xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นชอบพูดถึงคนเกียวโต เพราะสิ่งที่ตรงข้ามกับรักไม่ใช่เกลียดชังแต่มันคือความเฉยเมย !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว อาทิตย์ที่แล้วผมพูดถึงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นที่ส่งผลต่อคนแต่ละเมืองทำให้มีลักษณะความเฉพาะตัวของวิถีชีวิต ภาษา อาหารการกิน วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต่างกันและหลากหลายในแต่ละจังหวัด รวมไปถึงคนท้องถิ่นจังหวัดเกียวโตซึ่งมีความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิดดั้งเดิมแห่งความเป็นเมืองผู้ดีเก่าและการสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนาน แม้ในปัจจุบันนี้คนญี่ปุ่นก็ยังชอบนำเรื่องคนเกียวโตมาพูดถึงกันอยู่เสมอ ล่าสุดมีหนังสือหนังสือขายดี bestseller ที่พูดเกี่ยวกับเกียวโต หลายคนคิดว่าเป็นถึงหนังสือขึ้นแท่นหนังสือขายดี คงจะเกี่ยวกับการท่องเที่ยวใช่ไหม แต่ไม่ใช่ครับ กลับเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประชดประชันเกียวโตมีชื่อเรื่องว่า 京都ぎらい Kyoto Girai


จะเป็นหนังสือแนวภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ / ชีวประวัติ ที่กล่าวว่าเกียวโตเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่รวบรวมแห่งความปรารถนา! นักเขียนเกิดที่จังหวัดเกียวโต สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต และสำเร็จหลักสูตรปริญญาโทที่บัณฑิตวิทยาลัยแห่งเดียวกัน เขาเติบโตขึ้นมาในจังหวัดเกียวโตและอาศัยอยู่ในเกียวโตมาเป็นเวลานานแต่กลับเขียนหนังสือเพื่อประกาศว่า "ไม่ชอบ" เมืองโบราณแห่งนี้ ผมไม่ได้แนะนำหนังสือเล่มนี้นะครับเพราะคิดว่ามีหลายประเด็นที่แรงและดูเหมือนมีความสิ้นหวังในความปรารถนา แต่ประเด็นอยู่ที่หนังสือกลับขายดีมาก ขึ้นแท่นหนังสือขายดี bestseller ได้ก็แสดงว่ามีคนชอบและสนับสนุนความคิดนักเขียนเยอะเช่นกัน

ไม่ใช่แค่หนังสือหรือการพูดคุยในชีวิตจริงเท่านั้น ในส่วนของโซเชียลมีเดียก็มีคอนเทนต์ หรือสารในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คลิปวิดีโอ คลิปเสียง รูปภาพ อินโฟกราฟิก นิทาน เรื่องเล่า และประสบการณ์มากมายที่แชร์เกี่ยวกับสิ่งที่เคยเจอเกี่ยวกับเกียวโต เมื่อมีประเด็นพูดถึงจังหวัดเกียวโตแล้วสามารถนำคอนเทนต์ต่างๆ เหล่านั้นไปแชร์กันต่อได้อีกโดยไม่ติดเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งวันนี้จะยกตัวอย่างคอนเทนต์บทความต่างๆ ที่มีการแชร์กันมาเกี่ยวกับเกียวโตครับ


เรื่องที่ 1. ถ้าคนเกียวโตชวนให้ดื่มกาแฟ

★ถ้าชาวเกียวโตชวนให้ดื่มกาแฟ หนึ่งในสี่ตัวเลือกต่อไปนี้ มีข้อเดียวเท่านั้นที่เขาชวนให้คุณดื่มกาแฟจริงๆ คุณคิดว่าข้อไหน คิดให้ดี!
A. コーヒー飲まはりますか?
Kōhī nomahari masu ka?
คุณดื่มกาแฟไหม?^^

B. そない急がんでもコーヒーなと一杯あがっておいきやす
Sonai isogan demo kōhī nato ippai agatte oiki yasu
ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ เชิญดื่ม หรือไม่ก็กาแฟ?สักแก้วก่อน?^^

C. コーヒーでよろしい?
Kōhī de yoroshīi?
ต้องการกาแฟสักแก้วไหม?^^

D. ノド渇きましたねコーヒーでもどないです?
Nodo kawakimashita ne kōhī demo donaidesu?
ดูเหมือนจะกระหายน้ำ หรือจะรับกาแฟ? สักแก้วก่อนไหม?^^

มีตัวอย่างคนที่มาตอบกระทู้คำถามดังกล่าว โดยเขาบอกว่า ผมรู้จักคุ้นเคยกับเกียวโตดี ผมตอบครับหมดทุกข้อเลย (´ <_,` )
俺は京都には詳しいんだ
A. はい! ครับ
B. はい! ครับ
C. はい! ครับ
D. はい! ครับ

