xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคริสต์มาสญี่ปุ่นต้องฉลองกับแฟน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก grapee.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน แม้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นชาวคริสต์ แต่กลับฉลองคริสต์มาสกันอย่างครึกครื้นทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้เลยทีเดียว แต่ในขณะที่ประเทศตะวันตกฉลองคริสต์มาสกันภายในครอบครัว คนญี่ปุ่นกลับนิยมฉลองกับคนรักอย่างโรแมนติก จนมีคนขนานนามว่าคริสต์มาสคือวันวาเลนไทน์ที่แท้จริงของญี่ปุ่น

เทศกาลคริสต์มาสในญี่ปุ่นเต็มไปด้วยสีสัน ทั้งการตกแต่งประดับประดาตามเทศกาล สินค้าช่วงคริสต์มาส ตลาดคริสต์มาส และยังมีของที่ต้องรับประทานเฉพาะช่วงคริสต์มาสอีกต่างหาก ได้แก่ เค้กคริสต์มาส ซึ่งถ้าเป็นแบบฉบับดั้งเดิมก็จะเป็น “สตรอเบอรี่ชอตเค้ก” แต่เดี๋ยวนี้ก็มีเค้กหลายแบบให้เลือก มักขายเป็นปอนด์หรือเป็นโรลเค้กก้อนใหญ่

นอกจากนี้ยังต้องรับประทานไก่ทอดเคเอฟซีซึ่งว่ากันว่าเป็นอาหารนัมเบอร์วันของคริสต์มาสญี่ปุ่น และต้องสั่งจองล่วงหน้าด้วยไม่งั้นอาจไม่มีให้รับประทานเมื่อถึงวันเทศกาล อีกอย่างซึ่งเป็นที่นิยมเวลาจัดคริสต์มาสปาร์ตี้ก็คือพิซซ่า จึงเป็นที่ประหลาดใจในหมู่คนตะวันตกว่าคนญี่ปุ่นรับประทานอาหารขยะกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในวันคริสต์มาส

ภาพจาก wine-mellow.com
ในขณะเดียวกันชาวตะวันตกจะนิยมรับประทานอาหารหลายชนิดประกอบกัน เช่น ไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง อบทั้งตัว เนื้อสัตว์/แฮมก้อนใหญ่อบ อาหารอบในถาด(casserole) มันบด ขนมปัง สลัด และรับประทานเค้กผลไม้หรือพายเป็นของหวาน แต่อาจแตกต่างปลีกย่อยไปตามแต่ละประเทศหรือวัฒนธรรม บางแห่งก็มีอาหารทะเลหรือบาร์บีคิวด้วย และคงเพราะเป็นช่วงที่จัดหนักเรื่องอาหาร ประกอบกับคนหยุดพักผ่อนกันยาว ทำให้คนฝรั่งหลายต่อหลายคนมีน้ำหนักพุ่งกันในช่วงเทศกาลนี้เอง แล้วก็ไปตั้งปณิธานออกกำลังกายกันเอาตอนปีใหม่

ว่ากันว่าญี่ปุ่นเริ่มฉลองคริสต์มาสกันมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกแล้ว โดยในสมัยไทโช (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ของไทย) และตอนต้นของสมัยโชวะ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7-9) วันคริสต์มาสจะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นวันเที่ยวเล่นสนุกของผู้ชาย ในขณะที่แม่บ้านอยู่บ้านดูแลลูกไป (เศร้า…) พอหลังสงคราม คริสต์มาสก็ค่อย ๆ กลายมาเป็นวันที่ฉลองกันในครอบครัว โดยคุณพ่อจะซื้อของขวัญกลับบ้านมาให้ลูก ต่อมาเมื่อสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากขึ้น คริสต์มาสก็กลายเป็น “วันที่ต้องอยู่กับคนรัก” ตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา

