ ๆ มาตำด้วยสาก พอสากเหนียวก็จุ่มน้ำแล้วตำไปเรื่อย ๆ จนข้าวเหนียวค่อนข้างเนียนและหนืด ยืดได้เหมือนชีสบนหน้าพิซซ่า เสร็จแล้ววางลงบนถาดที่โรยแป้งข้าวเจ้าไว้ แล้วปั้นเป็นก้อน รับประทานกับถั่วแดงหวานบด หรือจะใส่ในถั่วแดงต้มหวาน ๆ ก็ได้ ลองทำดูนะคะ เห็นคนญี่ปุ่นที่เขาทำบอกว่าอร่อยทีเดียว แต่อย่าติดใจจนรับประทานมากไป เพราะเดี๋ยวทั้งน้ำตาลทั้งแคลอรี่พุ่งแน่นอน

โมจิตำ (โมจิสึกิ) ภาพจาก joetsu-tokusan.jp
ถ้าไม่อยากทำเอง ก็สามารถซื้อโมจิแห้งก้อนสี่เหลี่ยมได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น แต่อาจจะแพงหน่อยและมีเยอะเกินความต้องการ ตอนฉันเห็นห่อโมจิครั้งแรกรู้สึกไม่เชื่อสายตาว่าก้อนสี่เหลี่ยมแบน ๆ สีขาวที่ดูคล้ายยางลบแข็ง ๆ นี่จะเป็นโมจิไปได้อย่างไร เพราะมันดูเหมือนก้อนพลาสติกมากกว่า ฉันพยายามอ่านข้อมูลที่เขาเขียนไว้บนห่อให้แน่ใจหลายครั้งว่านี่ของกินจริง ๆ ไม่ใช่โมจิจำลองของเล่น แต่ก็ไม่กล้าซื้อมาอยู่ดี มาเชื่อเอาว่ากินได้จริงก็ตอนคุณยายย่างเจ้าโมจิที่ว่าให้รับประทานตอนปีใหม่นี่แหละค่ะ

สำหรับโมจิย่างที่ใส่ในโอะโซนิของแต่ละภูมิภาคก็ไม่เหมือนกัน มีอยู่สองแบบคือแบบกลม (丸餅 มารุโมจิ) กับแบบสี่เหลี่ยม (角餅 ขะคึโมจิ) คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นกับโมจิแบบสี่เหลี่ยมมากกว่า แต่ที่จริงโมจิดั้งเดิมของญี่ปุ่นเป็นแบบกลม และเป็นที่นิยมกันในภูมิภาคคันไซโดยส่วนใหญ่ ว่ากันว่าทรงกลมทำให้นึกถึงคำว่า “円満” (เอ็ม-มัง) ซึ่งหมายถึง ความกลมกลืน สมบูรณ์พูนสุข ความพึงพอใจ และความสมปรารถนา โมจิแบบกลมก็เลยกลายเป็นของมงคลสำหรับชาวคันไซ ลักษณะเด่นคือจะรับประทานโดยไม่ย่าง แต่ต้มลงไปในโอะโซนิด้วยเลย

ส่วนโมจิแบบสี่เหลี่ยมจะเป็นที่นิยมในแถบคันโต เพราะทำง่ายกว่าและทำได้เยอะในคราวเดียว โดยทำเป็นก้อนแล้วตัดเป็นชิ้น ๆ นอกจากนี้ยังขนส่งง่ายกว่าด้วยเลยเป็นที่นิยมมากขึ้นในหลายจังหวัดทางตะวันออกของญี่ปุ่นด้วย

โมจิแห้งก้อนสี่เหลี่ยมบรรจุหีบห่อที่หาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ภาพจาก kakakumag.com
สำหรับตัวน้ำแกงเองนั้น ทางฝั่งคันโตนิยมน้ำแกงใสที่ปรุงด้วยโชยุ (ซีอิ๊วญี่ปุ่น) ส่วนทางคันไซนิยมน้ำแกงที่ใส่มิโสะ (เต้าเจี้ยว) โดยในเกียวโตจะนิยมใช้เป็นมิโสะขาว ส่วนท้องถิ่นริมฝั่งทะเลและแถบภูเขาบางแห่งนิยมเป็นมิโสะแดง ปัจจุบันโอะโซนิที่ใช้มิโสะขาวมีเพียงบางท้องถิ่นของคันไซเท่านั้น ว่ากันว่าโอะโซนิดั้งเดิมเป็นแบบมิโสะขาว เพราะเริ่มมาจากแถบคันไซอย่างเกียวโต แต่ต่อมาเป็นที่รู้จักในหมู่ซามูไรแถบคันโตด้วย แต่พวกเขามองว่าคำว่า “มิโสะ” ทำให้นึกถึงคำว่า “มิโสะ-งะ-สึ-ขุ” (みそがつく) ที่หมายถึง “ทำผิดพลาดเลยถูกประเมินแง่ลบ” เลยไม่ใส่มิโสะลงในโอะโซนิ

แม้จะเป็นประเทศเดียวกัน แต่ต่างภูมิภาคก็ต่างความคิดต่างการกระทำเลยนะคะ ซึ่งจะว่าไปก็มีข้อดีอยู่เหมือนกันเพราะทำให้เกิดความหลากหลาย โอะโซนิก็เลยกลายเป็นอาหารพื้นเมืองที่มีลักษณะเด่นขึ้นมาตามแต่ละท้องถิ่น ดูคล้ายจะบอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นนั้นอย่างกับคำขวัญประจำจังหวัดเลยทีเดียว มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละแห่งมีโอะโซนิอย่างไหนกันบ้าง

