สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ผมติดตาม SNS ( เครือข่ายสังคมออนไลน์ ) ของคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศบราซิล วันก่อนเขาโพสต์ข้อความว่า "สถานการณ์โควิด-19 ณ ตอนนี้ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่วโลก แต่ส่วนตัวเขาเองยังถือว่าโชคดีที่ยังพอมีบ้านไว้พักอาศัย" หลังจากที่ผมได้ฟังแล้วก็รู้สึกเห็นด้วยในเรื่องผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความยากลำบากกันไปทั่วจริงๆ คนญี่ปุ่นก็เช่นกัน คนที่กำลังผ่อนเงินที่กู้มาส่งค่าบ้าน ผ่อนรถต่างๆ ไม่สามารถหาเงินมาผ่อนได้เหมือนปกติ และมีการประกาศขายบ้านเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่เช่าอยู่ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่ามีอัตราการกู้เงินสูงขึ้นกว่าเดิม 45 เท่า
ในบรรดาหัวข้อสนทนาเกี่ยวกับบ้านและที่พักอาศัย มีหัวข้อหนึ่งที่คนญี่ปุ่นมักจะเขียนขึ้นมาสอบถามความคิดเห็นคนอื่นๆ บ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่ชอบที่จะเข้าไปอ่านสักเท่าไหร่นัก นั่นคือคือประเด็นที่ถามว่า "เราควรจะซื้อบ้านหรือควรจะเช่าบ้านมากกว่ากัน?" แน่นอนว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นและความจำเป็นไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมและปัจจัยในชีวิตก็ไม่เหมือนกัน ถกเถียงกันทีไรมีแต่จะขัดแย้งกันเสมอ ไม่มีทางเข้าใจกันได้ แต่มันก็เป็นประเด็นที่คนญี่ปุ่นชอบนำมาหารือและถกเถียงกันมากๆ จริงๆ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คนถกเถียงกันเรื่องนี้เพราะว่าถ้าเทียบขนาดของพื้นที่แล้วประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่น้อยกว่าประเทศไทยน่าจะเกือบครึ่งหนึ่งแต่มีประชากรมากกว่าประเทศไทยกว่าสองเท่า ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จะย้ายมาอยู่อาศัยในตัวเมืองและแหล่งที่มีความเจริญ คนมักจะหนีออกมาจากที่อยู่เดิมตามชนบท
เมื่อพูดเรื่องบ้านและที่พักอาศัยทำให้ผมนึกถึงนักเขียนคนหนึ่งชื่อว่า 青木雄二 ยูจิ อาโอกิ (Yuji Aoki ) เกิดที่จังหวัดเกียวโต แม้ว่าปัจจุบันเขาจะถึงแก่กรรมไปแล้วแต่ทุกคนก็รู้สึกเศร้าใจและยังคิดถึงเขาอยู่ ผมเองรู้สึกชอบทั้งในส่วนงานเขียนของเขา และในส่วนของบทความสัมภาษณ์ต่างๆ ด้วย เขาเป็นนักวาดการ์ตูนและนักเขียนบทความที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของญี่ปุ่น สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาผมเคยไปฟังบรรยายและปาฐกถาของเขา จัดขึ้นไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่นัก เป็นงานที่นักเขียนท่านนี้จัดแสดงผลงาน และให้สัมภาษณ์โต้คารมกับยากุซ่าคนหนึ่ง หลายเรื่องที่เขาพูดมานั้นติดตลกบ้าง เสียดสีสังคมและรัฐบาลบ้าง แต่ก็ค่อนข้างจะน่าสนใจมาก ส่วนเรื่องที่เขาพูดนั้นต้องบอกไว้ก่อนว่าเกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่นนะครับ ถ้าใครเข้าใจลักษณะสังคมและแนวคิดของคนญี่ปุ่นจะยิ่งเข้าใจสิ่งที่เขาสื่อมากยิ่งขึ้น เช่น
●เรื่องสภาพเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นนี่มันน่าทำให้เป็นแบบคอมมิวนิสต์เสียเลย (ความหมายของคอมมิวนิสต์ในแง่ของระบบเศรษฐกิจ หมายถึงการที่รัฐเป็นเจ้าของทุกสิ่ง ประชาชนเป็นผู้เช่าอาศัย ทุกคนจะมีงานทำตามที่รัฐกำหนดและได้รับเงินตามที่รัฐกำหนด ผลผลิตของทุกคนจะได้รับการปันส่วนแบ่งให้เท่าๆ กันทุกคน คือระบบนี้แม้แต่คนขี้เกียจก็จะได้เปรียบเพราะอาจจะแสร้งทำงานไปวันๆ แต่ก็ยังได้ส่วนแบ่งที่เท่ากับคนอื่นๆ อยู่ดี ซึ่งจะตรงข้ามกับระบบทุนนิยม (capitalism) ที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ผลิตเพื่อยังชีพหรือทำตามคำสั่งของผู้ปกครอง แต่ผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไร ประมาณว่าใครเก่งกว่า ขยันและเฉลียวฉลาดกว่าคนนั้นได้ประโยชน์มากกว่า ขายได้ก็เอาเงินกำไรไปแต่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ) ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้ที่มีรายได้มาก ได้รับเงินจากการเขียนจำนวนมาก แม้ว่าเขาจะมีฐานะดีแต่เขาบอกว่าดูสภาพสังคมแบบญี่ปุ่นแล้ว จะไหวไหม นี่น่าจะเป็นแบบคอมมิวนิสต์ไปเสียเลย
●เรื่องที่เขาทำงานอิสระเป็นนักเขียน จึงไม่ได้จ่ายเงินประกันสังคม, เงินบำนาญหลังเกษียณ ประเภทเดียวกันกับพนักงานบริษัทที่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่จะโดนหักภาษี, ประกันสังคม และเงินบำนาญหลังเกษียณ ต่างๆ จากเงินเดือนในแต่ละเดือน ทว่าก็จะมีเจ้าหน้าที่ราชการท้องถิ่นมาเคาะประตูบ้านเขาเพื่อขอให้จ่ายเงินประกันสังคม เงินบำนาญหลังเกษียณ ต่างๆ อยู่ตลอด เขาบอกแนวติดตลกว่าทำแบบนี้มันคืองานขายตรงของรัฐบาลใช่ไหม!?
