ผู้นำญี่ปุ่น-สหรัฐออกแถลงการณ์ร่วมหลังพบกันครั้งแรก โดยพูดถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในไต้หวันเป็นครั้งแรกหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ญี่ปุ่นจะเป็น “หมาก” สำคัญของสหรัฐในการเผชิญหน้ากับจีน
นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน ผู้นำทั้งสองได้เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันด้านความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดจากจีน
แถลงการณ์ของผู้นำทั้งสองระบุว่า “เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพรอบช่องแคบไต้หวัน และส่งเสริมทางออกอย่างสันติในประเด็นระหว่างไต้หวัน” นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปีที่ญี่ปุ่นร่วมกับสหรัฐพูดถึงไต้หวันอย่างเป็นทางการ หลังจากเมื่อปี 2512 นายกฯ เอซากุ ซาโต และประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องไต้หวัน และนี่ยังเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นพูดถึงประเด็นเรื่องไต้หวัน หลังจากญี่ปุ่นและจีนปรับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันเมื่อปี 2515
ทำไมญี่ปุ่นต้องพิทักษ์ไต้หวัน ?
ความสำคัญของไต้หวันเป็นเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นพึ่งพาการค้าต่างประเทศอย่างมาก การนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานใช้เส้นทางหลักคือจากอ่าวเปอร์เซีย ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ช่องแคบมะละกา ทะเลจีนใต้ และช่องแคบไต้หวันมาถึงญี่ปุ่น เส้นทางเรือนี้ญี่ปุ่นเรียกว่า “เส้นทางชีวิต” เพราะสินค้าของญี่ปุ่นกว่า 75% เส้นทางนี้ หรือทุก ๆ 10 นาทีจะมีเรือสินค้าของญี่ปุ่น 1 ลำ แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน ปริมาณสินค้าญี่ปุ่นที่ผ่านเส้นทางนี้ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุดิบ และสินค้า สูงถึงปีละกว่า 700 ล้านตัน
ญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงไต้หวันมาตลอด เพราะรู้ดีว่าจีนไม่ยอมอ่อนข้อเรื่องบูรณภาพของดินแดน แต่ในระยะหลังจีนได้ส่งเครื่องบินเข้าไปในพื้นที่ใกล้เกาะไต้หวันเป็นประจำ เกิดบรรยากาศตึงเครียดที่สุดในรอบหลายปี ญี่ปุ่นกลัวว่าจะกระทบต่อ “เส้นทางชีวิต” และเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นระมัดระวังความสัมพันธ์กับจีนอย่างมาก เพราะจีนคือคู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่นต่อเนื่องมานานถึง 13 ปี ญี่ปุ่นมีบริษัทอยู่ในประเทศจีนมากถึง 32,349 บริษัท ขณะที่มีบริษัทญี่ปุ่นในสหรัฐ 8,606 บริษัท ถึงแม้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาสหรัฐในด้านการป้องกันประเทศ แต่ญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีนขัดแย้งกัน โดยเฉพาะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเหมือนเช่นในยุคของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะส่งผลกระทบอย่างมากต่อห่วงโซอุปทาน และเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ถึงแม้เมื่ออยู่ต่อหน้าสหรัฐ ญี่ปุ่นจะจำเป็นต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน แต่เมื่อสหรัฐและชาติพันธมิตรใช้มาตรการคว่ำบาตรจีน เช่น กรณีฝ้ายซินเจียง ญี่ปุ่นกลับไม่ได้ร่วมคว่ำบาตรด้วย ญี่ปุ่นยังแทบจะไม่พูดถึงเรื่องฮ่องกงหรือสิทธิมนุษยชนที่เป็นเรื่อง
“กิจการภายใน” ของจีนอย่างชัดแจ้ง ญี่ปุ่นและไต้หวันตกที่นั่งคล้ายๆ กัน คือ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกับจีนอย่างมาก แต่ก็เผชิญแรงกดดันจากจีนเรื่องความมั่นคงอย่างมากเช่นกัน
ญี่ปุ่นต้องการให้สหรัฐคานอำนาจจีน ส่วนสหรัฐก็ต้องการใช้ญี่ปุ่นและไต้หวันเป็น “หนังหน้าไฟ” ในการเผชิญหน้ากับจีนเช่นกัน แต่ “น้ำไกลไม่อาจดับไฟใกล้” สหรัฐไม่มีผลประโยชน์ในเกาะเล็ก ๆ อย่างไต้หวันเลย และที่ผ่านมา พอสหรัฐเข้าไปยึดครองดินแดนต่าง ๆ แล้วหมดผลประโยชน์หรือสูญเสียมากก็จะสะบัดก้นหนีทันที ตั้งแต่สงครามเวียดนาม เกาหลี อิรัก ล่าสุดคืออัฟกานิสถาน หากสหรัฐทิ้งไต้หวัน ญี่ปุ่นจะเป็นขุนหรือเป็นเบี้ย ?