xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นกลัว “เพื่อนน้อย” แต่นักจิตวิทยาบอก “อยู่ตามลำพัง” ให้เป็นจึงดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก men-joy.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน รู้สึกไหมคะว่าพอโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนฝูงก็ชักจะหายหน้าหายตากันไป รู้สึกตัวอีกทีเหลือเพื่อนที่คุยกันอยู่แค่ไม่กี่คน เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ก็คงมีหลายคนที่ไม่สบายใจว่าเป็นเพราะอะไรกันนะ เป็นปัญหาหรือเปล่า และควรทำอย่างไรดี ถ้ากำลังรู้สึกอย่างนี้อยู่ละก็ เราไปฟังคำตอบจากนักจิตวิทยากันดีกว่า

ทำไมเพื่อนจึงห่างกันไป
ไม่นานมานี้มีคนเล่าให้ฉันฟังว่าเพื่อนบางคนคบ ๆ ไป แล้วอยู่ ๆ ก็หายหน้าหายตาไปเลยโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางคนก็คุยกันแบบแห้งแล้งทั้งที่เมื่อก่อนสนิทกันมาก

ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งบอกว่า ความสัมพันธ์กับเพื่อนนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามวัย อย่างในวัย 10 กว่าปีก็จะสนิทสนมแน่นแฟ้นกับเพื่อนมาก ไม่มีอะไรสำคัญเท่าเพื่อน แล้วพออายุเข้าสู่วัย 20-30 ก็จะยุ่งกับเรื่องความรัก การทำงาน และการเลี้ยงลูก เพื่อนเลยมีความสำคัญน้อยลง แล้วพอลูกโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น นึกอยากกลับมาสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนอีกครั้ง

ถ้าเป็นสมัยที่อายุยังน้อย ขอเพียงได้อยู่กับเพื่อนก็สนุกแล้ว แต่พออายุมากขึ้นมุมมองหรือวิธีคิดของแต่ละคนก็เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงาน ความสัมพันธ์กับผู้คน และข้อมูลข่าวสารที่เสพ ความเปลี่ยนแปลงนี้จึงทำให้คนที่เคยคุยกันถูกคอกลายเป็นคนที่เข้ากันไม่ได้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางคนจะไม่อยากฝืนคบหากับคนที่มีค่านิยมหรือมุมมองต่างกันเกินไป

มีบางคนเหมือนกันที่คิดว่าหากพยายามรักษาความสัมพันธ์ไว้ก็อาจจะไปรอด แต่ที่จริงความสัมพันธ์ของคนเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แม้จะพยายามขนาดไหนก็ใช่ว่าผลลัพธ์จะออกมาดีเสมอ สำคัญคือเราไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วทำให้เพื่อนลำบากใจ ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเพื่อนจนเกินงาม และยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น หากทำดีที่สุดแล้วเข้ากันไม่ได้อยู่ดี ก็จำเป็นต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้น และไม่ใช่เรื่องผิดปกติเลยที่จะรักษาระยะห่างจากกัน

ภาพจาก woman.mynavi.jp
เลิกคบเพราะคิดต่างทางการเมือง
คงมีหลายคนทีเดียวที่ตัดขาดหรือถูกตัดขาดความเป็นเพื่อน คนรัก และครอบครัวเพราะทัศนคติทางการเมืองไม่ตรงกัน หรือเข้าใจผิดว่าถ้าอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับตนก็แสดงว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม

ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีก่อนก็เป็นช่วงที่สังคมอเมริกันแตกหักกันอย่างรุนแรงเพราะความเห็นต่างทางการเมืองเหมือนกันค่ะ เพื่อนฉันเล่าว่าโกรธมากที่โดนเพื่อนสนิทพูดจาดูถูกถากถางอยู่เรื่อย ก็ยังดีว่าพวกเธอไม่ถึงขนาดตัดขาดความเป็นเพื่อนกันเพราะเหตุนี้ ในขณะที่คนอเมริกันบางคนตัดพี่ตัดน้อง เลิกกับแฟน หรือเลิกคบเพื่อนที่สนิทกันมาหลายสิบปี