●ส่วนเรื่องเกี่ยวกับบ้านและที่อยู่อาศัยนั้น เขาให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน เขาบอกว่าเหตุที่คนญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อบ้านก็เพราะว่าเบื่อเจ้าของห้องเช่าประเภทที่มักจะใช้อำนาจบาตรใหญ่ หรือเป็นคนประเภทจุกจิกจู้จี้ขี้บ่น หลายคนยิ้มเพราะเห็นด้วยในหลายประเด็น
สำหรับตัวผมเองตั้งแต่ออกจากบ้านพ่อแม่มาเรียนหนังสือที่โตเกียวจนกระทั่งทำงานและย้ายมาอยู่เมืองไทย จำได้ว่าผมมีประสบการณ์เรื่องการย้ายที่พักมามากกว่า 10 ครั้งได้แล้วกระมัง การย้ายที่พักและเช่าห้องพักที่เมืองไทยนั้นทำไม่ยากเท่าไหร่ แต่ที่ญี่ปุ่นค่อนข้างจะยุ่งยากมากมาย
การเช่าห้องพักที่ญี่ปุ่นนั้น ถ้าพูดกันตามกฏหมายแล้วผู้เช่าถือว่ามีสิทธิมาก คงจะสืบเนื่องมาจากการร่างกฏหมายที่ใช้มาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกที่ช่วยครอบครัวของพ่อบ้านผู้ที่ต้องออกไปเป็นทหารและเสียชีวิตทำให้ครอบครัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งลูกและภรรยาที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องดิ้นรนหรือเช่าบ้านหารายได้ยากลำบากมากขึ้น จึงเกิดกฏหมายนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือในส่วนนี้เพื่อให้ความคุ้มครองและไม่ให้เจ้าของบ้านขับไล่คนเช่าออกไปได้อย่างง่ายดาย หมายถึงถ้าใครพอใจเช่าอยู่นานก็อยู่ยาวกันเลยทีเดียว พูดถึงจุดประสงค์ของกฎหมายในตอนนั้นก็ถือว่าค่อนข้างเป็นเรื่องที่ดีแต่หลังจากที่เวลาผ่านไปจนมาถึงยุคปัจจุบัน และยังคงใช้บริบทเนื้อหาของกฏหมายแบบเดิมที่ไม่ปรับปรุงตามยุคสมัยจึงเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมากมายเหมือนกัน เช่น ยิ่งผู้เช่าเช่าอยู่นานเท่าไหร่ เจ้าของบ้านจะเสียประโยชน์ ไม่สามารถขึ้นค่าเช่าได้เลย เจ้าของบ้านจะไล่ออกก็ไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงเจ้าของห้องเช่าย่อมต้องการขึ้นราคาค่าเช่าในแต่ละปีใช่ไหม แต่ทำไม่ได้เพราะมีผู้เช่าเดิมยังอยู่ มีสัญญาและเช่าอยู่ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ปัจจุบันนี้มีเจ้าของห้องเช่าหัวหมอสร้างห้องที่ดูสวยแบบผิวเผิน แต่พออยู่ๆ ไปจะพบกับฟังก์ชั่นที่ไม่ตอบโจทย์การใช้งานและอยู่อาศัย หรือออกแบบโครงสร้างห้องไม่ดีนัก ไม่สะดวกต่อความเป็นอยู่ เช่น เป็นห้องที่มีอากาศหนาว เปลืองไฟ เสียงดัง เป็นต้น เพื่อให้คนเช่าอยู่ได้ไม่นานนัก และเปลี่ยนคนเช่าใหม่บ่อยๆ จะได้เงินเพิ่มนั่นเอง
เพราะในการเช่าห้องพักอาศัยที่ญี่ปุ่นนั้น ผู้เช่าต้องเตรียมค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่เรียกว่า ค่าทำสัญญาเช่าแรกเริ่ม (初期費用) จำนวนมาก อย่างน้อยน่าจะไม่ต่ำกว่า 500,000 เยน ( ประมาณ 160,000 บาท เลขกลมๆ ) หรือประมาณ 5-6 เท่าของค่าเช่าบ้าน 1 เดือน นอกจากนั้นก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขนย้าย , ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ซึ่งค่าทำสัญญาเช่าแรกเริ่ม (初期費用) นั้นแยกออกเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
