คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นคือ เมื่อมีการ “ให้มา” ก็มักจะมีการ “ให้ตอบ” อยู่เสมอ ไม่ค่อยจะเห็นใครที่เป็นฝ่ายรับฟรี ๆ โดยไม่ทำอะไรตอบแทน หรือลืมบุญคุณกันง่าย ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การคบหากันกับคนญี่ปุ่นเป็นไปอย่างราบรื่นด้วย
โอกาสจำเพาะของการให้และรับในญี่ปุ่น
หากคบหากับคนญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมญี่ปุ่น ตลอดทั้งปีจะมีโอกาสในการให้และรับสูงมาก เพราะนอกจากจะเทศกาลเยอะแล้วยังมีธรรมเนียมโน่นนั่นนี่จิปาถะ ไม่ว่าจะเป็นแต๊ะเอียปีใหม่ ช็อกโกแลตวันวาเลนไทน์ ขนมหรือของขวัญวันไวท์เดย์ (14 มี.ค.) เงินที่ให้ลูกหลานเมื่อเข้าเรียนในระดับประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย เงินที่ให้ลูกหลานในวันบรรลุนิติภาวะ วันพ่อ วันแม่ ของขวัญกลางฤดูร้อน ของขวัญปลายปี เงินฉลองอายุเด็กครบ 3-5-7 ขวบ ของขวัญคริสต์มาส เงินหรือของขวัญที่ให้ในโอกาสคลอดลูก ซองงานแต่งงาน ซองที่ให้แก่ญาติผู้ตายในงานศพ ของฝากเวลาไปเที่ยวหรือทำงานต่างจังหวัด ของขวัญให้แก่เพื่อนบ้านเมื่อตนเป็นผู้ย้ายมาอยู่ใหม่ เป็นต้น
ในทั้งหมดนี้ที่ไม่ต้องให้กลับคืน เห็นจะเป็นของขวัญวันพ่อ ของขวัญวันแม่ และของฝาก ในขณะที่เงินแต๊ะเอียปีใหม่ ขึ้นชั้นเรียนใหม่ จบการศึกษา บรรลุนิติภาวะ และของขวัญแก่เพื่อนบ้านเมื่อย้ายมาอยู่ใหม่ โดยธรรมเนียมแล้วไม่ต้องให้ตอบ แต่ถ้าเกรงว่าเป็นฝ่ายรับอย่างเดียวจะไม่งามก็สามารถให้ตอบได้ อื่น ๆ นอกจากนั้นมีธรรมเนียมต้องให้ตอบทั้งหมด ทีนี้จะให้อะไรตอบ ต้องมีสนนราคาเท่ากันหรือประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ของของที่ได้รับมาก็ว่าไป แล้วแต่ธรรมเนียมของการให้และรับของขวัญแต่ประเภท
นอกจากเรื่องของขวัญตามเทศกาลและธรรมเนียมแล้ว ยังมีเรื่องของการจ่ายเงินเมื่อไปรับประทานอาหารด้วยกันในร้าน คนญี่ปุ่นที่ทำงานแล้วจะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เวลาไปกินอาหารกับเพื่อนหรือรุ่นน้องที่ยังเรียนอยู่ ตนก็จะเป็นฝ่ายเลี้ยงข้าว เพราะมองว่าอีกฝ่ายยังไม่มีรายได้จากการทำงานประจำ หรือบางทีรุ่นพี่ในที่ทำงานก็อาจจะเลี้ยงหรือจ่ายมากกว่ารุ่นน้องเวลาไปกินอาหารร่วมกัน แบบนี้แม้ว่าฝ่ายที่ได้รับอาจจะไม่ต้องให้อะไรตอบกลับไป แต่เมื่อถึงเวลาที่ตัวเองเข้าสู่วัยทำงานหรือเป็นรุ่นพี่ในที่ทำงานแล้ว ก็ต้องเป็นฝ่ายออกให้แก่รุ่นน้องเช่นกัน
ของขวัญที่ให้และรับตอบจากคนเพิ่งมีลูก
ขอยกตัวอย่างการให้และรับที่เจอบ่อยนะคะ ฉันเคยให้ของขวัญเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งคลอดลูก มิคาดว่าต่อมาเขาให้ขนมเบเกอรี่บรรจุกล่องสวยงามตอบแทนกลับมา บนกล่องคาดแถบกระดาษสีชมพูเขียนชื่อลูกเขาไว้ด้วย ตอนนั้นฉันยังไม่ทราบธรรมเนียมเรื่องการให้และรับของขวัญสำหรับคนที่เพิ่งมีลูก ก็คิดว่าเพื่อนช่างเกรงใจเหลือเกิน ถึงกับต้องไปหาซื้อของมาตอบแทน แต่การที่เธอมีแก่ใจเช่นนั้นก็ทำให้ฉันรู้สึกดีต่อเธอ
