ล่ามชาวญี่ปุ่นผู้ที่เคยเป็นทำงานกับผู้ต้องขังชาวไทยในเรือนจำประเทศญี่ปุ่น เปิดใจถึงการทำงานเป็นสะพานทางภาษาให้กับหญิงชาวไทยที่ต้องทัณฑ์ในต่างแดน
ผู้สื่อข่าว MGR Online ประจำญี่ปุ่นได้พบกับคุณมิโยโกะ โอชิมะ ซึ่งเคยทำงานเป็นล่ามในเรือนจำหญิง จังหวัดวากายามะ บอกเล่าประสบการณ์หลังห้องขัง แดนต้องห้ามที่ไม่มีใครอยากเข้าไป
คุณโอชิมะ ชาวเมืองโอซากา เคยไปเที่ยวประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนและประทับใจ จึงกลับมาเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น และต่อมายังมีสามีเป็นคนไทยด้วย หลังจากนั้นเธอไปทำงานเป็นล่ามให้กับคนไทยที่มาฝึกงานที่โรงงานบริษัทรถยนต์ใหญ่ในญี่ปุ่น และเป็นล่ามภาษาไทยอีกหลายแห่ง
ในช่วงปี 2560 คุณโอชิมะได้ไปเป็นล่ามในเรือนจำหญิงจังหวัดวากายามะจากการแนะนำของบริษัทจัดงานหาที่เธอลงทะเบียนไว้ งานที่เธอทำคือ แปลจดหมายของผู้ต้องขัง เป็นล่ามให้ผู้ต้องหาที่โทรศัพท์ไปหาครอบครัว และช่วยเหลือด้านภาษาให้กับผู้ต้องขังคนไทย เช่น ต้องการไปห้องพยาบาล หรือต้องการความช่วยเหลืออื่น ๆ จากทางเรือนจำ
เธอเล่าว่า จดหมายและโทรศัพท์ของผู้ต้องขังต้องถูกตรวจสอบจากทางเรือนจำก่อน โดยมีข้อกำหนดว่า ห้ามพูดถึงเรื่องยาเสพติด อาวุธ รวมทั้งห้ามพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 ห้ามใช้ถ้อยคำที่รุนแรง แสดงความเกลียดชัง และตรวจสอบคำพูดที่ส่อถึงการฆ่าตัวตายด้วย เรื่องที่ละเมิดจะถูก “ป้ายสีดำ” เพื่อปิดบังข้อความ
ผู้ต้องขังสามารถโทรศัพท์ไปหาญาติที่ประเทศไทยได้โดยเสียค่าโทรทางไกลเอง แต่จะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ก่อนว่าจะโทรไปหาใคร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ล่ามที่อยู่ในอีกห้องหนึ่งติดต่อไปยังญาติ เมื่อผู้ต้องขังกับญาติคุยกัน ล่ามจะต้องจดบันทึกสรุปเนื้อหาการสนทนาเพื่อรายงานให้ทางเรือนจำทราบ ตลอดการคุยโทรศัพท์ ล่ามและนักโทษจะไม่เห็นกันเพื่อป้องกันการสมคบคิด และจะมีผู้คุมเฝ้าอยู่ตลอดเวลาทั้งในห้องของผู้ต้องขังและห้องของล่าม
คุณโอชิมะเล่าถึงความยากลำบากในการทำงานว่า ผู้ต้องขังบางคนเขียนจดหมายยาวถึง 6-7 หน้าด้วยลายมือที่หวัดจนแทบอ่านไม่ออก ผู้ต้องขังหลายคนเป็นคนที่มีการศึกษาไม่สูงนักจึงใช้ภาษาไทยที่คนต่างชาติเข้าใจยาก เช่นเดียวกับตอนที่คุยโทรศัพท์ หลายคนใช้ภาษาท้องถิ่น ซึ่งคุณโอชิมะก็เข้าใจยากเช่นกัน
ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ล่ามจะรู้เพียงแค่ชื่อและหมายเลขประจำตัวของผู้ต้องขัง แต่ไม่รู้ประวัติอื่นๆ รวมทั้งโทษที่ทำผิดก็ไม่รู้เช่นกัน แต่เธอบอกว่าผู้ต้องขังที่เธอได้พบส่วนใหญ่มีอายุราว 40 ปี และเมื่ออ่านจดหมายแล้ว หญิงไทยที่ต้องโทษที่นี่ส่วนใหญ่มีลูกและพ่อแม่วัยชราอยู่ที่เมืองไทย น่าเห็นใจที่ต้องมารับโทษทัณฑ์เพียงลำพังในต่างแดน
นอกจากนี้ คุณโอชิมะยังช่วยประสานงานระหว่างผู้ต้องขังกับทางเรือนจำ เช่น ต้องการอาหารพิเศษสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว อาหารฮาลาล หรือร้องเรียนเรื่องสวัสดิการในเรือนจำ เป็นต้น
คุณโอชิมะเล่าว่า ภาษาไทยไม่ใช่อุปสรรคหลักในการทำงาน แต่บรรยากาศภายในเรือนจำทำให้เธอรู้สึกเครียด ทั้งจากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมือนถูกจับตาอยู่ตลอดเวลา และสีหน้าท่าทางของเจ้าหน้าที่ ทำให้ “เหนื่อยใจ” มากกว่าเหนื่อยกาย
หลังจากงานเมื่อ 5 ปีก่อน คุณโอชิมะก็ไม่ได้ไปที่เรือนจำอีกเนื่องจากทางเรือนจำต้องหมุนเวียนเปลี่ยนบริษัทล่ามเพื่อความปลอดภัย จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน เธอได้รับการติดต่อให้ทำงานอีกครั้ง แต่เนื่องจากเธอกังวลการระบาดของโรคโควิดจึงตัดสินใจไม่รับงาน
ถึงแม้เรือนจำญี่ปุ่นจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ลำบากมากนัก แต่การสูญเสียอิสรภาพเป็นความทุกข์ทนยิ่งกว่าสิ่งใด ยิ่งเมื่อต้องห่างจากบ้านเกิดเมืองนอน ไร้ญาติขาดมิตรก็ยิ่งทุกข์ ล่ามชาวญี่ปุ่นบอกว่า ผู้ต้องขังหญิงชาวไทยที่เธอได้พบส่วนมากดูเหมือนไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน พวกเธอยังห่วงหาครอบครัว นึกถึงพ่อแม่และลูก ทุกคนต่างรอคอยที่จะพ้นโทษเพื่อกลับไปประเทศไทย ญี่ปุ่นอาจเป็น "แดนอาทิตย์อุทัย" สำหรับหลายคน แต่การเสี่ยงทำผิดกฎหมายอาจทำให้ชีวิตเข้าสู่ "อัสดง" ได้.