รัฐบาลญี่ปุ่นจะต่ออายุประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่จะผ่อนคลายคำสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ และเปิดทางให้เดินทางข้ามจังหวัดได้เมื่อประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
ภาวะฉุกเฉินใน 19 จังหวัด ทั้งกรุงโตเกียว จังหวัดโอซากา จังหวัดไอจิ จังหวัดฟูกูโอกะ และเกาะฮอกไกโด ที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ย. จะถูกต่ออายุไปจนถึง 30 ก.ย. เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยหนักยังคงสูงอยู่ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงเมื่อไม่นานนี้ก็ตาม โรงพยาบาลในหลายจังหวัดยังคงเผชิญภาวะขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วย
นี่เป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 แล้วของญี่ปุ่นนับตั้งแต่โรคโควิดระบาดเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน แต่ประชาชนเริ่มชาชินกับมาตรการต่าง ๆ ร้านค้าและภาคธุรกิจหลายแห่งปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทำให้แทบจะไม่รู้สึกถึงความ “ฉุกเฉิน” อีกแล้ว
การระบาดระลอกล่าสุดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อสูงสุดเกิน 25,000 คนต่อวันในช่วงกลางเดือนสิงหาคม แต่ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มลดลง ขณะที่ประชาชนร้อยละ 49 ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
คาดว่า การขยายภาวะฉุกเฉินรอบใหม่นี้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เช่น ให้ร้านอาหารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เปิดร้านได้ตามเวลาปกติ (ขณะนี้ปิดร้าน 20.00 น.) รวมทั้ง ผ่อนปรนการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมต่าง ๆ และจะยกเลิกคำขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด
รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อเปิดทางให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้ และฟื้นฟูธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว Go To Travel ที่ถูกระงับไป ก็อาจเริ่มใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน
ในด้านการควบคุมการเข้าประเทศ คาดว่าจะลดจำนวนวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ตามข้อเสนอของสมาพันธ์ธุรกิจแห่งญี่ปุ่น หรือเคดันเร็ง แต่นักท่องเที่ยวทั่วไปจะยังไม่สามารถมาเที่ยวญี่ปุ่นได้ในช่วงเวลานี้
อ่านที่ ญี่ปุ่นเตรียมคลายล็อกเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวยังรอก่อน
คณะที่ปรึกษาด้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นจะยื่นชุดข้อเสนอใหม่เพื่อรับมือการระบาดใหญ่ต่อรัฐบาล โดยใช้เกณฑ์พิจารณายกเลิกภาวะฉุกเฉินตามภาระของระบบสาธารณสุข เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต้องลดลง 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง, อัตราการใช้เตียงในโรงพยาบาลและผู้ป่วยหนักต่ำกว่า 50%, อัตราผู้ที่รักษาตัวโดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น, จำนวนผู้ป่วยอาการหนักลดลง, ผู้ที่รักษาตัวที่บ้านและรอเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง เป็นต้น.