พอย้ายมาอเมริกาแล้ว ฉันเคยสั่งของขวัญส่งไปให้เพื่อนคนญี่ปุ่นที่เพิ่งคลอดลูก มีวันหนึ่งได้รับพัสดุจากญี่ปุ่น พอเห็นชื่อเพื่อนบนจ่าหน้าก็งงว่าเพื่อนส่งพัสดุมาให้ทำไม วันเกิดก็ไม่ใช่ เปิดมาดูข้างในเป็นขนมอบกรอบของญี่ปุ่นหลายห่อ และมีรูปถ่ายลูกชายซึ่งยังแบเบาะกับชุดที่ฉันซื้อให้ ตอนนั้นฉันก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก นึกว่าเพื่อนนึกถึงเลยใจดีส่งขนมมาให้ และส่งข่าวคราวลูกชายมาด้วย ตอนหลังนึกได้ว่าคงจะส่งมาตอบแทนของขวัญที่ให้ไปน่ะเอง
ต่อมาก็ได้ให้ของขวัญเพื่อนร่วมงานของสามีซึ่งเพิ่งมีลูก ผ่านมาหลายวันลืมไปแล้ว วันหนึ่งสามีกลับมาบ้านพร้อมขนมกล่องใหญ่ที่เพื่อนร่วมงานให้มา คาดแถบเอาไว้ด้วยด้วยกระดาษเขียนว่า 内祝* พร้อมชื่อลูกของเพื่อนร่วมงาน คู่สามีภรรยาคงสั่งจากร้านเอาไว้เพื่อแจกจ่ายให้หลายคนที่ให้ของขวัญหรือให้ซองมา ที่แปลกใจคืออยู่ในอเมริกาไปหาร้านแบบนี้มาจากไหนก็ไม่รู้ และประทับใจที่เขามารยาทเพียบพร้อมมาก ไม่ได้ละเลยธรรมเนียมสังคมเพราะถือว่าไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่นแล้ว
(* 内祝 อ่านว่า “อุจิอิไว” เป็นของที่ระลึกเฉลิมฉลองเรื่องมงคลของคนในครอบครัว เอาไว้แจกจ่ายคนรู้จักเพื่อร่วมฉลองกัน แต่โดยธรรมเนียมแล้วก็มักเป็นสิ่งของที่ให้ตอบหลังจากได้รับอะไรมา)
ต้องให้ตอบอย่างไรจึงจะเหมาะสมในแต่ละโอกาส
เรื่องนี้แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ปวดหัวอยู่เหมือนกัน เพราะธรรมเนียมปลีกย่อยเยอะ จำไม่หวั่นไม่ไหว หรือบางทีก็ไม่รู้ว่าต้องให้ตอบไหม ให้อะไรตอบถึงจะดี อย่างไรจึงจะเหมาะ และต้องให้ภายในเมื่อใดหลังจากได้รับแล้ว ถ้าไม่ทราบก็ต้องไปค้นข้อมูล ซึ่งปัจจุบันก็สามารถค้นหาจากอินเทอร์เน็ตได้ง่าย มีข้อมูลละเอียดยิบให้อ่านจนตาลายเลยทีเดียว
อย่างแต๊ะเอียที่ให้เด็กวันปีใหม่ ถ้าต่างฝ่ายต่างมีลูกยังผลัดกันให้และรับได้ แต่ถ้าคนให้ไม่มีลูกล่ะจะทำอย่างไร โดยธรรมเนียมแล้วว่ากันว่าไม่ต้องให้อะไรตอบ และแม้ว่าคนให้จะไม่ได้คาดหวังอะไรตอบแทน แต่หากอีกฝ่ายเอาแต่เป็นฝ่ายรับอยู่ตลอดเวลา คนให้ก็อาจจะรู้สึกว่าคนรับเอาแต่ได้ ไม่มีสำนึกในน้ำใจของคนอื่น เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ เคยได้ทราบว่าเด็กบางคนได้รับแต๊ะเอียมาจากลุงป้าน้าอา พ่อแม่ก็บอกด้วยความเกรงใจว่า “ให้มาทุกปีเลย ขอโทษด้วยนะที่เรารับอยู่ฝ่ายเดียว”
(เพราะอีกฝ่ายไม่มีลูกเลยไม่ได้ให้ตอบ) คนให้เองก็นึกในใจว่า “ถ้าคิดอย่างนั้นจริง ๆ ก็ให้อะไรตอบกลับมาก็ได้นี่นา”
ในกรณีของแต๊ะเอีย ถ้าจะให้อะไรตอบกลับไป เขาว่าควรให้ในสนนราคาประมาณ 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่งของแต๊ะเอีย ไม่ใช่ว่าให้กลับไปเท่ากัน เพราะนอกจากจะทำให้การให้แต๊ะเอียไม่มีความหมายแล้ว คนให้แต๊ะเอียมาอาจจะรู้สึกว่าคนที่ได้รับเขาไม่อยากจะได้ แล้วก็ไม่ควรบอกตรง ๆ ว่าให้ตอบที่ให้แต๊ะเอียมา แต่อาจจะเลี่ยง ๆ ด้วยการบอกว่า “ขนมเจ้าดังนี่อร่อยดีนะ อยากให้ลองกิน” หรือไม่ก็ให้ของที่เหมาะสำหรับอีกฝ่าย เช่น ถ้าอีกฝ่ายอาศัยอยู่คนเดียว ไม่ค่อยได้ทำกับข้าว ก็อาจจะให้กล่องของขวัญเป็นอาหารอุ่นในไมโครเวฟที่มีหลายชนิดในกล่อง เป็นต้น
