คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ญี่ปุ่นเพิ่งปลดภาวะฉุกเฉินเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนพากันโล่งอกเหมือนได้ปลดแอกเสียที ร้านรวงและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ คึกคักขึ้น ภาพประชาชนโดยสารรถไฟแน่นเอี๊ยดตอนเช้า ๆ ก็กลับมา พร้อมกับการยกเลิกการทำงานจากบ้านของหลายบริษัทด้วย จนเป็นที่บ่นอุบอิบกันมากมายทางโลกโซเชียล
“บังคับเข้าบริษัท”
ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 65 ของบริษัทในกรุงโตเกียวที่มีพนักงานตั้งแต่ 30 คนขึ้นไปใช้ระบบทำงานจากบ้าน แต่พอรัฐประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินปุ๊บ ก็มีหลายบริษัทที่ยกเลิกการทำงานจากบ้านปั๊บเช่นกัน เป็นที่โจษจันกันอย่างกว้างขวางจนคำว่า “บังคับเข้าบริษัท” กับ “รถไฟแน่นเอี๊ยด” กลายเป็นแฮชแท็คยอดนิยมขึ้นมาเลยทีเดียว
อันที่จริงทั้งผู้ว่ากรุงโตเกียวและรัฐมนตรีฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น ต่างก็ขอเอาไว้ตั้งแต่ก่อนปลดภาวะฉุกเฉินว่า ขอให้บริษัทต่าง ๆ ยังคงการทำงานจากบ้านต่อไป โดยเฉพาะในโตเกียวนั้นตั้งเป้าจะให้ลดคนที่ต้องเดินทางไปทำงานลงร้อยละ 70 แต่จากการสอบถามคนทำงานในกรุงโตเกียวโดยสำนักข่าวแห่งหนึ่งพบว่า ร้อยละ 42 ไม่ได้ทำตามคำขอดังกล่าว
จากการสำรวจพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังอยากทำงานจากบ้านต่อไปแม้ในช่วงหมดโควิดแล้ว เพราะเห็นว่าการทำงานจากบ้านทำให้ผลิตภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ประหยัดเวลาเดินทาง และไม่ต้องเครียดหรือห่วงติดโควิดเมื่อโดยสารรถไฟแน่นเอี๊ยดด้วย บางส่วนยังมองว่าการทำงานจากบ้านเป็นวิธีการทำงานระบบใหม่ซึ่งช่วยให้ทำงานสะดวกขึ้น ไม่ควรจำกัดไว้ให้ช่วงโควิดเท่านั้น อีกทั้งยังควรใช้โอกาสนี้ทบทวนระบบการทำงานที่ผ่านมาว่าเป็นปัญหาอย่างไรบ้าง แทนที่จะพยายามกลับไปใช้วิธีทำงานแบบเดิมทั้งหมด
บางบริษัทที่พยายามปรับตัวและให้ความสำคัญกับผลิตภาพของพนักงานมากกว่าการยึดติดกับรูปแบบการทำงานก็มีเหมือนกัน อย่างบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งก็วางแผนจะใช้ระบบทำงานจากบ้านเป็นหลักตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยงานส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวก็มีการใช้เทคโนโลยีมารองรับเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล บางบริษัทก็ให้อิสระในการเลือกว่าจะมาทำที่บริษัทหรือทำจากบ้าน โดยมีมาตรการป้องกันโควิดในบริษัทไว้พร้อม และยังมีการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างความผ่อนคลายในการทำงานด้วย
การทำงานจากบ้านที่ผ่านมายังสร้างแนวโน้มที่ดีแก่ญี่ปุ่นอีกอย่าง คือเมื่อสัปดาห์ก่อนเกิดแผ่นดินไหวหนักใกล้กรุงโตเกียวในเวลากลางดึก ทำให้วันต่อมารถไฟเป็นอัมพาตไปตาม ๆ กัน ถ้าหากเป็นสมัยก่อนแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรคนญี่ปุ่นก็ต้องไปทำงานให้ได้แม้ว่าจะสายมากแค่ไหนก็ตาม แต่ครั้งนี้ได้ยินว่ามีบางบริษัทที่สั่งพนักงานให้ทำงานจากบ้านแทน ซึ่งนับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี ถ้าอนาคตได้เห็นญี่ปุ่นยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์รอบตัวได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็คงจะดีไม่น้อย
