xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นหนุนไต้หวัน-ค้านจีนเข้าร่วม CPTPP เชิญไทยหลายครั้งแต่ไร้คำตอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีที่แตกต่างกันอย่างมากต่อการที่จีนและไต้หวันขอเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ขณะที่ประเทศไทยที่ญี่ปุ่นสนับสนุนอย่างยิ่งให้เข้าร่วมข้อตกลงที่สำคัญนี้กลับ “ตกขบวน”

รัฐบาลจีนได้ยื่นเรื่องเพื่อขอเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน หลังจากนั้นในวันที่ 22 กันยายน ไต้หวันก็ยื่นขอเข้าร่วมข้อตกลงนี้เช่นกัน ไต้หวันรีบเร่งอย่างมากเพราะประเมินว่า ไต้หวันมีความเสี่ยงเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ หากว่าจีนเข้าร่วม CPTPP ได้ก่อน

ญี่ปุ่นเป็นประธานการเจรจา และเป็นแกนนำในการสานต่อข้อตกลงการค้าที่เดิมใช้ชื่อ TPP แต่หลังจากสหรัฐถอนตัวออกไปในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ญี่ปุ่นได้เดินหน้าต่อในชื่อของ CPTPP โดยระบุว่าเป็นข้อตกลงที่ “ครอบคลุมและก้าวหน้า”

CPTPP มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2561 ขณะนี้มีสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม โดย อังกฤษได้ยื่นเรื่องที่จะเข้าร่วมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศสมาชิก CPTPP มีประชากรรวมกันมากกว่า 500 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP คิดเป็นกว่าร้อยละ 10 ของ GDP โลก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่า จีนสนับสนุนการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว จีนกำลังมองหาหนทางเข้าสู่ CPTPP ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในขณะที่สหรัฐไม่ได้เป็นสมาชิกของข้อตกลงนี้


ชาติสมาชิกเจอโจทย์ใหญ่ นโยบาย “จีนเดียว”

ญี่ปุ่นมีท่าทีที่แตกต่างกันอย่างมากต่อการที่จีนและไต้หวันเสนอตัวเข้าร่วม CPTPP นายนิชิมูระ ยาซูโตชิ รัฐมนตรีที่ดูแลด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแสดงทัศนะว่า จีนต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดของ CPTPP โดยเฉพาะการให้สิทธิพิเศษแก่รัฐวิสาหกิจและบริษัทของรัฐ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ที่อาจเป็นอุปสรรคของจีนในการเข้าร่วม

ขณะที่กรณีไต้หวัน นายโมเตงิ โทชิมิตสึ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นยินดีที่ไต้หวันสมัครเข้าร่วม CPTPP โดยกล่าวว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับญี่ปุ่น โดยมีค่านิยมพื้นฐานร่วมกัน เช่น เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งยังระบุว่า หากไต้หวันทำได้ตามข้อกำหนดของ CPTPP ญี่ปุ่นก็ยินดีที่ไต้หวันจะเข้าร่วม ไต้หวันต่างจากจีนเพราะไต้หวันไม่มีพฤติกรรม “การคุกคามทางเศรษฐกิจ”

การแข่งขันเข้าร่วมทั้งของจีนและไต้หวันนั้นอาจสร้างความลำบากใจให้แก่สมาชิกทั้งหลาย รวมถึงญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากรัฐบาลจีนแสดงการกีดกันไต้หวันโดยอ้างนโยบาย "จีนเดียว"  นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า จีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการเข้าร่วมองค์กรและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นทางการของไต้หวัน ตามนโยบายจีนเดียว


ไทยสูญเสียโอกาสหลุดพ้นกับดักเศรษฐกิจ

การเข้าร่วม CPTPP ต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกทั้งหมด เมื่อประเมินจากชาติสมาชิก 11 ชาติในขณะนี้ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น มีความขัดแย้งกับจีน แต่มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ต่างสนับสนุนให้จีนเข้าร่วม ส่วนไต้หวัน ชาติสมาชิกอาจใช้รูปแบบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC  ซึ่งไต้หวันและจีนต่างเข้าร่วมทั้งคู่

ในขณะที่หลายประเทศกระตือรือล้นที่จะเข้าร่วมข้อตกลงการค้าที่สำคัญนี้ แต่ประเทศไทยยังคงอยู่ในมรสุมของข้อมูลที่เกินจริงเกี่ยวกับผลกระทบของ CPTPP ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นได้ทาบทามให้ไทยเข้าร่วมข้อตกลงนี้หลายครั้ง พร้อมย้ำว่า CPTPP จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถรักษาการลงทุนและการค้ากับญี่ปุ่นได้ หยุดยั้งการย้ายฐานไปยังประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ไทยจะสูญเสียศักยภาพการแข่งขันอย่างมาก เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างเข้าร่วมข้อตกลงนี้แล้ว แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด.


กำลังโหลดความคิดเห็น