xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นเดินชนกันที่สถานีรถไฟในโตเกียว ไม่ต้องขอโทษ คนถูกเดินชนผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว คิดว่าเพื่อนๆ หลายท่านคงจะเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นและไปเที่ยวที่โตเกียวกันบ้างแล้ว แต่อาจจะมีเพื่อนบางคนที่เพิ่งเคยไปเที่ยวโตเกียวเป็นครั้งแรกและมีประสบการณ์ใช้สถานีรถไฟใหญ่ๆ สถานีรถไฟหลักเช่น สถานีโตเกียว สถานีชินจุกุ สถานีอุเอโนะ เป็นต้น จะเห็นว่าสถานีรถไฟหลักที่โตเกียวมีขนาดใหญ่มาก มีคนใช้บริการเยอะมากและต่างคนต่างก็เร่งรีบในชั่วโมงเร่งด่วนที่ต้องรีบไปทำงานไปทำกิจธุระต่างๆ แทบจะไม่มีเวลาเหลียวมองกัน เดินไหลตามๆ กันไป


ซึ่งสถานีรถไฟหลักของโตเกียวนั้นได้ชื่อว่ามีคนพลุกพล่านมาก ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟโตเกียวซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีจำนวนรถไฟระหว่างเมืองเข้าออกคับคั่งมากที่สุดของญี่ปุ่น (มากกว่า 3,000 เที่ยวต่อวัน) มีสายรถไฟเพื่อเดินทางไปยังเส้นทางต่างๆ มากมายอาทิเช่น รถไฟสาย JR ตะวันออก JR ตอนกลาง (เช่น สายชูโอ สายโยโกซูกะ / รถด่วนสายโซบุ เป็นต้น) สายเคโย สายมูซาชิโนะ รถไฟใต้ดินโตเกียวเมโทร และรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น สถานีรถไฟโตเกียวมีชานชลามากมายและลึกลงไปชั้นใต้ดินเท่ากับตึกหกชั้น และมีประตูทางออกที่สามารถเชื่อมต่อกับชานชลารถไฟสายต่างๆ และทางเดินเชื่อมตึกรามรอบบริเวณมากมาย ภายในสถานียังเหมือนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีอาหารและของขายมากมาย แน่นอนว่ามีผู้คนเดินพลุกพล่านมาก ส่วนสถานีอื่นๆ เช่น สถานีชินจูกุ , สถานีอิเคะบุคุโระ , สถานีอุเอโนะ ก็ใหญ่และคนเยอะไม่แพ้กัน


ส่วนสายรถไฟยอดฮิตของโตเกียวขอยกตัวอย่างสักหนึ่งสายหลักของเมืองโตเกียว นั่นคือรถไฟ JR สายยามาโนเตะ ( 山手線 Yamanote-sen) เป็นเส้นทางรถไฟสำคัญที่สุดสายหนึ่งของโตเกียวครับ มีสถานีทั้งหมด 30 สถานี ที่มีผู้คนใช้เดินทางอย่างคับคั่งตลอดเวลา โดยมีเส้นทางการวิ่งเป็นวงกลมรอบเมืองโตเกียว มีรอบวนทางซ้าย และรอบวนทางขวาเป็นเส้นทางคู่ขนาน เชื่อมต่อย่านการค้าและย่านธุรกิจที่สำคัญต่างๆ อย่างครอบคลุม เช่น สถานีโตเกียว ( ย่านมารูโนอูจิ ยูรัคกุโจ กินซ่า) สถานีอุเอโนะ สถานีอากิฮาบาระ สถานีชินจูกุ สถานีชิบูย่า สถานีอิเคะบุคุโระ เป็นต้น รถไฟสายยามาโนเตะ เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลาประมาณตีสี่ ถึงตีหนึ่งครึ่งของวันถัดไป ในชั่วโมงปกติมีความถี่ของขบวนรถไฟที่ 4 นาที ส่วนในชั่วโมงเร่งด่วน 1.5- 2.5 นาที รถเข้าออกถี่มากนะครับ เพราะจำนวนคนก็เยอะมาก รถไฟใช้เวลาวิ่งครบรอบวงกลมประมาณ 50 - 60 นาที แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้นั่งนานขนานนั้น เพราะรถวิ่งวนสองลูปอยู่แล้ว สามารถเลือกใช้เส้นทางที่ถึงจุดหมายไวกว่าได้ ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาการโดยสารอยู่ในช่วงประมาณ 10-15 นาที ด้วยความที่รถไฟทุกขบวนจอดทุกสถานี คิดดูว่าผู้คนจะเยอะขนาดไหน ถ้าสองลูปมาจอดในเวลาเดียวกัน จะมีคนที่ต้องเปลี่ยนรถ หรือคนที่รอจะขึ้งลง อลม่านมากครับเพราะคนเยอะมาก แถมเดินกันอย่างเร็ว เดินๆ ไปคุณอาจถูกกลืนเข้าไปอยู่ในคลื่นฝูงชน


