xs
xsm
sm
md
lg

“คดีฮาคามาดะ” เมื่อญี่ปุ่นตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“คดีฮาคามาดะ” ภาพจาก amazon.co.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นเกิดคดีฆาตกรรมแบบไม่เลือกเหยื่ออย่างต่อเนื่อง โดยผู้ต้องหาทำไปเพราะต้องการถูกประหารชีวิต สังคมบางส่วนจึงคิดว่าจะทำอย่างไรกับผู้ต้องหาแบบนี้ดี เลิกโทษประหารดีไหม หรือลงโทษให้โหดกว่าเดิมดี จะได้ไม่มีใครเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีก ที่ผ่านมาสังคมญี่ปุ่นสนับสนุนโทษประหาร ทว่าโทษประหารทำให้อาชญากรรมลดลงจริงหรือ และที่สำคัญคือหากพบภายหลังว่าแท้จริงแล้วนักโทษประหารนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ล่ะจะเป็นอย่างไร

สมัยที่ฉันเรียนวิชากฎหมาย101 อาจารย์บอกว่า “ประเทศอังกฤษเคยมีโทษประหารชีวิตนะ แต่ยกเลิกไปแล้ว” ฉันซึ่งกำลังจดเล็คเชอร์อยู่เงยหน้าขึ้นมองอาจารย์อย่างสนใจ เพราะรู้สึกแปลกใจว่าทำไม และนึกสงสัยอยู่ว่าไม่มีโทษประหารมันจะดีหรือ อาจารย์เล่าต่อว่า “เพราะเคยมีอยู่คดีนึงที่สามีถูกกล่าวหาว่าฆ่าภรรยาและลูกตาย เขาก็เลยถูกประหารชีวิต ต่อมาพบว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ อังกฤษก็เลยไม่ให้มีโทษประหารอีก” ฉันฟังแล้วตกใจและหดหู่มากที่เขาไม่เพียงเสียภรรยาและลูก แต่ยังถูกตัดสินให้ตายตกไปตามกันอีก

ตอนที่มีการสอบสวนคดีนั้น ตำรวจเชื่อคำให้การของเพื่อนบ้านซึ่งมีบุคลิกน่าเชื่อถือกว่าและอดีตเคยทำงานให้ตำรวจมาก่อน ในขณะที่คนถูกกล่าวหาไม่ได้รับการศึกษาและพูดจาวกวน สามปีหลังจากเขาถูกประหารชีวิตไปแล้ว จึงพบหลักฐานว่าเพื่อนบ้านตัวดีคนนี้เองคือฆาตกร และยังเป็นฆาตกรต่อเนื่องเสียด้วย อังกฤษจึงรู้ตัวเมื่อสายว่าได้ประหารผู้บริสุทธิ์ไปเสียแล้ว

ญี่ปุ่นเองก็มีนักโทษประหารที่จับผิดตัวอยู่หลายคน คนแรกที่ได้รับการพิจารณาคดีความใหม่และรอดพ้นโทษประหารมาได้คือ คุณเมนดะ ซากาเอะ ซึ่งที่ผ่านมาเขาต้องเผชิญการตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และอยู่อย่างหวาดกลัวว่าจะโดนประหารชีวิตมาตลอด 34 ปีในคุก นอกจากเขาแล้วยังมีการรื้อฟื้นคดีฆาตกรรมอื่น ๆ ด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องหาอีกสามคนที่ต้องโทษประหารชีวิตได้รับการตัดสินใหม่ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

กางเกงที่อ้างว่าเป็นของคนร้ายกลับมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ต้องหา (ภาพจาก ameblo.jp)
หนึ่งในคดีดังที่สุดของญี่ปุ่นเรื่องจับแพะมาลงโทษประหารคงเป็น “คดีฮาคามาดะ” เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 เมื่อคุณฮาคามาดะ อิวาโอะ อดีตนักมวย (ซึ่งเป็นอาชีพที่สังคมมีอคติ) ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารครอบครัวเจ้าของโรงงานทำเต้าเจี้ยวที่เขาทำงานอยู่ เขาถูกขู่เข็ญและทรมานต่าง ๆ นานาในระหว่างการสอบปากคำตลอดยี่สิบกว่าวันเพื่อบีบบังคับให้เขาสารภาพ แม้ตอนแรกเขาจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่สุดท้ายก็จำต้องสารภาพเท็จเพื่อรักษาชีวิตไว้ ก่อนจะกลับคำให้การในชั้นศาลว่าถูกตำรวจบังคับให้สารภาพ

