คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน โตเกียวโอลิมปิกกำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ พร้อมกับแรงผลักดันจากองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นมีกฏหมายรองรับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ก่อนถึงโอลิมปิก แล้วสถานการณ์ LGBT ในญี่ปุ่นและมุมมองในเรื่องนี้ของคนญี่ปุ่นล่ะเป็นเช่นไร
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จัดอันดับญี่ปุ่นไว้ว่าเป็นรองบ๊วยในหมู่ประเทศสมาชิก OECD เรื่องความคุ้มครองทางกฎหมายขั้นพื้นฐานสำหรับกลุ่ม LGBT แม้ว่าในปี พ.ศ. 2558 เขตชิบุยะจะได้เริ่มให้มีการรับรองสถานภาพความเป็นคู่รักของกลุ่ม LGBT เพื่อให้พวกเขามีสิทธิในการเข้าเยี่ยมคู่ของตนที่โรงพยาบาลหรือเช่าที่อยู่อาศัยร่วมกันได้ ซึ่งต่อมาทำให้อีกหลายเขตในโตเกียวและหลายท้องถิ่นในจังหวัดอื่น ๆ หันมาใช้แนวทางเดียวกัน แต่กระนั้นกลุ่ม LGBT ก็ยังไม่ได้รับสิทธิในการจดทะเบียนสมรส ณ ปัจจุบัน
LGBT กับสังคมทำงาน
จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2563 พบว่าร้อยละ 36 ของเกย์ เลสเบี้ยน และไบเซ็กชวล รวมทั้งร้อยละ 55 ของคนข้ามเพศ ต่างประสบปัญหาในที่ทำงานพอสมควร เช่น สังคมมักมองว่าผู้ชายควรแต่งงานเป็นหลักเป็นฐานเมื่อถึงช่วงอายุอานามที่สมควร ดังนั้นผู้ชายที่แต่งงานแล้วจึงเป็นที่ยอมรับมากกว่าชายโสด ได้รับความไว้วางใจมากกว่า มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งมากกว่า ชายรักชายที่อายุพอสมควรแล้วแต่ยังโสดจึงเสียเปรียบในจุดนี้ อีกทั้งที่ทำงานก็ชอบถามว่าทำไมไม่แต่งงานสักที เมื่อไหร่จะแต่ง บางคนก็หาข้อแก้ตัวไปเรื่อย ๆ บางคนก็ปิดบังด้วยการออกเดทกับเพศตรงข้าม และถ้าเป็นคนข้ามเพศก็จะมีเรื่องลำบากใจเพิ่มเข้าไปอีก เช่นเรื่องห้องน้ำ หรือเวลาไปเที่ยวออนเซ็นกับบริษัท ซึ่งแบ่งแยกฝั่งหญิงฝั่งชาย
บริษัทญี่ปุ่นยังมักให้สิทธิประโยชน์แก่ครอบครัวด้วย เช่น ให้ครอบครัวอาศัยในหอพักพนักงานได้ ภรรยาใช้ประกันสุขภาพของบริษัทสามีได้หากไม่ได้ทำงานประจำ เป็นต้น แต่การเป็น LGBT โดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิในการจดทะเบียนสมรส ก็ทำให้คู่รัก LGBT ไม่สามารถใช้สิทธิ์เหล่านี้ไปด้วย ได้แต่ต้องแยกกันอยู่บ้านใครบ้านมัน
คนที่ตัดสินใจเปิดเผยกับที่ทำงานตรง ๆ ก็มี บางคนโชคดีได้รับปฏิกิริยาตอบรับในทางบวก แต่ส่วนมากอาจไม่ใช่อย่างนั้น ได้ยินว่าคนส่วนใหญ่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวผลลบที่อาจเกิดตามมา อีกเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะคนญี่ปุ่นไม่ค่อยชอบเล่าเรื่องส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือแม้อัตลักษณ์ทางเพศอาจเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็มีส่วนคาบเกี่ยวกับการงานและชีวิตด้านอื่นด้วยเช่นกัน การเก็บงำเอาไว้จึงทำให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อการทำงานได้มากกว่าที่คิด จนบางคนถึงกับต้องลาออกเพราะทนอึดอัดไม่ไหว
