xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นปิดล็อคยาว ชาวต่างชาติห้ามเข้าไม่มีกำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นขยายระยะเวลาห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน พร้อมออกชุดมาตรการป้องกันสำหรับภายในประเทศ

นายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ แถลงมาตรการยกระดับการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน โดยจะขยายระยะเวลาห้ามชาวต่างชาติวีซ่าใหม่ออกไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากเดิมที่มีกำหนดบังคับใช้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม

ญี่ปุ่นห้ามชาวต่างชาติที่ไม่ได้เป็นผู้พำนักอาศัยเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มสูงหลังช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงขยายมาตรการควบคุมการเข้าประเทศออกไป โดยไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่คาดว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ในช่วงต้นปีหน้า


นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้ชาวญี่ปุ่นและผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ต้องกักตัวที่สถานที่ที่ทางการกำหนดเมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น ไม่ใช่กักตัวที่บ้านเหมือนในปัจจุบัน รวมทั้งจะตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสในผู้ที่ติดเชื้อทุกคนว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

รัฐมนตรีสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น กล่าวว่าได้จัดเตรียมห้องกักกันโรค 13,000 ห้องเพื่อรองรับผู้คนที่กลับมาจากต่างประเทศในช่วงวันหยุดสิ้นปี โดยชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติผู้มีสถานภาพพำนักในญี่ปุ่นที่เดินทางกลับญี่ปุ่น จะต้องกักตัวในสถานที่ที่ทางการกำหนดไว้เป็นเวลา 3-10 วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การติดเชื้อของประเทศต้นทาง


ร่นระยะเวลาวัคซีนเข็ม 3 เหลือ 6-7 เดือน

นายกฯ ญี่ปุ่นยังเปิดเผยว่า จะลดการเว้นระยะห่างระหว่างวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข็มที่ 2 กับเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรด้านการแพทย์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงจากเดิม 8 เดือน เหลือ 6 เดือน โดยขณะนี้ได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มดังกล่าวแล้ว

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า ประชาชนทั่วไปในญี่ปุ่นจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยร่นระยะเวลาเหลือ 7 เดือนหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

นายกฯ คิชิดะ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้จัดหายารักษาโควิดชนิดรับประทาน “โมลนูพิราเวียร์” ที่พัฒนาโดยบริษัทเมอร์ค ได้ 1.6 ล้านขนาดยาแล้ว นอกจากนี้ยังมียาชนิดรับประทานของไฟเซอร์อีก 2 ล้านขนาดยา และกำลังจะอนุมัติใช้ยารักษาโควิดที่พัฒนาโดยบริษัท “ชิโอโนงิ” ของญี่ปุ่นเองด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น