ความไม่สมเหตุสมผลของคดีนี้มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น ในบันทึกคำให้การสารภาพทั้งหมด 45 ฉบับที่ยื่นต่อศาล มีเพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่นำมาใช้ในการไต่สวนคดี นอกจากนี้ก็มีพยานที่สามารถยืนยันว่าเขาอยู่ที่อื่นในขณะที่เกิดเหตุ แต่พยานกลับคำให้การในภายหลัง แถมตอนแรกอัยการอ้างว่าคุณฮาคามาดะสวมชุดนอนในขณะเกิดเหตุ แต่หลังเกิดเหตุไปแล้ว 1 ปี 2 เดือน มีการพบเสื้อผ้าเปื้อนเลือดทั้งหมดห้าชิ้นในถังหมักเต้าเจี้ยว อัยการจึงเปลี่ยนคำพูดทันทีว่าที่จริงแล้วคุณฮาคามาดะสวมเสื้อผ้าเหล่านี้ตอนเกิดเหตุต่างหาก และศาลก็ด่วนสรุปว่าเสื้อผ้าที่เจอนี้เป็นของคนร้ายแน่นอน ทั้งที่จริงแล้วเสื้อผ้าเหล่านี้ยังมีขนาดเล็กกว่าตัวเขาเสียอีก แต่ท่ามกลางความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้ เขากลับถูกตัดสินให้ต้องโทษประหาร

เสื้อผ้าห้าชิ้นที่พบหลังเกิดเหตุไปแล้ว 1 ปี 2 เดือน (ภาพจาก hakamada-jiken.com)
ที่ญี่ปุ่นจะประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ซึ่งการประหารจะเป็นไปอย่างลับ ๆ โดยไม่แจ้งให้ครอบครัวได้รับรู้ล่วงหน้า ส่วนผู้ต้องโทษเองอาจได้รับการแจ้งเพียงแค่ 1 ชั่วโมงก่อนหน้าการประหารเท่านั้น จึงไม่มีวันรู้เลยว่าชะตาชีวิตของตนเองจะขาดลงเมื่อใด และสำหรับคุณฮาคามาดะแล้วเขามีชีวิตอยู่ในสภาพรอคอยความตายที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่เช่นนี้อยู่ถึงเกือบ 48 ปี นับเป็นนักโทษที่รอประหารยาวนานที่สุดในโลก

คุณคุมาโมโตะ โนริมิจิ หนึ่งในผู้พิพากษาที่ดูแลคดีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นเชื่อว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เมื่อไม่อาจโน้มน้าวผู้พิพากษาอีกสองคนได้ และตนก็เป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษาด้วย จึงจำต้องเขียนคำสั่งประหารชีวิต ด้วยความรู้สึกผิดเขาจึงลาออก จากนั้นก็มีอาการป่วยทางกายและทางจิตมากมายจากความเสียใจที่ทำผิดต่อคุณฮาคามาดะ เขาถึงกับพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจละเมิดกฎที่ว่าห้ามแพร่งพรายเรื่องในศาล และออกมาเรียกร้องให้มีการไต่สวนคดีใหม่ร่วมกับกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อคุณฮาคามาดะ

คุณคุมาโมโตะ อดีตผู้พิพากษา “ผมเชื่อว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ผิดแน่” ปัจจุบันเสียชีวิตลงแล้ว (ภาพจาก look.satv.co.jp)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ศาลแขวงชิสึโอกะสั่งให้ปล่อยตัวคุณฮาคามาดะออกมาชั่วคราวและให้มีการพิจารณาคดีใหม่ เพราะพบว่าผลตรวจดีเอ็นเอจากคราบเลือดบนเสื้อผ้าไม่ตรงกับของเขาและของเหยื่อด้วย แต่ศาลสูงโตเกียวกลับยกเลิกคำสั่งพิจารณาคดีใหม่นี้ โดยอ้างถึงความไม่น่าเชื่อถือของผลตรวจดีเอ็นเอดังกล่าว

โชคดีที่ว่าต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ศาลฎีกาสั่งให้คำตัดสินของศาลสูงโตเกียวเป็นโมฆะ และให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยชี้หลายประเด็นที่ศาลสูงโตเกียวไม่ได้ตรวจสอบ เช่น ผู้พิพากษาในเวลานั้นเชื่อตามอัยการว่าดีเอ็นเอจากคราบเลือดบนเสื้อผ้าที่พบในถังหมักเต้าเจี้ยวตรงกับของคุณฮาคามาดะ และอ้างว่าตอนเจอเสื้อผ้านั้นรอยเลือดเป็นสีแดง แต่ทนายความนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่เลือดซึ่งอยู่ในถังหมักเต้าเจี้ยวนานขนาดนั้นจะยังคงเป็นสีแดงอยู่ จึงตั้งข้อสงสัยว่าผู้สอบสวนคดีอาจปลอมแปลงหลักฐานขึ้นมา

ผลจากการทดลองนำเสื้อผ้าเปื้อนเลือดไปแช่ถังเต้าเจี้ยว 1 ปี 2 เดือน สีของเลือดที่ติดอยู่กลายเป็นสีดำ และเสื้อมีสีเข้มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ต่างจากเสื้อผ้าที่อ้างว่าเป็นของคนร้าย (ภาพจาก hakamada-jiken.com)
ศาลฎีกายังได้ประนามศาลสูงโตเกียวว่า “ละเมิดความยุติธรรมอย่างร้ายแรง” ที่ปฏิเสธคำร้องขอไต่สวนคดีใหม่ โดยไม่ขอให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องสีของเลือดที่เปื้อนเสื้อว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในกรณีเช่นนี้

