xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นอลหม่านก่อนประกาศภาวะฉุกเฉิน “ดิสนีย์แลนด์” เปิดท้าโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นประกาศปิดบริการตามภาวะฉุกเฉิน
ธุรกิจต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเตรียมตัวอย่างเร่งรีบก่อนเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินสกัดโควิดครั้งที่ 3 ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เผชิญความปั่นป่วนจากความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาล

ญี่ปุ่นเข้าสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิดครั้งที่ 3 มีระยะเวลาตั้งแต่ 25 เมษายน-11 พฤษภาคม ในกรุงโตเกียว จังหวัดโอซากา เฮียวโงะ และเกียวโต การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้เข้มงวดกว่าที่ผ่านมา คือ รัฐบาลขอให้ชอปปิงมอลล์และห้างสรรพสินค้าปิดทำการ และห้ามร้านอาหารขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หลังรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 23 เม.ย. ตั้งแต่เช้าวันเสาร์ ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ต้องเร่งรีบตัดสินใจว่าจะเปิด-ปิดบริการในพื้นที่ใด เพราะภาครัฐระบุว่าสามารถจำหน่ายอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันได้ แต่ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า “อะไรบ้างที่ถือเป็นของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน” ทำให้แต่ละร้านมีแนวทางที่แตกต่างกัน

ห้างโทบุ ในกรุงโตเกียว ตัดสินใจปิดบริการทุกชั้น ยกเว้นชั้นใต้ดินที่ขายอาหาร ของใช้ และยังเปิดบริการพื้นที่ขายเครื่องสำอาง แว่นตา

ห้างอิเซตัน มิตสึโกชิ เปิดบริการร้านอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสินค้าหรูหราราคาแพงที่ไม่ได้วางขายในร้านขายยาทั่วไป

ห้างไดมารู มัตสึซากายะ ยังเปิดพื้นที่ขายผ้าเช็ดหน้า ถุงเท้า โดยบอกว่าเป็นของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน


ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ยังต้องตัดสินใจว่าจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปหรือไม่ เพราะในสัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงวันหยุดยาว หรือ “โกลเดนท์ วีค” ของญี่ปุ่น ซึ่งบรรดาลูกค้าต่างคาดหวังให้มีอีเวนท์ต่าง ๆ บางห้างได้ยกเลิกกิจกรรมทั้งหมด ขณะที่บางห้างเลือกจัดต่อไปโดยจำกัดจำนวนลูกค้า

เจ้าหน้าที่ของห้างสรรพสินค้าบอกว่า บรรดาเจ้าของร้านและผู้เช่าพื้นที่พยายามจะขอให้เปิดร้านต่อไป โดยอ้างว่าเป็น “สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน” ทางห้างฯ ต้องวุ่นวายกับการเจรจาต่อรองว่าร้านใดจะต้องปิด ร้านใดเปิดขายได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจน ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นการตัดสินใจของทางห้าง

นอกจากนี้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่ประกาศภาวะฉุกเฉินยังมีความแตกต่างกัน เพราะทางการท้องถิ่นมีนโยบายที่เข้มงวดแตกต่างกัน ห้างทาเกชิมายะในโอซากาและเกียวโตเปิดเฉพาะพื้นที่จำหน่ายอาหาร ขณะที่สาขาในกรุงโตเกียวขายเครื่องสำอางและของใช้ต่าง ๆ ด้วย ทางห้างใช้เวลาจนถึงนาทีสุดท้าย เพื่อตัดสินใจแนวทางปฏิบัติในแต่ละสาขา

ผู้ประกิบการห้างสรรพสินค้าบอกว่า ความอลหม่านที่เกิดขึ้นนอกจากความไม่ชัดเจนในนโยบายแล้ว ยังเพราะรัฐบาลแจ้งล่วงหน้าเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น


ส่วนบรรดาร้านอาหารต่าง ๆ เผชิญกับมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยหากไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะเปิดขายเฉพาะอาหารได้ หลายร้านเลือกจะปิดร้าน แต่ก็มีบางร้านที่ “ไม่ร่วมมือ” กับรัฐบาล โดยอ้างว่าไม่อาจอยู่รอดได้หากไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ประกอบการบอกว่า มาตรการ "ขอความร่วมมือ" เช่นนี้ไม่เป็นธรรม เพราะลูกค้าจะหลั่งไหลไปยังร้านที่ไม่ร่วมมือ และยังคงขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังมีผู้คนมากมายที่ซื้อสุราจากร้านสะดวกซื้อ แล้วล้อมวงนั่งดื่มตามท้องถนนและสวนสาธารณะ


ความลักลั่นยังเห็นได้จากกรณีสวนสนุก “ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ” ในโอซากา ที่ต้องปิดบริการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ “โตเกียว ดิสนีย์ รีสอร์ต” ยังเปิดบริการต่อไปได้ เพราะตั้งอยู่ในจังหวัดชิบะ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ภาวะฉุกเฉิน ทั้ง ๆ ที่การเดินทางจากใจกลางกรุงโตเกียวไปยังดิสนีย์ รีสอร์ต ใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น