xs
xsm
sm
md
lg

ฝากท้องกับของกินข้างทางญี่ปุ่นและนิวยอร์ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://icotto.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันมีโอกาสเดินทางไปยังชนบทของรัฐนิวยอร์กมา เห็นร้านอาหารและร้านขนมในแหล่งท่องเที่ยวแล้วก็คิดถึงร้านของกินข้างทางในญี่ปุ่นมาก ในขณะเดียวกันร้านอาหารข้างทางในตัวเมืองนิวยอร์กที่หายไปเกือบเกลี้ยงเพราะพิษโควิด ก็ทยอยฟื้นตัวกลับมากันมากขึ้นแล้ว

ซาระซังกลับมาพบกับเพื่อนผู้อ่านเช่นเคยนะคะ ขอบคุณมิกิจังที่ช่วยเขียนแทนให้ช่วงที่ผ่านมาค่ะ....เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีครึ่งทีเดียวที่ฉันไม่ได้เดินทางไปไหนเลย รู้ตัวอีกทีก็เครียดสะสมเสียแล้ว เลยออกจากความอุดอู้ของห้องสี่เหลี่ยมไปหาอ้อมอกของธรรมชาติบ้าง ความร่มรื่นของแมกไม้เขียวขจีในป่าและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเป็นสถานที่ที่ให้พลังงานดี ๆ ได้มากเลยค่ะ

ที่ที่ฉันไปพักเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่รอบทะเลสาบทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก คนที่อยู่แถวนั้นเป็นคนขาวเสียมาก แรก ๆ ก็กังวลเหมือนกันว่าจะโดนเหยียดผิวไหม แต่ปรากฏว่าผู้คนสุภาพน่ารักและเป็นมิตรมาก ตอนเดินรอบทะเลสาบจะมีช่วงเดินผ่านบ้านเรือนคน และมีคนเดินสวนไปมาเป็นระยะ ก็จะยิ้มและทักทายให้กัน ชวนให้สุขใจดี


ย่านดาวน์ทาวน์ประกอบไปด้วยร้านค้าหลายประเภทเรียงรายกันเป็นตับบนถนนเล็ก ๆ ส่วนร้านขายของกินเล่นก็มีทั้งร้านเบเกอรี่ ร้านป็อบคอร์น ร้านช็อกโกแลต ร้านเนื้อแดดเดียว ร้านขายขนมสารพัดชนิด สังเกตว่าร้านมักเป็นกระจกปิดสนิท ไม่มีร้านแบบเปิดโล่งเหมือนที่ไทยหรือญี่ปุ่น ทำให้ดูจากภายนอกร้านจะไม่ค่อยทราบว่าของกินเล่นที่ขายนั้นเป็นอย่างไรจนกว่าจะเดินเข้าไปดูในร้านเอง ทำให้ลังเลไม่เข้าบางร้านเพราะไม่อยากเดินเข้าไปดูเฉย ๆ แล้วเดินออกมาตัวเปล่า

เห็นแล้วฉันก็นึกขึ้นมาว่าถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวของญี่ปุ่นละก็ คงบรรยากาศครึกครื้นกว่านี้มาก ที่สำคัญคือของกินนั้นมักทำสด ๆ ร้อน ๆ และวางขายแบบให้คนเดินผ่านไปมาเห็นชัดเจน เมื่อภาพอาหารต้องตา กลิ่นอาหารเตะจมูก ลูกค้าก็พากันเดินเข้าหาร้านเอง หรือถ้ามองเห็นจากนอกร้านไม่ชัดว่าขายอะไร ร้านนั้นก็อาจจะตั้งธงเขียนชื่อของกินเป็นภาษาญี่ปุ่นบอกไว้หน้าร้าน บางร้านก็มีคนขายส่งเสียงเรียกลูกค้า เป็นสีสันและบรรยากาศดี