กลุ่ม LGBT มองว่าไม่เพียงแค่ในที่ทำงานของตนเท่านั้น แต่ลูกค้าหรือคู่ค้าทางธุรกิจ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ก็มีคนกลุ่ม LGBT เช่นกัน ดังนั้นการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายในสังคมทำงานน่าจะเป็นประโยชน์แก่คนหลายฝ่าย บางคนก็ว่ายิ่งเดี๋ยวนี้จะหาคนเก่งเข้ามาทำงานยังยากเลย ถ้าหากบริษัทไม่มีความเป็นมิตรต่อ LGBT ก็ยิ่งทำให้บริษัทเองเป็นฝ่ายเสียโอกาสที่จะได้หรือรักษาบุคลากรคุณภาพเอาไว้อีกด้วย
สภาพแวดล้อมของ LGBT ในญี่ปุ่น
เมื่อถามกลุ่ม LGBT ถึงความอยู่ยาก-อยู่ง่ายในญี่ปุ่นแล้ว บ้างก็ว่าอยู่ง่าย บ้างก็ว่าอยู่ยาก แล้วแต่ประสบการณ์ที่แต่ละคนเจอ อย่างบางคนบ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัด พอย้ายมาอยู่โตเกียวแล้วเจอคนแบบเดียวกันหรือเจอคนที่เปิดกว้าง เจอสถานที่หรืออีเวนต์สำหรับ LGBT มากมายก็จะรู้สึกว่ามีเพื่อน มีที่ให้ไป อยู่ง่าย หรือโรงเรียนสอนแฟชั่นบางแห่งมีนักเรียนแหวกแนวเยอะ และมี LGBT หลายคนก็จะไม่มอง LGBT ว่าเป็นเรื่องประหลาด
นอกจากนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว อย่างน้อยญี่ปุ่นก็ยังดีที่ไม่ค่อยมีการมาด่ากันซึ่ง ๆ หน้า หรือทำร้ายร่างกายแบบบางประเทศที่มีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) ส่วนคนที่บอกว่าอยู่ยากก็เป็นเพราะเจอคนมีอคติ หรือไม่ก็วางตัวในที่ทำงานลำบากอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือยุคนี้ดูเหมือนในญี่ปุ่นจะมีบรรยากาศที่เปิดรับ LGBT กันกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งก็เป็นผลมาจากความพยายามผลักดันของกลุ่ม LGBT ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นอกจากบางท้องถิ่นจะรับรองสถานภาพคู่รักของ LGBT แล้ว บริษัทที่หันมาดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับ LGBT ก็มีมากขึ้น เช่น ให้พนักงาน LGBT มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการครอบครัวแบบเดียวกับพนักงานทั่วไป อีกทั้งยังมีบริการที่หันมาเล็งกลุ่มลูกค้า LGBT เพิ่มขึ้น เช่น ค่ายโทรศัพท์มือถือจัดโปรโมชั่นสำหรับคนในครอบครัวเดียวกัน โดยให้ LGBT อยู่ในข่ายที่จะใช้สิทธิ์นี้ได้ด้วย หรือประกันชีวิตยินยอมให้คู่รัก LGBT สามารถได้รับผลประโยชน์คุ้มครองจากประกันได้ เป็นต้น
ความเห็นของสังคมญี่ปุ่นต่อ LGBT
จากการสำรวจบางส่วนพบว่า คนในทุกกลุ่มอายุมีแนวโน้มจะเปิดกว้างเรื่อง LGBT มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น ร้อยละ 64.8 เห็นด้วยกับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน และร้อยละ 87.7 เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อ LGBT
จากการสุ่มสัมภาษณ์คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งว่า "เห็นด้วยไหมกับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน" ส่วนใหญ่ตอบว่าเห็นด้วย คุณยายคนหนึ่งพูดน่ารักมากว่า “ไม่เห็นเป็นไรเลย ก็คนเหมือนกัน รักชอบใครไม่เห็นจะเกี่ยวกับเพศอะไรเลยไม่ใช่รึ " หลายคนพูดคล้ายกันว่า “คนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป หากเจ้าตัวทำอะไรแล้วมีความสุขก็เป็นเรื่องดี แล้วอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย”