●เงินประกัน (敷金) คือเงินที่ผู้เช่าต้องจ่ายให้กับเจ้าของห้องเพื่อไว้เป็นค่าประกัน ซึ่งเงินในส่วนนี้จะถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและซ่อมแซมห้องหลังจากที่ผู้เช่าย้ายออก หรืออาจจะถูกนำไปหักแทนค่าเช่ากรณีที่ผู้เช่าค้างค่าเช่า
●เงินให้เปล่า (礼金) คือเงินที่ผู้เช่ามอบให้แก่เจ้าของห้องเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อเป็นการตอบแทนและขอบคุณในขั้นตอนการทำสัญญา และขอบคุณที่เจ้าของห้องให้ผู้เช่าเช่าที่พักอาศัยนี้ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมือนจะมีเฉพาะคนญี่ปุ่นเท่านั้นนะครับที่จะต้องจ่ายเงินกินเปล่าให้กับเจ้าของห้อง เมื่อย้ายออกจะไม่ได้เงินกินเปล่าคืน โดยทั่วไปจำนวนเงินให้เปล่าจะอยู่ที่ 1-2 เท่าของค่าเช่าห้อง แต่ห้องเช่าบางแห่งเจ้าของก็ไม่เรียกเก็บเงินกินเปล่านะครับต้องตรวจสอบ
●ค่าติดต่อประสานงาน/ค่านายหน้า (仲介手数料) คือเงินที่ผู้เช่าจ่ายสำหรับนายหน้าที่ช่วยประสานงานหาห้องเช่าให้ โดยปกติแล้วหากผู้เช่าไม่ได้ติดต่อกับเจ้าของห้องเช่าโดยตรง ก็จะต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับบริษัทนายหน้าในราคาเท่ากับค่าเช่า 1 เดือนโดยประมาณ อย่างไรก็ตามบริษัทนายหน้าแต่ละรายอาจจะรายคิดค่าติดต่อประสานงานไม่เท่ากันครับ
● ค่าเช่าล่วงหน้า (前家賃) คือค่าเช่าที่พักอาศัยของเดือนที่ย้ายเข้ารวมกับค่าเช่าของเดือนถัดไป โดยปกติแล้วจะมีการเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน
● ค่าประกันต่างๆ (各種保険料) สำหรับอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการย้ายเข้า เจ้าของห้องเช่าอาจให้ผู้เช่าทำประกันต่างๆ เช่น ประกันอัคคีภัยและทรัพย์สิน เพื่อเป็นการค้ำประกันตัวอาคาร เครื่องเรือนและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในห้อง ซึ่งมักจะคิดครอบคลุมตามระยะเวลาเช่าที่ระบุในสัญญา
รวมๆ กันดูครับ ใช่จ่ายเยอะมาก แต่คนญี่ปุ่นหลายคนก็ยังนิยมอยู่ห้องเช่ามากกว่า เพราะถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านก็ถือว่าถูกกว่ามาก นักเขียน 青木雄二 Yuji Aoki ยูจิ อาโอกิยังกล่าวไว้ด้วยว่า ระบบการเช่านั้นเป็นเรื่องที่น่าสนเท่ห์มาก และผู้คนที่เป็นผู้เช่าต้องหาเงินมาจ่ายให้เจ้าของห้องเช่าทุกเดือนๆ แค่เกิดมาใช้ชีวิตก็ต้องหาเงินมาจ่ายทุกเดือน... จากนั้นผู้สัมภาษณ์ก็ถามเขาต่ออีกว่า แล้วอาโอกิเซนเซทําเงินจากการ์ตูนได้มากมายกว่า 1 พันล้านเยน คุณอาโอกิจะเอาเงินไปทำอะไร? เขาตอบอย่างติดตลกว่า คงต้องเอาไปซื้ออพาร์ทเม้นท์แล้วปล่อยให้คนเช่า !! (ΦωΦ)フフフ
วันนี้ว่าด้วยการเช่าห้องแบบคร่าวๆ ต่อไปผมอยากเล่าเกี่ยวกับห้องพักราคาถูกในโครงการห้องพักจัดสรรของรัฐบาล และห้องพักประเภทเคยมีคนเสียชีวิตในห้อง ราคาห้องจะถูกลงแค่ไหนและคนญี่ปุ่นยังอยากเช่าอยู่ไหม ช่วงนี้อากาศร้อนมากเลยเพื่อนๆ รักษาสุขภาพนะครับสวัสดีครับ