คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันเพิ่งไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาไม่กี่วันก่อน คิดดูก็มีเรื่องน่าสนใจปนขำ ๆ อยู่เหมือนกัน ก็เลยขอเขียนเรื่องวัคซีนในอเมริกาและอัพเดทญี่ปุ่นไปพร้อม ๆ กันเลยก็แล้วกันนะคะ
โปรโมชั่นพิเศษสำหรับคนฉีดวัคซีน
แน่ล่ะว่าแม้คนจะกลัวโควิด แต่หลายคนดูจะห่วงผลข้างเคียงของวัคซีนมากกว่า หรือบางคนก็กลัวว่าลางานไปฉีดแล้วจะไม่ได้ค่าจ้าง เลยพากันไม่ยอมไปฉีดวัคซีนกันเสียอย่างนั้น อาการที่ว่านี้เป็นกันไปทั่ว จนหลายประเทศต้องมีการกระตุ้นให้คนยอมไปฉีดวัคซีนกันเสียดี ๆ ด้วยการเอาของฟรีหรือของดีมาล่อใจกัน
ที่อเมริกานั้นมีหลายบริษัทที่ให้สิทธิพิเศษกับพนักงานที่ไปฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะให้เงินล่อใจตั้งแต่คนละ 10 เหรียญไปจนถึง 1000 เหรียญ ! (ประมาณ 300-30,000 บาท) หรือไม่ก็ให้ลาหยุดไปฉีดได้โดยไม่หักค่าจ้างแต่อย่างใด ธุรกิจบางแห่งใจดีทำแบบนี้แต่แรกก็มี โดยให้เหตุผลว่าพนักงานจะได้ไม่ต้องลังเลว่าจะเลือกอะไรดีระหว่างเงินเลี้ยงปากท้องหรือสุขภาพ
รัฐบาลยังมีโครงการลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ให้พนักงานลาไปฉีดวัคซีนโควิดหรือพักฟื้นจากผลข้างเคียงของวัคซีนโดยไม่หักค่าจ้างพนักงานด้วย ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นการทดแทนค่าใช้จ่ายของธุรกิจที่ต้องสูญเสียไปในช่วงที่พนักงานลา
นอกจากนี้ยังมีร้านค้าหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่เสนอสิทธิพิเศษดึงดูดใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นแจกโดนัทฟรี แจกป๊อบคอร์นโรงหนังฟรี ลดราคาเบียร์เหลือ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) ไปจนกระทั่งถึงแจกกัญชาฟรีในบางรัฐ !
ตอนที่สามีฉันบอกว่านิวยอร์กแจกกัญชาฟรีถ้าฉีดวัคซีน ฉันถึงกับอุทานด้วยความตกใจว่าต้องจูงใจกันถึงขนาดนี้เลยหรือนี่ เขายังเอาคลิปวีดีโอมาให้ดู เห็นคนเข้าแถวรอคิวรับกัญชากันยาวเหยียดทีเดียว คนแจกเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อกัญชา มาแจกแค่ระยะสั้น ดูเหมือนว่าพวกเขาจะได้แรงบันดาลใจหลังจากที่คริสปี้ครีมเริ่มแจกโดนัทฟรีก่อน
คริสปี้ครีมโดนัทประกาศแจกโดนัทออริจินอลเกลสให้กับคนที่ฉีดวัคซีนแล้วคนละ 1 ชิ้นต่อวันทั่วประเทศ สามารถไปรับได้ทุกวันจนตลอดสิ้นปีเลยทีเดียว ฉันไม่รู้ว่าควรดีใจหรือเสียใจดีที่ใกล้บ้านไม่มีคริสปี้ครีม เพราะเชื่อแน่ว่าขืนกินทุกวันโรคภัยมหาศาลคงถามหาในเวลาอันไม่นาน (และฉันคงไม่หยุดอยู่แค่โดนัทวันละชิ้น)
แม้ดูจะเป็นนโยบายใจดีแต่ก็เป็นการตลาดที่แยบยลทีเดียวนะคะ ต้นทุนโดนัทชิ้นหนึ่งถูกแสนถูก แต่เวลาคนมาที่ร้านรับแค่โดนัทฟรีชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นเดียวก็คงไม่พอ ต้องซื้ออะไรเพิ่ม อีกทั้งคนอเมริกันที่อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ก็เยอะ แม้จะมาเพื่อเอาฟรีหนึ่งชิ้นก็คงต้องซื้อโดนัทเผื่อคนอื่นในบ้านอีกเป็นโหล จึงอาจเรียกว่าโปรโมชั่นโดนัทฟรีวันละชิ้นเป็นการเอากุ้งฝอยมาตกปลากระพงก็ว่าได้
ได้ข่าวว่าที่จีนก็มีแจกไข่ บัตรกำนัลซื้อสินค้า และบัตรเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้คนอยากไปฉีดวัคซีน ส่วนญี่ปุ่นมีเกริ่น ๆ ว่าแจกเกี๊ยวซ่าท่าจะดี แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจ กระนั้นกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นก็ว่าถ้าฉีดแล้วเสียชีวิตจะให้เงินชดเชยแก่ครอบครัวกรณีละ 44 ล้านเยน (ราว 15 ล้านบาท) พร้อมเงินค่างานศพ หรือปีละ 5 ล้านเยน (ราว 160,000 บาท )หากฉีดแล้วทุพพลภาพ ซึ่งอันนี้เป็นกฎหมายที่มีอยู่แต่แรกและครอบคลุมวัคซีนอื่น ๆ ด้วย