ปีนี้คุณฮาคามาดะอายุได้ 85 ปีแล้ว มีอาการป่วยทางจิตซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการถูกกักขังเกือบครึ่งศตวรรษ เขาอาศัยอยู่กับคุณฮิเดโกะ พี่สาวซึ่งต่อสู้เพื่อเขามาตลอดทั้งชีวิต

พี่สาวคุณฮาคามาดะ “คุณคุมาโมโตะ(อดีตผู้พิพากษา)จะปิดปากเงียบทำเป็นไม่รู้เรื่องก็ทำได้ แต่เขายอมออกมาพูด ครอบครัวเรารู้สึกขอบคุณจริง ๆ” (ภาพจาก look.satv.co.jp)
เมื่อดูจากข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณฮาคามาดะน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าหากว่าที่ผ่านมาเขาถูกส่งตัวไปประหารเสียก่อน ก็จะกลายเป็นว่ามีผู้บริสุทธิ์ที่ต้องจบชีวิตแทนคนร้ายตัวจริง และต่อให้พบทีหลังว่าเขาไม่ได้ผิดอะไรเลย ก็ไม่อาจย้อนคืนเวลาเพื่อเอาชีวิตเขาคืนมาอีกแล้ว

นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมหลายประเทศจึงได้ยกเลิกโทษประหาร ที่ผ่านมาโทษประหารยังทำให้ผู้ด้อยสถานะทางสังคมจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ และถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม อย่างที่เราได้เห็นจากคดีที่เล่ามาข้างต้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าในรัฐหรือประเทศที่มีโทษประหารก็ไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมลดลงเลย แต่ที่ที่ไม่มีโทษประหารกลับมีอาชญากรรมน้อยกว่าเสียอีก

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ กว่าร้อยละ 70 ทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้วตามกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น มีเพียงญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เท่านั้นที่ยังมีโทษประหารอยู่ แต่เกือบครึ่งของรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ก็ไม่ใช้โทษประหารแล้ว อีกทั้งประธานาธิบดีไบเดนก็มีทีท่าส่งเสริมการออกกฎหมายยุติโทษประหารชีวิต ซึ่งอีกหน่อยญี่ปุ่นก็อาจกลายเป็นประเทศเดียวในกลุ่มนี้ที่ยังใช้โทษประหารอยู่

รัฐบาลญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าสังคมให้การสนับสนุนโทษประหารชีวิต แต่นั่นอาจเป็นเพราะประชาชนไม่ได้รับข้อมูลมากพอว่าสภาพชีวิตของนักโทษเป็นอย่างไร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อนักโทษอย่างไร จึงทำให้ไม่มีการถกประเด็นในเรื่องนี้อย่างลงลึกมากนัก อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ก็เชื่อในกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นด้วย

หนึ่งในทนายความของคุณฮาคามาดะ “งานสุดท้ายของคุณคุมาโมโตะได้ช่วยเป็นกำลังให้พวกเรา” (ภาพจาก look.satv.co.jp)
แต่จากตัวอย่างของคดีฮาคามาดะแล้ว ทำให้เราเชื่อได้อีกอย่างว่ากระบวนการยุติธรรมมีข้อผิดพลาด และหนทางเดียวที่จะยุติข้อผิดพลาดอย่างสาหัสสากรรจ์เช่นนี้ ก็ด้วยการยุติโทษประหารเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะยังมีเหยื่อผู้บริสุทธิ์ต่อไปอีกในอนาคต และเหยื่อที่ว่านั้นอาจเป็นตัวเราเองหรือคนที่เรารักก็ได้ในวันหนึ่ง

ครั้งหนึ่งเคยมีคนพูดอย่างแข็งขันว่า ต่อให้มีผู้บริสุทธิ์ที่ต้องตายไปบ้าง แต่ถ้าทำให้ฆาตกรตกตายไปได้ก็ถือว่าคุ้ม ฉันเลยถามว่า “ถ้าผู้บริสุทธิ์ที่ว่าเป็นลูกรักของคุณเอง คุณจะยังพูดแบบเดิมไหม” เขาชะงัก สีหน้าแปรเปลี่ยนไปทันที และไม่พูดอะไรต่ออีกเลย ต่อมาภายหลังได้ยินเขาคุยกับคนอื่นว่าตั้งแต่ได้ยินคำถามนั้น เขาก็ไม่คิดอย่างเดิมอีกแล้ว

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะตัดสินคนอื่นจากเพียงบางมุมมองที่เราเห็น แต่พอเป็นเรื่องของตัวเราเอง เราจะมีมุมมองอีกแบบหนึ่งที่มาจากความรักตัวเอง เรารักชีวิตของเราและมีคนที่เรารักฉันใด คนอื่นก็รักชีวิตของเขาและมีคนที่เขารักฉันนั้น ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่สมควรจะได้รับโทษทัณฑ์จากความผิดที่ตนไม่ได้เป็นผู้ก่อ

ฉันได้แต่หวังว่าศาลจะเร่งพิจารณาคดีความใหม่ และทวงชื่อเสียงเกียรติยศของคุณฮาคามาดะกลับคืนมาโดยเร็ว.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น