แต่คนเขียนกระทู้มาเฉลยว่า คำตอบเดียวที่ถูกต้องคือข้อ C. ครับ ถ้าถามแบบข้อ C.นี้คือถามชวนให้ดื่มกาแฟจริงๆ !! เพราะข้ออื่นยังไม่แน่นอน ถ้าไม่ใช่เจ้าของภาษาจริงๆ จะแปลสิ่งที่คนพูดอยากจะสื่อยากมากเลยเพราะว่าประโยคอื่นจะความหมายประมาณว่า ”หรือกาแฟ?” นั่นหมายถึงคนพูดเขาไม่ได้ระบุชวนแบบเฉพาะเจาะจงว่าเป็น ”เครื่องดื่มกาแฟ” อย่างเดียว แต่อาจจะเป็นเครื่องดื่มอย่างอื่นก็ได้หรือโดยเฉพาะภาษาที่คนเกียวโตพูดก็จะยิ่งแปลยากเข้าไปอีกว่าตกลงที่ชวนให้ดื่มนั้น คือ “เครื่องดื่มกาแฟ” หรือ “ดื่มอะไร” หรือ “มีความหมายแฝงที่ไม่ได้แปลความว่าเครื่องดื่มหรือไม่” นั้นมันคืออะไรกันแน่ ซึ่งเวลาคนญี่ปุ่นหรือคนในโลกโซเชียลมีเดียเอาเรื่องเกี่ยวกับคนเกียวโตไปพูดคุยกัน ทุกคนก็จะมองว่าคนเกียวโตมีอิมเมจเหมือนการ์ตูนมังงะ เหมือนอยู่ในโลกแฟนตาซี มีความผู้ดีเก่าที่มีแนวคิดเหลื่อมล้ำทางกาลเวลา ก็จะพูดแซวกันสนุก


เรื่องที่ 2. คนเกียวโตกับเอลฟ์ชั้นสูง

★ถ้าคนเกียวโตพูดว่า "อ๋อ คุณมาจากนาราเหรอ คนเกียวโตน่าอายจริงๆ ไม่มีอะไรในเกียวโตเทียบกับพระหลวงพ่อโตและกวางในเมืองนาราได้เลย” มีความหมายเหมือนกันกับสิ่งที่เอลฟ์ชั้นสูงในนิยายแฟนตาซีพูดว่า "เจ้ามนุษย์โง่ เจ้ามาทำอะไรในป่าของพวกเรา ถ้าไม่อยากตายก็ออกไปซะ"

★ถ้าคนเกียวโตบอกว่า ”ที่เกียวโตไม่ได้มีอะไรเลย ” มีความหมายเหมือนกันกับสิ่งที่เอลฟ์ชั้นสูงในนิยายแฟนตาซีพูดว่า “พวกมนุษย์คนโง่เขลา ... จงออกไปให้พ้น ณ บัดเดี๋ยวนี้”

★ถ้าคนเกียวโตพูดว่า "ถ้างั้นมากินข้าวราดน้ำชา บุบุทสึเคะ (ぶぶ漬け) ก่อนไหม ? " มีความหมายเหมือนกันกับสิ่งที่เอลฟ์ชั้นสูงในนิยายแฟนตาซีพูดว่า "ฉันบอกแล้วว่าให้แกออกไป อยากจะเจ็บตัวใช่ไหม..."


★ กล่าวกันว่ามีเพียงเอลฟ์ชั้นสูงในนิยายแฟนตาซีกับคนเกียวโตเท่านั้นที่พูดถึงสมรภูมิการต่อสู้เมื่อ 500 ปีที่แล้วว่า "ในศึกครั้งก่อน..." คือคนญี่ปุ่นมองภาพลักษณ์ของคนเกียวโตว่าวางตัวแบบมีความเหลื่อมล้ำทางยุคสมัยเปรียบเทียบคล้ายๆ กับเอลฟ์ ด้วยภาพลักษณ์ที่มองไม่ค่อยจะออกนักว่าท่านคิดอะไรของท่านกันแน่!