ส่วนอเมริกาไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนฟ้องร้องเท่าใดนักหากได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีนโควิด แม้จะมีหน่วยงานรัฐบางแห่งที่อาจไปยื่นเรื่องได้ แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อีกทั้งการยื่นเรื่องส่วนมากก็ถูกปฏิเสธการพิจารณา และความจริงอีกอย่างคือวัคซีนโควิดทุกชนิดยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา แต่องค์การ ฯ ยอมให้ใช้วัคซีนบางตัวได้เพราะความจำเป็นเร่งด่วน
ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนล่าช้าแม้ว่าโควิดระบาดหนัก
โตเกียวโอลิมปิกจะเริ่มในอีกสามเดือนข้างหน้าแล้ว แต่จนถึงวันที่ 29 เมษายน 2564 ญี่ปุ่นมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วราว 2,490,000 คนคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ และมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วราว 995,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.79 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าล่าช้ามากเมื่อเทียบกับสหรัฐ ที่ขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 100 ล้านคน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากร และกำลังผ่อนคลายมาตรการควบคุม เช่น การสวมหน้ากากอนามัย และการเดินทาง
รัฐมนตรีโคโนะ ทาโร่ ซึ่งดูแลเรื่องวัคซีนของญี่ปุ่นกล่าวไว้ว่า สาเหตุที่การฉีดวัคซีนล่าช้าเป็นเพราะแรกเริ่มที่บริษัทไฟเซอร์มีการวิจัยทางคลินิกนั้นไม่ได้รวมญี่ปุ่นเข้าในการวิจัยด้วย เนื่องจากเห็นว่ายอดผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นต่ำกว่ายุโรปและอเมริกาหลายเท่า ต่อมาญี่ปุ่นก็กังวลว่าวัคซีนนี้จะปลอดภัยสำหรับคนญี่ปุ่นไหม จึงหันมาวิจัยทางคลินิกเองในภายหลัง ทำให้เริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าอเมริกา 2 เดือน ประกอบกับระหว่างนั้นความต้องการวัคซีนสูงขึ้นทั่วโลก ไฟเซอร์จึงต้องปรับปรุงสถานที่ผลิตบางแห่งเพื่อให้ผลิตวัคซีนได้มากขึ้นซึ่งทำให้การส่งออกวัคซีนลดลงอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ปัจจุบันผลิตเพิ่มได้แล้วและคาดว่าล็อตใหญ่กำลังจะเข้ามาในญี่ปุ่นเดือนพฤษภาคม เพียงพอต่อการฉีดโดสแรกให้ผู้สูงอายุครึ่งหนึ่งในญี่ปุ่น ก่อนจะเริ่มฉีดให้ประชาชนทั่วไปในเดือนกรกฎาคม
ที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังติดปัญหาเรื่องระบบการนัดหมายฉีดวัคซีนที่ไม่ได้เป็นแบบแผนเดียวกัน แต่ละท้องถิ่นเป็นคนดูแลเอง บางแห่งให้โทรนัดซึ่งหลายคนก็โทรไม่ติด บางแห่งก็ไม่ได้ระบุว่าให้นัดได้ตั้งแต่เมื่อไหร่อย่างไร บางแห่งก็ไม่มีสถานที่รองรับหรือแพทย์พยาบาลเพียงพอ
ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะแก้ไขปัญหานี้ โดยให้กองกำลังป้องกันตนเองจัดตั้งสถานที่ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ในกรุงโตเกียว และโอซาก้าซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วขึ้น
ประสบการณ์ฉีดวัคซีนในอเมริกา
เริ่มแรกที่มีการเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในอเมริกา บ้านฉันก็ไปลงทะเบียนรับข่าวสารทางอีเมลจากเว็บไซต์ของมลรัฐที่อาศัยอยู่ ซึ่งจะส่งอีเมลมาแจ้งว่าช่วงนี้ให้สิทธิ์คนกลุ่มใดไปฉีดวัคซีนได้แล้วบ้าง ซึ่งเขาก็แบ่งจากกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน เช่น ผู้สูงอายุ แพทย์ พยาบาล ตำรวจ นักดับเพลิง สตรีมีครรภ์ คนที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น ปัจจุบันคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปสามารถไปฉีดวัคซีนได้หมด