สาเหตุที่คริสต์มาสกลายมาเป็นวันสำหรับคู่รักได้ ก็เพราะบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องพากันปั่นกระแสเพื่อทำรายได้นั่นเอง โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่นั้น นิตยสารผู้หญิงชื่อดังฉบับหนึ่งลงสกู๊ปพิเศษว่าช่วงคริสต์มาสต้องใช้เวลาอย่างโรแมนติกกับคนรัก เช่น รับประทานอาหารร้านหรู พักโรงแรมหรู แลกของขวัญหรู ๆ อีกทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร เครื่องสำอาง และเสื้อผ้าต่างก็มองว่าจะให้เทศกาลนี้ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ก็ต้องประโคมเรื่องการใช้เวลากับคนรักมากกว่าการอยู่กับครอบครัวหรือญาติ ๆ จึงมีการสร้างภาพลักษณ์ใหม่นี้ผ่านโทรทัศน์ นิตยสาร และสื่อต่าง ๆ กลายเป็นการตลาดที่ได้รับผลตอบรับดีมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพจาก kodomomama.jp
คริสต์มาสของญี่ปุ่นอาจเป็นช่วงโรแมนติกที่สุดของปีมากกว่าวาเลนไทน์เสียอีก อีกทั้งวาเลนไทน์ของญี่ปุ่นก็เป็นวันที่ผู้หญิงบอกรักผู้ชาย ไม่ใช่ผู้ชายบอกรักผู้หญิง และสำหรับคู่รักชาวญี่ปุ่นแล้ววันคริสต์มาสอีฟก็ออกจะสำคัญกว่าวันคริสต์มาสด้วย คือเป็นวันที่ทั้งหญิงชายแสดงความรักต่อกันในแบบเดียวกับวาเลนไทน์ของตะวันตก และหลายคู่ก็วางแผนล่วงหน้าหลายเดือนสำหรับวันนี้

สิ่งที่คู่รักทำในวันคริสต์มาสอีฟ ได้แก่ การแลกของขวัญซึ่งกันและกัน รับประทานอาหารในร้านหรูหรือร้านโรแมนติก ซึ่งก็ต้องจองกันล่วงหน้าหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ไปเดินดูการประดับไฟคริสต์มาสในย่านต่าง ๆ หรือเดินดูตลาดคริสต์มาส นอกจากนี้คริสต์มาสอีฟยังมีภาพลักษณ์อีกอย่างคือ เป็นวันที่ช่วงเวลาของคู่รักจะจบลงบนเตียงในยามค่ำคืนโดยเฉพาะตามโรงแรมหรู ๆ โดยที่มาก็คาดว่ามาจากการปั่นกระแสของนิตยสารที่เล่ามาข้างต้นนี้เอง

ตลาดคริสต์มาส ภาพจาก eee-plan.com
อาจเป็นเพราะคนญี่ปุ่นจะกลับบ้านเกิดและอยู่ร่วมกับครอบครัวในช่วงปีใหม่อยู่แล้ว คริสต์มาสก็เลยเป็นช่วงเวลาสำหรับคู่รักมากกว่า แต่คนที่ไม่มีคนรักก็จะฉลองกับเพื่อนฝูงแทน บางคนก็ว่าคริสต์มาสอีฟคือวันของคู่รัก ส่วนวันคริสต์มาสคือวันสำหรับเพื่อน และปีใหม่คือวันสำหรับครอบครัว แต่บางคนที่ไม่ได้จริงจังขนาดนั้นก็อาจเลือกวันคริสต์มาสอีฟหรือวันคริสต์มาสก็ได้ที่จะอยู่กับคนรัก เพราะอย่างไรก็เป็นวันทำงาน แถมคนญี่ปุ่นก็มักทำงานจนดึกดื่น จึงอาจหาโอกาสเจอตรงกันยาก บางคนก็อาจจะฉลองกับเพื่อนหรือที่บ้านแทนถ้าไม่สามารถเจอคนรักได้ในช่วงนี้

ช่วงคริสต์มาสยังอาจเป็นวันที่คนโสดเหงาใจเป็นพิเศษ เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่คู่รักเต็มไปหมดจนไม่อยากโผล่ออกไปเดินอยู่นอกบ้านคนเดียว อย่าง “Christmas Song” เพลงฮิตของวง Back Number ก็มีเนื้อหาที่เล่าถึงความรู้สึกและบรรยากาศในวันคริสต์มาสของญี่ปุ่นอยู่บ้าง ประมาณว่าหนาว ๆ แล้วอยากมีความรัก เสียงระฆังเอย เสียงเพลงคริสต์มาส และแสงไฟพากันสร้างบรรยากาศให้คิดถึงคนที่แอบรัก แถมมองไปทางไหนก็มีแต่คู่รัก เห็นแล้วได้แต่แอบอิจฉา คงเพราะบรรยากาศแบบนี้เองถึงทำให้หลายคนรู้สึกว่าอยากมีคนรักก่อนถึงวันคริสต์มาส



