สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ถ้าพูดถึงการทำงาน งานแบบไหนที่เราอยากทำมากที่สุด งานแบบไหนที่เรียกว่างานหนัก งานที่มีสวัสดิการดีที่คนต้องการ หรือบางงานเหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ บางงานนั่งทำงานในห้องแอร์เย็นสบายแต่เต็มไปด้วยความเครียดและกดดัน ต่างๆ นานา ทั้งจากหัวหน้าหรือเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในที่ทำงานก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่พบเห็นได้จริงในชีวิตคนเรา
แล้วถ้าพูดถึงอียิปต์เพื่อนๆ จะนึกถึงอะไร อาจจะนึกถึงพีระมิด มัมมี่ หรือฟาโรห์ใช่ไหมครับ หลายคนเคยอ่านประวัติการสร้างพีระมิดแห่งอียิปต์ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณที่น่าทึ่งมาก มีคนญี่ปุ่นหลายคนสงสัยว่าสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้สร้างขึ้นมาได้อย่างไร เพราะยุคสมัยนั้นดูเหมือนไม่น่าจะมีเครื่องมือเครื่องจักรที่ช่วยทุ่นแรงในการยกก้อนหินหนักๆ แล้วนำมาเรียงต่อกันจนเป็นพีระมิดได้ บ้างก็จินตนาการว่าเป็นการใช้แรงงานทาสหรือแรงงานคนล้วนๆ ทำไมคนสามารถยกก้อนหินที่มีน้ำหนักมหาศาลได้ขนาดนี้ ยิ่งฟังก็ยิ่งคิดว่าแรงงานเหล่านั้นต้องทำงานอย่างหนักหนาแค่ไหน
ตอนที่ผมเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีข้อความที่รุ่นพี่ศิษย์เก่าของโรงเรียนและเคยเป็นประธานสมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ กล่าวให้โอวาทไว้ว่า อยากให้น้องๆ ตั้งใจเรียนเพื่อจะได้มีอนาคตที่ดี "ด้วยการยกระดับการเรียนของตัวเอง เพื่อจะได้ทำงานในออฟฟิศในบริษัทเอกชนชั้นนำ แทนที่จะเป็นชนชั้นแรงงานยกหินยกทราย! (และยกข้อความของนายช่างตัดหินสมัยที่สร้างพีระมิดจารึกไว้ว่า เพราะไม่ได้เรียนจึงต้องมาทำงานตัดก้อนหิน อยากให้ลูกตั้งใจเรียน ) การทำงานในตำแหน่งงานเลขานุการ งานราชการเป็นความปรารถนาของคนเราไม่ใช่หรือ?" น่าจะเป็นคำพูดเพื่อกระตุ้นให้น้องๆ นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนและทำงานในอนาคต หลังจากที่ผมได้อ่านข้อความนี้แล้วผมก็รู้สึกเหมือนถูกฉุดกระชากอย่างแรง และรู้สึกเบื่อหน่ายกับการป้อนข้อมูลเพื่อยัดเยียดให้คนเรียนอย่างหนักเพื่อจบออกมาเป็นแรงงานทาสในองค์กรบริษัท
และที่รุ่นพี่บอกว่าแรงงานยกหินต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยนั้น ลองมาดูประวัติศาสตร์การสร้างพีระมิดอันมหัศจรรย์หน่อยไหม เพราะปัจจุบันได้มีผลงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ออกมายืนยันว่าพระมหากษัตริย์หรือฟาโรห์ผู้ซึ่งมีฐานะร่ำรวยมาก พระองค์พยายามหางานให้กับชาวบ้านชาวนาทำในช่วงนอกฤดูกาลทำไร่ทำนา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ โดยให้รับจ๊อบทำงานก่อสร้างพีระมิดนั่นเอง อย่างที่ทราบกันว่าพีระมิดเป็นสิ่งก่อสร้างรูปกรวยสามเหลี่ยมเพื่อใช้เป็นสุสานเก็บพระศพของฟาโรห์ ในสมัยของฟาโรห์โซเซอร์ พระองค์ได้มีคำสั่งให้สถาปนิกและคนสนิทของพระองค์ทำการออกแบบและก่อสร้างสุสานสำหรับบรรจุพระศพของพระองค์ให้ยิ่งใหญ่ พีระมิดสำหรับพระองค์จึงถูกออกแบบและก่อสร้างอย่างยิ่งใหญ่ที่เขตเมืองกีซ่า ชานเมืองไคโรในปัจจุบัน โดยพีระมิดที่ว่านี้ใช้หินทรายตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีน้ำหนักประมาณก้อนละ 2 ตันครึ่ง และบางก้อนก็มีน้ำหนักถึง 16 ตัน ส่วนฐานของพีระมิดกว้างขวางกินเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ยิ่งใหญ่จนทำให้คนสมัยนี้คิดว่าแรงงานที่ทำงานนี้ต้องเหนื่อยน่าดู