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของอเมริกาท่านหนึ่งอธิบายว่า คนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน “มักจะมองอีกฝ่ายแบบสุดขั้วเกินความจริง” และต่างฝ่ายต่างก็มองว่าตนเองถูกต้องและยุติธรรมเห็น ๆ ในขณะที่มองอีกฝ่ายว่าไร้เหตุผลหรือไม่ก็โดนล้างสมอง

สาเหตุที่ความสัมพันธ์จำนวนมากไปไม่รอดเพราะเห็นต่างทางการเมืองนั้น เป็นเพราะฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าต้องยัดเยียดความคิดเห็นของตนแก่อีกฝ่าย นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่าหากจะคุยเรื่องการเมืองก็ให้คุยกันดี ๆ คุยแบบขำ ๆ แต่ไม่ใช่ดูถูกอีกฝ่าย และควรคำนึงด้วยว่าที่ผ่านมาก็มีหลายอย่างที่เพื่อนกับเราเข้ากันได้ดี ไม่อย่างนั้นหากจะตัดขาดเพื่อนเพราะคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็อาจทำให้เราเหลือเพื่อนอยู่ไม่กี่คน หรือไม่ก็เหลือแต่เพื่อนที่มีเงื่อนไขความเป็นเพื่อนแบบเดียวกันหรือยิ่งกว่าเราเสียอีก

“กินข้าวกลางวันคนเดียว” แปลกหรือปกติ
สังคมญี่ปุ่นดูเหมือนจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวหากคนไหนเพื่อนน้อยหรือไม่มีเพื่อน เพราะมองไปในแง่ลบว่าคงเป็นคนมีปัญหา ไม่มีใครคบ เรื่องนี้ถึงกับทำให้บางคนเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคประสาทจากการไม่มีเพื่อนที่ไปกินข้าวกลางวันด้วยกันที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน บางคนถึงกับลาออกจากที่ทำงานเพราะกลัวที่ต้องไปกินข้าวคนเดียว อาการทางใจชนิดนี้แม้ไม่ได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ว่าเป็นโรค แต่จิตแพทย์ก็มองว่าเป็นแนวโน้มทางจิตวิทยาประเภทหนึ่งที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับกลุ่ม

ภาพจาก news.livedoor.com
ลองมาดูที่อเมริกาอาจจะเห็นโลกที่กลับตาลปัตรอีกแบบ คือต่างคนต่างกินข้าวกลางวันที่ตัวเองเอามาหรือซื้อมาอยู่ที่โต๊ะทำงานของตัวเองกันเป็นเรื่องปกติ เคยถามเพื่อนร่วมงานอยู่หลายคนว่าไม่อยากไปกินข้าวข้างนอกบ้างหรือ ก็ตอบกันมาว่าเปลืองสตางค์บ้าง ต้องออกไปข้างนอกยุ่งยากบ้าง เอามาเองดีกว่า แต่บางคราวก็มีไปกินข้างนอกด้วยกันตามโอกาส หรือเวลาที่ทำงานมีเลี้ยงฉลองถึงจะไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ
 
ถ้าขืนเอาค่านิยมแบบญี่ปุ่นอย่างที่เล่าข้างต้นมามองสังคมอเมริกัน คงกลายเป็นว่าคนอเมริกันเป็นพวกมีปัญหา ไม่มีใครคบด้วย ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่น่าจะอย่างนั้น แต่คงเป็นเพราะคนอเมริกันมีความเป็นปัจเจกชนสูงและไม่ได้เอาคุณค่าตัวเองไปแปะไว้อยู่กับกลุ่ม เผลอ ๆ หากมีใครทำอะไรตามกันเป็นกลุ่ม หรือเออออห่อหมกตามกันเป็นประจำ อาจถูกมองแง่ลบว่าไม่มีความคิดของตัวเอง หรือไม่มั่นใจในตัวเองไปแทน