แล้วถ้าเป็นลูกตัวเองล่ะ ? คุณแม่ซึ่งมีลูกวัยรุ่นตอบว่า “น่าจะรับได้นะ ฉันไม่ได้สนใจว่าลูกจะเป็นเพศอะไร แต่อยู่ที่ว่าลูกเป็นคนยังไงมากกว่า ถ้าเติบโตไปเป็นผุู้ใหญ่ที่ดีได้แค่นั้นก็พอแล้ว” ส่วนคุณลุงคนหนึ่งตอบว่า “คงตกใจมาก แต่ก็คงคิดแหละว่าจะทำยังไงให้ลูกมีความสุข”
พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ฉันนึกไปถึงความประทับใจจากการอ่านโน้ตแผ่นหนึ่งที่คุณพ่อชาวตะวันตกเขียนให้ลูก มีใจความว่าอย่างนี้ค่ะ “พ่อได้ยินลูกคุยโทรศัพท์กับไมค์ วางแผนจะมาบอกพ่อว่าลูกเป็นเกย์ ลูกวางแผนอย่างเดียวคือหลังเลิกเรียนแวะซื้อน้ำส้มกับขนมปังกลับมาด้วย แล้วเดี๋ยวเราออกไปข้างนอกกัน พ่อรู้มาตั้งแต่ลูกหกขวบแล้วว่าลูกเป็นเกย์ และพ่อก็รักลูกมาตั้งแต่ลูกเกิด ป.ล. แม่กับพ่อคิดว่าลูกกับไมค์น่าจะเป็นคู่ที่น่ารักนะ”
ฉันอ่านแล้วน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว นึกไปถึงเพื่อนสนิทที่เคยเล่าว่า กว่าเขาจะรวบรวมความกล้าไปบอกพ่อแม่และผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ มันยากมากสำหรับเขา คนญี่ปุ่นคนหนึ่งก็พูดเหมือนกันว่าถ้าลูกมาบอกอย่างนั้นกับตัวเอง ก็แสดงว่าเขาคงต้องคิดหนักมามากแล้ว จึงคิดว่าจะรับฟังลูกและพยายามเข้าใจเขาให้ได้
ชายรักชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่า ตั้งแต่อเมริกาออกกฏหมายยอมรับให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นก็ลดลงมาก เขาบอกว่าเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ตรงที่โลกแคบกว่า พอรู้ว่าตัวเองมีอัตลักษณ์ทางเพศไม่เหมือนคนอื่นก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร หรือว่าจะหาเพื่อนแบบเดียวกันได้ที่ไหน เขาจึงคิดว่าถ้าญี่ปุ่นออกกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงาน อย่างน้อยที่สุดมันก็ช่วยให้เด็กที่อยู่ในกลุ่ม LGBT ได้เห็นทางออกบ้าง
มีหลายคนที่อยากให้ญี่ปุ่นสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะถ้าสอนตั้งแต่เด็กยังอยู่ในวัยเรียนก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดแปลก และเปิดใจยอมรับง่ายขึ้น อีกอย่างที่ฉันคิดคือ ถ้าหากสามารถสอนเด็กให้เคารพความต่างของคนแต่ละคน และไม่เอาความต่างหรือความไม่ถูกใจตนมาเป็นเรื่องล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งกัน ก็น่าจะช่วยลดความรุนแรงของการตีตราลงได้มากในหลายด้านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ในโอกาสที่โตเกียวโอลิมปิกโฆษณาสโลแกนว่า “Unity in Diversity” (เอกภาพท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย) และประกาศว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เคารพความต่างของบุคคลไม่ว่าจะในแง่ใด จึงมีหลายฝ่ายที่หวังจะเห็นโตเกียวโอลิมปิกเป็นเวทีแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น ที่จะยอมรับสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBT ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมามีเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน
หากญี่ปุ่นเปิดใจเรื่องความต่างของอัตลักษณ์ทางเพศได้ ก็คาดว่าต่อไปสังคมญี่ปุ่นน่าจะมีความยืดหยุ่นในด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย ซึ่งจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.