นักโบราณคดีค้นพบบันทึกของผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมช่างฝีมือที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างมหาพีระมิดนี้ ซึ่งได้บันทึกชีวิตประจำวันของนายช่างและคนงานก่อสร้างมหาพีระมิดไว้ รวมถึงบันทึกวิธีการก่อสร้างต่างๆ เช่น ก้อนหินต่างๆ ที่นำมาใช้ก่อสร้างนั้นขุดมาจากไหน , หรือการใช้แรงฉุดจากคนและสัตว์ ใช้ทุ่นลอยน้ำมายังจุดก่อสร้าง , หรือเรื่องแรงงานจำนวนมาก ซึ่งนักวิชาการบางคนวิเคราะห์ว่าอาจไม่ใช่แรงงานทาสทั้งหมดตามที่เคยเข้าใจ แต่เป็นช่างฝีมือและช่างก่อสร้างที่ได้รับค่าจ้าง , หนึ่งสัปดาห์จะมีวันหยุดให้ช่างและแรงงานด้วยอย่างน้อยก็หนึ่งวัน , หรือในระหว่างวันที่แรงงานทำงานก็จะมีช่วงเวลาพักเบรค ซึ่งในช่วงเวลาพักเบรคนั้นบรรดาช่างและแรงงาน ก็สามารถดื่มเบียร์และสังสรรค์กันได้ ดูแล้วน่าจะเป็นงานที่สนุกและไม่ได้ใช้แรงงานโหดอย่างที่เคยคิดกัน
ซึ่งจะว่าไปก็คือการที่รัฐบาลใช้นโยบายสร้างเศรษฐกิจและหางานให้ประชาชนทำ ในช่วงนอกฤดูกาลทำไร่ทำนา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเพื่อปากท้องของพี่น้องประชาชน กรณีเช่นนี้นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Keynes* ก็กล่าวว่า "รัฐบาลต้องสร้างความต้องการอุปสงค์ที่มีประสิทธิผล" แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด ซึ่งวิสัยทัศน์ของฟาโรห์คือการสร้างงานให้ประชาชนทั่วไปผ่านงานสาธารณะ โดยการว่าจ้างให้ประชาชนมาทำงานเป็นช่างในโครงการสร้างพีระมิดนั่นเอง ญี่ปุ่นสมัยก่อนนี้ในยุค 戦国大名 sengoku daimyo ก็มีนโยบายจ้างแรงงานเกษตรกรที่ยากจนผู้ไม่มีกินไม่มีใช้ และว่างงานในช่วงนอกฤดูกาลทำนาเช่นกัน โดยจ้างมาเป็นนายทหารพิเศษ คือเป็นทหารชั่วคราวช่วงนอกฤดูกาลทำนา ถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของคนในปกครอง บ้างก็ว่าทหารเหล่านั้นจะออกไปหาเสบียงและอาจมีการปล้นสะดมบ้านเมืองคู่อริ
*จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ John Maynard Keynes เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุนชาวอังกฤษ ผู้เสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian Economics) ที่มีอิทธิพลต่อทฤษฎีเศรษศาสตร์มหภาคสมัยใหม่ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลนำมาใช้ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เรียกร้องให้มีการใช้นโยบายทางการคลังและการเงินเพื่อผ่อนคลายผลกระทบที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำ เขาเป็นผู้สร้างผลงานซึ่งพลิกวงการเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือให้รัฐเข้าไปแทรกแซงและสนับสนุนให้ใช้นโยบายการเงินและการคลังที่จะกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ที่มีประสิทธิผล (Effective Demand) แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กลไกตลาด
▪️ทว่าถ้าเทียบกับงานในองค์กรบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันนี้ สมัยนี้น่าจะเรียกว่าเป็นแรงงานมหาโหดมากกว่าสมัยที่สร้างพีระมิด บางองค์กรทำงานหนัก กระทั่งบางคนแค่ออกไปดื่มน้ำก็ถูกลูกค้าเคลมแล้ว หรือช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดภาวะขาดกำลังผลิตไฟฟ้าหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่โทฮกกุ และช่วงที่จะเข้าสู่หน้าร้อนประมาณเดือนพฤษภาคม มิถุนายนซึ่งที่ญี่ปุ่นจะร้อนมากๆ หลายบริษัทต้องมีนโยบายกำหนดอุณหภูมิการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อประหยัดไฟฟ้า บางบริษัทให้เปิดแอร์คอนดิชั่นที่ 30 องศาเซลเซียส สำหรับออฟฟิศที่ไม่มีหน้าต่างเปิดให้ลมระบายจะยิ่งรู้สึกร้อนอบอ้าวและทำให้กระหายน้ำมาก คนที่ทำงานจะเพลียได้ง่ายๆ แต่ถ้าพนักงานออกไปดื่มน้ำก็อาจจะถูกเคลมได้ ดังนั้นแรงงานญี่ปุ่นในออฟฟิศที่ต้องทำงานหนัก และอดทนในสภาพที่ร้อนอบอ้าวและต้องคอยแอบดื่มน้ำ รวมทั้งตัวผมเองด้วย มันน่าแปลกนะครับที่เราต้องแอบ ต้องกลัวโดนเคลม หรือถูกหัวหน้าว่าเอา