บรรยากาศหน้าร้านขายของกินเล่นในแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งของญี่ปุ่น  ภาพจาก https://www.mapple.net
ถ้าเป็นฤดูหนาว ควันฉุย ๆ จากของกินร้อน ๆ ข้างทางจะเป็นตัวเรียกลูกค้าที่ดีเอง จำได้ว่าตอนไปฮอกไกโดช่วงฤดูหนาวเป็นครั้งแรกนั้นช่างหนาวทรมานจับจิต ฉันเดินย่ำอยู่บนหิมะกองหนา ๆ และหิมะก็ตกหนักโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย มีคุณป้าคนหนึ่งขายอะไรบางอย่างอยู่ข้างทาง ไม่ทราบว่าขายอะไร เห็นเป็นแต่ถังคล้าย ๆ ถังไอศครีมกะทิตั้งพื้นแบบบ้านเรา ตอนแรกก็สงสัยมากว่าคุณป้าขายไอศครีมกลางหิมะจริง ๆ ละหรือ พ่อแม่ฉันเดินเข้าไปดูว่าเขาขายอะไร แล้วก็เดินกลับมาถือก้อนอะไรควันฉุยมาให้ ปรากฏว่าเป็นมันหวานเผา การมีของกินร้อน ๆ ท่ามกลางความหนาวเหน็บช่างเป็นอะไรที่สุขใจแท้

โอเด็งเสียบไม้ ภาพจาก https://dogatch.jp/
ของกินข้างทางในญี่ปุ่นแบบนี้ไม่จำเป็นว่าอยู่ในย่านเดียวกันแล้วต้องขายแต่ของเหมือนกันทุกร้าน และไม่จำเป็นว่าย่านนั้นมีของกินอะไรเด่นแล้วก็จะขายแต่อย่างนั้นเป็นหลัก บางทีย่านหนึ่ง ๆ จึงอาจเจอของกินหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นโอเด็งเสียบไม้ ดังโหงะ (แป้งหนึบสีขาวทาน้ำซอสหรือถั่วแดงบด หรือแบบหลากสี) ทาโกะยากิ ไทยากิ (ขนมรูปปลาไส้ถั่วแดง) ขนมเปี๊ยะชนิดต่าง ๆ ซาลาเปาไส้หมู คร็อกเกะ (มันบดชุบแป้งขนมปังทอด) ไก่ทอด ข้าวเกรียบ เนื้อเสียบไม้ย่าง เครป ไอศครีม เจลาโต น้ำแข็งไส และอื่น ๆ อีกมากมาย ว่าแต่ไม่ค่อยเห็นร้านขายเครื่องดื่มเป็นแก้ว ๆ ข้างทาง ถ้าจะมีก็มักเป็นร้านคาเฟ่ไปเลย

เมื่อแต่ละร้านขายของต่างกันแบบเป็นเอกลักษณ์อย่างนี้ จึงทำให้ย่านนั้น ๆ มีความน่าสนใจกว่าการขายสินค้าเหมือน ๆ กัน เพราะจะคาดเดาไม่ถูกว่าเดินไปเดี๋ยวจะไปเจออะไรให้เซอร์ไพรส์อีกบ้าง ทำให้การเดินเล่นดูตามร้านรวงแบบนี้สนุกมากทีเดียวค่ะ

“หมิ-ตา-รา-ชิ-ดัง-โหงะ” แป้งหนึบทาซอสถั่วเหลืองรสเค็มปนหวาน ภาพจาก https://4travel.jp
ที่ญี่ปุ่นเรียกแหล่งขายอาหารกินเล่นข้างทางอย่างนี้ว่า “食べ歩きスポット” (ทา-เบ-อา-รุ-คิ-สึ-ปต-โตะ) คำนี้เห็นแล้วอาจจะนึกว่าหมายถึง ‘แหล่งเดินกิน’ แต่จริง ๆ แล้วในพจนานุกรมแปลคำว่า “食べ歩き” (ทา-เบ-อา-รุ-คิ) ว่าหมายถึง ‘การกินอาหารขึ้นชื่อหรือกินของกินอร่อยของย่านจากร้านโน้นไปร้านนี้’  ส่วนการ “เดินไปกินไป” นั้นจะใช้ตัวคันจิสลับกันคือคำว่า “歩き食べ” (อา-รุ-คิ-ทา-เบะ) หรือ “歩き食い” (อา-รุ-คิ-กุย) ชวนให้สับสนดีแท้ กระทั่งคนญี่ปุ่นจำนวนมากเองก็งง

อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นจะไม่นิยมเดินไปกินไปเพราะถือว่าไม่มีมารยาท หากร้านไหนไม่มีที่ให้นั่งหรือมีที่นั่งไม่พอ คนก็มักจะยืนรับประทานหน้าร้านกัน แล้วทิ้งขยะในถังที่ทางร้านจัดไว้ การเดินไปกินไปยังมีข้อเสียอีกคือ หลังรับประทานเสร็จแล้วจะหาที่ทิ้งขยะยาก เพราะญี่ปุ่นไม่ค่อยมีถังขยะให้เห็นมากนัก ถ้าจะทิ้งตามทางอย่างคนมักง่ายก็สร้างปัญหาให้คนอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าการเดินไปกินไปทำให้อาหารไปเปรอะเสื้อผ้าคนอื่นเลอะเทอะกันบ่อยด้วย โดยเฉพาะตามทางแคบ ๆ หรือเวลาคนพลุกพล่าน

“ไทยากิ” ขนมอบรูปปลาไส้ถั่วแดง ภาพจาก https://icotto.jp
ไป ๆ มา ๆ บางท้องถิ่นของญี่ปุ่นอย่างเมืองคามาคุระ จึงออกระเบียบห้ามไม่ให้มีการเดินไปกินไปในบางพื้นที่เสียเลย แม้ว่าจะไม่มีบทลงโทษก็ตาม บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับการออกระเบียบนี้ เพราะเป็นการเบียดบังความสนุกของนักท่องเที่ยว จะทำให้คนไม่อยากมาเที่ยว ร้านค้าควรหาวิธีอื่นแทน เช่น จัดที่นั่งหรือเคาน์เตอร์ให้ยืนกิน มีถังขยะให้มากกว่านี้ คอยเก็บขยะ หรือไม่ขายอาหารที่ทำให้เลอะเสื้อผ้าง่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการแจกถุงกระดาษเพื่อให้นักท่องเที่ยวเอาขยะใส่ในถุงนี้ จะได้ไม่ทิ้งขยะข้างทาง และให้ถือถุงนี้กลับบ้านไปด้วย บนถุงเขียนอธิบายไว้เป็นภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษด้วยว่าให้ปฏิบัติตัวอย่างไร ได้ข่าวว่าจะมีการแปลเป็นภาษาเอเชียอื่น ๆ ต่อไปด้วย

น่าเสียดายที่ว่าภาษาอังกฤษคงแปลตรงตัวจากภาษาญี่ปุ่นมากไป เลยสื่อความหมายไม่ถูกต้องเท่าใดนัก ญี่ปุ่นก็แปลกดีที่ไม่ค่อยจะตรวจสอบความถูกต้องของภาษาก่อนการผลิต เราจึงได้เห็นป้ายภาษาอังกฤษชวนขำกลิ้งกันอยู่เรื่อย ๆ มองแง่ดีก็น่าจะเรียกว่าเป็นอเมซิ่งเจแปนอย่างหนึ่งได้กระมัง