"ในศึกครั้งก่อน..." (เรื่องนี้มีที่มาที่ไปจากเรื่องนี้) เมื่อถามหัวหน้าครอบครัวหนึ่งที่มีเชื้อมีสายสืบทอดตระกูลมายาวนานว่า "คุณอยู่บ้านหลังที่เป็นมรดกสืบทอดกันมาแบบนี้คงมีเอกสารเก่าๆ มากมาย" เขาตอบว่า → "มันถูกเผาในการรบในศึกครั้งก่อนไปแล้ว ... " ใครๆ ก็อาจจะคิดว่าศึกสมรภูมิที่เขาว่านั้นเห็นจะเป็นสงครามโลกครั้งที่สองกระมัง แต่เปล่า ไม่ใช่ๆ ที่ลุงกล่าวถึงศึกสงครามครั้งก่อนคือสงครามโอนิน สงครามในปี 1467 ( เมื่อ 500 กว่าปีก่อน)

ทำไมคนญี่ปุ่นจึงชอบพูดแซว และนำเรื่องคนเกียวโตมาเป็นประเด็นส่งต่อกันอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นเกลียดเกียวโตนะครับ มีคำวลีที่ว่า 「好き」の反対は、「嫌い」ではなく、“無関心”Suki no hantai wa, kirai de wa naku, mukanshin “สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรักไม่ใช่ความเกลียดชัง แต่มันคือความเฉยเมย”


หมายถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับคำว่ารักหรือชอบ ไม่ใช่เกลียดหรือไม่ชอบ แต่มันคือความ "เฉยเมย" ทั้งอารมณ์เชิงบวกและน่าขยะแขยงหรือไม่ชอบ ไม่พอใจใดๆ ล้วนเกิดขึ้นเพราะสนใจในสิ่งนั้น เพราะสิ่งนั้นกำลังเขย่าหัวใจหรือมีอิทธิพลกับอารมณ์ความรู้สึกคนๆ หนึ่งได้ ในบางครั้งคุณอาจไม่รู้ตัวว่าชอบคนที่คุณบอกว่าไม่ชอบ หรือคุณอาจไม่ชอบคนๆ หนึ่งเพราะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นมาบางอย่างจากการที่คุณไม่สามารถยอมรับในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ก็เหมือนกับที่คนญี่ปุ่นสนใจเรื่องเกี่ยวกับคนเกียวโตเช่นกัน ไม่ว่าจะมีปฏิกิริยาออกมาทางบวกหรือทางลบก็คือมีความสนใจเกิดขึ้น ไม่ใช่อาการเฉยเมยไม่สนใจใยดีเสียเลย

ซึ่งความรู้สึกทั้งชอบและไม่ชอบและปฏิกิริยาที่แสดงออกมาจากความชอบและไม่ชอบก็ล้วนมาจากมีความสนใจในสิ่งนั้นนั่นเอง เพราะความรู้สึกและปฏิกิริยาใดๆ ดังกล่าวจะไม่ปรากฏแก่คนที่รู้สึกเฉยเมยไม่สนใจใยดีเลย ความรักความเกลียดจึงมีอาการตรงข้ามคือความเฉยเมย ไม่แยแส ไม่สนใจเลยนั่นเอง


มีคนที่มาอ่านกระทู้เกี่ยวกับเกียวโตและเขาเองก็เป็นคนเกียวโตเช่นกัน พูดว่าการที่มีข่าวลือหรือคอนเทรนต์แปลกๆ ที่คนเกียวโตมักไม่ชอบใจแต่ดูเหมือนว่าสื่อและคนอื่นๆ อาจจะต้องการเขียนเกินจริง แต่ "นั่นคือเหตุผลที่เกียวโตเป็น ... " เค้าคิดว่า เมื่อถูกถามชวนว่า "อยากกินข้าวราดน้ำชา บุบุทสึเคะไหม" บางครั้งมีคนพูดว่าคำถามนี้คนเกียวโตหมายถึง "อยากให้คุณรีบกลับบ้านเร็วๆ หน่อย" แต่ตัวเค้าเองไม่เคยได้ยินบทสนทนาแบบนี้มาก่อนเลยในชีวิตวัยเกือบเจ็ดสิบปีของเค้า .. แค่ต้องยอมรับว่าอย่างไรก็ตามเมื่อมาใช้เวลาในเมืองเกียวโต มันง่ายที่จะถูกเยาะเย้ย แต่เท่าที่เค้ารู้เมืองเกียวโตเป็นเมืองที่น่าอยู่ แต่ก็มีบางคนที่ใจร้าย แต่คนใจร้ายก็มีอยู่ทุกที่ในประเทศ และมันก็เป็นเรื่องจริงที่ไม่คิดว่าจำกัดแค่เกียวโต

ใช่ครับคนในสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด แต่เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเมตตาธรรม ผมชอบข้อความนี้เหมือนกันครับ “สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรักไม่ใช่ความเกลียดชังแต่มันคือความเฉยเมย” คิดในแง่ดีไว้ รักกัน เตือนกัน ดีกว่าต่างคนต่างอยู่ และเฉยเมยต่อกัน วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น