xs
xsm
sm
md
lg

เยือน “พื้นที่ต้องห้าม” หนึ่งทศวรรษหลังภัยพิบัติฟูกูชิมะ (ชมภาพชุด)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นผ่านไป 10 ปีแล้ว แต่พื้นที่ประสบภัยยังคงรกร้าง ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่สามารถหวนคืนถิ่นฐาน ร่องรอยความเสียหายทิ้งความเจ็บปวดไม่ต่างไปจากรอยแผลในใจของผู้คน

จนถึงขณะนี้ พื้นที่ราวร้อยละ 2 ของจังหวัดฟูกูชิมะยังคงเป็น “พื้นที่ต้องห้าม” เนื่องจากมีกัมมันตรังสีสูงจากการรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ผู้ที่จะเข้าพื้นที่ต้องขออนุญาต และสวมชุดป้องกันคลุมทั้งตัว พร้อมพกอุปกรณ์เตือนระดับรังสี




โบสถ์เมืองโอคุมะ จังหวัดฟูกูชิมะ อยู่ในพื้นที่ต้องห้าม พระคัมภีร์และหนังสือเพลงยังคงวางในที่เดิม ขาดเพียงผู้ศรัทธาที่เคยมาสวดมนต์ร่วมกัน ในวันที่เกิดเหตุบาทหลวงได้นำผู้คนอพยพเอาชีวิตรอด โดยมีเพียงน้ำดื่มไม่กี่ขวดและพระคัมภีร์ไบเบิลติดตัว สมาชิกของโบสถ์คนหนึ่งถูกคลื่นสึนามิกลืนหาย อีกหลายคนเสียชีวิตในระหว่างการอพยพ อีกมากมายเผชิญกับการเดียดฉันท์ว่า ผู้คนจากฟูกูชิมะนำกัมมันตรังสีมาแพร่ให้คนอื่น

ทุกวันนี้ บาทหลวงและผู้ศรัทธาได้จัดตั้งโบสถ์แห่งใหม่นอกพื้นที่ เพราะแทบไม่มีความหวังว่าจะหวนคืนสู่โบสถ์แห่งนี้ แม้ว่าจะไม่มีความเสียหายใด ๆ จากแผ่นดินไหว แต่โบสถ์ยังอยู่ในพื้นที่กัมมันตรังสีรั่วไหล






กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง

รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจะใช้เวลาอีก 30 ปี แต่ก็จะพยายามปลดล็อกพื้นที่ต้องห้ามให้เหลือน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังมีผู้ประสบภัยที่ต้องทิ้งถิ่นฐานมากกว่า 35,700 คน โดยคาดว่าจำนวนที่แท้จริงจะมากกว่าตัวเลขที่เป็นทางการนี้ถึง 2 เท่าตัว

ชาวบ้านจำนวนมากยังหวาดกลัวรังสีตกค้าง และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการ “ล้างพิษ” ของรัฐบาล จึงเลือกที่จะไม่กลับมา คุณแม่คนหนึ่งที่ย้ายไปอาศัยในกรุงโตเกียวบอกว่า ถ้าเธอยังอยู่ตัวคนเดียวก็จะกลับบ้านเกิด แต่ในฐานะที่เป็นแม่ เธอไม่อาจให้ลูก ๆ เผชิญกับความเสี่ยงได้




ผลสำรวจพบว่า ผู้อพยพจากฟูกูชิมะ 2 ใน 3 เลือกที่จะไม่กลับไป อัตราการหวนคืนถิ่นฐานแตกต่างกันไป บางพื้นที่มีผู้กลับบ้านเกิดเกือบร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้า แต่บางพื้นที่ไม่มีผู้ที่กลับไปแม้แต่คนเดียว

เมืองนามิเอะ ที่เพิ่งถูกปลดจากการเป็นพื้นที่ต้องห้าม มอบเงินสนับสนุน 2 ล้านเยน (ราว 600,000 บาท) สำหรับผู้ที่กลับมาตั้งถิ่นฐาน แต่มีผู้คนในเมืองขณะนี้มีเพียงแค่ 1,470 คน จากก่อนหน้านี้ที่มีประชากรมากกว่า 21,000 คน

นอกจากนี้ ผู้ที่หวนคืนกลับมาในเมืองนี้ราวร้อยละ 36 ยังเป็นผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปี ส่วนนักเรียนชั้นประถมและมัธยมมีแค่ 30 คน จากก่อนหน้าที่มีเกือบ 1,800 คน ผู้สูงวัยเหล่านี้ถึงแม้ยังมีหัวใจที่เข้มแข็งต้องการพลิกฟื้นบ้านเกิด แต่พละกำลังถดถอยลงทุกวัน การสร้างชีวิตใหม่จำเป็นต้องมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ หรือผู้คนจากต่างถิ่นที่ยอมมาบุกเบิกที่นี่อีกครั้ง




ชายวัย 65 ปีที่กลับมาฟื้นฟูธุรกิจร้านอาหารในเมืองบอกว่า แทบไม่ได้ยินเสียงผู้คนเลย เห็นแต่เพียงบรรดาสัตว์ป่าที่เข้ามายึดพื้นที่แทน กัมมันตรังสีที่ปกคลุมไปทั่วทำให้เขาต้องทิ้งของทุกอย่าง และรื้อผนังของร้านออกทั้งหมด

ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นใหม่จะยากลำบาก ทั้งจากสภาพพื้นที่และอายุของตนที่มากแล้ว แต่คุณปู่รายนี้บอกว่า เขากลับมาเพื่อสืบทอดรสชาติที่ทำมาตั้งแต่ปู่ของเขา และหวังว่าการอยู่ที่นี่จะทำให้บ้านเกิดมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง.






กำลังโหลดความคิดเห็น