แต่เคยมีบางแห่งเขาทำสำรวจคนหนุ่มสาวที่ยังไม่แต่งงานประมาณ 2 พันกว่าคนว่าช่วงคริสต์มาสมีแผนอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าคนที่ตอบว่าอยู่กับคนรักหรือคนที่ถูกใจมีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น นอกนั้นก็อยู่กับคนอื่นบ้าง อยู่คนเดียวบ้าง ไปร่วมอิเวนต์ต่าง ๆ บ้าง บางคนก็ฉลองกับครอบครัวเป็นประจำทุกปี ใช่ว่าทุกคนต้องอยู่กับคนรักกันหมด จึงมีคนสรุปว่าไม่จำเป็นต้องเครียดถ้าตอนคริสต์มาสจะไม่มีคนรัก

ยิ่งในปีที่ผ่านมาโควิดก็ทำให้คนต้องอยู่กับบ้านในช่วงคริสต์มาสกันเป็นส่วนใหญ่ น้อยคนที่จะได้ฉลองกับคนรักหรือเพื่อนฝูง ก็มีบางคนที่บอกว่าดีเหมือนกัน เพราะไม่ต้องเครียดหากไม่มีแฟน บ้างก็ว่าไม่ต้องฝืนไปฉลองกับเพื่อนถ้าโดนชวน และในปีนี้โควิดก็ยังไม่สร่างซาไป คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามเขาก็ว่าจะใช้เวลาช่วงคริสต์มาสอยู่บ้านเหมือนปีก่อน แต่คิดว่าหลายคนอาจจะใช้โอกาสที่ไม่ได้ออกไปข้างนอกในการสั่งอาหารราคาแพงหน่อยมารับประทานที่บ้าน อย่างเดียวกับที่ทำกันมากในปีที่ผ่านมา

บ้านเรือนในย่านหนึ่งของนิวยอร์กที่ประดับไฟคริสต์มาสอย่างอลังการทุกปี
ปีนี้คุณสามีของฉันดูเหมือนจะคึกคักเรื่องเทศกาลคริสต์มาสเป็นพิเศษ เลยพาฉันไปดูที่เขาประดับไฟคริสต์มาสอย่างอลังการในย่านที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ซึ่งสามารถเดินดูเพลินได้ราวหนึ่งชั่วโมงเลยทีเดียวเพราะกินอาณาบริเวณกว้างอยู่ แต่แม้จะสวยงามน่าประทับใจขนาดไหนก็เป็นคนละบรรยากาศกับที่เคยเห็นในโตเกียว ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วฉันออกจะชอบคริสต์มาสของญี่ปุ่นมากกว่า

พอมองดูบ้านเรือนที่ตกแต่งอย่างงดงามแบบจัดเต็มแล้ว ฉันคิดว่าถ้ามีสถานที่ให้คนพากันมาเที่ยวชมขนาดนี้ในญี่ปุ่นละก็ คงไม่แคล้วต้องมีการออกร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าคริสต์มาสอย่างครึกครื้นแน่นอน แต่ท่ามกลางแสงไฟคริสต์มาสเจิดจรัสที่พวกฉันไปดูนั้นค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงรถ food truck อยู่ประปรายที่ขายโกโก้ร้อนและป๊อบคอร์นเย็นชืดบรรจุถุงใสเรียงกันเป็นตับ เข้าใจว่าอาจเพราะเป็นย่านที่อยู่อาศัยราคาสูงลิ่วด้วย จึงไม่มีการออกร้านอย่างเอิกเกริกและสร้างขยะรบกวนผู้อยู่อาศัยแถวนั้น

อีกไม่นานก็จะได้เวลาเคาน์ดาวน์กันอีกแล้วนะคะ ขอให้เพื่อนผู้อ่านรู้สึกเบิกบานกับช่วงเวลาเทศกาล แต่ไม่การ์ดตกในการเฝ้าระวังและป้องกันโควิดเช่นเคย แล้วพบกันอีกครั้งในปีหน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น