พอเราอยู่ในข่ายที่มีสิทธิ์ฉีด ก็ไปค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีนซึ่งมีรายการให้เลือกบนเว็บไซต์ของมลรัฐ มีทั้งในร้านขายยาใหญ่ สถานีอนามัย คลินิก และอื่น ๆ พอนัดหมายทางออนไลน์แล้ว เราก็จะได้รับอีเมลตอบรับพร้อมทั้งคิวอาร์โค้ด วันนัดต้องนำคิวอาร์โค้ดนี้กับบัตรประจำตัวไปแสดง
สถานที่ฉันไปเป็นแบบ drive-thru มีตำรวจและเจ้าหน้าที่คอยโบกและจัดคิวรถให้เข้าแถวเป็นช่อง ๆ ไป จะมีเจ้าหน้าที่มาถามเราว่ามาฉีดโดสแรกหรือโดสที่สอง พอทราบว่ามาโดสแรกก็บอกเราว่าจะนัดหมายสำหรับฉีดโดสที่สองได้เมื่อไหร่ และแจกเอกสารให้ข้อมูลมาชุดหนึ่ง ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนที่เราจะฉีด เช่น วัคซีนชื่ออะไร อาการข้างเคียงแบบรุนแรงและไม่รุนแรงมีอะไรบ้าง และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถ้ามีอาการข้างเคียง เช่น ถ้าฉีดเสร็จแล้วต้องรอสังเกตอาการ หากมีอาการข้างเคียงให้เปิดไฟกะพริบและกดแตรเรียก เป็นต้น
ระหว่างนั่งอ่านเอกสารอยู่ในรถ ก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนมาสแกนคิวอาร์โค้ดพร้อมทั้งตรวจบัตรประจำตัว จากนั้นเราก็ค่อย ๆ ขับรถเลื่อนไปจนกระทั่งมาถึงอาคารคล้ายโกดังแห่งหนึ่ง เขาจะให้ดับเครื่องรถเมื่อเข้าไปในโกดัง พอเปิดหน้าต่างลงมาเจ้าหน้าที่ก็มาขอสแกนคิวอาร์โค้ดอีกรอบ ตามมาด้วยหมอพร้อมแผ่นแอลกอฮอล์และเข็มในมือ หมอเอาแผ่นแอลกอฮอล์เช็ดแขนให้ ถามว่าเคยมีปัญหาเวลาฉีดยาหรือวัคซีนไหม ฉันตอบว่าไม่มี
ฉันทำท่าจะท้าวแขนไว้กับหน้าต่างให้หมอฉีดง่าย แต่หมอบอกว่าให้ปล่อยแขนตามสบายไว้ข้างลำตัวจะได้ไม่เกร็ง แล้วหมอก็จิ้มเข็มจึ้กเข้าที่ต้นแขนโดยไม่รอช้า เกิดมาก็เพิ่งเคยโดนฉีดยาในรถ แถมหมอยังยืนฉีดด้วยมือเดียวด้วยท่าคล้ายปาลูกดอก
สามีฉันมองแล้วทำตาโตด้วยความตื่นเต้นเพราะตัวเองกำลังจะโดนเป็นรายต่อไป เขาบอกว่าอย่างนี้ต้องเจ็บแน่เลย แต่พอโดนจริงก็ไม่เจ็บเท่าที่เห็น หมอคงต้องแม่นเรื่องฉีดยามากเลยดูชิล
พอฉีดเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ให้สติกเกอร์และบัตรเป็นหลักฐานว่าเราฉีดวัคซีนแล้ว มีระบุวันเดือนปีที่ฉีดโดสแรกไว้ ส่วนของโดสที่สองยังว่าง เธอบอกอย่างร่าเริงว่า “ยินดีด้วยนะ ได้ฉีดวัคซีนแล้ว” ฉันร้องไชโย แล้วเธอก็แนะว่าให้นัดหมายสำหรับโดสที่สองวันที่เท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องมาฉีดที่เดิมอีก และเอาบัตรนี้มาด้วย
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ให้เลื่อนรถออกไปสู่จุดที่สามารถจอดพักรอสังเกตอาการได้ จริง ๆ เขากำหนดให้ 15 นาที แต่เจ้าหน้าที่ก็ให้รอแป๊บเดียวเท่านั้นเอง ก่อนจะมาถามว่ามีอาการอะไรไหม ถ้าไม่มีก็กลับได้เลย วันนั้นกลับมาบ้านก็ไม่มีปัญหาอะไรนอกจากปวดแขนเหมือนเวลาไปฉีดวัคซีนทั่วไป
ฉันหวังว่าเพื่อนผู้อ่านที่มีโอกาสไปฉีดวัคซีนมาจะปลอดภัยดีกันทุกคนนะคะ แต่อย่างไรก็ไม่ควรประมาทเรื่องการใส่หน้ากากและรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่ดี เพราะวัคซีนไม่ได้กันโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์...ป.ล. วัคซีนแต่ละยี่ห้อดีไม่เท่ากันจริงหรือเปล่า มีคนใจดีเอาคลิปวีดีโออธิบายเรื่องนี้มาแปลและแชร์ให้ด้วย ลองดูนะคะเผื่อไขข้อข้องใจ ขอบคุณคุณ fiatograpgy มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ https://www.instagram.com/tv/COX9qMGD5DU/?igshid=tarbawwelldy
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.