ทำไมบริษัทญี่ปุ่นบางแห่งจึงไม่ส่งเสริมการทำงานจากบ้าน
จากการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2562 พบว่า สาเหตุที่บางบริษัทไม่ใช้ระบบการทำงานจากบ้านส่วนใหญ่เป็นเพราะ “งานไม่เหมาะกับการทำจากบ้าน” หรือต่อให้อยากลองก็ “ไม่รู้ว่ามีข้อดีอย่างไร” หรือไม่ก็ “สหภาพแรงงานกับพนักงานไม่ได้เรียกร้อง” เป็นต้น และปัจจุบันแม้หลายบริษัทจะมีลู่ทางให้ทำงานจากบ้านได้ ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยส่งเสริมกันเท่าใดนัก
นักวิจัยรูปแบบการทำงานคนหนึ่งสรุปไว้ว่า การจะใช้ระบบทำงานจากบ้านให้ได้ผลดีเทียบเท่าหรือดีกว่าการทำงานที่บริษัทนั้น จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องคอยพึ่งคำสั่งหรือแนวทางจากทางบริษัท เช่น แยกแยะองค์ประกอบของงานชนิดหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งชิ้นงานกันเป็นส่วน ๆ ไป
เขาเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอาจเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อฝ่ายบริหารจัดการ แต่ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญว่าการทำงานจากบ้านจะเกิดผลดีหรือไม่ ในทางตรงกันข้ามถ้ายังใช้รูปแบบการทำงานแบบเดิมที่พนักงานไม่สามารถทำงานด้วยตัวเองได้ อย่าว่าแต่ทำงานจากบ้านเลย ความพยายามในการปฏิรูปการทำงานของญี่ปุ่นก็จะเป็นไปได้ยากด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน หรือระบบการทำงานแบบยืดหยุ่นที่ให้จัดสรรเวลาทำงานตามสะดวก (flextime) ก็ตาม
แม้งานบางอย่างอาจดูไม่เหมาะแก่การทำจากบ้าน โดยเฉพาะงานเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารที่ต้องประทับตรา (ญี่ปุ่นนิยมใช้การประทับตราแทนการเซ็นชื่อ) ที่จริงก็สามารถหันมาพึ่งเทคโนโลยีได้ เช่น หันมาส่งเป็นไฟล์หรือให้แสดงผลออนไลน์แทนการใช้กระดาษ (paperless) ส่วนตราประทับก็สามารถหันมาใช้แบบดิจิทัลได้เช่นกัน วิธีแบบนี้ทำให้พนักงานสามารถตรวจสอบเอกสารหรือผลิตเอกสารจากบ้านได้โดยไม่ต้องเข้าบริษัท
พูดถึงตรงนี้แล้วก็นึกได้ว่า เคยได้ยินคนญี่ปุ่นบ่นอยู่เหมือนกันว่าเทคโนโลยีล้ำยุคมีเยอะแยะ น่าจะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและง่ายขึ้น แต่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ค่อยจะยอมใช้กันเท่าไรเลย แม้ปัจจุบันก็ยังมีบริษัทที่นิยมส่งแฟกซ์ (โทรสาร) มากกว่าอีเมล กระทั่งเครื่องถ่ายเอกสารก็ยังมีระบบส่งแฟกซ์รองรับ
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าที่บางบริษัทสามารถทำงานจากบ้านได้ดีกว่านั้น เป็นเพราะเป็นบริษัทใหญ่เลยสามารถใช้เทคโนโลยีดี ๆ ได้หรือเปล่า ส่วนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมอาจไม่สามารถทำได้เท่า ก็มีคนให้ความเห็นว่าที่จริงสามารถใช้เทคโนโลยีที่รองลงมาแทนได้ หรือต่อให้ไม่มีระบบรองรับโดยเฉพาะ หากเป็นบริษัทที่สื่อสารภายในกันดีก็สามารถเริ่มจากสิ่งที่ทำได้ก่อนเป็นอย่าง ๆ ไป ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าบริษัทจะคิด “หาทางอย่างไรให้ทำได้” หรือเปล่ามากกว่า
ดังนั้นบางทีปัญหาใหญ่ของการทำงานจากบ้านของญี่ปุ่น จึงอาจจะไม่ใช่เรื่อง “ทำไม่ได้” แต่เป็นเพราะ “ไม่พร้อมจะทำ” หรือ “ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง” มากกว่าก็เป็นได้
อเมริกากับระบบทำงานรูปแบบใหม่