โอะโซนิแถบกรุงโตเกียว จะนิยมน้ำแกงใส ปรุงรสด้วยโชยุและมิริน (เหล้าทำอาหารรสหวาน) เน้นโมจิสี่เหลี่ยมย่าง เนื้อไก่ ผักกวางตุ้ง เห็ดหอม และแครอท โอะโซนิชนิดนี้เรียกกันว่า “โตเกียวเอโดะโซนิ” (東京江戸雑煮) จังหวัดอื่นในแถบคันโตที่ทำโอะโซนิคล้ายกันก็มี บางทีจึงเรียกกันว่าเป็น “คันโตฟูโซนิ” (関東風雑煮 โอะโซนิแบบคันโต) ด้วยเช่นกัน

ภาพจาก yamaki.co.jp
โอะโซนิของเกียวโต เมืองเก่าของญี่ปุ่นแต่ก่อน ใช้มิโสะขาว ใส่เผือก ไชเท้า และแครอท นิยมหั่นเป็นวงกลมเพื่อสื่อความหมายมงคลว่า “ครอบครัวปรองดอง” หรือ “สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นอุปสรรค”

ภาพจาก jalan.net
โอะโซนิของจังหวัดนารา มีชื่อเล่นว่า “คินาโกะโซนิ” (きな粉雑煮) หน้าตาเหมือนของเกียวโต แต่ต่างกันที่จะจิ้มโมจิกับผงคินาโกะผสมน้ำตาลก่อนรับประทาน เก๋ไก๋จริง ๆ

ภาพจาก gurutabi.gnavi.co.jp
โอะโซนิของจังหวัดคางาวะ เรียกว่า “อันโมจิโซนิ” (あん餅雑煮 โอะโซนิโมจิไส้ถั่วแดง) หน้าตาคล้ายโอะโซนิของเกียวโตอีกเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่โมจิใส่ไส้ถั่วแดงหวาน โรยสาหร่ายอาโอโนริ ว่ากันว่าสมัยก่อนน้ำตาลราคาแพง ชาวบ้านเลยคิดว่าปีใหม่ทั้งทีขอกินของแพงบ้างนิดหน่อยก็แล้วกัน เลยเป็นที่มาของโอะโซนิชนิดนี้

ภาพจาก atpress.ne.jp
โอะโซนิของจังหวัดนีงาตะ เป็นน้ำแกงใสใส่โมจิสี่เหลี่ยมย่าง เน้นปลาแซลมอนกับไข่ปลาแซลมอน บางทีก็เอาไข่ปลาแซลมอนไปลวกก่อน แต่บางแห่งก็นิยมแบบไม่ลวก

ภาพจาก jalan.net
โอะโซนิที่มีเฉพาะในบางท้องถิ่นของจังหวัดทตโทริ เรียกกันว่า “อาซุกิโซนิ” (小豆雑煮 โอะโซนิถั่วแดง) หน้าตาเหมือนขนมถั่วแดงต้มใส่โมจิของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “เซ็นไซ” (ぜんざい) แต่ไม่หวานจัดเท่า แต่บางครอบครัวก็นิยมปรุงให้มีรสเค็มแทนรสหวาน

ภาพจาก gakumado.mynavi.jp
โอะโซนิของจังหวัดอิวาเตะเป็นน้ำแกงใส ใส่โมจิสี่เหลี่ยมย่าง แครอท ผัก นิยมใส่อาหารทะเล เช่น หอยเป๋าฮื้อ กุ้ง หรือลูกชิ้นปลาหั่นแว่น(คามาโบโกะ) และโรยด้วยไข่ปลาแซลมอน เวลาจะรับประทานให้เอาโมจิจิ้มซอสวอลนัทบดที่ปรุงรสด้วยโชยุและน้ำตาล

ภาพจาก daiei.co.jp
โอะโซนิที่โดดเด่นสะดุดตาด้วยปลาทั้งตัวย่างวางพาดอยู่บนชาม คือ โอะโซนิของเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ เครื่องประกอบไปด้วยผักซอยเป็นแท่ง ได้แก่ ไชเท้า แครอท และรากไม้ที่เรียกว่า “โกะโบ” ตามด้วยโมจิย่าง ใบเซริ(คึ่นช่ายพันธุ์หนึ่ง) ไข่ปลาแซลมอน และปลาฮาเสะ (ปลาชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ตามน้ำกร่อย ลักษณะคล้ายปลาดุกแต่ตัวเล็ก)

ภาพจาก jalan.net
เป็นอย่างไรบ้างคะน้ำแกงปีใหม่ของญี่ปุ่น แม้จะเป็นอาหารชนิดเดียวกันแต่หน้าตาไม่เหมือนกันเลยในแต่ละท้องถิ่น เป็นวัฒนธรรมปีใหม่ของญี่ปุ่นอย่างหนึ่งที่มีความหลากหลายและน่าสนใจมาก ที่จริงยังมีโอะโซนิอีกหลายแบบ เสียแต่ว่าพื้นที่ไม่พอเลยไม่อาจเอามาให้ชมได้ครบครัน แต่ก็หวังว่าที่หยิบยกมานำเสนอจะเป็นความรู้พอหอมปากหอมคอสำหรับเพื่อนผู้อ่านได้บ้าง

ขอให้ปีนี้เป็นปีที่มีความสุขสำหรับทุกท่านค่ะ แล้วพบกันเช่นเคยในสัปดาห์หน้านะคะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น