นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯคนใหม่ของญี่ปุ่น อาจนำพาแดนอาทิตย์อุทัยไปในทิศทางที่แตกต่างจากแนวนโยบายของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในการชี้นำญี่ปุ่นมานานเกือบ 9 ปี
นายชินโซ อาเบะ คือหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่มิอิทธิพลต่อญี่ปุ่นยุคใหม่มากที่สุด เนื่องจากเขาดำรงตำแหน่ง 2 วาระรวมเกือบ 9 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นายอาเบะมีบารมีแห่งผู้นำอย่างสูง เขาได้ริเริ่มนโยบายหลายอย่าง เช่น แนวทางเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” และ แนวคิด “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่ม QUAD ที่ประกอบด้วย ญี่ป่น สหรัฐ อินเดีย และออสเตรเลีย โดยมีเป้าหมายเพื่อต้านทานการขยายอิทธิพลของจีน
นายอาเบะลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระเนื่องจากปัญหาสุขภาพ โดยนายโยชิฮิเดะ ซูงะ เป็นนายกฯ คนต่อมา แต่นายซูงะก็อยู่ใต้ “เงา” ของนายอาเบะอยู่ดี
นายฟูมิโอะ คิชิดะ ว่าที่นายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น ถึงแม้ไม่มี “บารมี” เหมือนนายอาเบะ แต่เขาคือ ผู้นำที่เป็น “แบบธรรมเนียม” ของญี่ปุ่น คือ ประนีประนอม ประสานประโยชน์ เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมายาวนานจึงชำนาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างดี ประกอบกับพื้นเพเป็นชาวเมืองฮิโรชิมา เมืองที่เคยถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู เขาจึงให้ความสำคัญกับสันติภาพและสิทธิมนุษยชน
นายคิชิดะมีแนวคิดที่เป็นมิตรกับจีนและเกาหลีใต้ เน้นการเจรจามากกว่าใช้ท่าทีแข็งกร้าว แต่เขาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่าจะแต่งตั้งผู้ที่รับผิดชอบเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ
ท่าทีต่อจีนถือเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองของญี่ปุ่น ในพรรคเสรีประชาชาธิปไตยมีทั้งกลุ่มที่แข็งกร้าวต่อจีน เช่น นายอาเบะที่สนับสนุนนางซานาเอะ ทากาอิจิ อดีตรมต.การสื่อสาร ให้ลงแข่งขัน เพื่อตัดคะแนนนายคิชิดะ นางทากาอิจิคือนักการเมือง “สายเหยี่ยวตัวแม่” เธอไปสักการะศาลเจ้ายาสุกูนิหลายครั้ง สร้างความไม่พอใจให้กับจีนและเกาหลีใต้
ขณะที่ภาคประชาชนมีทั้งที่ชอบ-ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ ต่อจีน ส่วนภาคธุรกิจค่อนข้างต้องการเป็นมิตรกับจีน
ส่วนจุดยืนต่อสหรัฐเป็นเรื่องที่ไม่ว่าผู้นำคนไหนของญี่ปุ่นก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ นายคิชิดะก็จะยังคงให้ความสำคัญกับสหรัฐ ในฐานะผู้ปกป้องญี่ปุ่นด้านความมั่นคง
ส่วนเรื่องไต้หวัน นายคิชิดะไม่เคยแสดงท่าทีชัดเจนต่อไต้หวัน แตกต่างจากนายอาเบะและนายโนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีป้องกันประเทศ และน้องชายแท้ๆ ของนายอาเบะ ที่ใกล้ชิดกับไต้หวันอย่างยิ่ง
ในช่วงหาเสียง นายคิชิดะแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน โดยระบุว่า “ตระหนักถึงภัยคุกคามจากจีน” แต่อาจเป็นเพราะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP ครั้งนี้ต้องการเสียงสนับสนุนจากกลุ่มขั้วต่างๆ ภายในพรรค นายคิชิดะก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมด้วย อย่างไรก็ตาม เขาจะไม่ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกินิเหมือนเช่นนายอาเบะและคณะอย่างแน่นอน
ปีหน้า (2565) จะเป็นวาระครบรอบ 50 ปีฟื้นฟูความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน นายคิชิดะน่าจะใช้โอกาสนี้พัฒนาสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่สำคัญ
นโยบายการเงินไม่เปลี่ยนแปลง
ทางเศรษฐกิจ นายคิชิดะเสนอนโยบาย “ทุนนิยมใหม่” โดยจะลดช่องว่างทางฐานะ เพิ่มรายได้ให้ชนชั้นกลาง และให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มเปราะบาง เช่น คนที่ทำงานชั่วคราวและครอบครัวที่มีเด็ก
ส่วนค่าเงินเยนน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่ต่อไป นายฮารูฮิโกะ คูโรด ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นไม่น่าจะเปลี่ยนแนวทาง ไม่ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินนโยบายด้านกฎระเบียบหรือการคลังแบบใดก็ตาม
ภาคธุรกิจต่างระบุว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 เมื่อเศรษฐกิจเติบโตจึงสามารถกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงได้ นายคิชิดะประกาศว่า จะออกชุดมาตรการด้านเศรษฐกิจมูลค่าหลายสิบล้านล้านเยนภายในสิ้นปีนี้.