คนมีเพื่อนน้อยหรือไม่มีเพื่อนเลยผิดปกติหรือไม่
มีคนไปสัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักจิตวิทยาชื่อดังของญี่ปุ่นท่านหนึ่งว่า “คนเพื่อนน้อยนี่ถือว่ามีอะไรบกพร่องไหม?”
ซึ่งคนเพื่อนน้อยในความหมายของเขาคือคนที่ทำงานไป 10-20 ปี ใช้ชีวิตเต็มที่ มีเพื่อนร่วมงานดี แต่ก็ยุ่ง ๆ กับการทำงาน เลี้ยงลูก จนวันหยุดก็ไม่ได้สังสรรค์กับเพื่อนเก่าหรือเพื่อนที่ทำงาน พอรู้ตัวอีกที ก็รู้สึกว่าคนที่เรียกได้ว่า “เพื่อน” มีน้อยมากหรือไม่มีเลย

อาจารย์ตอบสั้น ๆ ชัดเจนว่าแบบนี้ “ไม่มีปัญหานะ” และมองว่าคนที่พยายามหาความสบายใจด้วยการเกาะติดใครไม่ปล่อยต่างหากที่มีปัญหากว่ากันมาก ซึ่งคนญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้กันเยอะเพราะแรงกดดันในสังคมว่าต้องเป็นเหมือนคนอื่น ๆ เชื่อกันว่าถ้าไม่ทำตามค่านิยมเดียวกับกลุ่มเพื่อนหรือที่ทำงานแล้ว ก็ไม่อาจมีชีวิตที่สุขสงบได้ จึงเลยเลือกที่จะรวมกลุ่มกับคนรอบข้างแล้วทำให้เหมือน ๆ กันจะได้ปลอดภัย

นอกจากนี้ก็ยังมีบางคนที่ทำตัวเองให้ยุ่งเข้าไว้ด้วยการคบหาคนเยอะ ๆ จะได้ลืมปัญหาชีวิตที่มี และจะได้ผัดผ่อนการเผชิญหน้ากับตัวเองไปก่อน แถมยิ่งมีเพื่อนให้อยู่ด้วยเยอะก็จะยิ่งคิดว่าตัวเองมีดีพอ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่จริง ๆ แล้วการทำแบบนี้จะทำให้เจ้าตัวไม่อาจก้าวไปข้างหน้าได้

ภาพจาก houwa-js.co.jp
อยู่คนเดียวให้เป็นได้เปรียบกว่า
นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งมองว่าคนที่อยู่กับตัวเองเป็นจะใช้ชีวิตได้ดีกว่า และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับคนอื่นได้ ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบผิวเผินเพียงเพื่อให้ตัวเองได้มีกลุ่มเพื่อน ซึ่งต้องแลกกับการไม่เป็นตัวของตัวเอง

นักจิตวิทยาชาวอเมริกันท่านหนึ่งกล่าวว่า คนที่ไม่ฝึกอยู่คนเดียวให้เป็น ไม่ปลีกตัวจากคนอื่นมาอยู่กับตัวเอง จะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายจริง ๆ ได้ เธออธิบายว่าคนที่พยายามหาคนคุยด้วยตลอดจะรู้สึกอ้างว้างง่าย เพราะไม่สบายใจที่จะอยู่ตามลำพัง ก็เลยมองหาคนคุยด้วยเพื่อให้รู้สึกสบายใจ ยิ่งในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น และผู้คนพากันสร้างภาพลักษณ์ที่ปิดบังความจริงบางส่วน ความรู้สึกไม่มั่นคงก็ยิ่งทวีตัวขึ้น เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถเป็นตัวเองที่แท้จริงได้