ส่วนคนที่อยู่ที่โตเกียวจะรู้กันว่าท่ามกลางคนเยอะในสถานีรถไฟที่มีความแออัดเช่นสถานีรถไฟใหญ่ๆ ต่างๆ ในชั่วโมงเร่งด่วนที่มีจำนวนคนมหาศาลต่างคนต่างเดินไหลตามๆ กันไปในทางเดียวกันและมีฝั่งที่เดินสวนกันแต่ก็สามารถที่จะเดินผ่านกันไปมาได้ราวกับเล่นเกม อาจจะมีพลาดเดินชนกันบ้างแต่ก็ไม่มีใครที่จะมาหยุดรอหรือขอโทษกัน ต่างคนต่างก็ชนแล้วก็ไปต่อ ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติที่เห็นแบบนี้แล้วตกใจ คนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างจังหวัดในแถบภูมิภาคที่เป็นเมืองชนบท ที่มีคนไม่เยอะ ไม่เร่งรีบไม่ต้องใช้ชีวิตแบบคนในโตเกียว เมื่อเข้ามาเห็นและเจอแบบนี้ก็รู้สึกตกใจมากเหมือนกัน

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่กฎโดยรวมของญี่ปุ่นแต่มันคือ ローカルルール Local rule หรือกฎท้องถิ่นของโตเกียวครับ


เมื่อพูดเรื่อง Local rule อาจจะนึกถึงการเล่นไพ่นกกระจอก 麻雀 หรือการเล่นไพ่บางประเภท ตามปกติจะมีวิธีเล่นและกฎต่างๆ แบบสากลของไพ่นกกระจอกอยู่แล้ว แต่ว่ามันจะมีกฎท้องถิ่นที่อาจจะแตกต่างกันไปบ้างก็ได้ คนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ที่ต่างประเทศบอกว่า ถ้าไม่รู้จักกฎท้องถิ่นแล้วไม่คุยกันก่อนก็อาจจะตกใจได้ว่ามันมีกฏแบบนั้นแบบนี้ด้วยเหรอ มีกฎบางอย่างที่เป็นกฎเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ

หรือกฎสนามของกีฬากอล์ฟแต่ละสนามก็เรียกว่า Local rule ได้โดยทั่วไปแล้วกฎสนามมีเขียนระบุไว้แต่ละสนาม มีไว้เพื่อเติมเต็มกฎให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นกฎและข้อบังคับเพื่อให้ครอบคลุม เพื่อให้การเล่นหรือการแข่งขันดำเนินไปได้อย่างสะดวกราบรื่นและยุติธรรมมากขึ้น

Local rule ไม่ใช่แค่เรื่องไพ่, ไพ่นกกระจอก และกีฬากอล์ฟเท่านั้น แต่นำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติเรื่องอื่นๆ ได้ เช่นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นที่โตเกียวก็มีกฎท้องถิ่นเช่นกัน ซึ่งกฎท้องถิ่นจะไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติที่บังคับไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่จะเป็นที่รู้กันบอกต่อๆ และแชร์กันแบบปากต่อปากหรือเป็นที่เข้าใจตรงกันในสังคมของคนท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งถ้าจะต้องตัดสินว่าใครถูกใครผิดแบบไม่อาศัยหลักกฎหมาย ต้องยกให้กฎท้องถิ่นที่ย่อมเหนือกว่า มีความสำคัญที่จะนำมาใช้ตัดสินข้อพิพาทมากกว่า แต่ถ้าข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายต้องขึ้นโรงขึ้นศาลหรือต้องใช้กระบวนการยุติธรรม กฎหมายจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินข้อพิพาทนั้นๆ


กฎท้องถิ่นของโตเกียวเรื่องนี้สามารถสรุปง่ายๆ ได้ได้ดังนี้ครับ

●ภายใต้เงื่อนไขของกฎท้องถิ่นนี้การเดินชนกันไม่ต้องหยุดขอโทษก็ไม่เป็นไร: ซึ่งกฎท้องถิ่นของโตเกียวเรื่องการเดินชนกันนี้ นั่นคือถ้าเดินชนกันไม่จำเป็นต้องขอโทษก็ได้ เหตุผลก็คือเพราะว่าทุกคนอยู่ในช่วงเวลาที่รีบเร่ง เร่งด่วนเพื่อต้องไปทำธุระกิจหน้าที่การงาน แต่จะว่าไปถ้าเดินชนกันแล้วหยุดพูดขอโทษสักนิดอาจจะใช้เวลาไม่ถึง 3 วินาที 5 วินาทีก็ได้นะครับ การไม่หันมองกันเลยบางทีมันก็คาบเกี่ยวกับคำว่าเย็นชา คนโตเกียวหลายคนถูกมองว่าเย็นชาอาจเพราะซีนนี้ด้วยหรือเปล่า ซึ่งจากกฎท้องถิ่นดังกล่าวมานี้จึงถือว่าเดินชนกันไม่จำเป็นต้องมีการขอโทษกันก็ได้ ไม่ถือว่าผิด และไม่ได้หมายความว่าไม่มีมารยาทนะครับ คือทุกคนต้องเข้าใจกฎของท้องถิ่นข้อนี้ด้วย


●คนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎท้องถิ่นเดินไปชนคนอื่นไม่ผิด : คือถ้าอยู่ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังรีบเร่ง เช่น ขณะเดินเปลี่ยนชานชลารถไฟ เดินเข้าออกสถานีรถไฟ หรือเดินข้ามสี่แยก เช่น ห้าแยกชิบูย่าในเวลาเร่งด่วน แล้วบังเอิญขณะนั้นมีลุงคนหนึ่งที่อาจจะมาจากต่างจังหวัดหรือไม่รู้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่คนโตเกียวกำลังรีบ เขาทำเพลินเดินชิลหรือหลงทางหรือกำลังมองทางมองร้านอาหารอะไรก็ตาม แล้วมีพนักงานบริษัทที่กำลังรีบเดินไปชนลุงที่เดินชิลเข้า พนักงานบริษัทคนที่เดินชนไม่จำเป็นต้องขอโทษและพนักงานบริษัทสามารถที่จะเดินไปได้เลย แต่คนที่ผิดคือคนที่มัวเดินชิล มองเหม่อหรือเลือกหาซื้อของในสถานีแล้วยืนขวางทางคนอื่น นี่คือกฎท้องถิ่นของโตเกียวอีกข้อหนึ่งครับ


●ความเข้าใจตรงกันว่าต้องยอมรับกฎท้องถิ่นดังกล่าว : กรณีข้อหนึ่งกับข้อสองข้างต้น คนที่รีบเร่งไปเดินชนคนที่กำลังเหม่อลอยหรืออะไรก็ตามอย่างที่บอกว่าคนเหม่อผิด หรือกรณีบางคนที่เล่นแชดเล่นไลน์เดินเล่นโทรศัพท์มือถือไม่มองชาวบ้านแล้วมีคนที่รีบไปทำงานมาชนมือถือกระเด็นนี่ คนชนก็ไม่ผิดนะครับแต่คนเล่นมือถือนั้นผิดเต็มๆ คือกรณีเช่นนี้ต้องยอมรับด้วย คือต้องเข้าใจกฎของท้องถิ่นจึงจะเป็นผู้อยู่อาศัยที่เข้าใจตรงกัน ลดความขัดแย้งระหว่างกัน เป็นข้อที่สำคัญที่สุด


โดยเฉพาะสถานีรถไฟหลักๆ และเส้นทางรถไฟสายยามาโนเตะ ที่คนจะเดินกันพลุกพล่านมาก เพราะเป็นเส้นทางที่อยู่ในรอบการเดินทางระหว่างครึ่งชั่วโมง บ้างก็เดินทางจากสถานีหนึ่งไปอีกสถานี แค่ระยะห้าถึงสิบนาที จะเห็นว่าคนเยอะพลุกพล่านตลอดก็จะต้องเข้าใจกฎท้องถิ่นที่ว่านี้ด้วยครับ ถึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข


ที่พูดถึงด้านบนคือกฎท้องถิ่นของโตเกียว สรุปเงื่อนไขง่ายๆ คือ เน้นโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน สถานีรถไฟหลัก ช่วงเวลาเร่งด่วน ระยะเดินทางอยู่ในช่วงที่ต้องใช้เวลาไม่เกินสามสิบนาที ระยะทางระหว่างการเดินทางจากสถานีต้นทางไปกลับสถานที่ปลายทางช่วง 10 - 20 นาที อาจจะไม่นับรวมสถานีที่ห่างออกไปชานโตเกียวที่ 30-40 นาทีรถไฟเข้าจอดที ซึ่งสถานีที่คนไม่พลุกพล่านถึงแม้ว่าจะอยู่โตเกียวก็ไม่ได้อยู่ในกฎท้องถิ่นที่ว่านี้ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้กฎเช่นเดียวกับโตเกียวทั้งหมดนะครับ เพราะผมเคยไปเที่ยวที่สถานีหนึ่งจังหวัดชานเมืองโตเกียว เป็นสถานีที่มีรถไฟวิ่งชั่วโมงละคัน เมื่อถึงเวลาที่รถจะออกแล้วแต่คนขับเหลือบไปเห็นผู้โดยสารกำลังวิ่งมาเพื่อขึ้นรถ คนขับรถก็ประกาศว่ารถจะออกแล้วนะครับ น้องๆ ป้าๆ ที่กำลังวิ่งมาขึ้นรถให้ค่อยๆ เดินมาเลย รถจะจอดรอทุกคน! ซึ่งผู้โดยสารที่อยู่ในรถก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่มีใครตกใจอะไรที่ต้องรอคนอื่นที่กำลังเดินมาขึ้นรถ มีแต่ผมนี่แหละครับที่นั่งงงไปเลยเพราะไม่ค่อยจะได้ยินรถไฟญี่ปุ่นจอดรถรอผู้โดยสาร แถมประกาศเรียกอีกด้วย นี่ก็คงเป็นกฎท้องถิ่นของที่นี่เช่นกัน ผู้โดยสารเข้าใจตรงกันนะครับ วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น