xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยประวัติศาสตร์เลือด ณ สถานีโตเกียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานีโตเกียว ศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ที่นี่นอกจากมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแล้ว ยังมีเรื่องราวการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นถึง 2 คน

สถานีโตเกียวเป็นอาคารทรุงยุโรปสีอิฐที่สวยงาม จากที่นี่สามารถเดินทางเข้า-ออกเมืองหลวงของญี่ปุ่นไปยังทั่วประเทศ ทั้งโดยรถไฟและรถไฟหัวกระสุนชินกันเซ็น แต่ภายในสถานีมีสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์เลือด ที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกตเห็น


จุดแรกอยู่ที่ ทางเข้ามารุโนะอุจิใต้ บริเวณใกล้เครื่องขายตั๋วทางด้านขวามือ บนพื้นจะมีหมุด 8 เหลี่ยมสีขาวในวงกลมสีขาว นี่คือจุดที่นายกฯ ฮาระ ทากาชิ ถูกสังหาร


ฮาระ ทากาชิ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อปี 2461 ในช่วงนั้นบรรดานักอุตสาหกรรมและนายทหารต่างแย่งกันเข้าสู่อำนาจทางการเมือง หลังจากระบบโชกุนถูกล้มเลิกไปในการปฏิวัติเมจิ นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถก้าวกระโดดไปเป็นชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นได้ และเกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าจะนำพาประเทศไปในทิศทางใด รวมทั้งจะแบ่งปันผลประโยชน์และอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างไร


วันที่ 4 พฤศจิกายน 2464 นายกฯ ฮาระ ทากาชิ ที่กำลังจะขึ้นรถไฟไปเมืองเกียวโต ถูกคนงานของบริษัทการรถไฟใช้มีดแทงที่หน้าอกขวา และเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุบริเวณที่มีหมุดบนพื้นในทุกวันนี้

มือสังหารอ้างว่า นายฮาระเป็นตัวแทนของกลุ่มนายทุน เนื่องจากเขาสนับสนุนให้ปฏิรูปธุรกิจต่าง ๆ ลดการผูกขาดของรัฐและกองทัพ เปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่ประชาชนทุกคนทั้งชาย-หญิงและทุกชนชั้นมีสิทธิ์ออกเสียง รวมทั้งยังมีนโยบายผ่อนคลายการกดขี่ชาวญี่ปุ่นเชื้อชาติเกาหลี จึงสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับกลุ่มนักอนุรักษ์นิยม

ฮาระ ทากาชิ ได้ชื่อว่าเป็น “นายกฯสามัญชน” เขาเช่าบ้านอยู่ และแทบจะไม่มีทรัพย์สินใดๆ ทิ้งไว้หลังเสียชีวิต นอกจากบันทึกส่วนตัวที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ เป็นบันทึกประวัติศสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของญี่ปุ่น


จุดที่สอง อยู่ภายในสถานี ใกล้กับบันไดทางเชื่อมไปยังรถไฟด่วนชินกันเซ็น บนพื้นจะมีหมุดที่ล้อมด้วยกระเบื้องสีน้ำตาล-ขาว-ดำ นี่คือจุดที่นายกฯ ฮามางูจิ โอซาจิ ถูกสังหาร

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2473 นายกฯ ฮามางูจิ โอซาจิ ถูกสมาชิกกลุ่มชาตินิยมใช้ปืนลอบสังหาร ขณะที่เขากำลังรอขึ้นรถไฟไปจังหวัดโอกายามะ เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตลงในอีก 9 เดือนต่อมา


ฮามางูจิ โอซาจิ ผู้ได้ฉายาว่า “นายกฯ ราชสีห์” จากบุคลิกที่สง่างามและยืนหยัดในแนวทางสายปฏิรูป เขาเสนอนโยบายรัดเข็มงัด ลดการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลดการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่น ลดอำนาจของกองทัพ และให้ผู้หญิงที่อายุ 25 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ แน่นอนว่านโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของเขาได้ขวางเส้นทางอำนาจของกลุ่มอนุรักษ์นิยม เขาจึงต้องจบชีวิตลงเหมือนายกฯ ฮาระ ทากาชิ ที่เป็นสายปฏิรูปเช่นกัน

พื้นที่ประวัติศาสตร์เลือดทั้ง 2 จุดภายในสถานีโตเกียว มีป้ายภาษาญี่ปุ่นอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ผู้คนที่เร่งรีบเดินทางอาจไม่ทันสังเกตเห็น หมุดหมายเล็ก ๆ นี้เป็นสัญลักษณ์เตือนใจผู้คนว่า กว่าที่ญี่ปุ่นจะมีสังคมที่สงบสุขในทุกวันนี้ ก็ต้องผ่านเหตุการณ์ที่โหดร้ายมาก่อน และขออย่าให้ประวัติศาสตร์เลือดต้องซ้ำรอยอีกเลย.


กำลังโหลดความคิดเห็น