ส่วนที่สหรัฐ ตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนมากขึ้น ผู้คนก็กลับมาหนาแน่นในเมืองอีกครา คนเดินถนนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะยอมใส่หน้ากากอนามัยกันนัก ยกเว้นเวลาขึ้นรถเมล์หรือรถไฟที่เป็นข้อบังคับ รวมทั้งเวลาเข้าร้านบางแห่งที่ให้ใส่หน้ากาก
อย่างไรก็ดีบริษัทที่ใช้ระบบทำงานจากบ้านตั้งแต่มีโควิด ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานที่บริษัทเต็มตัวหลังโควิดผ่านพ้นไปแล้ว โดยบริษัทที่ต้องการให้พนักงานกลับมาที่บริษัทมีไม่ถึงร้อยละ 20
ที่อเมริกาก็คล้ายกับญี่ปุ่นตรงที่หลายคนปรับตัวเข้ากับการทำงานจากบ้านได้แล้ว และยังอยากทำงานจากบ้านกันอยู่ อย่างน้อยก็ 2.5 วันต่อสัปดาห์ มีการสำรวจหนึ่งในเดือนมิถุนายน-กรกฏาคมพบว่า ร้อยละ 40 ของพนักงานบอกว่าถ้าโดนบังคับกลับไปทำงานที่บริษัทเต็มเวลา ก็จะมองหางานใหม่ที่ให้ทำงานจากบ้านได้หรือไม่ก็ลาออกทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าการให้พนักงานกลับมาทำงานที่บริษัทเหมือนก่อนโควิดไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องตระหนักถึงสภาพการณ์ปัจจุบันและปรับตัว เช่น ใช้ระบบการทำงานแบบผสม คือให้มาทำงานที่บริษัท 3 วัน ทำจากบ้าน 2 วัน เป็นต้น โดยวันที่ต้องเข้าบริษัทอาจเป็นวันที่ต้องประชุม จัดอิเวนต์ พบปะลูกค้า ฝึกอบรม และสังสรรค์ ในขณะที่วันทำงานอยู่บ้านคือทำงานที่ต้องใช้ความคิด วิเคราะห์ข้อมูล หรือประชุมผ่านวีดีโอคอล ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบผสมก็อาจมีแบบอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสมกับแต่ละองค์กร
บริษัทบางแห่งที่ต้องการให้พนักงานทำงานที่บริษัทก็พยายามสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ กัน อย่าง โกลด์แมนแซคส์ประกาศจะเพิ่มเงินเดือนแก่ลูกจ้างใหม่ร้อยละ 30 ในขณะที่กูเกิลประกาศจะตัดเงินเดือนคนที่ต้องการทำงานจากบ้านถาวรสูงสุดร้อยละ 25 เหตุผลเป็นเพราะว่ากูเกิลให้เงินเดือนตามค่าครองชีพของเมืองที่สำนักงานกูเกิลตั้งอยู่ แต่เมื่อเกิดโควิดและพนักงานย้ายไปอยู่เมืองอื่นที่ค่าครองชีพต่ำกว่า กูเกิลจึงปรับเงินเดือนตามฐานค่าครองชีพของเมืองที่พนักงานอยู่อาศัยแทน ได้ข่าวว่าเฟสบุคและทวิตเตอร์ก็หันมาใช้นโยบายเดียวกัน
บริษัทสามีฉันก็เชิญชวนให้คนกลับไปทำงานที่บริษัท ด้วยการเสนอว่าจะให้ดื่มกาแฟสตาร์บัคส์ฟรีทุกวันและให้กระเป๋าเป้คนละใบด้วย แต่ดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอที่ไม่มีใครแล นโยบายนี้จึงถูกพับไปภายในสัปดาห์เดียว มีอยู่วันหนึ่งสามีฉันต้องเข้าบริษัท เขาเล่าว่าอย่างกับบริษัทร้าง มีพนักงานมานั่งอยู่เพียงหรอมแหรมเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าพนักงานยังไม่พร้อมกลับมาทำงานที่บริษัท
จะว่าไปแล้วที่ผ่านมาตอนเริ่มทำงานจากบ้านกัน หลายคนก็พบเจออุปสรรคมากมาย แต่พอเวลาผ่านไปปรับตัวได้แล้วก็รู้สึกว่าอยู่ได้ไปเอง แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวมากทีเดียวนะคะ อีกหน่อยก็คงมีความเปลี่ยนแปลงอะไรอื่นในชีวิตมาท้าทายอีก แต่ถึงที่สุดแล้วการยอมรับความจริงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ก็น่าจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันได้และก้าวต่อไปข้างหน้าได้ด้วยเช่นกัน
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.