อาจารย์นักจิตวิทยาชาวญี่ปุ่นท่านเดิมก็บอกเหมือนกันว่า บางคนพยายามคบหากับคนที่ไม่เข้ากับตัวเอง พยายามเปลี่ยนตัวเองมากไปจนเสียสุขภาพจิต เพราะถึงจุดหนึ่งจะไม่รู้แล้วว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการอะไร ซึ่งคนแบบนี้หากเจอวิกฤติในชีวิตจะล้มแล้วลุกยาก ยิ่งเกษียณแล้วจะยิ่งอาการหนักขึ้นด้วย

ในขณะเดียวกันคนที่อยู่ด้วยตัวเองเป็นจะกล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง จะถามตัวเองบ่อยว่าลึก ๆ แล้วตัวเองอยากใช้ชีวิตอย่างไร แล้วบางคนก็อาจจะเลือกคบคนน้อยลงเพราะใจจริงต้องการอย่างนั้น เพราะให้ความสำคัญกับการมีเวลาเป็นส่วนตัวมากกว่า

คนสัมภาษณ์อาจารย์ท่านนี้ถามต่อว่า คนก็ยังกลัวกันนะว่าถ้าทำตัวเหินห่างจากคนอื่น ถึงเวลาเป็นอะไรขึ้นมาไม่มีใครช่วยเหลือจะทำอย่างไร คำตอบของท่านคือ

“อ๋อ ไม่ต้องเป็นห่วงไป คุณคิดเหรอว่าเพื่อนที่คบหากันผิวเผินเนี่ยถึงเวลาเขาจะมาช่วยคุณจริง? แต่เพื่อนที่คบหากันจากใจจริงน่ะ มันจะเข้าใจกันเรื่องความอยากอยู่ตามลำพัง แล้วถ้าฝ่ายนึงมีปัญหาขึ้นมาก็จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ มนุษย์เราจริง ๆ แล้วต่างคนต่างอยู่นะ ต่างคนต่างก็มีชีวิตในวิถีของตัวเอง คนที่ใช้ชีวิตแบบนี้เหมือนกันมันจะเข้าใจกันและช่วยเหลือกัน มันดึงดูดกันน่ะ เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง”

ภาพจาก ochipapa.com
ท่านยังให้กำลังใจอีกว่ายิ่งใครมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น หากรู้จักอยู่คนเดียวให้เป็นจะสบาย ข้อดีอีกอย่างคือการอยู่ลำพังยังทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายด้วย ทีนี้การจะอยู่คนเดียวให้เป็นนั้นไม่ต้องถึงขนาดเลิกคบเพื่อนเลย เพียงแต่อาจจะค่อย ๆ หาทางให้ตัวเองได้มีเวลาอยู่ตามลำพังมากขึ้น อย่างตัวอาจารย์เองก็บอกว่า “ถ้าไปดื่มกันทีละแปดคนอย่างนี้ผมไม่ไปนะ มันไม่ได้คุยอะไรกันจริงจังหรอก มากสุดคือสี่คนพอแล้ว”

โดยสรุปแล้ว ความรู้สึกไม่มั่นคงเรื่องเพื่อนฝูงอาจจะไม่ได้มาจาก “เพื่อน” เสมอไป แต่มาจากความไม่มั่นใจและไม่แน่ใจใน “ตัวเอง” จึงต้องคอยแสวงหาการยอมรับจากคนอื่นเพื่อให้รู้สึกสบายใจ แต่หากรู้จักตัวเองดีและยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นได้ ก็จะมองออกเองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตเรา เมื่อเป็นตัวของตัวเองได้ การคบหากับผู้คนก็จะเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยไม่ต้องฝืนทำตัวเป็นคนอื่นเพราะกลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ อย่างนี้น่าจะทำให้สุขภาพจิตดีกว่ากันมาก

หวังว่าเพื่อนผู้อ่านที่กำลังกลุ้มใจเรื่องเพื่อนจะพอได้แนวทางบ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น