▪️หรือแม้แต่ช่วงนี้ที่ยังเป็นช่วงที่ใช้มาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 บางส่วนงานราชการของญี่ปุ่นที่ต้องคอยรองรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนและช่วยดูแลสนับสนุนประชาชน ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม ที่ปกติพนักงานจะต้องทำงานไม่เกิน 160 ชั่วโมงต่อเดือน แต่กลายเป็นว่าช่วงนี้บางคนที่ต้องรองรับเรื่องโควิดต้องทำงานหนักมากกว่าเดือนละ 600 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าเดิมถึงหกเท่าตัว ต้องเอาถุงนอนมานอนที่ทำงาน และตื่นมาทำงานตั้งแต่เช้าจะมีเวลาส่วนตัวแค่ล้างหน้าแปรงฟัน แล้วก็ต้องทำงานต่อ เล่าให้เห็นภาพว่ามันวุ่นและโหดขนาดไหน ซึ่งหลายๆ คนมองว่าทำไมต้องทำงานโหดมากขนาดนี้
ต่างจากคนสมัยที่สร้างพีระมิดเลยทีเดียว ไม่รู้ว่าการทำงานยกหินแต่เป็นงานที่เลือกทำช่วงที่ว่างจากงานปกติ มีวันพักผ่อน มีการสังสรรค์พักเบรคดื่มเครื่องดื่มในหมู่คนทำงาน ดูน่าจะมีความสุขระดับหนึ่ง กับงานองค์กรในบริษัทเอกชนแบบที่รุ่นพี่ที่โรงเรียนผมแนะนำแบบไหนจะดีกว่ากัน
ส่วนเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในที่ทำงานนั้น คนสมัยก่อนกับคนญี่ปุ่นสมัยนี้เหมือนกันไหม ผมชอบวลีหนึ่งจากบันทึกของคนสมัย 3,000- 4,000 ปี ที่บันทึกไว้มีความหมายว่า "คนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักมารยาท ไม่อดทน ไม่ขยันขันแข็ง" แม้สมัยนี้เองผมเคยคุยกับหัวหน้างานเก่าของผม เขาก็เคยบ่นว่า "เดี๋ยวนี้คนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่ค่อยสนใจงาน ไม่ขยันขันแข็ง" หมายความว่าไม่ว่าคนสมัย 3,000- 4,000 ปีหรือคนสมัยนี้ ผู้ใหญ่ก็มองคนที่อ่อนกว่าว่าไม่เอาการเอางาน ทำงานไม่ได้ คิดเหมือนกันเลยครับ แต่ที่ญี่ปุ่นน่าจะจริง
เพราะวัยแรงงานญี่ปุ่นผู้ที่อยู่ในช่วงวัย 30 ต้นๆ หรือเรียกว่าช่วงวัย ゆとり世代 Yutori generation ที่คนญี่ปุ่นรุ่นลุงมองว่าเป็นรุ่นที่ทำงานไม่ได้ คำว่ายูโตริ Yutori มีความหมายในลักษณะ“เอ้อระเหย” หรือ “เรื่อยเปื่อย” เฉื่อยๆ เนือยๆ ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เป็นคำที่ไม่ค่อยสุภาพนะครับกรุณาอย่าพูดกับคนญี่ปุ่นเพราะว่าให้ความหมายในบริบทเชิงลบมากกว่า โดยรวมแล้วแม้ว่าคนรุ่นนี้จะไม่มีคนที่เก่งยอดเยี่ยมเป็นพิเศษ แต่ทุกคนสามารถอ่านและเขียนได้ตามปกติ แต่ก็จะมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากคนญี่ปุ่นรุ่นก่อนที่เก่งเรื่องตัวเลขการคำนวน ติดการเรียน และขยันขันแข็งอย่างมาก
พนักงานที่มีอายุอยู่ในรุ่น Yutori generation จะมีบุคคลิกที่ค่อนข้างผ่อนคลายในชีวิตเป็นรุ่นที่เติบโตขึ้นมาภายใต้อิทธิพลของระบบการศึกษาที่ผ่อนคลาย เป็นหลักสูตรที่เน้นแนวทางการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายและระบบโรงเรียนรัฐบาลที่เรียน 5 วันต่อสัปดาห์ คนรุ่นที่เกิดในปี 1987 ถือเป็น "รุ่นแรกของยูโตริ Yutori generation" ปีการศึกษา 2002 เป็นจุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาที่ผ่อนคลายและเนื้อหาของคู่มือการศึกษาแบบไม่เข้มงวดรวมทั้งชั่วโมงเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นของลดลงอย่างมาก จึงทำให้มีความแตกต่างกันอย่างมาก ท่ามกลางสภาพการทำงานที่กดดันและเคร่งเครียด คนในองค์กรบริษัทญี่ปุ่นจัดการกับคนรุ่น Yutori อย่างไร และอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ผมจะนำมาเล่าในโอกาสต่อไปนะครับ แล้วเพื่อนๆ ชอบและอยากทำงานแบบไหนครับ วันนี้สวัสดีครับ