ภาพจาก https://kamakura.keizai.biz
ส่วนของกินข้างทางในนครนิวยอร์กนั้นมักเป็นร้านรถเข็นตามมุมตึกของนครนิวยอร์ก ไม่ก็อีเวนท์เฉพาะกิจ หรือ farmers’ market (ตลาดเฉพาะกิจที่ร้านเล็ก ๆ ในท้องถิ่นมาตั้งขายผักผลไม้ ชีส ขนมปัง และของกินอื่น ๆ) ที่ผ่านมาพิษโควิดทำให้ร้านเหล่านี้หายไปเกือบหมดอย่างน่าตกใจ แต่ก็มีบางร้านที่ยืนหยัดต่อไปแม้ว่าตอนแรกจะไม่ค่อยมีลูกค้า แต่เดี๋ยวนี้ทั้งร้านทั้งลูกค้าก็ทยอยกลับมามากขึ้น

รถเข็นขายอาหารตามทางเท้าของนครนิวยอร์กที่เห็นบ่อยมักเป็นอาหารฮาลาลสไตล์ตะวันออกกลางหรือแบบประยุกต์ เช่น ฟาลาเฟล (ถั่วบดปรุงรสปั้นก้อนกลมทอด) ฮัมมัส (เครื่องจิ้มทำจากถั่วลูกไก่) ข้าวหน้าไก่ย่าง ข้าวหน้าแกะย่าง ราคาประมาณ 6-7 เหรียญ ให้ปริมาณค่อนข้างมาก บางร้านเน้นขายอาหารเช้าอย่างเช่น โดนัท เบเกิล (หน้าตาคล้ายโดนัทแต่รสคล้ายขนมปังหนึบ ๆ) กาแฟ ราคาอย่างละประมาณ 1-2 เหรียญ บางร้านเน้นขายเพร็ตเซล ฮอทด็อก และไส้กรอก และมีร้านขายน้ำผลไม้ปั่นด้วย

รถเข็นและอาหารเหล่านี้เป็นสีสันและเลี้ยงปากท้องคนนิวยอร์กมานาน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงานหรือนักศึกษาในละแวกนั้น หรือไม่ก็นักท่องเที่ยว เมื่อก่อนฉันก็เคยซื้อเบเกิลอบร้อน ๆ ใส่ครีมชีสจากร้านแบบนี้ไปรับประทานตอนเช้าในที่ทำงานเป็นบางคราว เป็นบรรยากาศยามเช้าสบาย ๆ ของคนทำงานที่คิดถึง

รถเข็นขายอาหารในนครนิวยอร์ก ภาพจาก https://www.pinterest.com
หลังจากประชาชนฉีดวัคซีนกันมากขึ้น คนติดเชื้อลดลงมาก และประชาชนก็ออกมาใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติมากขึ้น ร้านเหล่านี้ก็กลับมาให้เห็นหนาตาขึ้นอีก มีอยู่ร้านหนึ่งคนขายอัธยาศัยดี ขายไม่แพงและอร่อย คนมักเข้าคิวรอกันยาว พอร้านนี้ปิดไปก็มีแต่คนคิดถึง นึกว่าจะปิดกิจการถาวรแล้ว พอเห็นกลับมาตั้งร้านใหม่ ลูกค้าประจำก็พากันดีอกดีใจ ฉันเองยังดีใจจนเนื้อเต้นและร่าเริงไปทั้งวัน

ช่วงนี้ที่ไทยและญี่ปุ่นอยู่ในภาวะลำบาก ร้านค้าอยู่ยากขึ้น แต่นิวยอร์กเองก็เคยตกอยู่ในสภาพคล้ายกัน และปัจจุบันก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้ วันหนึ่งไทยและญี่ปุ่นก็จะมีวันนี้เช่นกัน อดทนรอหน่อยนะคะ บางครั้งทางออกต่อปัญหาก็ต้องอาศัยเวลา ตอนนี้รักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตไว้เป็นสำคัญดีกว่า หันมามองแง่ดีของชีวิตที่ตอนนี้มี จะได้มีกำลังใจและยิ้มให้ตัวเองได้ มีแรงสู้ต่อไปไม่ท้อถอยนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น