เมื่อได้รับมา อย่างไรก็ต้องให้ตอบ ยกเว้นบางอย่าง
ได้ยินคนญี่ปุ่นหลายคนบอกว่า โดยทั่วไปแล้วเมื่อได้รับมาก็ต้องให้ตอบกลับไปอย่างแน่นอน แม้คนให้จะบอกว่าไม่ต้องให้อะไรตอบกลับมานะ แต่ก็ไม่แน่ว่าเขาจะหมายความแบบนั้นจริง เว้นแต่จะเป็นคนที่สนิทสนมกันมาก ๆ เพราะฉะนั้นหากไม่ได้ถึงขนาดซี้ปึ้กกันแล้ว อย่างไรก็ต้องให้ตอบ ซึ่งอันนี้เป็นกฎที่รู้กันเองโดยไม่มีใครต้องบอก ตามสไตล์คนญี่ปุ่นซึ่งมักสื่อสารกันอ้อม ๆ แต่เป็นที่รู้และเข้าใจกัน
แม้บางอย่างจะไม่ต้องให้ตอบจริง แต่ก็ควรแสดงความขอบคุณให้เป็นกิจลักษณะ วันต่อ ๆ มาหลังจากได้รับของนั้นแล้ว เมื่อเจอคนให้ก็ควรจะกล่าวขอบคุณอีก เช่น บอกว่า “วันก่อนขอบคุณมากนะครับ” “ขนมที่ให้มาวันก่อนอร่อยมากเลยค่ะ” เพื่อแสดงว่าไม่ได้ลืมบุญคุณของอีกฝ่าย และยังเป็นมารยาทที่น่าชื่นชมด้วย
ของที่ไม่ต้องให้ตอบซึ่งฉันคิดไม่ถึงคือ ของขวัญที่ให้แก่ข้างบ้านเมื่อย้ายมาอยู่ใหม่ เพราะการที่คนแปลกหน้าอุตส่าห์เอาของมาทักทายแนะนำตัว ก็ชวนให้คิดว่าเขาอยากสร้างบทสนทนาผูกมิตร จึงน่าจะให้อะไรตอบกลับไปตามประสาเพื่อนบ้านที่ดีใช่ไหมคะ แต่ที่จริงแล้วการเอาของมาทักทายยังมีความหมายแฝงในเชิงขออภัยด้วยหากต่อไปทำอะไรรบกวนขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีลูกเล็ก ๆ ซึ่งอาจส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว เมื่อเป็นการขออภัยจึงไม่ต้องให้อะไรตอบ
อีกอย่างคือของที่เอามาให้มักมีราคานิดหน่อยคือประมาณ 500-1,000 เยน คนที่ได้รับมาจึงไม่ต้องคิดมากเรื่องให้ตอบ แต่ถ้าจะให้ตอบก็ควรไม่ให้เกิน 500 เยน และไม่ควรเป็นของที่ทำเอง อาหาร,ขนมทำเอง เพราะยังไม่ได้รู้จักกันดีเลย และเวลาเอาของมาให้ตอบก็ไม่ควรคุยนานหรือแสดงท่าทีสนิทสนมตีซี้ เพราะอาจถูกมองในแง่ลบแทนได้
คิดแล้วก็แปลกดีเหมือนกันคือ อุตส่าห์มาทักทายทั้งที่น่าจะเป็นโอกาสได้คบหาทำความรู้จักกันต่อไป แต่แท้จริงแล้วไม่ได้ต้องการสนิทสนมจริงจัง แค่ทำตามมารยาทหรือเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต อีกอย่างคือเป็นคนแปลกหน้าแต่เอาของมาให้ เรากลับควรรับมาฟรี ๆ โดยไม่ต้องให้ตอบ เป็นอะไรที่เกินคาด ละเอียดซับซ้อนเหลือเกิน
เรื่องมารยาทสังคมของญี่ปุ่นยังมีอีกร้อยแปดพันเก้า หลายอย่างก็เป็นกฎที่ไม่ได้ปรากฏลายลักษณ์อักษร แต่ก็ยึดถือปฏิบัติกันอย่างเข้มงวด ลำพังแค่เรื่องการให้และรับก็รายละเอียดปลีกย่อยเยอะแล้ว คนญี่ปุ่นที่รู้สึกว่าวุ่นวายจังก็มี แต่สำหรับคนต่างชาติคงมึนยิ่งกว่า กระนั้นการให้ความสำคัญกับเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเช่นกันหากคบหากับคนญี่ปุ่น
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.