xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งญี่ปุ่น “รวมหมู่สู้ฟัด” พรรครัฐบาลลุ้นชะตาหลังโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ญี่ปุ่นจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 31 ต.ค. พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP น่าจะคว้าชัยเป็นรัฐบาลต่อเนื่อง แต่ต้องลุ้นว่าจะยังคงได้เสียงเด็ดขาดในรัฐสภาหรือไม่

สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นมี 465 ที่นั่ง ครึ่งหนึ่งคือ 233 เสียง ในขณะนี้ พรรค LDP มีเสียงมากถึง 275 เสียง เพียงพรรคเดียวก็มีเสียงเด็ดขาดในสภา และเมื่อรวมเสียงกับพรรคโคเมโตที่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันมาตลอดอีก 29 ที่นั่ง จึงเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง

ในช่วงที่โควิดระบาดหนักเมื่อเดือนสิงหาคม พรรคLDP เคยทำการสำรวจพบว่า พรรคอาจได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรลดลงมากถึง 60 (±10) ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่า พรรค LDP + พรรคโคโมโต ที่จับมือเป็นรัฐบาลมาตลอดก็ยังไม่ได้ที่นั่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

แต่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นขณะนี้ที่เกือบเป็นปกติ มีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไม่ถึง 300 คนต่อวัน น่าจะทำให้พรรคLDP รักษาสถานะรัฐบาลไว้ได้ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ จะเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อไป แต่ความท้าทายของพรรค LDP ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ จะรักษาที่นั่งได้สภาได้มากเท่าเดิมหรือไม่ ?


การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น 465 ที่นั่งมีทั้งแบบเขตและแบบสัดส่วนหรือปาร์ตี้ลิสต์ (เขต 289 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 176 คน) ในครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 1,051 คน ถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 25 ปี ตั้งแต่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้เมื่อปี 2539

พรรค LDP ต้องการที่นั่งในรัฐสภาพรรคเดียวเกินกว่าครึ่งหนึ่งเหมือนสถานะในขณะนี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านต้องการที่นั่งเพิ่มขึ้น เพื่อคานอำนาจกับรัฐบาล กลยุทธ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายใช้คือ ส่งผู้พรรคร่วมกันในนาม “แนวร่วมพรรครัฐบาล” (พรรค LDP+พรรคโคเมโต) และ“แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน” (พรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญ+พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น) โดยจะไม่ส่งผู้สมัครทับซ้อนในเขตเลือกตั้งเดียวกัน เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงเป็นเบี้ยหัวแตก

พรรค LDP หาเสียงว่า ถึงแม้พรรคฝ่ายค้านจะได้คะแนนเสียงเพิ่มก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ขอให้ประชาชนสนับสนุนแนวร่วมพรรครัฐบาลให้สานต่อนโยบายต่อไป ส่วนแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านหาเสียงว่า รัฐบาลล่าช้าในการจัดการโควิด นโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนมากยิ่งขึ้น เรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนการเปลี่ยนขั้วการเมือง


อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองหลักแทบทุกพรรคในญี่ปุ่น นโยบายไม่ได้แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะชาวญี่ปุ่นมีความอนุรักษ์นิยมสูง ประกอบกับโครงสร้างทางสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เศรษฐกิจที่ผ่านพ้นยุคสมัยของความรุ่งโรจน์มาแล้ว ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แดนอาทิตย์อุทัยได้มากนัก ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ส่วนคนหนุ่มสาวแทบจะไม่มีความสนใจเรื่องการเมืองเลย

ทว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างยิ่งยวด ชาวญี่ปุ่นจะให้บทเรียนรัฐบาล หรือเลือกเสถียรภาพเดิม จะตัดสินผ่านบัตรเลือกตั้งในวันที่ 31 ตุลาคมนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น